posttoday

ความในใจของผู้ร่วมม็อบปลดแอก

15 สิงหาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************

“แอกของเราคือความมืดมนในอนาคตที่พวกเราไม่ต้องการ”

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ที่ตัวเขาได้ไปร่วมกับขบวนการชุมนุมเรียกร้อง “ปลดแอก” มาหลายครั้ง คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนถามเขาก็คือ “ไม่กลัวถูกปราบปรามหรือถูกจับหรือ”

“ผมผิดอะไร” คือคำตอบที่ได้ยิน

การสนทนาเป็นไปอย่างยืดยาว ทำให้ประติดประต่อเรื่องราวได้ว่า จุดมุ่งหมายของพวกเขาก็คือ “การเปลี่ยนประวัติศาสตร์” พวกเขาได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำปกครองแบบเผด็จการ ก็จะนำไปสู่การครอบงำทางอำนาจ ปิดกั้นคนรุ่นใหม่ นำไปสู่การ “ร่วมกันแสวงประโยชน์” เพื่อกลุ่มเผด็จการเหล่านั้น ที่สุดคนรุ่นใหม่ก็ถูกปัดออกไปจาก “วงอำนาจ” บ้านเมืองก็จะ “มืดมิด” ไม่มีอนาคต

เขาพูดถึง “ความผิดพลาดของคณะราษฎร” ที่ไม่สามารถสถาปนาประชาธิปไตยขึ้นได้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นเพราะ “เกรงกลัวทหาร” มากเกินไป ปล่อยให้ทหารเข้าครอบงำแนวคิดเดิมของคณะผู้ก่อการ ที่สุดทหารก็ทำรัฐประหารและเก็บกวาดเอาอำนาจทั้งหมดไว้ในมือ กว่าที่ประชาชนจะแย่งชิงคืนมาได้ก็ต้องต่อสู้เอาด้วยเลือดเนื้อในวันที่ 14 ตุลาคม2516

กระนั้นทหารก็มาเอาคืนไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วทหารก็พยายามสร้าง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 เพื่อจะครอบงำการเมืองไทยไปอีกนานเท่านาน ด้วยการใช้วุฒิสภาที่แต่งตั้งจากทหาร ให้มีอำนาจเท่ากันกับสภาผู้แทนราษฎร อย่างที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

แต่นั่นก็คือ “เผด็จการเต็มใบ” เพราะอำนาจทั้งหมดยังถูกบงการด้วยผู้นำในกองทัพ และยิ่งแน่นหนาเข้มแข็งมากขึ้น เพราะทหารได้เข้าไปกุมอำนาจอยู่ในภาคเอกชนและนักเลือกตั้ง เกิดการสมคบคิดที่จะรักษาอำนาจไว้ในกลุ่มชนชั้นนำเหล่านั้น อย่างที่เรียกว่า “อำมาตย์”

ซึ่งหากใครคิดจะขึ้นมามีอำนาจเทียบเทียบก็จะถูกกำจัดไป (คงหมายถึงการขึ้นมามีอำนาจของอดีตนายกฯคนดังที่ยังหนีคดีอยู่ในขณะนี้) และเมื่อมาถึงทุกวันนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันกับฉบับ 2521 แต่มีการปรับเปลี่ยนที่มัดแน่นกว่า เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระบบการเลือกตั้ง และอำนาจที่มากขึ้นของ ส.ว. ทำให้มองไม่เห็นอนาคตทางการเมืองของไทย อันเป็นที่มาของกระบวนการ “ปลดแอก” อย่างที่กำลังเกิดขึ้นนี้

เมื่อผู้เขียนถามว่า “แล้วมันจะจบอย่างไร” คำตอบที่ได้ก็คือ “คงจะเร็วๆ นี้”

เพื่อนรุ่นน้องคนนี้อธิบายว่า พวกเขาพยายามที่จะต่อสู้ด้วยความระมัดระวัง แน่นอนว่าดูเหมือนจะเป็นแค่สีสัน “มุ้งมิ้ง” อย่างที่คนส่วนหนึ่งคิด แต่นี่คือรูปแบบของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการ “เร้าความคิด” ของคนรุ่นใหม่ด้วยกัน ที่ต้องการจะสร้างอารมณ์ร่วมให้เป็นไปทีละเล็กละน้อย ขยายตัวไปเรื่อยๆ ที่อาจจะต้องใช้เวลานาน และยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้จบลงเมื่อใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “ความตระหนัก” หรือการรับรู้ว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่นี้ “มีปัญหาใหญ่” สร้าง “ความวิตกร่วม” คือให้รู้สึกถึงภัยอันตรายในอนาคต ถ้าหากปล่อยให้ทหารและ “อำมาตย์” ยังครอบงำการเมืองไทย

“แล้วทำไมต้องมีเรื่องพาดพิงไปถึงพระมหากษัตริย์นั้นด้วย” ผู้เขียนโยนระเบิดเข้าไปในคำถามนั้น ทว่าไม่ได้มีความตื่นตระหนกจากเพื่อนรุ่นน้องคนนั้นแต่อย่างใด เขาค่อยๆ อธิบายด้วยความคิดเห็นยืดยาว แต่ผู้เขียนขอนำมาเสนอโดยสรุป เพราะหลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่บรรยายด้วยภาษาแบบตรงไปตรงมาไม่ได้

เขาบอกว่านี่ก็เป็นเหตุผลทางประวัติศาสตร์เหมือนกัน คนไทยที่ยอมสยบให้กับระบอบการปกครองนี้เพราะเชื่อโดยประเพณีนิยมว่า ทหารกับพระมหากษัตริย์ต้องคงอยู่ด้วยกัน การทำลายทหารคือการทำลายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเขาบอกว่าแนวคิดนี้ไม่ถูกต้อง ความจริงแล้วทหารก็คือประชาชน การนำทหารไปเทียบเคียงว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ จะยิ่งทำให้พระมหากษัตริย์เกิดความมัวหมอง เหมือนว่าพระมหากษัตริย์ต้องมาเกี่ยวข้องด้วยกับทุกเรื่องในประเทศนี้ รวมถึงเรื่องการปกครองบ้านเมืองนี้ด้วย

ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะทรงมีสถานะแบบนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ปัญหาอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ก็คือ กำลังพึ่งพิงทหารมากเกินไปหรือไม่ ต้วยตรรกะนี้ เมื่อพระมหากษัตริย์เข้ามาผูกพันกับทหารมากขึ้น ในขณะที่ทหารก็มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเต็มตัว องค์พระมหากษัตริย์จึงอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงที่จะต้องรับกับปัญหาทางการเมืองทั้งหลายนั้นด้วย (รายละเอียดตรงนี้ เขาได้อธิบายประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนมาถึง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงออกมา “แบกรับภาระบ้านเมือง” อยู่หลายครั้ง)

มาถึงตอนนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ท่านเคยเขียนบทความแสดงคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชจริยวัตรของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ว่า ในยุคนั้นระบบราชการของไทยมีปัญหามาก นอกจากความเป็นศักดินาที่ชอบทำตัวใหญ่และอยู่เหนือชาวบ้านแล้ว การทำงานต่างๆ ก็มีปัญหามาก เช่น การคอร์รัปชั่น และเช้าชามเย็นชาม เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาคอมมิวนิสต์ลุกลามใหญ่โต

การที่ต้อง “ทรงงานหนัก” จนกระทั่งดูเหมือนไปทำงานของข้าราชการทั้งหลายที่เขาทำอยู่แล้ว ก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการทั่วประเทศ ที่บอกว่าเป็น “ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว” ให้เป็น “ข้าราชการของประชาชน” แล้วปัญหาคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยก็ค่อยๆ “หมดอิทธิฤทธิ์” ไปจากสังคมไทย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้ความเห็นว่า นี่เป็นเพราะพระราชปรีชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเข้าใจ “รากฐานของปัญหา” ซึ่งก็คือตัวข้าราชการที่ไม่พัฒนาและกดขี่ประชาชน แล้วก็ทรงแก้ที่ระบบราชการนั้น ทำให้คอมมิวนิสต์ทำอะไรคนไทยไม่ได้

ผู้เขียนยกความเห็นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มานี้ ก็เพราะเมื่อฟังเพื่อนรุ่นน้องที่กำลังต่อสู้เรื่องการปลดแอกอยู่ในขณะนี้ ก็ทำให้คิดเตลิดไปว่าทหารไทยในยุคนี้จะมองปัญหาที่เป็นรากฐานของสังคมไทยในขณะนี้ออกหรือไม่ รวมถึง “แก้ถูกจุด” หรือเปล่า ถ้าคิดจะ “ปราบปราม” ผู้คนที่กำลังก่อม็อบปลดแอกในหลากหลายรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้ฟังแนวคิดของเพื่อนรุ่นน้องคนนี้แล้ว ก็กลัวว่าทหารอาจจะทำเรื่องเสื่อมเสียและนำสังคมไทยไปสู่ความผิดพลาด

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยบอกว่า “พระมหากษัตริย์กับคนไทยนั้นไม่เคยเป็นศัตรูกัน”

*******************************