posttoday

ทหารเรือผู้อาภัพ (เรือดำน้ำ)

27 สิงหาคม 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*********************

เคยมีเพลงฮิตติดอันดับเกี่ยวกับทหารเพลงหนึ่ง คือ “ทหารอากาศขาดรัก” ซึ่งดังระเบิดมากในเวลานั้น ส่วนเพลงที่เกี่ยวกับทหารเรือมีมากมาย ทหารเรือไม่เคยขาดรัก แต่ทหารเรืออาภัพเรื่องเรือดำน้ำ

เวลาพูดถึงทหารเรือ คนไทยจะนึกถึง “เสด็จเตี่ย” หรือ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช เคยเป็นนักเรียนนายเรืออังกฤษและเยอรมันมาก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนเข็มมาเรียนแพทย์ พระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยาม และราชนาวีเยอรมนี ในปี 2454 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือและเสด็จกลับไทยช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระองค์สนพระทัยเรื่องเรือดำน้ำมาก และทรงนิพนธ์เกี่ยวกับเรือดำน้ำไว้เรื่องหนึ่ง ชื่อ “ ความเห็นเรื่อง เรือ ส.” ๖ ( สับมารีน )

ใครๆ ก็รู้ว่า อังกฤษนั้นเป็นมหาอำนาจทางเรือมาตั้งแต่โบราณ ส่วนเรือดำน้ำเยอรมันดังขนาดไหนโลกย่อมรู้ดี อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีแทบจะครองมหาสมุทรแอตแลนติค เรือ “อู” หรือเรือดำน้ำเยอรมันอาละวาดไปทั่ว สามารถจมเรือสินค้าและเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตร รวมเป็นหลายแสนหรือเป็นล้าน ๆ ตัน

คงมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า กองทัพเรือไทยเคยมีเรือดำน้ำมาก่อนตั้งแต่สมัยเรารบกับฝรั่งเศสทางเรือ แม้เรือรบฝรั่งเศสจะจมและทำความเสียหายให้กับเรือรบไทย มีข่าวว่า ผบ.กองเรือฝรั่งเศส ได้สั่งให้เรือรบของตนถอนตัวออกจากสมรภูมิ เพราะเกรงว่าเรือรบฝรังเศสจะถูกเรือดำน้ำไทยโจมตี

ช่วงนั้น ไทยได้ซื้อเรือดำน้ำจากญี่ปุ่น 4 ลำ เพื่อใช้ปกป้องน่านน้ำไทย แต่พอญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองและกองทัพถูกสลายตัว เรือดำน้ำไทยขาดแคลนอะไหล่อย่างหนักเพราะญี่ปุ่นไม่ผลิตอีกแล้ว หลังจากถอนอะไหล่ของลำโน้นมาใส่ลำนี้จนหมด กองเรือดำน้ำของไทยก็สลายตัวโดยปริยาย

ตั้งแต่นั้น วิทยาการด้านเรือดำน้ำของไทยก็ค่อย ๆ สูญสลายไป แต่กองทัพเรือมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะฟื้นฟูเรือดำน้ำขึ้นมาอีก มีการตั้งกองเรือดำน้ำในโครงสร้างกองทัพเรือ แต่ไม่มีเรือดำน้ำสักลำ มีนายทหารได้ถูกกำหนดตัวไว้สำหรับกองเรือดำน้ำ มีการส่งทหารทั้งสัญญาบัตรและต่ำกว่าสัญญาบัตรไปต่างประเทศเพื่อเรียนเกี่ยวกับเรือดำน้ำ เพื่อเตรียมบุคลากรไว้หากมีเรือดำน้ำไว้ใช้

อ่าวไทยมีพื้นที่ 320,000 ตารางกิโลเมตร ประเทศมีชายฝั่งด้านอ่าวไทยยาว 2,055.18 กิโลเมตร และด้านทะเลอันดามันอีก 1,093.14 กิโลเมตร ชายฝั่งทั้งสองด้านรวมกัน 3,148.23 กิโลมตร มีอาณาเขตน่านน้ำที่ต้องรับผิดขอบ ตารางกิโลเมตร สภาพของอ่าวไทยเป็นทะเลน้ำตื้น ความลึกโดยเฉลี่ย 58 เมตร โดยมีสภาพลาดจากก้นอ่าวออกไป ส่วนที่ลึกที่สุดประมาณ 70 เมตร ทางด้านทะเลอันดามันมีความลึกมากกว่า ความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 100 เมตร ทะเลน้ำตื้น แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อเรือดำน้ำแต่อย่างใด

อ่าวไทยมีความลึกใกล้เคียงกับทะเลบอลติคมากที่สุด ปรากฏว่าประเทศต่างๆ ทั้งเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์รอบทะเลส่งเรือดำน้ำของตนไปรักษาผลประโยชน์ของประเทศในทะเลบอลติคเต็มไปหมด ไม่เคยปรากฎว่ามีเรือดำน้ำของประเทศเหล่านี้เกยตื้นแต่อย่างใด เพราะกองทัพเรือประเทศชายฝั่งย่อมส่งเรือดำน้ำขนาดเล็กไปปฏิบัติการในทะเลบอลติค

ในช่วงสงครามเย็น รัสเซีย เคยส่งเรือดำน้ำเข้ามากบดานในอ่าวไทย ซึ่งน่าจะเป็นการทดสอบสมรรถนะการตรวจสอบค้นหาของกองทัพเรือไทย โชคดีที่เรือประมงเห็นเสียก่อน จึงแจ้งให้ทหารเรือทราบ ก่อนที่เรือดำน้ำรัสเซียจะแล่นออกไป

เรือดำน้ำสหรัฐเคยเข้ามากบดานในอ่าวไทย และแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบในภายหลังว่าเป็นการทดสอบมาตรการในการเฝ้าตรวจของฝ่ายไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางทหารกัน

พวกนี้จะรู้ร่องน้ำลึกในอ่าวไทยที่เรือดำน้ำจะลักลอบเข้ามาได้ เขามีแผนที่ร่องน้ำในอ่าวไทยหมดแล้ว ดังนั้น กองทัพเรือจึงต้องมีกองบินลาดตะเวนเพื่อตรวจหาเรือดำน้ำ เพราะเรือดำน้ำก็เหมือนคน เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาแม้มีขีดความสามารถที่จะอยู่ได้หลายวันก็ตาม ถึงจุดหนึ่งก็ต้องโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ

อ่าวไทยซึ่งมีข้อดีเป็นเหมือนประตูเปิดให้ไทยและต่างประเทศได้ติดต่อกันทางทะเลตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ก็มีจุดอ่อนที่ในปัจจุบัน หากมีใครมาปิดประตูนี้ ไทยก็เข้าออกทางน้ำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีเหตุการณ์ที่ส่อว่าจะเกิดสงคราม หรือปิดอ่าวไทย กองเรือผิวน้ำของไทยต้องกระจายออกไปนอกปากถุงให้ได้ก่อนที่จะถูกปิด

หากปิดแล้ว ก็เหลือแต่เรือดำน้ำเท่านั้นที่จะแหวกปากถุงออกไปได้ หรือใช้โจมตีเรือผิวน้ำจากภายนอกเพื่อเปิดอ่าวไทย

อย่าบอกว่าเพื่อนบ้านไม่ทำกับเรา เพราะของแบบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ”หากผลประโยชน์สำคัญยิ่งของชาติหากตกลงกันไม่ได้ เราเตรียมพร้อมไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือ? อะไรที่เป็นจุดอ่อนทางยุทธศาสตร์ เราต้องเตรียมป้องกันและป้องปรามไว้ก่อน หากรอให้เกิดขึ้นแล้วมาเร่งแก้ไขคงไม่ทัน

หากเปรียบกำลังทางเรือกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า เวียดนามมีเรือดำน้ำอย่างน้อย 6 ลำ ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทะเล เพราะ เวียตนามเป็นประเทศที่มีชายฝั่งยาวมากจากเหนือจรดใต้ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มาเลเซีย มีเรือดำน้ำเพราะต้องรักษาผลประโยชน์ทั้งด้านมาเลเซียตะวันตก ซาราวัคและซาบาห์ ซึ่งเต็มไปด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน

สิงคโปร์ มีเรือดำน้ำในลักษณะเพื่อการป้องปรามมากกว่า อินโดนีเซีย มีเรือดำน้ำเพราะเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลงไปถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ก็มีแผนซื้อเรือดำน้ำ แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะเจอโควิดเสียก่อน พม่ามีเรือดำน้ำเพื่อรักษาผลประโยชน์ในทะเลอันดามัน

กองทัพเรือเคยมีโครงการจัดหาเรือดำน้ำเมื่อปี 2552-2553 โดยมีแผนซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนีที่ใช้ในทะเลบอลติค จำนวน 6 ลำ โดยจะใช้ปฏิบัติการ 4 ลำ และอีกสองลำเอาไว้ฝึก และนำอะไหล่มาเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ของสี่ลำที่สึกหรอหรือใช้ไม่ได้ งบประมาณที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 7-8 พันล้านบาท

วิธีคิดของกองทัพเรือคือ เราใช้เรือเก่าไปก่อนเพื่อฝึกทหารให้เกิดความรู้และความชำนาญ ก่อนที่จะซื้อเรือใหม่ถอดด้ามซึ่งมีราคาแพง เปรียบเสมือนเราฝึกขับรถก่อน โดยใช้รถเก่าฝึก พอขับเป็นแล้วก็ไปซื้อรถใหม่มาขับ เรือดำน้ำชุดนี้ใช้ไปได้อีกหลายปี เมื่อกองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำใหม่ เราก็มีบุคคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญพร้อมที่จะปฏิบัติการในเรือใหม่ทันที

เรือเยอรมันชุดนี้ไม่ใช่เรือเก่าบุโรทั่งหรือเก่าจนเตรียมปลดระวางตามที่ฝ่ายการเมืองไทยอ้าง แต่กองทัพเรือเยอรมันได้ผลิตเรือดำน้ำรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา และต้องการกำลังพลจากเรือ 6 ลำนี้ไปประจำเรือใหม่ที่มีเทคโนโลยีสูง เพราะการจะผลิตทหารเรือดำน้ำต้องใช้เวลานานและสิ้นเปลือง ดังนั้น กองทัพเรือเยอรมนีจึงจะยุบกองเรือดังกล่าว และขายให้กับประเทศไทยเป็นอันดับแรก โดยพร้อมจะฝึกอบรมบุคคลากรให้

หากกองทัพเรือไทยซื้อเรือชุดนี้ นอกจากเยอรมันพร้อมจะฝึกลูกเรือให้ไทยแล้ว ยังจะปรับปรุงเรือให้มีสภาพใกล้เคียงของใหม่ด้วย

กองทัพเรือไทยหวังที่จะได้เรือดำน้ำ 6 ลำนี้มาใช้ตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งงบประมาณที่ใช้ก็ไม่มาก ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นในการรื้อฟื้นวิทยาการด้านเรือดำน้ำที่หายไปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่ความหวังนั้นก็พังทลายโดยสิ้นเชิง เมื่อฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลขณะนั้น (จำไม่ได้ว่าเป็นรัฐบาลของใคร) ไม่เห็นด้วยที่จะซื้อเรือดังกล่าว นักการเมืองโดยเฉพาะรัฐมนตรีกลาโหมขณะนั้น ( เป็นใครลองไปหาเอาเอง ) มีความเห็นว่า ไหน ๆ จะซื้อแล้วก็ควรซื้อเรือใหม่เสียเลย อาจเป็นเรือของจีนหรือของเกาหลีใต้ ในที่สุดก็ให้ความสนใจต่อเรือดำน้ำเกาหลีใต้

โดยไม่ฟังวิธีคิดและแผนของกองทัพเรือว่าทำไมจึงจะซื้อเรือดำน้ำเยอรมันมาก่อน อีกทั้งงบประมาณที่ใช้ก็ไม่มาก

มีเสียงนกเสียงกาพูดกันว่า เพราะฝรั่งไม่รู้จักธรรมเนียมไทย แต่เกาหลีใต้ซึ่งเป็นคนเอเชียด้วยกันรู้จักธรรมเนียมไทย ส่วนจะเป็นธรรมเนียมอะไร นัการเมืองเขารู้กันดี

พอถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และมีรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ กองทัพเรือนำเสนอโครงการนี้อีกที แต่รัฐบาลและรัฐมนตรีกลาโหมให้ความสนใจเรือดำน้ำจีนและเกาหลีใต้มากกว่า บนเหตุผลคล้ายกันว่า ถ้าจะซื้อก็ซื้อของใหม่เลย 1 ลำ แต่สุดท้าย กองทัพเรือก็ “แห้ว” ตามเคย

สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ

คราวนี้ กองทัพเรือขอซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำจากจีน โดยมีลำแรกแล้ว โดยการซื้อประเภทนี้เขาจะซื้อขายกันเป็น “แพคเกจ” (ในกรณีเยอรมนีก็ซื้อเป็นแพคเกจ) นั่นคือ ไม่ได้ซื้อเฉพาะตัวเรือ แต่ผู้ขายต้องให้เราไปดูตั้งแต่การผลิต การฝึกอบรมบุคลากรของกองทัพเรือทั้งการบริหารจัดการเรือ และการใช้อาวุธประจำเรือ ฯลฯ

กองทัพเรือต้องการมีเรือดำน้ำอย่างน้อย 3 ลำ เพราะลำเดียวไม่พอที่จะดูแลน่านน้ำทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน นอกจากนั้น เรือดำน้ำจะต้องมีท่าจอดของตนเองเพราะต้องใช้ “สิ่งอำนวยความสะดวก” หรือฟาซิลิตี้ ต่างจากเรือผิวน้ำธรรมดา ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำรู้ดีว่า การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเรือเพียงลำเดียวนั้นไมคุ้ม อย่างน้อยก็ต้องสามลำ ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนจึงมีแผนระยะยาวที่จะมีเรือดำน้ำอย่างน้อยสองลำขึ้นไป

สำหรับไทยนั้น กองทัพเรือต้องมีเรือดำน้ำไว้ดูแลผลประโยชน์และความมั่นคงทั้งด้านอ่าวไทย และทะเลอันดามัน อย่างน้อยต้องมีหนึ่งลำประจำอยู่ด้านทะเลอันดามัน เพราะจะให้เรือดำน้ำแล่นอ้อมเกาะสิงคโปร์ผ่านช่องแคบมะละกา ไปทะเลอันดามัน คงจะไม่ทันการณ์

เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์มีไว้เพื่อโจมตีข้าศึก เป็นเรือล่องหน ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน แม้เรือฟรีเกต จะมีเรดาห์ค้นหาเรือดำน้ำ แต่เรือดำน้ำสมัยใหม่เครื่องเงียบมาก เรือดำน้ำจีนสมัยก่อนใช้เครื่องดีเซล เสียงดัง เรือฟรีเกตจับคลื่นและระบุตำแหน่งได้ง่าย อเมริกันเคยคุยว่า เรือรบอเมริกันจับที่ตั้งเรือดำน้ำจีนได้ง่ายเพราะเสียงดัง แต่เรือดำน้ำจีนเวลานี้เสียงเงียบคล้ายกับเรือดำน้ำอเมริกันแล้ว การตรวจจับทำได้ไม่ง่ายเหมือนก่อน

ทางด้านการข่าวนั้น หากเรือดำนำข้าศึกหายไปจากท่าจอดเมื่อไร ต้องหากันให้วุ่นว่าไปอยู่ที่ไหน ปฏิบัติการอยู่แถวไหน กองเรือผิวน้ำของฝ่ายตรงข้ามต้องระวังตัวเป็นพิเศษ ถ้ามีเพียงลำเดียวและจอดอยู่ที่ท่า ฝ่ายตรงข้ามก็สบายใจ

การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไมว่าจะเป็นรถถัง เครื่องบิน เรือรบ เรือดำน้ำ ไม่ใช่ว่ามีเงินก็ไปเลือกซื้อเอาได้ เพราะเขาไม่ได้ผลิตเป็นล็อตวางขายเหมือนขายขนม เมื่อมีคำสั่งซื้อ โรงงานจึงเริ่มผลิต และใช้เวลานานพอสมควร ในส่วนที่เป็นอาวุธเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือ ๆ จะส่งนายทหารไปควบคุมดูแลการผลิตให้ตรงสเปค และส่งทหารอีกกลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้เกี่ยวกับเรือและอาวุธตามแพคเกจที่ตกลงกันไว้ ที่จะสามารถซ่อมแซม แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

พอสร้างเสร็จ คณะนายทหารเรือไทยก็ขับเรือกลับมาเมืองไทยเลย ผู้ผลิตไม่ขับมาส่งให้ อย่างดีผู้ผลิตก็นั่งประกบมาด้วยเพื่อให้คำแนะนำ เรือฟรีเกตที่เราสั่งต่อที่เมืองจีน กระบวนการก็เป็นแบบนี้

ดังนั้น เรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของเหล่าทัพต่าง ๆ (ทั้งกองทัพบก เรือ อากาศ) จึงต้องมีแผนจัดหาจัดซื้อไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่รอให้เกิดการเผชิญหน้ากันเสียก่อนแล้วค่อยไปหาซื้ออาวุธ การที่นักการเมืองพูดกันว่า เวลานี้ไม่มีความขัดแย้ง จึงไม่จำเป็นต้องซื้ออาวุธ เอาเงินไปใช้ด้านอื่นดีกว่า เป็นการประมาท

การที่ประเทศมีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อม เป็นมาตรการป้องกันและป้องปรามประการหนึ่ง ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสว่า “ แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ศัตรูกล้ามาประจัน จะอาจสู้ริปูสลาย “

ก่อนจบบทความนี้ ขอย้อนกลับไปเมื่อสมัยสงครามอินโดจีนยุติใหม่ๆ เวลานั้น นักยุทธศาสตร์ได้วิเคราะห์ว่า“ ตั้งแต่นี้ไป ความขัดแย้งจะเคลื่อนย้ายจากบกลงสู่ทะเล “ เพราะประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศชายฝั่งจะแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 

ประเทศต่างๆ เร่งสำรวจ ค้นหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศรอบทะเลจีนใต้ ประเทศชายฝั่งได้อ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะบางแห่งก็เพราะมีภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจแล้วว่า น่าจะมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก จึงนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น ความขัดแย้งที่ใกล้ที่สุดคือ ทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทั้งในยามสันติและสงครามแล้ว ยังเป็นพื้นที่แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอีกแห่งของโลกด้วย ซึ่งคู่กรณีต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์สำคัญยิ่งของชาติตนไว้

เมื่อความขัดแย้งเคลื่อนย้ายจากบนลงสู่ทะเล ดังนั้น บทบาทของกองทัพเรือจึงมีมากยิ่งขึ้น รัฐบาลต้องให้งบประมาณสนับสนุนกองทัพเรือมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการพิทักษ์ ปกป้องผลประโยชน์ทางทะเล ซึ่งไม่ใช่เพียงอธิปไตยของประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทั้งในน้ำและใต้น้ำ การประมง เส้นทางเดินเรือและค้าขาย ป้องกันประมงต่างชาติลักลอบจับสัตว์น้ำในเขตน่านน้ำไทย ป้องกันประมงไทยลักลอบจับสัตว์น้ำในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและขัดข้องหมกองใจกัน การลับลอบเข้าประเทศทางทะเลของคนต่างด้าว เวลานี้ต้องเฝ้าดูชาวโรฮิงยาที่อพยพทางเรือผ่านไทย ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นฝั่งไทย การก่อการร้ายต่อแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โจรสลัด อาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการลักลอบขนส่งยาเสพติดทางทะเล

พอเข้าเขตทะเลลึก ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพเรือไทย เพราะกรมประมงก็ดี สำนักงานปราบปรามยาเสพติดก็ดี กองตรวจคนเข้าเมืองก็ดี ออกไปทำงานไม่ไหว

แม้แต่การรักษาความปลอดภัยในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ทหารเรือยังรับผิดชอบในเรื่องการตรวจ ป้องกันการลักลอบข้ามแดน การซื้อขายยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ

หน้าที่ของกองทัพเรือในยามสันติเพิ่มขึ้นมากหลังจากที่ความขัดแย้งได้เคลื่อนย้ายจากบกลงสู่ทะเล ไม่เพียงต้องดูแลอาณาเขตน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลเท่านั้น ยังต้องดูแลเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้น (รัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 52 ระบุว่า “ รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง.........บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย..........” ( ซึ่งหมายถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะอันเป็นหน้าที่ของกองทัพเรือโดยตรง )

โดยเฉพาะเขตทับซ้อนระหว่างรัฐชายฝั่งที่เป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าสามารถตกลงกับมาเลเซียเรื่องการใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกันได้แล้ว ยังมีก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ซึ่งเป็นเขตพื้นที่อ้างกรรมสิทธิระหว่างไทยกับกัมพูชารออยู่ โดยกองทัพเรือจะไม่ยอมปล่อยให้ใครไปร่วมมือกับต่างขาติมาขโมยทรัพยากรของไทยไปเป็นประโยขน์ส่วนตน

ถ้าไม่เขียน คนไทยก็ไม่รู้ว่า กองทัพเรือมีภารกิจสำคัญและมากมายขนาดนี้ แต่ขาดแคลนเครื่องมือที่จะใช้ โครงการกองทัพเรือขอจากรัฐบาลกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

แน่นอน เรือรบแต่ละลำ ไม่วาจะเป็นเรือผิวน้ำหรือเรือใต้น้ำ ราคาแพงมากกว่าเครื่องบินเป็นฝูงหรือรถถังเป็นกองทัพ นี่เป็นสภาพโดยธรรมชาติ แต่การซื้อเรือผิวน้ำหรือเรือดำน้ำ นาน ๆ ซื้อทีและซื้อทีละ1-2 ลำเท่านั้น

งบประมาณจากภาษีของประชาชนที่จัดสรรให้กับกองทัพเรือ สามารถประกันได้ว่า เงินภาษีของประชาชนที่ถูกจัดสรรให้กองทัพเรือจะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่าและไม่ตกหล่นไปที่ไหน

ข้อเสนอของกองทัพเรือมีขึ้นนานก่อนเกิดโควิด 19 ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้นในการที่เกิดโรคระบาดนี้ การอ้างถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควรเอาเงินซื้ออาวุธไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ ไม่มีใครเถียง และกองทัพเรือได้ตระหนักดีในเรื่องนี้ และยอมจัดสรรคืนเงินในการพัฒนากองทัพหลายพันล้านบาทให้กับรัฐบาลซึ่งได้จัดสรรงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด 19 ไว้แล้ว

ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเจ้าของภาษี ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อจะได้ใช้สติปัญญาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ กองทัพเรือจะได้ซื้อเรือดำน้ำลำที่สองและสามหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้าไป กองทัพเรือมีเหตุผลและความจำเป็นดังรายละเอียดข้างต้น งบจัดซื้อเรือดำน้ำรัฐบาลก็จัดสรรให้กองทัพเรือแล้ว ส่วนงบฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลก็จัดไวแล้ว แต่ถ้ามองทางการเมือง การไม่อนุมัติโดยอ้างความเดือดร้อนของประชาชน จะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ดูดีขึ้น

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า พรรคฝ่ายค้าน แม้เข้าใจเหตุผลและความจำเป็น แต่ก็อนุมัติไม่ได้ ส่วนบางพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลคงไม่อนุมัติเพราะหากอนุมัติ ก็ชี้แจงไม่ได้ว่าทำไมก่อนนั้นตนจึงไม่อนุมัติ

กองทัพเรือกว่าจะได้เรือดำน้ำลำแรกก็ยากเย็นแสนเข็ญ แต่เรือลำที่สองและสามยากยิ่งกว่า