posttoday

อาหารแห่งอนาคต FutureFood โปรตีน(เนื้อ)จากพืช เศรษฐกิจฐานใหม่ของไทยสู่ฮับอาหารเจ(PbM)ของโลก(ตอนจบ)

12 ตุลาคม 2563

โดย อลงกรณ์ พลบุตร 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์, ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0, ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC), และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

**************************************

“ในยุคโควิด โลกยังมีขนาดเท่าเดิมแต่ เศรษฐกิจทั่วโลกเล็กลง เรียกว่า โลกกว้างแต่ทางแคบ ประเทศไทยจึงต้องแสวงหาโอกาสใหม่ในทางที่แคบ ในเกมที่เราเก่ง..”

“.. อาหารแห่งอนาคต(Future Food)และพืชแห่งอนาคต(Future Crop)คือคำตอบเพราะจะเป็นกุญแจไขประตูแห่งอนาคตสำหรับประเทศไทย..”

ขอนำความสำคัญๆ จากตอนที่ 1 และ 2 มาเกริ่นนำก่อนนะครับ มูลค่าตลาดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกมีมูลค่าเกือบ5แสนล้านบาท ยอดขายอาหารผลิตด้วยเนื้อจากพืชในสหรัฐเติบโตเฉลี่ยปีละ 15.4% ปี 2019 ตลาดอาหารเจในจีนมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ไม่ว่าค่ายอาลีบาบาของจีนหรือสตาร์บัค เคเอฟซี เนสเล่ของประเทศตะวันตกและบรษัทญี่ปุ่นที่ไปทำมาหากินในแผ่นดินมังกรต่างขยายการผลิตและบุกตลาดอาหารเจตั้งแต่ติ๋มซำซาลาเปาเฝ๋อก๊วยเตี๋ยวซูชิแกงกะหรี่จนถึงไส้กรอก ไก่ย่างและแฮมเบอร์เกอร์ ที่ผลิตจากโปรตีนพืช โปรตีนจากพืชและอาหารเจผลิตจากถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา มะเขือยาว เห็ด สาหร่าย พืชสมุนไพร พืชสวนครัว น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวเป็นต้น

อาหารแห่งอนาคต FutureFood โปรตีน(เนื้อ)จากพืช เศรษฐกิจฐานใหม่ของไทยสู่ฮับอาหารเจ(PbM)ของโลก(ตอนจบ)

ประเทศไทยต้องมองหาเศรษฐกิจใหม่ๆในยามที่เศรษฐกิจดั้งเดิมถดถอยจากวิกฤติโควิด ตลาดเกือบ 5 ล้านล้าน ไทยพลาดไม่ได้ ในยุคโควิด ทุกคนเริ่มมองหาอาหารที่มาจากธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของตัวเอง และเพื่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพืชในมื้ออาหารให้มากขึ้น จึงกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงที่สุดของโลก กล่าวได้ว่าอาหารแห่งอนาคต(Future Food)จะกลายเป็นพืชเสียส่วนใหญ่ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม Plant-based Meat จะมีมูลค่าถึงกว่า4ล้านล้านบาท(กว่า 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ เทรนด์ อาหารที่ทำจากโปรตีนจากพืช(Plant-Based Protein)ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไทยเองเริ่มมานานแล้ว

จะเห็นได้จาก เทศกาลกิจเจ แต่ที่เป็นกระแสดังเพราะปีที่ผ่านมา Beyond Burger เริ่มเข้าตลาด ทำให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น รวมทั้งดารา Hollywood อย่าง Leonardo DiCaprio หรือ Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft ก็มาลงทุนในอาหารชนิดใหม่ โดยเฉพาะ เนื้อจากพืช (Plant based Meat) ล่าสุดค่ายร้านโดนัท Dunkin’ ขอร่วมตลาดนี้ด้วย จับมือกับเจ้าใหญ่ในตลาดอย่างบริษัท Beyond Meat ในการเอาเนื้อจากพืขมาทำเมนูอาการเช้า( Beyond Sausage Breakfast Sandwich ) และเมนูนี้ก็ไม่ใช่มังสวิรัติของสาย Vegan เพราะเสิร์ฟพร้อมกับไข่ และชีส ลูกค้ายังสามารถทานคู่กับมัฟฟินได้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ Burger King, McDonald’s , Subway ร้านแซนวิชรายใหญ่และร้านอาหารอื่นๆ ต่างมีเมนูอาหารจากพืช

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Tyson ซึ่งเป็นนักเก็ตไก่ทำจากส่วนผสมของโปรตีนจากถั่วลันเตา เยื่อไผ่ และไข่ขาว แบรนด์ Good Catch ผู้ผลิตทูน่าที่ทำจากพืชโดยมีส่วนผสมของโปรตีนจาก ถั่วลันเตา และถั่วเหลือง  ยิ่งกว่านั้นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาได้ลงมาบุกตลาดนี้ด้วย เช่นHormel และ Kellogg( Hormel เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในกลุ่มแฮม ไส้กรอก และ Kellogg ผู้ผลิตอาหารในกลุ่มซีเรียล คุ้กกี้ และแคร็กเกอร์ต่างๆ)Hormelใช้ชื่อแบรนด์สำหรับสินค้า Plant-based Meat ว่า Happy Little Plants อยู่ภายใต้บริษัท Cultivated Foods ในขณะที่ Kellogg ใช้ชื่อแบรนด์ Incogmeato

การเติบโตของตลาดPbMในอเมริกาและตลาดอาหารเจในจีนทำให้ยักษ์ใหญ่อย่างBeyond Meat ของสหรัฐฯ จะเปิดโรงงานผลิตใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้ และต้นปีที่ผ่านมาก็เพิ่งจะจับมือเป็นหุ้นส่วนกับ Starbucks เพื่อผลิตเนื้อที่ทำจากพืชและขายในคาเฟ่ขนาดใหญ่ของจีน ทั้งนี้ Zhenmeat สตาร์ทอัพจีนซึ่งร่วมกับBeyond Meatได้ผลิตเนื้อที่ทำจากพืชหลายเมนูด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมีทบอล เนื้อบด สเต็กพอร์คลอยน์ กุ้งนาง และเกี๊ยว เป็นต้น  แม้แต่Ikea ซูเปอร์สโตร์เฟอร์นิเจอร์ของสวีเดนก็ยังโดดมาเล่นตลาดใหม่นี้โดยทำผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นพืช( Plant Ball )มีรสชาติและรูปลักษณ์ที่เหมือนกับเมนู Meatball ปกติโดยมีส่วนผสมหลักๆ คือ โปรตีนจากถั่วเหลือง, ข้าวโอ๊ต, มันฝรั่ง, หอมหัวใหญ่ และแอปเปิล ต่างจาก Meatball แบบเดิมที่มีส่วนผสมหลักๆ คือ เนื้อวัว และเนื้อหมู

เกมที่ไทยเก่งและโอกาสมาถึง กระแสการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืชกำลังมาแรง มียอดขายที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 ระบาดก็ตาม โดยนักการตลาดคาดการณ์ในปี 2022 ยอดขายอาหารที่ทำมาจากพืช จะมีสัดส่วน 20% ของยอดขายอาหารทั้งหมดและมองว่าจะไม่ใช่แค่ Niche Market แต่เป็น Mega Trend แห่งปี และจะเป็นอนาคตของธุรกิจอาหารเลยก็ว่าได้  ก่อนหน้ามีเทรนด์ของคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ ทานมังสวิรัติ หรือเป็นกลุ่ม Vegan ที่ต่อต้านการละเมิดชีวิตสัตว์ทุกประเภทตอนนี้มีคำว่า Plant-based Food เข้ามาใหม่ในระบบ เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากในปีนี้

สำหรับตลาดผู้บริโภคในประเทศไทยอาจจะไม่บูมเหมือนตลาดอเมริกา และจีนแต่จะค่อยๆเติบโตเหมือนก้อนหิมะเพราะคนไทยถูกปลูกฝั่งเทศกาลกินเจมานาน ขณะที่ผู้บริโภคสูงอายุส่วนมากเริ่มหันมาทานเป็นมังสวิรัติมากขึ้น ส่วนกลุ่มคนกิน Vegan ก็มีจำนวนมากพอสมควร โดยใน Facebook Group มีสมาชิกเกือบแสนคน ที่น่าสนใจมากที่สุดสพหรับบ้านเราคือการผลิตอาหารจากพืชตีตลาดโลก เป็นเกมที่เราเก่งและถนัด นี่คือโอกาสของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลกและอันดับ 2 ของเอเซีย โควิดทำให้ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ(Healthy food)เพิ่มขึ้นทั่วโลก สอดรับกับนโยบายเกษตรปลอดภัยและอาหารปลอดภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ๆของรัฐมนตรี"ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน"

1 เป้าหมาย 6 แผน 4 แนวทาง การบริหารโอกาสสำหรับประเทศไทยจึงต้องขับเคลื่อนให้เป็นจริงเร็วที่สุด เริ่มจากกำหนดเป้าหมายเป็น”ฮับอาหารเจและเนื้อจากพืช(PbM:Plant based Meat)ของโลก”หรือซิลิคอน วัลเลย์อาหารแห่งอนาคต(Silicon Valley of Future Food) พร้อมกับจัดทำโรดแม็ป(Road Map)และแผนปฏิบัติการ(Action Plan)ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างน้อย6แผนได้แก่ 1.แผนส่งเสริมการผลิตพืชที่เป็นวัตถุดิบโดยเน้นผลิตภาพ(Productivity)และเทคโนโลยีเกษครสมัยใหม่ 2.แผนส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนการตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตในทุกภูมิภาค 3.แผนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารและตลาดในต่างประเทศ

4.แผนสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับบริษัทอาหารของโลกที่เป็นเชนสากล 5.แผนความร่วมมือกับร้านอาหารไทยทั่วโลกเพื่อเป็นฐานขยายตลาด 6.แผนการสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ทั้งนี้การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวจะยึด 4 แนวทางได้แก่1.เทคโนโลยีเกษตร 2.นวัตกรรมอาหาร 3.ระบบทรัพย์สินทางปัญญาและ4.นโยบายเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยเป็นหัวใจหลักในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การแปรรูปการตลาด การสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรม“เนื้อจากพืช“หรืออาหารเจป้อนตลาดในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

ลุยทันทีสไตล์ทำได้ไวทำได้จริง ภายในเดือนตุลาคมนี้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกลุ่มคลัสเตอร์เกษตรอาหารจะมีการประชุมร่วมกับสศก. สวก.และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC(Agritech and Innovation Center) สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม หอการค้าไทยกระทรวงพาณิชย์และกลุ่มบริษัทไทยผู้ผลิตอาหารภายใต้โมเดลโปรตีนจากพืชและเนื้อจากพืช(Plant Based Meat) 1ปีที่ผ่านมามีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คืบหน้าไปมากมีศักยภาพเพิ่มขึ้นและพร้อมรับภารกิจใหม่ๆเช่นนโยบายพืชแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต ภายใต้วิกฤติคือโอกาสที่เรามองเห็นและลงมือทำทันทีด้วยสไตล์ใหม่ๆทำได้ไวทำได้จริงเพื่ออนาคตของคนไทยทุกคนครับ