posttoday

การเมืองเสมือนจริงในโลกความฝันของคนรุ่นใหม่

10 ตุลาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***************

ในยุคดิจิตอลทุกสิ่งอาจเป็นไปได้ แม้จะไม่ใช่ความจริงที่จับต้องได้

คนที่มองการเมืองในยุคปัจจุบัน อาจจะมีความสับสนสงสัยอยู่บ่อย ๆ ว่า “อะไรคือความจริง อะไรคือความไม่จริง” แต่ถ้าเราเข้าใจในเรื่องของสมอง เกี่ยวกับการคิดและการสร้างสรรค์ เราอาจจะพอมองเห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างเกิดจากเรื่องที่ไม่ได้เป็นความจริง แต่เกิดขึ้นได้จาก “ความคิดความฝัน” จากสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่เมื่อพยายาม “คิดไปเรื่อย ๆ” สิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้นั้นก็เกิดขึ้นได้

สิ่งนี้คือสิ่งที่จะอธิบายถึง “ความพยายาม” ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่พยายามจะสร้าง “การเมืองในความคิดความฝัน” ของพวกเขา ว่าทำไมจึงดูไม่ค่อยจะ “เข้าท่าเข้าทาง” หรือดูขวาง ๆ โลกพิกล แต่ถ้าเรามองด้วย “กระบวนการสร้างโลกเสมือนจริง” ก็พอจะมองเห็นว่า มันเป็นสิ่งง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และเกิดขึ้นตลอดเวลา

หลายปีก่อน ตอนที่กำลังทำห้องชีวประวัติของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในสถาบันคึกฤทธิ์ ที่ซอยงามดูพลี เขตสาทร (เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ระหว่างวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เพื่อเผยแพร่ประวัติ ผลงาน และเกียรติคุณ ของ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี) ผู้เขียนซึ่งเป็นกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ฯ ได้เสนอความคิดแก่ผู้จัดทำห้องนิทรรศการว่า ควรจะทำมีห้องนิทรรศการแบบเสมือนจริง โดยใช้ระบบ Holographic คือการฉายแสงให้เกิดรูปภาพสามมิติ และสามารถเคลื่อนไหว พูดคุยกับผู้มาชมนิทรรศการได้ แต่เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ความคิดดังกล่าวก็ถูกพับไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ได้ความรู้มาว่า การสร้างภาพสามมิติแบบเสมือนจริง ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เพียงแต่มีความยุ่งยากทางวัสดุอุปกรณ์ กับสถานที่ที่จะต้องมีความเหมาะสม เทคโนโลยีนี้ก็เพียงใช้เลเซอร์รวมแสงฉายในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพให้เป็นเรื่องราว ผ่านตัวบุคคลที่จะเป็นพรีเซนเตอร์ ให้มานำเสนอเรื่องราวในสิ่งที่ผู้สร้างต้องการ

ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนได้ความรู้จากคำอธิบายนี้ก็คือ โลกเสมือนจริงที่สุดก็เป็นเพียงแค่จินตนาการของผู้สร้าง ที่นำมาสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ “น่าตื่นเต้น” เท่านั้น (ถ้าเคยชมภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส เราจะเห็นการใช้เทคโนโลยีนี้ในการพูดคุยกันระหว่างตัวแสดงที่อยู่ต่างสถานที่กันในอวกาศ รวมถึงในฉากการประชุมของสหพันธ์ ที่มีการนำผู้ร่วมประชุมจากดาวดวงอื่นมาอยู่ในห้องประชุมนั้นได้ด้วย)

เมื่อนำแนวคิด “การสร้างโลกเสมือนจริง” ในเทคโนโลยีดิจิตัล มามองการเมืองไทยในเวลานี้ ก็พอจะปะติดปะต่อได้ว่า เป็นแค่ความพยายามของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่พยายามจะสื่อสารกับผู้คนให้มีความเชื่อความคิด “คล้อยตาม” หรือเชื่อและคิดตามไปด้วยว่า “เป็นการเมืองยุคใหม่ที่น่าสนใจและสามารถสร้างขึ้นได้” ซึ่งพอดีกันกับที่ในยุคนี้มีเทคโนโลยีที่สนับสนุนได้พอดี นั่นก็คือโซเชียลมีเดียที่เข้ามาส่งเสริมให้กระบวนการนี้สามารถดำเนินไปอย่าง “กว้างขวาง รวดเร็ว และลึกซึ้ง”

กระนั้น จุดอ่อนของการสื่อสารของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยนี้ก็คือ การนำเสนอเนื้อหาที่ออกจะ “เบลอ ๆ” เพราะถ้าเป็นเทคนิค Holographic ที่ใช้สร้างภาพเสมือนจริงในการแสดงนิทรรศการหรือการประชุมทั้งหลายนั้น สิ่งที่ผู้ใช้เทคนิคนี้ต้องคำนึงถึงมากที่สุดก็คือ “การสร้างความคมชัดของภาพ” โดยจะต้องมีอุปกรณ์ในการฉายภาพให้มีการรวมแสงที่เข้มข้น จนสามารถที่จะปรากฏเป็นภาพที่ชัดเจน “เหมือนมีชีวิตจริง ๆ” ในบริเวณที่กำหนด

แต่การที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ใช้รูปแบบของการสื่อสารที่ไม่ค่อยจะชัดเจน ก็มีแต่จะทำให้ผู้คนจำนวนมาก “เคลือบแคลงสงสัย” คือไม่อาจจะมองเห็นภาพ “อันเป็นจริง” ตามที่กลู่มคนรุ่นใหม่กำลังนำเสนออยู่นั้นได้ ทั้งนี้อาจจะมอง “การสร้างภาพ” ใน 2เรื่องใหญ่ๆ ได้ดังนี้

เรื่องแรก “รูปแบบของการก่อม็อบ” ในช่วงแรกๆ กลุ่มคนรุ่นใหม่ชอบใช้ “แฟลชม็อบ” ที่บางคนเรียกว่า “ม็อบฉับพลัน” ที่นัดรวมกลุ่มกันเพียงเวลาสั้นๆ มาร่วมแสดงสัญลักษณ์ หรือแสดงข้อเรียกร้องเพียงบางเรื่อง (ซึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงออกและข้อเรียกร้องที่นำเสนอก็เป็นที่เข้าแต่เฉพาะคนในกลุ่ม) ที่อาจจะเป็นด้วยถูกควบคุมด้วย พรก.ฉุกเฉิน หรือกำลังสนับสนุนของม็อบที่มีจำกัด จึงแสดงออกได้เพียงแต่นั้น

แต่ในช่วงต่อมาได้พยายามขยายเป็น “ม็อบคลาสสิก” คือการชุมนุมขนาดใหญ่ ร่วมกับการจัดปราศรัยอย่างเร้าใจ ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งยังมีเนื้อหาในการนำเสนอที่เบลอ ๆ ด้วยการปราศรัยที่ออกจะ “จืด ๆ” ไม่ได้เนื้อหาอย่างที่มีคนสนใจติดตาม (รวมถึงบางคนที่อยากสนับสนุน ก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ทางกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้นำเสนอด้วยเช่นกัน)

อีกเรื่องหนึ่ง “องค์กรและความยั่งยืนของม็อบ” ถ้าเป็นไปตามทฤษฎีของการก่อม็อบ หรือ “การรณรงค์ทางการเมือง” จำเป็นจะต้องมี “องค์กรนำ” ที่เข้มแข็ง อันประกอบด้วย ผู้นำ เป้าหมาย การจัดการ ยุทธวิธี และมวลสมาชิก ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดในม็อบคนรุ่นใหม่ขณะนี้ ไม่มีอะไรที่ชัดเจนสักอย่าง จึงทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่ากลุ่มม็อบจะสามารถเคลื่อนไหวไปได้อย่างยาวนานจนสามารถจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทั้งยังทำให้เกิดการมองใน “แง่ลบ” เช่น คนที่อยู่เบื้องหลัง และเป้าหมาย “อุบาทว์” ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งได้ทำให้การออกมาร่วมกับม็อบของประชาชน ก็ไม่สามารถแสดงความต้องการออกมาอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า โลกเสมือนจริงไม่อาจสู้กับโลกที่เป็นจริงนั้นได้ รวมทั้งที่ต้องใช้ความพยามและทรัพยกรจำนวนมากเพื่อให้ทุกสิ่งดูเป็นจริงให้ได้ เช่นเดียวกันกับม็อบที่พยายามจะทำให้คน “เชื่อและผูกพัน” ก็ต้องใช้ “ความคมชัด” ให้ผู้คนเข้าร่วมกับโลกในความฝันนั้นให้ได้ ก็ต้องพยายามหารูปแบบที่จะสร้างความชัดเจนให้มากขึ้นไปกว่านี้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นความพยายามที่ล้มเหลวและสูญสิ้นโดยเปล่าประโยชน์

แต่ถ้าคิดว่า “ก็ฉันจะทำให้มันเบลอๆ แบบนี้ ใครจะทำไม” ก็เชิญต่อสู้ไปตามลำพังเทอญ

******************************