posttoday

บทเลียน/เรียนจาก หนูน้อย อูนนี่

12 ตุลาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร                              

*******************

อูนนี่ คือเด็กน้อยทางซ้ายในรูปภาพ เธอกำลังนั่งเขียนอะไรของเธออยู่ก็ไม่รู้  รูปภาพนี้ผมเห็นจาก facebook ของอาจารย์นก กัลยา อาจารย์เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อูนนี่เป็นหลาน อาจารย์นกเป็นป้า (แต่ยังไม่ได้ดูแก่ หรือมีพฤติกรรมแบบมนุษย์ป้า) ใน facebook มีคำบรรยายภาพนี้ว่า “Bossy มาจากเชียงใหม่ และมีการบ้านเลข...อูนนี่ก็อยากมีการบ้านเลขกับเขาบ้าง (ทั้งๆที่หยุดเรียนไปหนึ่งอาทิตย์เพราะป่วย....เตรียมอนุบาล ไม่มีการบ้านหรอกจ้า แต่อูนนี่แค่อยากอยู่ใกล้พี่ Boss..)”

ทั้งภาพอูนนี่และพี่ Boss และทั้งคำบรรยายทำให้ผมได้คิดอะไรต่ออะไรมากมาย !! (เอ้อ...สำหรับการใช้เครื่องหมาย ! นี้ ที่คนไทยไม่ได้เป็นคนคิดค้นขึ้นมา และมันก็ไม่ได้สื่อความหมายแค่เพียงอาการตกใจเท่านั้น คนที่เข้าใจว่ามันสื่อแค่อาการตกใจ คงไม่ได้ค่อยได้อ่านข้อเขียนหรือนวนิยายหรือการ์ตูนในภาษาอังกฤษ และก็ไม่เคยหาความรู้ว่าเครื่องหมายนี้มันสื่ออะไรได้มากกว่าตกใจ ผมจะไม่ขออธิบายอะไรมากในบทความนี้ เพราะจะเสียเวลาน้องอูนนี่กับผม แต่แนะว่า ให้ไปหาความรู้เพื่อเพิ่มสติปัญญาให้มากกว่านี้ด้วยตัวเอง เพราะก็โตๆกันแล้ว)

อูนนี่อยากอยู่ใกล้ๆพี่ Boss ก็น่าจะจริง เพราะอูนนี่อยู่บ้าน อาจจะไม่มีเด็กหรือคนวัยใกล้กันให้เล่นด้วย จะมีก็แต่ป้านกและคุณย่า นอกเหนือไปจากคุณพ่อและคุณแม่ ทำไมอูนนี่ถึงชอบอยู่ใกล้คนวัยใกล้ๆกัน ?ถ้าพี่ Boss ไม่ได้มาจากเชียงใหม่ และอยู่ประจำที่บ้านกับอูนนี่ อูนนี่จะเลือกไปนั่งทำอะไรอยู่ใกล้ๆพี่ Boss อย่างในรูปไหม ? คำตอบก็คือ อาจจะไม่ เพราะอูนนี่จะไม่ได้เห่อหรือดีใจกับพี่ Boss หากอูนนี่ต้องเห็นหน้าพี่ Boss ตลอดเวลาสม่ำเสมอเป็นเดือนเป็นปี อูนนี่อาจจะเบื่อไม่ได้อยากอยู่ใกล้พี่ Boss แบบนี้ก็เป็นได้ และก็น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย

ที่จริงก็ไม่จำเป็นด้วยว่าจะต้องเป็นพี่ Boss ที่มีวัยใกล้เคียงกันถึงทำให้อูนนี่อยากไปอยู่ใกล้ๆ  เพราะเท่าที่จำได้ ผมเองก็มีความสุข หากมีใครก็ได้ วัยไหนก็ได้มาที่บ้าน และมาอยู่ใกล้ๆผมหรือคุยและเล่นอะไรกับผม หรือให้ความสนใจผมหรือมีเวลานิ่งๆยอมให้ผมสนใจ !

ทำไมสำหรับผม ถึงเป็นใครก็ได้ วัยอะไรก็ได้ ? เพราะถึงแม้ว่าผมจะมีพี่ชายถึงสามคน แต่เขาก็ไปอยู่โรงเรียนประจำกันหมด เหลือผมเป็นเด็กอยู่บ้านคนเดียว  พ่อก็ทำงาน แม่ก็ต้องทำงานบ้าน  ดังนั้น สำหรับเด็กที่ไม่มีใครเล่นด้วยหรือให้เล่น ก็จะโหยหิวใครก็ได้ วัยอะไรก็ได้ ที่มีเวลาเล่นมาเล่น คุยด้วยกับผม หรือนั่งเฉยๆให้ผมเล่นก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรให้เล่นเลย

บางคนอาจจะบอกว่า ทำไมไม่หาอะไรเล่น มีของเล่นไหม ทำไมไม่อ่านหนังสือ ? หรือถ้าเป็นสมัยนี้ ก็อาจจะบอกว่า ทำไมไม่เปิดคอมพิวเตอร์  ทำไมไม่มีเกมส์คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารอะไรที่จะเล่นแถมให้ความรู้ไปด้วย ?

ผมมีของเล่นพอสมควรครับ และตอนเล็กมากๆก็อาจจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ หรืออ่านให้สนุกไม่ได้ ถึงแม้ถึงวัยที่โตพอจะอ่านได้หรืออ่านได้สนุก แต่ถ้ามีคนมา ผมก็จะเลือกคนมากกว่าของเล่นหรือหนังสือครับ ของเล่นหรือสิ่งของที่ดูมีชีวิตหรือพวกอานิเมะอาจจะทำให้เด็กๆตื่นเต้นสักพัก แต่พอเวลาผ่านไป คนด้วยกันก็น่าสนใจกว่าอยู่ดี  และแน่นอนว่า ถ้าเป็นคนวัยใกล้ๆกันด้วยก็น่าจะสนุกกว่าคนที่อายุห่างกันมาก แม้ว่าคนที่อายุห่างกันนั้นอาจจะพยายามเอาอกเอาใจชวนทำโน่นนี่นั่น แต่มันก็สู้วัยใกล้ๆกันไม่ได้อยู่ดี เป็นไปได้มากว่าเด็กจะรู้ได้โดยสัญชาตญาณว่า เด็กด้วยกันคิดอะไร หรือไม่ได้คิดอะไร ?!

ดังนั้น ที่กล่าวไปข้างต้น น่าจะพอเป็นเหตุผลที่อูนนี่ชอบที่อยู่ใกล้ๆพี่ Boss  แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ทำไมอูนนี่ถึง “ทำการบ้าน” เหมือนอย่างที่พี่ Boss กำลังทำอยู่ ?

เป้าหมาย อารมณ์และเหตุผลใน “การทำการบ้าน” ของอูนนี่แตกต่างจากการทำการบ้านของพี่ Boss แน่นอน ในขณะที่พี่ Boss กำลังทำการบ้านเพราะครูสั่งมา และมันเป็นภาระที่ต้องทำให้เสร็จสิ้น พี่ Boss จะชอบหรือไม่ชอบไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆคือ ไม่ได้มีครูหรือใครสั่งการบ้านให้อูนนี่ และอูนนี่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระและก็ไม่ได้ต้องทำให้เสร็จ แต่ที่แน่ๆอีกอันหนึ่งก็คือ อูนนี่ชอบแน่ๆ เพราะการที่เด็กคนหนึ่งหรือมนุษย์คนหนึ่งทำอะไรโดยไม่มีใครสั่ง นอกจากตัวเองอยากทำ มันต้องมีความชอบ ความสนุกอยู่ในนั้น แต่ที่ผมชอบอูนนี่ในรูปมากๆก็คือ ท่าทางการทำการบ้านอย่างเอาจริงเอาจังของอูนนี่ ที่ดูจะพยายามทำให้ไม่ต่างจากพี่ Boss เลย  จะว่าตลกก็ตลก แต่ประทับใจมากกว่าตลก  เพราะถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองและครูเห็นนักเรียนคนใดเอาจริงเอาจังกับการทำการบ้าน ก็น่าจะพอใจสบายใจว่า ไม่ต้องบังคับ สร้างแรงจูงใจ จ้ำจี้จำไชให้เด็กต้องทำการบ้าน คัดลายมือ รู้จักและมีทักษะในการใช้ภาษาเขียนหรือคิดเลขเป็น เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับมนุษย์ที่จะดำรงชีวิตในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างอยู่ได้และอยู่เป็น

เป็นไปได้ว่า คำอธิบาย “การทำการบ้านโดยสมัครใจ” ของอูนนี่ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เธอเขียนอะไรอยู่ อิ อิ) คือ เด็กๆชอบเลียนแบบ ซึ่งคำอธิบายนี้ก็ใช้ได้ดีพอสมควรเลย เพราะถ้าผู้ปกครองอยากให้ลูกทานข้าวเองเป็น หากป้อนอยู่ตลอด ลูกก็กินข้าวได้เองช้า แต่ถ้าหากผู้ปกครองนั่งทานข้าวไปด้วยกับลูก โดยปล่อยให้ลูกค่อยๆหัดหยิบช้อนตัก โดยผู้ปกครองก็ตักอาหารใส่ปากตัวเองให้ดูไปเรื่อยๆ เด็กก็มักจะเลียนแบบเอง แต่มันมักไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้ปกครองจะคิดว่า เสียเวลามาก และลูกเล็กหยิบช้อนตักอาหารใส่ปากไม่ถนัด จะตกหกเลอะเปรอะเปื้อนทั้งโต๊ะกินข้าว พื้นห้อง และเลอะตัวลูกเองด้วย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียเวลานานทั้งการกินและการต้องมาทำความสะอาด ก็ป้อนมันเสีย ง่ายดี

ดังนั้น บทเรียนที่ได้จากอูนนี่และพี่ Boss ก็คือ หากต้องการให้ลูกทำอะไรเป็น ก็คงต้องทำเป็นตัวอย่าง และถ้ามีเด็กวัยใกล้ๆกันก็จะยิ่งดี แต่ครอบครัวสมัยนี้ มีลูกน้อยหรือมีลูกคนเดียว เงื่อนไขที่จะมีเด็กวัยใกล้ๆกันให้ทำอะไรด้วยกันเลียนแบบกันก็เสียไป แต่ไม่มีเด็กวัยใกล้กันก็ไม่เป็นไร ผู้ใหญ่ก็เป็นตัวอย่างไห้เด็กเลียนแบบได้ คือ แกล้งนั่งทำการบ้านให้เด็กเห็น และการเลียนแบบก็จะกลายเป็นการเรียนแบบไม่รู้ตัว

บทเลียน/เรียนจาก หนูน้อย อูนนี่

ดังนั้น นอกจากเราจะเคยได้ยินแนวคิดเรื่อง play พร้อมๆกับ learn ที่ทำให้ “เพลิน” แล้ว เราก็มี “การเลียนแบบ” ที่เป็น “แบบเรียน” ด้วย

การเลียน/เรียนแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเด็กคนหนี่งกับเด็กอีกคนหนึ่งเท่านั้น  แต่อาจจะเกิดกับเด็กคนหนึ่งกับเด็กจำนวนมาก หากเด็กจำนวนมากกำลังทำอะไรอย่างเดียวกันอยู่ เด็กคนเดียวที่ไม่ได้ทำอย่างนั้นก็จะรู้สึกแปลกแยกทันที และเขาว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และคุณสมบัติอันหนึ่งของสัตว์สังคมก็คือ ไม่อยากเป็นแกะดำ นอกเหนือไปจากการชอบทำอะไรเหมือนๆกันแล้ว   

บทเลียน/เรียนจาก หนูน้อย อูนนี่

ที่จริง การทำอะไรตามฝูงหรือส่วนใหญ่นี่ไม่ได้จำกัดเฉพาะวัยเด็กเท่านั้น โตเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังมีอาการกลัวเป็นแกะดำหลงฝูงอยู่  และยิ่งในโลกโซเชียลมีเดียแล้ว อาการกลัวเป็นแกะดำมักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเลย และถ้าโลกโซเชียลมันดำเนินไปด้วยระบบการสร้างการปั่นกระแสหรือฝูงด้วยแล้ว ใครที่หลงฝูงหรือคิดไม่เหมือนคนอื่นก็จะเกิดอาการหวิวๆ ยิ่งแสดงความเห็นอะไรออกไปแล้วเจอทัวร์ลง ก็ต้องรีบหนีรีบลบหรือกลับไปคิดใหม่ให้เหมือนฝูงหรือให้เป็นที่พอใจของทัวร์ที่มาลงใหม่ในรูปของยอดกดไลค์ชื่นชอบชื่นชม

ดังนั้น ความต้องการเลียนแบบเข้าฝูงมีทั้งบวกและลบ ต้องรู้จักใช้ และต้องรู้เท่าทัน อยู่ให้เป็น

แต่ที่แน่ๆคือ ไม่ใช่เด็กวัยอูนนี่ทุกคนที่อยากจะไปนั่งทำท่าทำการบ้านอย่างจริงจังเลียนแบบพี่ Boss  เพราะถ้าทุกคนเป็นแบบนั้น เราก็สร้างหรือผลิตเด็กให้เป็นแบบที่ต้องการได้ไม่ยาก แต่มนุษย์ไม่ได้มีธรรมชาติดั่งผ้าขาวอย่างที่มีนักทฤษฎีว่าไว้ผิดๆและเชื่อตามกันมาอย่างผิดๆ   เพราะเด็กบางคนจะไม่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่าง แต่ชอบพฤติกรรมบางอย่าง ต่อให้หาเด็กวัยใกล้เคียงกันมานั่งใกล้ๆทำอะไรให้ดู ก็ไม่สนใจจะทำตาม เด็กแต่ละคนมีธรรมชาติอะไรบางอย่างของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าอะไรคือธรรมชาติบางอย่างที่อยู่ในตัวคนเรา

ประจักษ์พยานยืนยันธรรมชาติบางอย่างที่อยู่ในตัวมนุษย์ก็คือ คนบางคนมีความเป็นตัวของตัวเองจนฝูงหรืออาการกลัวเป็นแกะดำไม่สามารถมีอิทธิพลต่อเขาได้

คนแบบนี้มักจะกลายเป็นผู้นำฝูง หรือไม่ก็เป็นสัตว์ประเภทที่ชอบอยู่ลำพังกลายเป็น singular animal ไป

และคนแบบนี้ก็เป็นไปได้ทั้งต้นแบบของความดีที่สุดและเลวที่สุดด้วย