posttoday

พระราชหัตถเลขาตอบของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งต่อข้อเรียกร้องสิบเก้าประการของฝ่ายรัฐสภา

15 ตุลาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

ภายใต้การปกครองในระบอบราชาธิปไตย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1642 รัฐสภาอังกฤษได้ยื่น “ข้อเรียกร้อง 19 ประการ” (the Nineteen Propositions) แก่พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งแห่งราชวงศ์สจ๊วตในระบอบการปกครองราชาธิปไตย อันมีใจความสำคัญได้แก่ ห้ามไม่ให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจทางการเมืองในการแต่งตั้งหรือตัดสินใจเรื่องราวต่างๆโดยลำพัง แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน อาทิ การแต่งตั้งรัฐมนตรีในคณะอภิรัฐมนตรีขององค์พระมหากษัตริย์ (the King’s Privy Council)

การแต่งตั้งผู้ดูแลทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และผู้ดูแลงบประมาณและการคลังของแผ่นดิน การแต่งตั้งสมาชิกใหม่ในสภาขุนนาง การแต่งตั้งผู้มารับผิดชอบให้การศึกษาแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาขององค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งการให้ความเห็นชอบต่อบุคคลที่จะเสกสมรสกับพระราชโอรสและพระราชธิดา และรวมทั้ง การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับสาธารณะใดๆจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน เป็นต้น

ข้อเรียกร้องที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ การโอนพระราชอำนาจทางการทหารไปสู่อำนาจของฝ่ายรัฐสภา และการแต่งตั้งผู้บัญชาการของราชอาณาจักรโดยพระมหากษัตริย์จะต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา และกองกำลังทหารรักษาพระองค์ที่เกินความจำเป็นจะต้องถูกยุบเลิกไป

นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมแก่สมาชิกรัฐสภาที่มีข้อขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดว่า สมาชิกรัฐสภาที่ถูกให้ออกจากตำแหน่งในสมัยประชุมนี้จะต้องได้รับการอนุญาตให้กลับมาดำรงตำแหน่งได้ และพระมหากษัตริย์จะต้องพระราชทานอภัยโทษต่อผู้ถวายฎีกา เว้นเสียแต่ว่า สภาทั้งสองจะคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระมหากษัตริย์ต้องทรงพระราชทานอภัยโทษแก่สมาชิกทั้งห้าคนของสภาสามัญและลอร์ดคิมบอลตัน (Lorn Kimbolton) จากข้อหาต่างๆ หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลสทรงได้รับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นนี้ ภายในเดือนเดียวกันนั้น พระองค์ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบข้อเรียกร้องของฝ่ายรัฐสภา โดยมีใจความสำคัญว่า

“ข้อเรียกร้องสิบเก้าประการนี้ถือเป็นการทำลายระบอบการปกครองของอังกฤษที่สืบทอดกันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งระบอบการปกครองดังกล่าวนี้เป็นการปกครองที่ผสมผสานกันระหว่างราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตยและประชาธิปไตย เพราะลำพังแต่ละระบอบนั้นต่างก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเองอยู่ แต่ระบอบการปกครองของอังกฤษอันเกิดจากการผสมผสานกันของสามระบอบที่ว่านี้ ได้ก่อให้เกิดระบอบที่รักษาข้อดีของทั้งสามระบอบไว้ และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดข้อเสียของทั้งสามระบอบ ตราบเท่าที่ความสุขุมรอบคอบที่มนุษย์จะพึงมีได้และตราบเท่าที่สามารถรักษาสมดุลทางพลังอำนาจของกลุ่มคนทั้งสามสถานะนี้ไว้ได้ ซึ่งแต่ละฝ่ายสามารถดำเนินการทางการเมืองร่วมกันได้โดยผ่านกลไกและสถาบันทางการเมืองที่เหมาะสมของแต่ละฝ่าย

สิ่งที่เป็นข้อเสียของระบอบพระมหากษัตริย์พระราชอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาด (the ill of absolute Monarchy) ก็คือการเกิดทรราช ข้อเสียของระบอบอภิชนาธิปไตยก็คือการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย (Faction and Division) และข้อเสียของระบอบประชาธิปไตยก็คือ ความสับสนวุ่นวาย ความรุนแรงและการทำอะไรตามอำเภอใจ แต่ทว่าของดีของระบอบราชาธิปไตยก็คือ มีความเป็นเอกภาพของชาติภายใต้ผู้นำในการต่อต้านการรุกรานจากข้าศึกต่างแดนและการจลาจลภายในประเทศ ของดีของระบอบอภิชนาธิปไตยก็คือการเชื่อมโยงสัมพันธ์ของข้อคิดคำปรึกษาของบุคคลที่มีปัญญาและความสามารถของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ และข้อดีของประชาธิปไตยก็คือเสรีภาพ และรวมถึงความกล้าหาญมุ่งมั่นและกำลังใจแห่งความอุตสาหะขยันมั่นเพียรซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คนส่วนใหญ่ที่มีเสรีภาพ

และเมื่อมีการผสมผสานของทั้งสามระบอบการปกครองที่ว่านี้เข้าด้วยกัน ความสมดุลแห่งอำนาจก็จะบังเกิดขึ้น นั่นคือ สิทธิอำนาจตามกฎหมายในสภาทั้งสอง อันได้แก่ สภาขุนนางชนชั้นสูงและสภาสามัญชนจะสามารถช่วยป้องกันและตีกรอบควบคุมการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มิให้ถูกใช้ไปตามอำเภอใจอย่างทรราชได้ แต่หากปราศจากซึ่งพระราชอำนาจเลย พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงสามารถที่จะทำหน้าที่ตามที่พระองค์ได้รับความไว้วางใจ อันถือเป็นการสิ้นสุดของส่วนที่เป็นราชาธิปไตยไป และถือเป็นการทำลายพื้นฐานแห่งกฎกติกาดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง

และเป็นการทำลายระบอบการปกครองอันดีเลิศของราชอาณาจักรนี้ ซึ่งระบอบการปกครองดังกล่าวนี้ของเราได้ทำให้ประเทศชาติรุ่งเรืองและมีความสงบสุขมานานหลายปี และเราจะไม่มีอะไรเหลือเลยหากระบอบการปกครองของเราถูกทำลายไปเสีย และการละเมิดสิทธิอำนาจของแต่ละฝ่ายนี้จะส่งผลให้เกิดความไม่สงบสุขแก่คนทุกฝ่ายและรวมถึงไพร่ฟ้าราษฎรทั่วไปด้วย และจะทำให้ประเทศเราถูกปกครองภายใต้คนกลุ่มน้อยที่เลวร้ายที่สุด และทำให้ประเทศของเราเป็นที่น่ารังเกียจทั้งจากสายตาของคนในและต่างประเทศ และจะนำมาซึ่งการแบ่งแยกแตกเป็นฝักฝ่ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในรัฐสภา และทำลายความผาสุกสงบเรียบร้อยของสาธารณะและก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง

และไม่ต้องสงสัยเลยว่า อำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นจะมอมเมาคนรุ่นใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับความเหมาะสมพอดีของการมีอำนาจในแต่ละฝ่ายอย่างที่เคยเป็นมา และจะนำมาซึ่งไม่เพียงแต่การแบ่งแยกระหว่างพวกเขาในฐานะที่มีความเท่าเทียมกัน แต่รวมถึงการดูถูกเกลียดชังพระมหากษัตริย์ได้ในฐานะที่เท่าเทียมกับพวกเขา และรวมถึงการเกิดความโอหังอวดดีและความอยุติธรรมต่อไพร่ฟ้าราษฎรขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย”

และจากพระราชหัตถเลขาข้างต้น พระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งทรงยืนยันที่จะไม่สนองตอบตามข้อเรียกร้องสิบเก้าข้อของฝ่ายรัฐสภา โดยพระองค์ใช้ข้อความว่า Nolumnus Leges Angliae mutari อันหมายความว่า “เราไม่ประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงกฎกติกาของอังกฤษ” (We are unwilling to change the laws of England.) พระองค์ได้ทรงประกาศว่า ข้อเรียกร้องสิบเก้าข้อนี้คุกคามบ่อนทำลายการปกครองอันเก่าแก่ของราชอาณาจักร หากพระมหากษัตริย์ทรงยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ ก็ถือเป็นการยอมรับการขับไล่พระเจ้าแผ่นดินและลูกหลานของพระองค์ออกจากราชบัลลังก์โดยทันที

และหลังที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว ทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐสภาและฝ่ายพิทักษ์ราชบัลลังก์ต่างก็เตรียมตัวในการเผชิญหน้าทางกำลังทหารอย่างเปิดเผย หลังจากนั้น เมื่อถึงเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน สงครามกลางเมืองก็เกิดขึ้นระหว่างคนอังกฤษด้วยกันเอง โดยพระเจ้าชาร์ลส์ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายรัฐสภาที่เมืองน็อตติงแฮมในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1642

สงครามระหว่างคนอังกฤษด้วยกันเองนี้----นั่นคือ ระหว่างฝ่ายนิยมเจ้าสนับสนุนกษัตริย์ (Royalists) กับอีกฝ่ายที่สนับสนุนรัฐสภา (Parliamentarians)-----เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” (the English Civil War) และจะลงเอยอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

พระราชหัตถเลขาตอบของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งต่อข้อเรียกร้องสิบเก้าประการของฝ่ายรัฐสภา

                                                     หนังสือข้อเรียกร้องสิบเก้าประการ

พระราชหัตถเลขาตอบของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งต่อข้อเรียกร้องสิบเก้าประการของฝ่ายรัฐสภา

                                                        พระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งกับสงครามกลางเมือง