posttoday

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (13): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ“คณะเจ้า”ชุดที่สอง

24 กันยายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

(ความเดิมจากตอนที่แล้วๆ) พรรคการเมืองพรรคแรกของสวีเดนคือ the Hat the Hat ต้องการให้สวีเดนฝักใฝ่ฝรั่งเศสและหันหลังให้รัสเซีย the Hat ได้โน้มน้าวให้ Adolf Frederick องค์รัชทายาทของสวีเดนหันมาฝักใฝ่กับฝรั่งเศส โดยสัญญาว่า จะแก้กฎหมายเพิ่มพระราชอำนาจให้ หลังจากที่ Adolf Frederick เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว

แต่เอาเข้าจริงๆ หลังจากที่ the Hat ได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว ก็ไม่ได้ทำตามสัญญา ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจจากฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสมเด็จพระราชินี Louisa Ulrika หลังจากความร้าวฉานจากการถูกหักหลังโดย the Hat ในปี ค.ศ. 1751 Louisa Ulrika ทรงเป็นปฏิปักษ์ชัดเจนกับ the Hat พระองค์ทรงต้องการจะมีกลุ่มการเมืองของพระองค์ที่มีเป้าหมายร่วมกันหนึ่งเดียวเพื่อเดินหน้าหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา

และด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองที่สามจึงถือกำเนินขึ้นในยุคแห่งเสรีภาพ นั่นคือ “พรรคหรือคณะเจ้า” (Hovpartiet) ที่มี Louisa Ulrika เป็นศูนย์รวมใจสำคัญ อันที่จริง คณะเจ้าที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1751 ถือเป็นคณะเจ้าชุดที่สอง เพราะเคยมีการรวมตัวเป็นคณะเจ้ามาก่อนหน้านี้ในรัชกาลก่อนหน้า แต่ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ จึงสลายตัวไป

คณะเจ้าในปี ค.ศ.1751ประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญที่เป็นแกนนำ ดังต่อไปนี้

Count Erik Brahe เป็นนายทหารอภิชนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 29 ปี (เกิด ค.ศ. 1722) มาจากตระกูลอภิชนที่มีชื่อเสียงที่สุดตระกูลหนึ่งในสวีเดน เขาเกิดหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 4 ปี เป็นนายทหารหนุ่มที่ได้รับการฝึกฝนอบรมให้เป็นนายทหารม้า อันที่จริง เขาเคยสนับสนุน the Hat ในการทำสงครามในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1738-1741 และต่อมาเขาได้เป็นสมาชิกของรัฐสภาในปี ค.ศ.1746 และเป็นสมาชิกคณะกรรมธิการฝ่ายเลขานุการของรัฐสภาในปี ค.ศ.1751

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (13): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ“คณะเจ้า”ชุดที่สอง

                            Count Erik Brahe นายทหารหนุ่มอายุเพียง 29 ปี แกนนำคนสำคัญของคณะเจ้า

Erik Brahe ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ Adolf Frederick ทรงให้ความไว้วางพระทัยอย่างยิ่ง นอกจากนี้เขาเคยยังทำหน้าที่รักษาการประธานสภาของพวกอภิชน (ในระบบรัฐสภาของสวีเดน ประกอบไปด้วยสี่ฐานันดร นั่นคือ ฐานันดรอภิชน นักบวช พ่อค้า และชาวนา แต่ละฐานันดรจะมีการประชุมแยกย่อยของตัวเองด้วย)

ต่อมาเขาได้เป็นสมาชิกในสภาบริหารด้วย แม้ว่าเขาจะใกล้ชิดกับ Adolf Frederick แต่เขาอยู่ภายใต้อำนาจของสมเด็จพระราชินี Louisa Ulrika มากกว่า เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า สมเด็จพระราชินีทรงมีภาวะผู้นำสูงและมีบุคลิกภาพเข้มแข็งกว่า Adolf Frederick

สำหรับด้านอุดมการณ์ทางการเมือง Erik Brahe มีความมุ่งมั่นที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้กลับฟื้นคืนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง Brahe จัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทที่สี่ที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์จำแนกไว้ในตอนที่แล้ว

ต่อมาคือ Baron Erik Wrangel (Vrangel) นักกฎหมาย มีอายุ 65 ปีในขณะที่มีการก่อตั้งคณะเจ้าขึ้นในปี ค.ศ. 1751 เคยรับราชการในรัชสมัย Charles XII และได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการติดตาม Gortz คนสนิทของ Charles XII และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาในพื้นที่ Skaraborg และหลังจาก Charles XII เสด็จสวรรคต และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการยุบตำแหน่งทั้งสองนี้ ทำให้เขาตกงาน

แต่ต่อมาหลังจากที่ the Hats ขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ. 1738 แม้ว่าจะเขาจะไม่ได้เป็นพวก the Hats แต่ the Hat ได้แต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการลับในปี ค.ศ. 1739 ทั้งๆที่เขาไม่ต้องการ (คณะกรรมาธิการลับมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า the Secret Committee ที่ตั้งชื่อเช่นนั้น เพราะการประชุมของคณะกรรมาธิการนี้จะต้องปกปิดเป็นความลับ และเรื่องที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมาธิการลับนี้คือ เรื่องกิจการระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการนี้ไม่เปิดให้ตัวแทนจากฐานันดรชาวนาเข้าไปดำรงตำแหน่ง เพราะในขณะนั้น เห็นว่า พวกชาวนายังมีความรู้ไม่พอที่ในเรื่องกิจการระหว่างประเทศ) แต่หลังจากที่ Erik Wrangel ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการลับ เขาได้ต่อต้านนโยบายการทำสงครามของ the Hat และหลังจากที่สวีเดนพ่ายแพ้สงคราม และรัฐบาลฝ่าย the Hat กำลังตกที่นั่งลำบากที่จะถูกโจมตีจากฝ่าย the Cap ที่เป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามของ the HaT ในที่ประชุมสภาฐานันดรปี ค.ศ. 1742 Carl Gyllenborg ฝ่าย the Hat ผู้เป็นสหายของ Wrangel ได้ขอร้องให้เขาช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างthe Hat และ the Cap แต่ไม่สำเร็จ

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (13): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ“คณะเจ้า”ชุดที่สอง

                                      Count Thure Gabriel Bielke

แกนนำในคณะเจ้าคนต่อมาคือ Count Thure Gabriel Bielke อายุ 67 ปี (ในปี ค.ศ. 1751) ดำรงตำแหน่งมหาดเล็กกรมวังรับใช้ Gustav (ต่อมาคือ Gustav III) พระราชโอรสใน Adolf Frederick และ Louisa Ulrika Bielke เป็นอภิชนนายทหารและนักรบที่สามารถ ได้รับเหรียญกล้าหาญในการทำสงครามในรัชสมัยของ Charles XII เขามีบทบาทโดดเด่นในฐานะสมาชิกสภาบริหารในรัฐบาลภายใต้ Horn

แต่หลังจากที่ the Hat ขึ้นสู่อำนาจในปี ค.ศ. 1738 เขาได้ถูกปลดจากการเป็นสมาชิกสภาบริหาร ทำให้เขามีความเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อ the Hats และพยายามทุกวิถีทางที่จะโค่นล้ม the Hat และ the Hat ก็หาเหตุที่จะเล่นงานเขา โดยในปี ค.ศ. 1741 ได้หาเรื่องลงโทษเขาในข้อหาบกพร่องในหน้าที่ และยกเลิกบำนาญของเขา แต่หลังจากที่รัฐบาล the Hat พ่ายแพ้ในสงครามกับรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1742 ทำให้เขาได้รับบำนาญต่อไป

และในช่วงระหว่างการประชุมรัฐสภา ค.ศ.1746-1747 เขาได้ร่วมกับ Samuel Akerhielm ต่อสู้ในสภาบริหาร และตัวเขาเองก็ยอมรับในความสัมพันธ์สนิทสนมกับ Korff ทูตรัสเซียประจำสวีเดน ซึ่ง the Hat ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย (อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้ว) และหลังจากที่ the Hats ได้กำจัด Akerhielm ได้แล้ว Bielke ก็อยู่ในสถานะที่ลำบาก แต่ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นมหาดเล็กกรมวังดังที่กล่าวไปข้างต้น

ต่อมาคือ Carl Wilhelm Duben อายุ 27 ปี ในปี ค.ศ. 1751 เขาได้รับแตงตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการในสมเด็จพระราชินี Louisa Ulrika แม้ว่าเขาจะถูกนับว่าเป็นพวก the Hat จากการที่เขามีญาติสนิทเป็นนน the Hats แต่เขาก็ไม่ได้เป็นฝ่าย the Hats อย่างชัดแจน

ต่อมาคือ Baron Gustaf Jacob Horn (1706) อายุ 45 ปี ราชเลขาธิการในพระองค์ (marshal of the court) เป็นหลานชายของ Henning Rudolf Horn นายทหารและนักรบที่สามารถ และสามารถรักษาเมือง Narva จากกองทัพของ Peter I แห่งรัสเซีย ทำให้ Charles XII ทรงยกย่องและแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง “Free Lord” อันเป็นตำแหน่งอภิชนที่แต่งตั้งขึ้นใหม่สำหรับผู้ที่มาจากตระกูลสามัญชน ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นมหาดเล็กในปี ค.ศ. 1731 และในปี ค.ศ. 1744 ได้เป็น เลขาธิการกองงาน (court masters) ใน สมเด็จพระราชินี Louisa Ulrika

ต่อมาคือ Thure Gustaf Rudbeck (เกิด ค.ศ. 1714) อายุ 37 ปี เป็นนายทหาร และมีบิดาเป็นนายทหารที่เสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้สองปี ได้รับการยกย่องในความกล้าหาญในสงครามที่รัฐบาล the Hat ทำศึกกับรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1741-1743 และได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นร้อยโท ในช่วงที่เกิดกบฏชาวนาจาก Dalarna ที่เคลื่อนกำลังเข้าสตอคโฮล์ม เขาได้ทำหน้าที่รักษาสะพานไม่ให้พวกกบฏเคลื่อนกำลังเข้ามาในตัวเมืองได้ หลังจากนั้น เขาได้รับเลื่อนตำแหน่งให้เป็นพันตรี และพันโทในปี ค.ศ. 1748

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (13): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ“คณะเจ้า”ชุดที่สอง

                                                          Olof von Dalin

Olof von Dalin (1708) อายุ 43 ปี เป็นอภิชน กวี นักประวัติศาสตร์และข้าราชสำนัก เป็นผู้มีอิทธิพลในทางอักษรศาสตร์ของยุคภูมิปัญญาของสวีเดน (the Swedish Enlightenment) และได้เป็นราชบรรณารักษ์ระหว่าง ค.ศ. 1737-39 และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์ของ Gustav ในช่วงที่ Adolf Frederick เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1751 โดยก่อนหน้านี้ เขาเป็นที่ไว้วางพระทัยของ Louisa Ulrika ในสมัยที่พระองค์ยังไม่ได้ทรงเป็นสมเด็จพระราชินี

และแกนนำคนสุดท้ายคือ Ungern-Sternberg ที่เคยเป็นหัวหน้าพรรค the Cap ที่มีความประนีประนอมสูงได้มาเข้าร่วมในคณะเจ้านี้ด้วย

จะสังเกตได้ว่า ส่วนใหญ่ของแกนนำของคณะเจ้ามาจากนายทหารที่เก่งกล้าสามารถ อย่างเช่น Erik Brahe, Thure Gabriel Bielke, Jacob Horn, Thure Gustaf Rudbeck หรือไม่ก็เป็นลูกหลานนายทหาร นอกนั้นก็เป็นข้าราชสำนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้าราชสำนักจะมาเป็นแกนนำคณะเจ้า แต่ที่แปลกแตกต่างออกไปคือ Olof von Dalin ที่ไม่ใช่ทหารและข้าราชสำนัก แต่เป็นผู้รู้หรือเป็นปราชญ์ราชบัณฑิตที่เป็นพระอาจารย์ของ Gustav พระราชโอรสใน Adolf Frederick และ Louisa Ulrika

อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว ความเห็นของบุคคลในคณะเจ้านี้มีทรรศนะที่ยังไม่ลงตัวเสียทีเดียว นั่นคือ ยังมีความเห็นต่างว่า ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองควรจะเปลี่ยนเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือเพียงให้มีการปฏิรูปเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญขณะนั้น แต่การเกิดคณะเจ้าภายใต้การนำของ Louisa Ulrika นี้ มีอิทธิพลจูงใจบรรดาสมาชิกระดับนำของ the Caps ที่สิ้นหวังในการต่อสู้กับ the Hats อาทิ Ungern-Sternberg ให้ยอมที่จะเข้าร่วมใน “เกมการเมือง” ของฝ่ายเจ้า และสมาชิกบางคนของ the Caps เชื่อว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดที่จะหาทางปรับสมดุลอำนาจระหว่างการใช้อำนาจสูงสุดตามอำเภอใจ (the sovereign autocracy) ของรัฐสภาที่อยู่ภายใต้อำนาจของ the Hat

ตกลง คณะเจ้าสามารถบรรลุผลตามที่คาดหวังไว้ได้หรือไม่ ? โปรดติดตามกันต่อไป