posttoday

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: การพิพากษาพระมหากษัตริย์อังกฤษ

05 พฤศจิกายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

หลังจากพ่ายแพ้แก่ฝ่ายรัฐสภาในสงครามกลางเมือง พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง แห่งอังกฤษในฐานะที่เป็นผู้นำในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐสภา ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหา “ทรยศต่อชาติและใช้อำนาจทางการเมืองก่อสงครามเพื่อผลประโยชน์ส่วนพระองค์” แต่พระองค์ปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พระองค์ให้เหตุผลว่า พระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินของพระองค์นั้นได้รับประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ก็ทรงขึ้นครองราชย์และเข้าพิธีบรมราชาภิเษกตามจารีตประเพณีและกฎหมายของแผ่นดินอังกฤษ ส่วนอำนาจของพวกที่ต้องการพิพากษาพระองค์นั้นเป็นอำนาจที่มาจากการใช้กำลังความรุนแรง

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงยืนยันว่า ไม่มีกฎหมายใดจะรองรับการพิพากษาคดีนี้ได้ พระองค์ทรงตรัสต่อฝ่ายปฏิวัติว่า “Then for the law of this land, I am no less confident, that no learned lawyer will affirm that an impeachment can lie against the King, they all going in his name: and one of their maxims is, that the King can do no wrong.” (ด้วยกฎหมายแห่งแผ่นดินนี้ ข้าพเจ้ามั่นใจอย่างยิ่งว่า ไม่มีนักกฎหมายผู้ทรงความรู้คนใดที่จะยืนยันว่าการถอดถอนจะสามารถกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ เพราะกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงนั้นดำเนินไปภายใต้พระปรมาภิไธยในพระองค์ และหนึ่งในหลักกฎหมายนั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำผิดได้)

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งไม่ทรงยอมรับการตั้งข้อกล่าวหาและการพิพากษาคดีของฝ่ายปฏิวัติ เพราะคำถามที่พระองค์ตั้งย้อนกลับไปก็คือ ฝ่ายปฏิวัติเอาอำนาจอันชอบธรรมอะไรและจากไหนมาตัดสินพระองค์ ?

ฝ่ายตุลาการได้ตอบโต้ให้เห็นผลถึงความชอบธรรมในการพิพากษาคดีของพระองค์โดยการตีความกฎหมายว่า “หลักการพื้นฐานของกฎหมายถือว่า พระมหากษัตริย์ของอังกฤษนั้นไม่ได้เป็นบุคคล แต่เป็นตำแหน่งหรือสถาบันที่ใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนี้ ได้รับความไว้วางใจให้มีพระราชอำนาจในการปกครองที่จำกัด โดยเป็นไปตามกฎหมายของแผ่นดินนี้ และไม่มีทางเป็นอื่น”

แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าศาลจะถามว่า พระองค์จะรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา เพื่อจะได้เริ่มกระบวนการพิพากษาคดีต่อไป พระองค์ไม่ทรงมีพระราชดำรัสตอบใดๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ตามธรรมเนียมปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม หากผู้ต้องหาไม่ตอบรับหรือปฏิเสธตามข้อหา ก็ถือว่าเป็นการยอมรับสารภาพผิดโดยปริยาย (pro confesso) และไม่จำเป็นต้องมีการเบิกพยานใดๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ในการพิพากษาคดีครั้งนั้น ได้มีการเรียกพยานมาให้ปากคำเพื่อเป็นหลักฐานการกระทำผิดตามที่กล่าวหาพระเจ้าชาร์ลส์ และในที่สุด ก็มีคำพิพากษาตัดสินสำเร็จโทษพระองค์ โดยมีคณะกรรมการตุลาการ59 คน ลงนามในหมายพิพากษาสำเร็จโทษนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งแห่งอังกฤษถูกตัดสินสำเร็จโทษโดยการบั่นพระเศียรในวันอังคารที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 มีบันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงฉลองพระองค์ด้วยอาภรณ์สองชั้นเพื่อให้ความอบอุ่น ป้องกันความหนาวเย็น ที่อาจจะทำให้พระวรกายสั่น ด้วยพระองค์ไม่ทรงต้องการให้ฝูงชนที่มาดูการสำเร็จโทษเข้าใจว่า พระองค์ทรงอ่อนแอหรือกลัวการสำเร็จโทษ พระองค์ได้ทรงตรัสก่อนที่จะถึงแท่นประหารว่าพระองค์มีความปรารถนาที่รักษาไว้ซึ่งอิสรภาพและเสรีภาพของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้

และพระองค์ทรงตรัสว่า “แต่ข้าพเจ้าต้องกล่าวแก่พวกท่านว่า การที่จะมีอิสรภาพและเสรีภาพนั้นจะต้องมีการปกครอง...และไม่ใช่ว่าจะต้องให้ประชาชนมีส่วนในการปกครอง เพราะมันไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ราษฎรกับองค์อธิปัตย์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

และหลังจากที่พระองค์ทรงยื่นพระเศียรสู่แท่นประหารแล้ว และส่งสัญญาณให้กับเพชฌฆาตว่าพระองค์พร้อมแล้วที่จะถูกบั่นพระเศียร พระองค์ได้ทรงกล่าวประโยคสุดท้ายออกมาว่า “ข้าพเจ้าจะจากความเป็นพระมหากษัตริย์ในโลกอันไม่เที่ยงแท้ไปสู่การเป็นพระมหากษัตริย์บนสรวงสวรรค์” หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ได้มีการบันทึกไว้ว่า มีเสียงร้องไห้คร่ำครวญโศกเศร้าจากฝูงชนที่มารวมตัวกันอยู่ที่นั้น มีราษฎรจำนวนหนึ่งได้นำผ้าเช็ดหน้าของพวกเขามาซับพระโลหิตของพระองค์เพื่อเก็บรักษาเอาไว้ และ ณ จุดนั้นเป็นที่มาของการยกย่องบูชา “พระมหากษัตริย์ผู้ไถ่บาปให้กับมวลมนุษย์” (the Martyr King)

และแม้ว่าจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ศีรษะของผู้ทรยศจะต้องถูกนำมาเสียบประจานต่อหน้าฝูงชนพร้อมกับมีคำประกาศว่า “นี่คือหัวของคนทรยศ” แต่กรณีของพระเจ้าชาร์ลส์ แม้ว่าพระเศียรของพระองค์จะถูกนำมาประจาน แต่ก็ไม่มีการติดข้อความดังกล่าว และโดยปรกติแล้ว จะไม่ยอมให้นำศีรษะกลับไปฝังพร้อมร่างของผู้ทรยศ แต่ในกรณีของพระองค์ ได้รับการยกเว้นจากโอลิเวอร์ ครอมเวล นายทหารผู้นำฝ่ายรัฐสภา

และประมาณ 10 วันหลังจากสิ้นพระชนม์ ได้มีการวางขายหนังสือเล่มหนึ่งในสาธารณะ หนังสือดังกล่าวเป็นบันทึกเรื่องราวที่พระเจ้าชาร์ลส์ได้ทรงบันทึกด้วยพระองค์เอง หนังสือเล่มนี้มีชื่อในภาษากรีกโบราณว่า “Eikon Basilike” (the Royal Portrait) โดยพระองค์ให้ทรงบรรยายถึงเรื่องราวและเหตุผลต่างๆในพระราโชบายต่างๆของพระองค์ ส่งผลให้เกิดกระแสอาลัยการจากไปของพระเจ้าชาร์ลส์จากพสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: การพิพากษาพระมหากษัตริย์อังกฤษ

                                                        Eikon Basilike

นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนอีกหลายชิ้นที่แสดงความไม่พอใจของประชาชนต่อการตัดสินสำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขา การสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งได้สร้างความตกตะลึงเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ไพร่ฟ้าราษฎร หนึ่งในงานเขียนที่ว่านี้ก็คือ บทกวีของแคทเธอรีน ฟิลลิปส์ (Katherine Phillips: 1632-1664) ที่เธอเขียนออกมาตอบโต้นักเขียนสาธารณรัฐนิยม บทกวีนี้มีชื่อว่า “Upon the Double Murder of King Charles” ซึ่งแสดงถึงความโกรธอย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เธอตั้งชื่อบทกวีว่า “ฆาตกรรมซ้ำสอง” (double murder) เพราะเธอเห็นว่า ฝ่ายปฏิวัติล้มเจ้านั้นได้ประหารทั้งชีวิตและศักดิ์ศรีของพระเจ้าชาร์ลส์ เธอตั้งคำถามต่อมวลมนุษย์โดยรวมในสิ่งที่คนเหล่านั้นได้กระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ และความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: การพิพากษาพระมหากษัตริย์อังกฤษ

                                             กวีหญิงชาวอังกฤษที่รักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐสภาหรือฝ่ายสาธารณรัฐนิยมก็ออกหนังสือตอบโต้กระแสดังกล่าว โดยจอห์น คุก (John Cooke: 1608-1660) อธิบดีกรมอัยการผู้ฟ้องพระเจ้าชาร์ลส์ และจอห์น มิลตัน (John Milton: 1608-1674) นักเขียนที่มีหัวใจเต็มเปี่ยมให้สาธารณรัฐ โดยจอห์น คุกได้ตีพิมพ์สำนวนฟ้องที่เขาเตรียมไว้ หากพระเจ้าชาร์ลส์ยอมเข้าสู่กระบวนการพิพากษา

ส่วนจอห์น มิลตันได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “the Eikonoklastes” (the Iconoclast or Image Breaker) ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1649 หรือภายในปีเดียวกับที่มีการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์นั่นเอง มิลตันตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อตอบโต้ข้อเขียน “Eikon Basilike” (the Royal Portrait) ของพระเจ้าชาร์ลส์ ซึ่ง Eikon Basilike ได้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งและเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เป็นหนังสือที่ฉายภาพของการเป็นชาวคริสต์ผู้บริสุทธ์และการเป็นองค์พระมหากษัตริย์ผู้ไถ่บาป (the Martyr King)

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: การพิพากษาพระมหากษัตริย์อังกฤษ

                          จอห์น มิลตัน

จุดประสงค์ในการเขียนงานดังกล่าวของมิลตันก็คือ ต้องการทำลายภาพของความเป็นผู้บริสุทธิ์และพระผู้ไถ่บาปของพระเจ้าชาร์ลส์ แต่หนังสือทั้งของเขาและของคุ๊กก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง เพราะไม่สามารถกลบกระแสรักสถาบันพระมหากษัตริย์ลงไปได้สักเท่าไรนัก และหนึ่งเดือนหลังจากงานของมิลตันออกสู่สาธารณะ พระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งที่เสด็จลี้ภัยไปฝรั่งเศส ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Defensio Regia Pro Carolo Primo” โดยผู้เขียนคือ เคลาดิอุส ซาลมาซีอุส (Claudius Salmasius: 1588-1653) นักมนุษย์นิยมที่มีชื่อเสียง (the leading humanist) ชาวฝรั่งเศส

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: การพิพากษาพระมหากษัตริย์อังกฤษ

                    เคลาดิอุส ซาลมาซีอุส

การเขียนหนังสือตอบโต้ระหว่างฝ่ายผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กับฝ่ายสาธารณรัฐยังคงดำเนินต่อไป โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1650 คณะปฏิวัติได้สั่งให้มิลตันเขียนหนังสือเพื่อปกป้อง “ประชาชน” มิลตันได้เขียนหนังสือในภาษาละตินชื่อ “Defensio Pro Populo Anglicano” หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “the First Defence” ด้วยภาษาละตินอันสละสลวยและความรู้ของเขาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ได้ทำให้มิลตันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วยุโรป และมีการตีพิมพ์หนังสือของเขาอีกหลายหลากครั้ง

แต่กระนั้น กระแสแห่งความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายในอังกฤษก็ยังคงดำรงอยู่