posttoday

ความในใจของนายกฯประยุทธ์ (3)

12 กันยายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************

ชีวิตพลเอกประยุทธ์น่าจะ “รู้เห็น” เรื่องการรัฐประหารมาราวๆ 7-8 ครั้ง

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ คงมีอายุราว 3 ขวบ (พลเอกประยุทธ์เกิด 21 มีนาคม 2497 ) คงจะยังไม่รู้เรื่องอะไร เช่นเดียวกันกั บครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในปี2501 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำ “รัฐประหารซ้ำ” เพื่อเพิ่มอำนาจของตนเองให้มากขึ้น กระทั่งในการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน2514 ที่ตอนนี้พลเอกประยุทธ์ น่าจะกำลังเรียนอยู่ชั้นปีแรกๆ ในโรงเรียนนายร้อย จปร. จึงน่าจะเริ่ม “มีส่วนร่วม” ในการรัฐประหารอยู่ด้วย “โดยทางอ้อม” คือได้ซึมซับเอาบรรยากาศของการทำรัฐประหารว่าเป็น “หน้าที่อย่างหนึ่ง” ของทหารมาตั้งแต่บัดนั้น

จากนั้นในการรัฐประหารวันที่6 ตุลาคม 2519 20 ตุลาคม 2520 23 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อเนื่องมาถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน2549 พลเอกประยุทธ์ น่าจะอยู่ในฐานะ “ผู้ประกอบการ” คือมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารอย่างเต็มตัว ในฐานะนายทหารแห่งกองทัพไทย ที่คงได้รู้ได้เห็น(เพราะได้ทำ)กับ “เท็คนิควิธี” ในการทำรัฐประหารอย่างลึกซึ้งมาเป็นลำดับขั้น จนน่าจะนับเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ได้คนหนึ่งในฐานะที่ได้คุมกำลังในส่วนสำคัญๆ ของกองทัพบกมาโดยลำดับ

จนกระทั่งในการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่พลเอกประยุทธ์ได้ยกระดับตัวเองเป็น “เจ้าของกิจการ” คือเป็นหัวหน้าทีมในการทำรัฐประหาร รวมทั้งเป็น “เจ้าของบริษัท” (คล้ายๆ เจ้าของประเทศ) และเป็นผู้มีสิทธิอำนาจสูงสุดในการควบคุมดูแลกิจการทั้งปวงของประเทศไทย จึงมีฐานะเป็น “อภิมหาซีอีโอ” คือยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนี้ด้วย

ดังนั้นถ้าจะให้ “เดา” ความในใจของพลเอกประยุทธ์ ท่านอาจจะมองเห็นเรื่องการทำรัฐประหารนี้เป็น “เรื่องธรรมดา” และเป็น “เรื่องปกติ” ที่ทหารสามารถทำได้ถ้าประเทศชาติมีปัญหา รวมทั้งเป็น “เรื่องง่ายๆ” ที่จะทำสำเร็จได้โดยไม่ได้สูญเสียอะไรมากนัก ทั้งยังไม่ได้รับการต่อต้านอะไรรุนแรง รวมถึงที่ยังมีประชาชนจำนวนมากให้การยอมรับและยินยอมให้ทหารเข้าปกครอง

โดยเฉพาะในการรัฐประหารครั้งหลังสุดนี้ ที่ได้เปิดโอกาสให้พลเอกประยุทธ์สามารถอาศัย “ความยินยอม” นั้นปกครองประเทศมาได้เป็นเวลานาน แม้จะประสบความทุลักทุเลในการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจนั้นพอสมควร แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ในโลกสมัยใหม่ ที่ทหารอาจจะไม่ได้สู้รบกับ “สงครามแบบเดิมๆ” แต่กำลังจะต้องเผชิญกับ “คลื่นคนรุ่นใหม่”

ซึ่งคนที่นิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์เชื่อว่าท่านจะ “เอาอยู่” เพราะถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีองค์กรใดที่สามารถใช้อาวุธได้อย่างถูกกฎหมายและมีกำลังพลขนาดมหึมาเท่ากับทหาร ที่สำคัญคือคนไทยยังไม่ชอบความวุ่นวาย และส่วนใหญ่สามารถอดทนเป็น “สีทนได้” ภายใต้ระบอบนี้ แม้จะถูลู่ถูกังและไม่ค่อยจะเห็นอนาคตข้างหน้าอะไรนัก

ในฐานะที่ พลเอกประยุทธ์ เป็นทหารอาชีพและถูกบ่มเพาะมาภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ ร่วมกับวัฒนธรรมองค์กรทางทหารที่มั่นคงแข็งแรง จนประสบความสำเร็จมาจนถึงขั้นขึ้นสู่ตำแหน่ง “อภิมหาซีอีโอ” ของประเทศ ยังคงทำให้ท่านมองการเมืองไทยด้วยความห่วงใย ดังนั้นท่านจึงไม่อาจจะปล่อยมือจากการปกป้องประเทศไทยนี้ได้ ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่า ในตอนแรกที่ลงมือทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ท่านคงคิดที่จะอยู่ในตำแหน่งไม่นาน (หลายคนเชื่อว่าท่านแต่งเพลง “ขอเวลาอีกไม่นาน” ออกมาจากใจ)

แต่อำนาจนั้นเป็นยาเสพติดที่มีพิษรุนแรง พวกลิ่วล้อบริวารที่เข้าสู่อำนาจมาด้วยกันเริ่มเห็นว่านี่คือหนทางที่จะ “เสวยสุข” จึงพยายามหาเหตุผลโน้มน้าวให้พลเอกประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป โดยไปสมคบคิดกันกับพวกนิติบริกรสร้างกลไกต่างๆ ขึ้นมาให้นำไปสู่การสืบทอดอำนาจนั้น จนกระทั่งได้ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 ดังกล่าว รวมถึงที่ “ไอ้ห้อยไอ้โหน” เหล่านั้นที่เข้าไปจัดแจงจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการรวมเอา “ยี้เน่า” ต่างๆ เข้ามาจำนวนหนึ่ง ทั้งที่พลเอกประยุทธ์เคยประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ยึดอำนาจนั้นว่า จะเข้ามาจัดการกับนักการเมืองจำพวกนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือน “การจัดฉาก” ที่พลเอกประยุทธ์ไม่ได้คิดเอง แต่ต้องจำยอมให้กับ “ลูกกระพรวน” เหล่านั้น ภายใต้ระบบทหารที่ “เพื่อนพ้องน้องพี่” มีความสำคัญสูงสุด คือพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถขัดใจคนเหล่านั้นได้ จำเป็นจะต้องทำตามใจพี่ๆ น้องๆ โดยไม่มีทางเลือก กระทั่งทำให้อยู่ในภาวะที่ “ผะอืดผะอม” กลืนไม่เข่าคายไม่ออกอย่างทุกวันนี้ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ก็จำต้องกล้ำกลืนฝืนทนไปอย่างนี้อีกนาน จนกว่าจะมี “แมวอ้วน”ตัวใหม่มาให้สัตว์ดูดเลือดเหล่านี้เกาะกินต่อไป

มีคนเปรียบว่ากองทัพก็คือฝูงสิงโต หัวหน้าฝูงหนึ่งตัวอาจคุมฝูงได้นับร้อย นอกจากตัวเมียที่รอผสมพันธุ์แล้ว ก็ยังมีสิงโตหนุ่มๆ อีกจำนวนมากที่รอวันเติบโตขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝูงแทนที่ ในกองทัพเช่นเดียวกัน บรรดานายพลก็เรียงรายรอคิวจ่อตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพอยู่นับร้อย เพียงแต่ว่าหัวหน้าฝูงในบางยุคยังมีบารมีมากอยู่ ลูกน้องก็ยังไม่อยากจะตอแยอะไร แต่เมื่อใดที่หัวหน้าเริ่มเสื่อมกำลัง(เสื่อมบารมี) ลูกน้องก็พร้อมที่จะขึ้นมาแทนที่ ดูแลพลเอกประยุทธ์ก็อาจจะอยู่ในสภาพเช่นนั้น ถ้าวันใดที่ประชาชนไม่ยอมเป็นสีทนได้อีกต่อไป คือผู้คนเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ ก็อาจจะต้องหลีกทางให้สิงโตตัวอื่นขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝูง

หัวหน้าฝูงในที่นี้ไม่ใช่แค่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ซึ่งเมื่อพลเอกประยุทธ์พ้นตำแหน่งมาในปี 2557 ก็มีการเปลี่ยนมาแล้ว 3 คน) แต่หมายถึงตำแหน่ง “หัวหน้าประเทศไทย” ที่ไม่มีใครอาจท้าทายได้ อย่างที่พลเอกประยุทธ์ได้เป็นมากว่า 6 ปีนี้ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ก็ต้องวางแผนว่าจะให้ใครขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. นี้เพื่อสืบทอดอำนาจให้อยู่ในกองทัพไปเรื่อยๆ ที่หลายคนเชื่อว่าเป็น “ภาวะอันยากลำบาก” ที่ทหารไม่อาจจะปฏิเสธ ไม่ใช่แค่พลเอกประยุทธ์คนเดียวที่ต้องทนอยู่ในความลำบากใจอย่างนี้

“ภาวะอันยากลำบาก” นี้เองที่ทำให้ทหารยังคงต้องอยู่ในอำนาจไป “ชั่วฟ้าดินสลาย”