posttoday

ม็อบแป้ก?

24 กันยายน 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

****************

มีการให้สมญากันมากมายเกี่ยวกับม็อบ 19 กันยา (2563) เช่น ม็อบแป้ก ม็อบสิ้นหวัง ม็อบมุ้งมิ๊ง ม็อบวัยรุ่นหน้าแก่ ม็อบขี้คุย ม็อบไอ้อ้วน ส่วนใหญ่เป็นการพูดในเชิงสนุกสนานเฮฮา ไม่ซีเรียส พูดไปหัวเราะไป อะไรทำนองนี้ มีการตั้งไลน์เฉพาะกลุ่มกันหลายกลุ่ม ที่ส่วนใหญ่ส่งข่าวกันแบบสนุกสนานเฮฮากับม็อบกลุ่มนี้มากกว่าซีเรียสจริงจัง

มีอารมณ์หลากหลายที่ทั้งกองเชียร์และกองค้านโพสต์กันในสื่อโซเชียล บางคนมีอารมณ์สนุกสนาน บางคนก็เครียดมากจนน่าจะปรึกษานักจิตวิทยา พวกที่เครียดส่วนใหญ่จะเป็นกองเชียร์ทีคาดหวังกับม็อบมากไปและม็อบไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังไว้ บางคนระบายอารมณ์ด่าซ้ำแกนนำม็อบ ทำนองว่าทำไม่ได้ดังใจ แต่บางคนพาลด่ารัฐบาลไปโน่น

ผู้อาวุโส หรือคนแก่บางคนผิดหวังเพราะหวังว่า จะฝากอนาคตของชาติไว้กับคนรุ่นใหม่ ถึงกับประกาศออกมาเลยว่า คงจะมอบอนาคตของบ้านเมืองไว้กับคนรุ่นใหม่แบบนี้ไม่ไหว

ผู้อาวุโสพวกนี้บ่นพึมพำว่า หากมอบอนาคตไว้กับคนพวกนี้ สงสัยมันจะเอาอนาคตชาติไปปู้ยี่ปู้ยำสนุกไปเลย โดยเฉพาะเมื่อแกนนำเปิดหน้าชนสถาบันพระมหากษัตริย์อ่ย่างไม่กลัวกฎหมายและไม่เกรงใจคนไทย

บางคนก็บอกว่า “ เป็นห่วงและสงสาร “ เด็กพวกนี้ แต่บางคนแถม “แกมสมเพช ” ให้ด้วย

หลายฝ่ายสรุปตรงกันว่าแกนนำม็อบครั้งนี้มีเจตนาบ่อนทำลาย มุ่งด้อยค่าสถาบันกษัตริย์โดยตรง ต่อเนื่องจากการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ที่ประกาศเจตนารมณ์ 10 ข้อในการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ ประเด็นประชาธิปไตยเป็นเพียงคำอ้างบังหน้าเท่านั้นเอง

ม็อบสนามาหลวงครั้งนี้ถูกองว่า เป็นเพียงเครื่องมือของแกนนำพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ปลุกระดมคนหนุ่มสาวในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาให้เชื่อใน “อนาคตใหม่” ของบ้านเมืองที่พวกเขากำลังสร้างขึ้น ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ และวัฒนธรรมประเพณีที่คนไทยเห็นว่าดีงาม แต่พวกเขาเห็นว่าล้าหลัง

แกนนำนักวิชาการบางคนพร่ำเพ้อถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 (ปีนี้ 2020) บางคนพร่ำเพ้อถึงการปฏิวัติไทย พ.ศ.2475 ย้อนหลังไปจากปีนี้ 88 ปี

ช่วงหัวค่ำคืนนั้น เห็น หนึ่งหญิงสองชาย เดินไปให้ “กำลังใจ” ผู้ชุมนุม มี่มีพวกปากหอยปากปูวิจารณ์ว่าทำตัวคล้ายกับนายพลไปตรวจและให้กำลังใจทหารในสนามรบ บางคนบอกว่าไปหาเสียงให้สื่อถ่ายรูป ส่วนหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านคนหนึ่งไปหลบๆซ่อนๆอยู่แถวเวที พอฝนตกก็ไปอยู่ใต้เวที ไม่กล้าวุ่นวายมากไป เพราะพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง อาจถูกยุบพรรคอีก

พรรคหนึ่ง (ที่ไปตั้งเต็นท์โดย “อ้าง” ว่า เพื่อสังเกตการณ์ และรับฟังความเห็นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น )

ส่วนช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น อาทิตย์ที่ 20 ซึ่งแกนนำตั้งใจให้เป็นช่วง “พีค” ที่สุด ไม่มีนักการเมืองฝ่ายค้านปรากฎตัว ทำนอง “ รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ” เพราะรู้แล้วว่าแกนนำบนเวทีจะพูดและจะทำอะไร

ผู้สื่อข่าวค่อนข้างสับสน ไม่รู้จะรายงานต้นสังกัดอย่างไร เพราะมีข่าวทั้ง “แผนลับ” “แผนลวง” “ แผนหลอก” ฯลฯ มากมาย ฝ่ายม็อบมีการปล่อยทั้งข่าวจริง ข่าวลวง ข่าวหลอก ให้รัฐบาลสับสน ขณะที่รัฐบาลต้องเช็คข่าวและปรับแผนกันทุกชั่วโมง

คนดูอย่างเราก็พลอยสนุกไปด้วย

หลังจากนั้น มีคำถามตามมามากมาย เท่าที่รวบรวมได้มีอาทิ ( 1 ) ม็อบ “แป้ก” หรือเปล่า ( 2 ) เป็นม็อบเยาวชนตามที่คุยจริงหรือเปล่า ( 3 ) มีพรรคการเมือง / กลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลังอย่างไรหรือไม่ (4 ) จำนวนคนที่ไปร่วมชุมนุมมีจำนวนเป็นแสนคนอย่างที่แกนนำบนเวที คุยไว้ จริงหรือเปล่า (5 ) สรุปแล้วใครได้ใครเสียจากม็อบครั้งนี้ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

เป็นที่รู้กันตั้งแต่แรกแล้วว่า ม็อบครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในเชิงสัญลักษณ์เป็นสำคัญ

เป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากวันที่ 10 สิงหาคม 25563 ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ที่มีการประกาศเงื่อนไข 10 ข้อในการ “ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ” สำหรับครั้งนี้ ม็อบประกาศว่าจะให้ “เบิ้ม ๆ “ กว่านั้น คนดูอย่างเราก็เฝ้าดูว่า ที่ว่าจะเบิ้มกว่า 10 สิงหาคม นั้นคืออะไร

ม็อบแป็กหรือเปล่า? ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย และขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของม็อบคืออะไร ถ้าม็อบต้องการแค่ประกาศเปลี่ยนสนามหลวงเป็นสนามราษฎร์ ปักหมุดที่เตรียมมาได้ ที่สนามหลวงแทนลานพระรูป ยื่นฎีกา ก็ถือว่าม็อบไม่แป้ก ส่วนกองเชียร์หรือที่ไม่เชียร์ซึ่งหวังมากกว่านี้ อาจมองว่าเป็นม็อบแป้ก ม็อบไร้น้ำยา ฯลฯ เพราะไม่สะใจพวกซาดิสม์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกจัดไว้แหล่งรวมพลนั้นจะเปิดหรือปิดไม่ใช่เรื่องสำคัญไปแล้ว เป้าหมายหลักคือสนามหลวง การที่ม็อบบุกเข้าธรรมศาสตร์วันนั้นเป็นสิ่งที่สื่อบางรายเรียกว่า แค่ “เอาหางแหย่เข้าไป” เท่านั้น ส่วนหัวและตัวอยู่ที่สนามหลวง

ที่เขาต้องการยึดสนามหลวง เพื่อประกาศเปลี่ยน “สนามหลวง” เป็น “สนามราษฎร์” ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยให้ผู้ชุมนุมรุกเข้าไปทางทิศใต้ของสนามหลวงที่ห้ามคนเข้า มีข่าวว่าตามแผนเดิม ในเช้าวันรุ่งขึ้น อาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2563 จะนำมวลชนที่ค้างคืนและที่มาร่วมในเช้ามืด เดินไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยปล่อยข่าวลวงว่าจะไปล้อมและยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล

พูดกันว่า เป้าหมายจริงอยูที่การนำหมุดที่เตรียมไว้แล้วไปฝังที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ส่วนจะฝังคู่กับของเก่า หรือเอาของที่มีอยู่ปัจจุบันออก แล้วเอาของปี 2563 ฝังแทน หรือไม่อย่างไรนั้นไม่ทราบ นี่คือเป้าหมายสูงสุดที่แกนนำม็อบคุยว่าเป็นเรื่อง “ เบิ้ม ๆ “ บางข่าวก็ว่า แผนบุกไปยังทำเนียบและลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นแผนลวง หรือขึ้นอยู่กับมวลชนว่าจะมาร่วมมากน้อยเพียงใด ถ้ามีมวลชนมากพอก็จะไปที่สะพานมัฆวานฯ แต่ถ้าน้อยก็ไม่ไป

ข่าวนี้จะจริงหรือไม่เพียงไร แต่เราเห็นฝ่ายรัฐบาลเตรียมขัดขวางอย่างเต็มที่ มีการระดมตำรวจจากใน กทม.และต่างจังหวัดมารับมือ มีการตั้งเครื่องกีดขวาง โดยเฉพาะมีการขึงรั้วลวดหนามตลอดแนว มีข่าวเล็ดรอดออกมาฝ่ายรัฐบาลว่า สะพานมัฆวานรังสรรค์จะเป็น “จุดแตกหัก”

เหตุผลของรัฐบาลที่จะไม่ยอมให้ม็อบข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปฝั่งลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นเรื่องที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่เข้าใจได้ คิดว่าประชาชนทั่วไปเข้าใจเหตุผลนี้

แกนนำม็อบก็รู้เหมือนกัน จึงไม่กล้าเสี่ยง อีกทั้งมวลชนที่มาร่วมไม่ได้จำนวนตามเป้า แต่ถ้าต้องการทำจริงก็ทำได้ไม่ยาก เพราะคลองผดุงกรุงเกษมที่ขวางกั้นไว้ นอกจากข้ามที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ตามถนนราชดำเนินนอกแล้ว ยังอาจเล็ดรอดไปข้ามที่สะพานคุรุสภา สะพานเทเวศร์ สะพานนางเลิ้ง นะพานขาวก็ได้ หรือขึ้นเรือที่ทาน้ำใกล้เคียงแล้วเดินมาก็ได้ อย่างไรก็ดี ฝ่ายรัฐบาลคงวางกำลังป้องกันไว้ทั้งที่ถนนกรุงศรีอยุธยาและถนนราชวิถีที่จะเข้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้านั้น หากม็อบจะข้ามไปหรือข้ามไปได้ก็ต้องเกิด “ความวุ่นวาย” แน่

ม็อบอยากจะเสนออะไร ให้ใส่ซองมา รัฐบาลพร้อมจะมารับที่สะพานมัฆวานฯ ข่าวหนึ่งกล่าวว่า แกนนำม็อบได้ปรับแผนในกลางดึกคืนนั้น โดยเปลี่ยนเป็นเอาหมุดที่เตรียมไว้มาฝังที่กลางสนามหลวงแทนในคืนวันนั้น ส่วนเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะไปยื่นฎีกาต่อประธานองคมนตรี ณ สำนักองคมนตรีอยู่ใกล้ ๆ

ทำให้คนที่หวังจะเห็นการปะทะระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่รัฐผิดหวังไปตาม ๆ กัน แผนที่จะใช้มวลชนในประเทศและรัฐต่างประเทศประณามรัฐบาลชุดนี้ จึงเป็นหมันไป

บางคนวิจารณ์ว่า แกนนำม็อบทำอะไรเหมือนยี่เกไปหน่อย เช่น ประกาศฝ่ายเดียวให้ “สนามหลวง” เป็น “สนามราษฎร์” ฝังหมุดที่เตรียมมาที่สนามหลวงโดยมีพราห์มณ์จริงหรือปลอมก็ไม่ทราบมาทำพิธีให้ ( หากพราห์มณ์ถูกไฟดูดตาย ใครจะรับผิดชอบ ) เพราะทั้งหมดเป็นเพียงการแสดงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

ทำไมนักศึกษาหน้าแก่จัง? เป็นคำถามที่มีคนถามกันมาก เพราะการโฆษณาชวนเชื่อก่อนหน้านี้ทำให้คนเข้าใจว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษา และเข้าใจต่อไปว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ถูกปลุกให้ลุกขึ้นแล้ว แต่พอถึงวันจริง ปรากฎว่ามีเยาวชนที่น่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษามาน้อยมากประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นคนที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรคให้คนของตัวนำมวลชนในจังหวัดใกล้เคียง กทม.เข้ามา ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนที่ไปร่วมชุมนุมจึงเป็นนักศึกษา (ชีวิต) หน้าแก่กันทั้งนั้น

และไม่ต้องแปลกใจที่เห็นนักการเมืองของพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้านที่ไปเดินป้วนเปี้ยนและไปตั้งเต๊นท์ในม็อบ โดยอ้างว่าเพื่อฟังเสียงประชาชนสำหรับนำไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เป็นพรรคเดียวกับที่มีข่าวว่า กำลังระส่ำระสายที่สุดในเวลานี้

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 พรรคเดียวกันนี้ได้ให้หัวคะแนนเกณท์คนจากจังหวัดปริมณทล กทม.นำคนไปและร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่จัดโดยกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษามาแล้ว จนทำให้จำนวนคนขึ้นเป็นหมื่นคน ม็อบเลยไปถึงสี่แยกคอกวัว วันนั้นเราจะเห็น ส.ส.บางคนจ่ากพรรคนี้ไปเดินเพ่นพ่านอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมรอบ ๆ อนุสาวรีย์ด้วย

แต่ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมแล้ว แกนนำผู้จัดชุมนุมก็ไม่ได้โกหกอะไร เพราะแผ่นป้ายบนเวทีเขียนไว้ว่า “ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ” เพราะฉะนั้น คนที่มาชุมนุมไม่ว่าจะหนุ่มสาวหรือแก่ ถือว่าเป็น “ แนวร่วมธรรมศาสตร์ “ ที่มีผู้ดำเนินการบนเวทีเป็น “เยาวชน”

จำนวนม็อบที่แท้จริงมีเท่าไรกันแน่ ? คนจัดม็อบที่อยู่บนเวทีคุยว่ามีคนไปร่วมเป็นแสนคน ฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่ามีแต่จำนวนหมื่นต้นๆ หากจะถือตามข้อมูลของนักข่าวฝรั่งที่เฝ้าดูการชุมนุมและไม่มีส่วนได้เสีย รายงานว่า มีประมาณ 2 หมื่นคนเท่านั้น หน่วยข่าวภาครัฐก็ประเมินตัวเลข ใกล้เคียงกัน ยิ่งตอนดึกหลังหกทุ่ม และรุ่งเช้าวันอาทิตย์ มวลชนยิ่งน้อยและกระจัดกระจาย

ได้แค่นี้ก็ถือวาเก่งแล้ว

เวลานี้ ตัวเลขมันหลอกกันไม่ได้อีกแล้ว การประเมินจำนวนม็อบทำได้ไม่ยาก โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากดาวเทียมหรือจากโดรนซึ่งเห็นจำนวนผู้ร่วมชุมนุมอย่างชักเจนเป็นกลุ่มก้อนหรือกระจัดกระจายกันขนาดไหน กับหลักคณิตศาสตร์คำนวณโดยใช้ความกว้าง ยาว พื้นที่ของสนามหลวงเป็นเกณท์ จำนวนคนต่อหนึ่งตารางเมตร ช่วงที่มีคนมากที่สุด และที่มีคนน้อยที่สุด จำนวนตัวเลขจึงหลอกกันไม่ได้

ใครเป็นคนสนับสนุนด้านการเงิน?

เป็นคำถามที่ทุกคนอยากรู้ การชุมนุมใหญ่ขนาดนี้ต้องมีค่าใช้จ่าย ที่เห็นได้ชัด คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเวที เครื่องกระจายเสียงเคลื่อนที่ ซึงมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยตัวเลข 7 หลักขึ้นไป ผู้สนับสนุนด้านการเงินจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (16 สิงหาคม 2563 ) และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต (10 สิงหาคม 2563)หรือไม่อย่างไร เรื่องนี้ตำรวจคงรู้ดี

หนังสือ 5 หมื่นเล่มที่บ้านแกนนำผู้ชุมนุมที่พิมพ์ไว้สำหรับนำไปแจกจ่ายผู้ชุมนุมและตำรวจยึดไว้ก่อน ใครเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์ทั้งหมดซึ่งตัวเลขอย่างน้อย 6 หลัก สิ่งที่นี้ประชาชนอย่ากรู้เหมือนกันว่าจะใช่คนที่เราเดาๆ กันไว้หรือไม่อย่างไร

หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น

การบังคับใช้กฎหมายจะเริ่มต้นทำงานกับการชุมนุมครั้งนี้เช่นเดียวกับการชุมนุมที่ผ่านมา หากแกนนำชุมนุมไม่ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้ามีใครทำผิดกฎหมาย ก็เตรียมรอรับหมายเรียก หมายจับ ฯลฯ เพราะบ้านเมืองปกครองโดยกฎหมาย ใครทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แกนนำการชุมนุมอยากรู้รายละเอียดก็ไปอ่านที่ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้กรุณาให้ความรู้ไว้

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงอยู่เฉยไม่ได้ ท่านต้องไปแจ้งความต่อตำรวจเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกทำให้เสียหาย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร กทม. ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกโบราณสถาน ตำรวจต้องเอาเทปคำปราศรัยของแกนนำที่ขึ้นพูดบนเวที ภาพถ่ายการแสดงบนเวที ฯลฯ มาตรวจสอบดู หากมีภาพและหรือข้อความที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องดำเนินคดีทันที

ใครที่พูดหรือแสดงออกซึ่งเป็นการดูถูก ดูหมิ่น ฯลฯ สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เตรียมรับหมายเรียก หมายจับจากตำรวจได้เลย ประชาชนกำลังเฝ้ารอว่าตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายได้เร็วช้าขนาดไหน

เมื่อกล้าพูด กล้าทำ ก็ต้องกล้าติดคุก เกมนี้ยังอีกยาว เพราะคนปลุกปั่นยังไม่ติดคุก