posttoday

ความขัดแย้งเป็นธรรมดาแต่ไม่ควรก่ออารมณ์แรงเป็นชนวนสู่ความรุนแรง

14 สิงหาคม 2563

โดย..โคทม อารียา

****************

ผมคิดว่าหลายคนคงได้ดูวีดิโอที่ฉายให้เห็นตอนท้ายของการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เมื่อคืนวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผมได้ดูเพราะอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมทั้งเป็นห่วงนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในขบวนการเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล คือ ไม่คุกคาม ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลพอทำได้ มากบ้างน้อยบ้าง จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ทำได้ดังกล่าว

แต่ข้อเรียกร้องที่เพิ่มขึ้นคือ การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมือง ให้สถาบันอยู่เหนือการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น อาจต้องอาศัยเหตุปัจจัยอื่นอีกจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเกินวิสัยของรัฐบาล

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผมเองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ผมมีความเห็นว่าในจังหวะนี้ มีความเหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยนการเมืองในเชิงโครงสร้าง นั่นคือทำกติกาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คิดว่าในจังหวะเวลานี้ควรพูดเรื่องระบบมากกว่าเรื่องบุคคล

ถึงแม้หลายคนจะพูดเสมอว่าระดับบุคคลสำคัญกว่า เช่นว่าระบบไม่สำคัญเท่าการหาคนดีมีความสามารถมาบริหารประเทศให้เป็นที่ยอมรับ แต่ในจังหวะเวลานี้ควรพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากกว่าเชิงวัฒนธรรมการเมือง เพราะเรื่องวัฒนธรรมต้องใช้ความพยายามและเวลาอีกมาก ผลประโยชน์ของผมจึงมุ่งไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำกล่าวที่ว่าอยากให้จบในรุ่นของเรา มีความหมายสำหรับผมที่อาจต่างไปจากเยาวชน ซึ่งรุ่นของเขาอาจมีเวลามากกว่ารุ่นของคนวัยชราอย่างผม

"ผมเคารพความเห็นของเยาวชน แต่ห่วงใยในความปลอดภัยของพวกเขา แม้เขาบอกว่าพร้อมจะสู้ แต่ก็อยากให้สู้ไปนาน ๆ และอยากจะขอให้สู้ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน"

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา คนเรามีความเห็นต่างกันเป็นธรรมดา แต่ปริมณฑลความขัดแย้งอาจแบ่งเป็นปริมณฑลเหตุผลหรือทางปัญญา กับปริมณฑลทางอารมณ์หรือความรู้สึก เหตุการณ์ในเย็นวันที่ 10 สิงหาคม ได้ขยายปริมณฑลความขัดแย้งมาทางอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น ซึ่งน่ากังวล เพราะใครจะอ้างเหตุผลอย่างไรก็จะมีคนฟังน้อยลง สารที่สื่อมาถึงเราหากสอดคล้องกับอารมณ์ก็รับไว้ ก็ชื่นชม หากไม่สอดคล้องก็ไม่รับ รังแต่จะเพิ่มความหงุดหงิดขึ้นไปอีก อารมณ์ที่แพร่ขยายไปในสังคมการเมือง เปรียบเสมือนการแพร่เชื้อไวรัสทางมโนวิญญาณ คนที่พอมีภูมิคุ้มกัน หรือเสพสื่อการเมืองน้อยหน่อยจะติดเชื้อไม่มาก ยังรักษาศูนย์และความสมดุลทางความคิดและความรู้สึกได้พอควร คนจำนวนหนึ่งจะติดเชื้อ บางคนติดเชื้อจนงอมแงม

อารมณ์เมื่อแพร่ออกไปมักทำให้เกิดการเลือกข้าง มีการแบ่งเป็นฝ่ายพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ กับฝ่ายกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ที่เป็นประชาธิปไตย ฝ่ายแรกจะรุมว่ากล่าวฝ่ายที่สองในทันทีที่รู้สึกว่าฝ่ายนี้จาบจ้วงสถาบันอันเป็นที่รัก ฝ่ายที่สองบอกว่าต้องการกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญอันเป็นสากล และขอแสดงความคิดเห็นตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เมื่อทะเลาะกันมากขึ้น จุดยืนจะยิ่งถ่างออกไป

ฝ่ายแรกมองว่าฝ่ายที่สองเป็นภัยคุกคาม เป็นพวกไม่รู้ที่ต่ำที่สูง พวกเนรคุณ พวกชังชาติ ยิ่งด่าอารมณ์ก็ยิ่งขึ้น อันตรายที่จะนำไปสู่ความรุนแรงย่อมมีมากขึ้น ด้วยเห็นว่าฝ่ายที่สองมีความเป็นคนน้อยลง มีความเป็นคนสัญชาติไทยน้อยลง จึงอยากขับไล่ไปเสียให้พ้น หรืออยากกำหราบหรือทำร้ายให้หมดเสี้ยนหนาม ฝ่ายที่สองย่อมไม่น้อยหน้า ยิ่งเชื่อว่าฝ่ายตนมีความชอบธรรมในการเรียกร้อง

แม้จะเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาแล้วในอดีตแต่ก็ยอมรับการสูญเสียเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ฝ่ายที่สองจะโต้กลับ ด้วยตรรกะ และด้วยความรักในพี่น้องที่ร่วมต่อสู้ อารมณ์แรงที่เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่ายอาจนำไปสู่ความรุนแรง เริ่มด้วยมโนกรรม ตามด้วยวจีกรรม ลงท้ายด้วยการทำร้ายกันทางกายกรรม นี่คือฉากทัศน์ (scenario) ที่ทุกฝ่ายพึงตระหนักรู้ จึงพึงระงับเสียซึ่งอารมณ์แรงตั้งแต่ต้น

เหตุปัจจัยทางมโนกรรมอาจเนื่องมาแต่ความรัก ความกลัวว่าจะทุกข์หากต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หรือความกลัวว่าจะทุกข์เมื่อไม่ได้พบกับสิ่งที่ปรารถนา หากต้องพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ความกลัวอาจก่อให้เกิดความโกรธ และความเกลียด

ผมพยายามค้นใน google ว่าคนเราจะลดความกลัว ความโกรธ และความเกลียดได้อย่างไร เนลสัน เมนเดลากล่าวว่า “คนกล้าไม่ใช่คนที่ไม่รู้สึกกลัว หากใช่คนที่เอาชนะความกลัว” ความกลัวเกิดจากภาพในจิตใต้สำนึกที่เราสร้างขึ้นเพื่อปกป้องเราจากสิ่งที่อาจทำให้เราเกิดอันตรายหรือเกิดการพลัดพราก ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าเรากลัว รู้สึกว่าเรากลัว แล้วพยายามใช้สติสำรวจความรู้สึกเมื่อเกิดความกลัว พยายามนำความตระหนักรู้ไปใกล้ชิดกับความกลัว ระบุความกลัวให้ชัดเจน ฝึกบริหารลมหายใจ และนำตัวเข้าเผชิญหน้ากับความกลัว

อารมณ์โกรธจะเห็นได้ง่ายกว่า เช่น ถ้าโกรธนักศึกษาหรือโกรธผู้ใหญ่ที่รังแกนักศึกษา เราอาจตระหนักรู้อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น โดยสังเกตว่าร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น หัวใจเต้นแรงขึ้น รู้สึกร้อนบริเวณใบหน้า การหายใจสั้นลง การยอมรับความโกรธที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ความโกรธลดลง เราต้องขัดกับอาการทางกายโดยหายใจเข้าออกลึก ๆ หรือยาวขึ้น อย่าหวั่นไหวกับความเห็นของผู้อื่นหรือรู้สึกด้อย

ถ้าจะเสนอความเห็นให้ใช้ I message คือบอกว่า “ฉัน”คิดและรู้สึกอย่างไรโดยไม่ตัดสินผู้อื่น ไม่ต้องแนะนำใคร เพียงแต่ฟังให้ดี เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่อาจทำให้เราปรับเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกได้เอง ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการนินทา เพราะจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดและเกิดความขัดแย้งมากขึ้น

ความเกลียดเป็นอารมณ์แรงที่ทำได้แต่จุดไฟเผาจิตใจของเราเอง ความเกลียดระงับได้ด้วยการให้อภัย แต่หลายคนพยายามแล้วก็ยังไม่สามารถให้อภัยหรือให้ความเมตตาแก่คนที่เกลียดได้ จึงอาจนึกถึงวิธีบรรเทาความเกลียดกันดีกว่า

โดยเริ่มด้วยการตั้งมั่นและให้สัจจะกับตัวเองว่าจะมองข้าม มองผ่านไปให้ได้ เกลียดใครก็ไม่ต้องไปนึกถึงความไม่ดีของเขา นึกเสียว่าเขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา อย่าเอาตัวเองไปผูกรวมกับเขา วิธีดับความเกลียดได้ดี แต่ก็ทำยากที่สุดด้วย คือการฝึกสติและสมาธิ ให้มีสติรู้อยู่กับกายเสมอ

พระไพศาล วิสาโล เทศน์เรื่อง “อย่างไรคิดว่ามองบวก” ไว้อย่างน่าสนใจ (ดู https://youtu.be/BmkXMD-uYWM) สรุปความว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่เรา ก็ดีทั้งนั้น อย่างน้อยก็ดีที่ไม่แย่ไปกว่านี้

การบรรเทาอารมณ์แรง ทั้งอารมณ์กลัว โกรธ และเกลียด เป็นความพยายามระงับเมื่อเรารับเชื้อของอารมณ์เหล่านี้มาจากภายนอกและภายใน แล้วนำมาปรุงแต่ง อีกทั้งยังช่วยส่งต่อหรือส่งออกซึ่งอารมณ์ดังกล่าวไปยังคนที่คิดเหมือน ๆ กัน เพื่อหาพวก

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราจะช่วยกันลดการโพสต์ การแชร์ การอ่านสารที่เพื่อนแชร์มา แล้วคอมเมนต์หรือแชร์ต่อ ทำให้ห่วงโซ่ของอารมณ์ยาวขึ้น พอกพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี เกรงว่าสิ่งที่ผมกล่าวในที่นี้จะไม่มีคนฟัง แล้วจะให้ใครช่วยกล่าวดีละ ใครเล่าจะช่วยเตือนสติสังคมในช่วงที่พายุอารมณ์กำลังก่อตัว เพื่อระงับเสีย เพื่อไม่ให้พายุนั้นกระหน่ำจนเป็นความรุนแรงและความสูญเสียของ (เกือบ) ทุกฝ่าย

ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งย่อมเป็นไปไม่ได้ เมื่อขัดแย้งแล้วใครจะหนุนช่วยหรือรวมกลุ่มกับใครก็ห้ามไม่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้จะอยู่คนละฝ่าย คนละความเห็น ก็ไม่ควรถือเป็นศัตรูคู่อาฆาต ที่จะต้องห้ำหั่นกันด้วยความกลัว ความโกรธ และความเกลียดมิใช่หรือ

ประเด็นใดที่สามารถวางใจเป็นกลางได้ก็จะดี ประเด็นใดเลือกข้างบ้างก็น่าจะได้ (ผมยอมรับว่าอยู่ข้างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ถ้ามีคนที่ทำใจเป็นกลางได้มีจำนวนมากพอ ถ้าเดชะบุญสังคมไทย (ทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่) มีวุฒิภาวะในการนำที่ช่วยให้ความเห็นลู่เข้าสู่ความเห็นพ้อง มิใช่ว่าต้องเห็นพ้องในเนื้อหา แต่ขอให้เห็นพ้องกันในกระบวนการที่จะทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เหมาะแก่สังคมไทย ในบริบทวิกฤตโควิด – 19 ที่เรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั่นเอง

*****************