posttoday

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่แปด)

13 สิงหาคม 2563

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวีเดนในปี ค.ศ. 1718 ส่งผลให้เกิดรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ที่ลดทอนพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ลงไปอย่างมากมาย และการลดทอนพระราชอำนาจนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันมากกว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพวกอภิชนเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่สำคัญที่มีบทบาทในการกดดันให้ Ulrica Eleonora พระขนิษฐภคินีของ Charles XII ที่ทรงหวังจะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ยอมลงพระปรมาภิไธยสละพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อแลกกับการขึ้นครองราชย์

แต่หลังจากที่ Ulrica Eleonora ทรงครองราชย์ได้เพียงสองปี ก็ทรงสละราชสมบัติเพราะพระองค์ไม่ทรงสามารถปรับพระองค์กับบทบาทของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ได้ และรัฐสภาได้ลงมติเลือก Frederick I พระสวามีขอพระนางขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป ด้วยเหตุผลที่ Frederick Iเป็นเจ้าชายต่างแดน ไม่น่าจะมีบทบาทอะไรได้มากต่อประชาชนชาวสวีเดน แต่ทางฝั่ง Ulrica Eleonora ทรงเชื่อมั่นในบุคลิกภาพและความสามารถของพระสวามีของพระนาง มีความหวังว่า Frederick I จะทรงสามารถฟื้นฟูพระราชอำนาจขึ้นมาได้บ้าง

และก็เป็นไปตามที่พระนางคาด Frederick I ทรงพยายามหาทางที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้น เพราะยังมีกลุ่มที่ยังสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ อันได้แก่ “กลุ่มเจ้า” หรือ “court party” ซึ่งในภาษาสวีดิชเรียกว่า “Hovpartiet” กลุ่มเจ้าหรือคณะเจ้านี้ได้ก่อตัวขึ้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1720-1723 และมุ่งสนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตรยิ์มีพระราชราชอำนาจมากขึ้น นอกจากคณะเจ้าแล้ว ฐานันดรชาวนายั งให้การสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนที่ผ่านมาด้วย

การจะแก้ไขให้มีการขยายพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นนั้น จะต้องกระทำในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปหลังจากที่ประชุมไปในปี ค.ศ. 1720 คือปี ค.ศ. 1723 เพราะรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1723 ได้กำหนดให้ต้องมีการประชุมรัฐสภาทุกๆสามปี

ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมรัฐสภาปี ค.ศ. 1723 สวีเดนได้พ่ายแพ้สงครามต่อรัสเซีย และจำเป็นต้องเจรจาสันติภาพ แต่ Frederick I ทรงมีท่าทีที่เพิกเฉยต่อการเจรจาดังกล่าว เนื่องจากรัสเซียให้การสนับสนุน Charles Frederick พระราชนัดดาของ Charles XII ที่เป็นคู่แข่งชิงบัลลังก์กับ Ulrica Eleonora มาก่อน และเมื่อ Frederick I ทรงขึ้นครองราชย์ รัสเซียก็ยังส่งสัญญาณสนับสนุน Charles Frederick ด้วย

และเมื่อถึงการประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1723 และ Frederick I ทรงมีทีท่าทีจะหาทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายพระราชอำนาจ พระองค์ก็ทรงได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากฐานันดรทั้งสาม อันได้แก่ พวกอภิชน นักบวชและพ่อค้าคนเมือง ด้วยเหตุผลที่พระองค์ไม่ทรงสนับสนุนช่วยเหลือในการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

ความหวังของพระองค์จึงอยู่ที่ฐานันดรชาวนาเป็นสำคัญ เพราะลำพังคณะเจ้าไม่ได้มีเสียงมากพอในรัฐสภา เพราะบุคคลที่ที่เรียกได้ว่าอยู่ในกลุ่ม “คณะเจ้า” นี้กระจายอยู่ตามฐานันดรต่างๆ มากกว่าจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันที่ชัดเจนอย่างฐานันดรชาวนาที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหนียวแน่น

ซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่ว่านี้ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ลอยๆโดยไม่มีเรื่องผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวข้อง เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองสวีเดนที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้กันระหว่างพระมหากษัตริย์กับพวกอภิชน หรือที่เรียกกันตามทฤษฎีการเมืองที่พัฒนาขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์การต่อสู้ที่ว่านี้ที่เกิดขึ้นในรัฐต่างๆในยุโรปในช่วงยุคกลางเป็นต้นมาคือ regimen politicum และ regimen regale

โดย regimen politicum หมายถึงการปกครองที่พระราชอำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์ และ regimen regale หมายถึงการปกครองที่อำนาจอยู่ในที่ “ประชาชน” ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ได้หมายถึงประชาชนโดยทั่วไปเท่ากับพวกอภิชน และในช่วงที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของพวกอภิชน พวกชาวนาจะต้องเผชิญกับการกดขี่จากพวกอภิชน และจะมีพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะช่วยปกป้องพวกเขาได้

ขณะเดียวกัน อภิชนจะมีความสัมพันธ์กับชาวนาโดยตรงและใกล้ชิดกว่าในฐานะที่เป็นเจ้าที่ดิน และย่อมมีโอกาสที่จะปะทะขัดแย้งกันได้ง่ายกว่าพระมหากษัตริย์ และภายใต้การเมืองสามเส้าระหว่างพระมหากษัตริย์ อภิชนและชาวนา การจับคู่เป็นพันธมิตรเพื่อถ่วงดุลกับอีกฝ่ายหนึ่งจึงเป็นปรากฎการณ์ปกติ และจะมีช่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์และชาวนาจะเป็นพันธมิตรกันมากกว่า และนี่คือที่มาของอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกชาวนาที่ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์

และในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พวกอภิชนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 และได้บัญญัติให้อำนาจทางการเมืองแก่พวกตนมากกว่าทั้งพระมหากษัตริย์และพวกชาวนา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฐานันดรชาวนาจะสนับสนุนพระมหากษัตริย์ให้มีพระราชอำนาจมากขึ้นเพื่อต่อรองอำนาจกับฐานันดรอื่นๆ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจแก่ฐานันดรอภิชน นักบวชและพ่อค้าคนเมืองมาก ในขณะที่ฐานันดรชาวนาไม่มีสิทธิ์มีเสียงได้เท่าไรนัก ฐานันดรชาวนาจึงต้องการให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้นเพื่อจะได้ถ่วงดุลอำนาจกับพวกอภิชนนั่นเอง

ขณะเดียวกันในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฐานันดรชาวนายังมีประเด็นไม่ลงรอยกับพวกฐานันดรอภิชนอีกด้วย ความไม่ลงรอยดังกล่าวนี้มาจากมูลเหตุของการต่อรองตกลงกันระหว่างพวกอภิชนกับสมเด็จพระราชินี Ulrica Eleonora ในการสืบราชสันตติวงศ์และการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มูลเหตุที่ว่านี้คือ ปัญหาเรื่องอภิสิทธิ์ของพวกฐานันดรอภิชน ซึ่งพวกอภิชนได้ยกปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้นมาทันทีหลังการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี ค.ศ. 1719

แต่อภิชนที่ว่านี้ไม่ใช่อภิชนระดับรอง แต่เป็นพวกอภิชนระดับสูง (การกำหนดระดับชั้นของอภิชนของสวีเดนเริ่มเกิดขึ้นในรัชสมัย Gustav II ในศตวรรษที่ตอนต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด) ปัญหาที่พวกอภิชนระดับสูงหยิบยกขึ้นมาต่อรองกับสมเด็จพระราชินีคือ ประเด็นเรื่องการเวนคืนทรัพย์สินของพวกอภิชนหรือที่เรียกว่า “reduction” ที่เกิดขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

และเมื่อพวกอภิชนมีอำนาจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ได้ทำการต่อรองให้มีการยุติการเวนคืนดังกล่าว ซึ่งในตอนแรก ในปี ค.ศ. 1719 สมเด็จพระราชินีทรงตกปากรับคำ แต่ยังไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายใดๆ แต่เมื่อฐานันดรอื่นๆทราบเรื่องก็ได้ประท้วงอย่างรุนแรง และที่ประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1720 ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องอันสุดโต่งของพวกอภิชนชั้นสูงที่จะให้มีการยุติการเวนคืนทั้งหมด

และเมื่อถึงการประชุมรัฐสภาในปี ค.ศ. 1723 ฐานันดรชาวนาจึงได้ยื่นร่างข้อเสนอให้ขยายพระราชอำนาจไปต่อที่ประชุมสภาฐานันดรทั้งสาม นั่นคือ อภิชน นักบวชและพ่อค้าคนเมือง และนอกจากข้อเสนอให้มีการเพิ่มพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ฐานันดรชาวนายังยืนยันที่จะปฏิเสธข้อเสนอให้ยุติการเวนคืนทรัพย์สินของพวกอภิชน

แม้ว่า ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 จะไม่ได้ให้ฐานันดรชาวนามีอำนาจตามกฎหมายมากเท่าฐานันดรอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงทางสังคมการเมือง ฐานันดรชาวนาเป็นตัวแทนของชนชั้นชาวนาเฉพาะชาวนาที่มีสิทธิ์ครองครองที่ดิน ที่ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาฐานันดรทั้งหมด มีสมาชิกจำนวนถึง 150 คน และในการทัดทานการขอยุติการเวนคืนทรัพย์สินของพวกอภิชน ฐานันดรชาวนาได้ยื่นเงื่อนไขในการต่อรองกับฐานันดรอภิชนว่า หากฐานันดรอภิชนไม่ยอมลดระดับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเวินคืนทรัพย์สิน ฐานันดรชาวนาก็จะยืนยันที่จะสนับสนุนการขยายพระราชอำนาจอย่างเต็มกำลัง

คำว่า “เต็มกำลัง” ในที่นี้ คงต้องขอขยายความผ่านประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสวีเดนสักนิด อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อำนาจของฐานันดรชาวนาตามกฎหมายนั้นมีจำกัด แต่สิ่งที่เป็นปรากฎการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมืองสวีเดนขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าเป็นต้นมา คือ การก่อกบฏของชาวนา และจะว่าไปแล้ว กบฏชาวนาได้สนับสนุนให้ Gustav Vasa ผู้ที่ไม่ได้มีเชื้อสายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใดให้ขึ้นเป็น พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาปฐมบรมราชวงศ์ Vasa ที่สืบสายกันมาจนถึง Charles XII

ขณะเดียวกัน ในรัชสมัยของ Gustav Vasa เอง ชาวนาก็กลับก่อกบฏต่อพระองค์ถึงห้าครั้ง และในครั้งที่ห้า มีความรุนแรงจนถึงขนาดแบ่งแยกพื้นที่การปกครองให้เป็นของพวกกบฏได้ด้วย ดังนั้น แม้ว่าฐานันดรชาวนาจะมีอำนาจจำกัดตามกฎหมาย แต่มีกำลังอำนาจที่สามารถสร้างความวิตกให้แก่ชนชั้นปกครองได้อย่างมหาศาล

ดังนั้น ภาพที่ปรากฏในที่ประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1723 คือ ฐานันดรชาวนาที่เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุน Frederick I อย่างแข็งขัน แต่ข้อโต้แย้งของฐานันดรอื่นๆในการปฏิเสธการขยายพระราชอำนาจให้ Frederick I ก็คือ พระองค์ไม่ทรงทำหน้าที่อันควรต่อประเทศชาติในขณะที่สวีเดนต้องเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย เพียงเพราะพระองค์ทรงไม่พอใจที่รัสเซียยังให้การสนับสนุน Charles Frederick ที่เป็นคู่แข่งชิงบัลลังก์มาก่อน

ฐานันดรทั้งสามได้ชี้ให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ที่รักบ้านเกิดเมืองนอนอย่างแท้จริงจะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน ขณะเดียวกัน ต่อประเด็นเรื่องการขอเวนคืนทรัพย์สิน ฐานันดรอภิชนก็ได้หาทางเจรจาประนีประนอมกับฐานันดรชาวนา โดยให้มีการเสนอร่างกฎหมายสงวนตำแหน่งในสภาบริหารและตำแหน่งข้าราชการระดับสูงไว้ให้แก่เฉพาะพวกอภิชนที่ได้รับการยกเว้นจากการถูกเก็บภาษีตามจารีตประเพณีโบราณเท่านั้น ไม่ใช่ให้อภิชนทุกระดับทั้งหมด

และไม่ให้สิทธิ์ในการขยายประโยชน์และอภิสิทธิ์ที่มีอยู่แล้วของอภิชน และในแม้ว่าพวกอภิชนจะยังคงรักษาผลประโยชน์ทางทรัพย์สินไว้ได้ แต่ก็ยอมที่จะยืนยันสิทธิ์ของฐานันดรพ่อค้าคนเมืองและนักบวชให้สามารถครอบครองที่ดิน “เสรี” (free land) บางประเภทไว้ และฐานันดรชาวนาก็ได้รับประโยชน์ด้วย นั่นคือ ยืนยันตามประเพณีดั้งเดิมที่ ชาวนาที่ทำกินในที่ดินของพระมหากษัตริย์ (crown peasant) มีสิทธิ์ที่จะซื้อที่ดินที่ทำกินอยู่นั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้

เมื่อมีการตกลงกันได้ดังนี้ระหว่างฐานันดรอภิชนและฐานันดรชาวนา เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็ตีตกข้อเสนอการขยายพระราชอำนาจ และลงมติเห็นชอบกฎหมายประนีประนอมผลประโยชน์ของฐานันดรต่างๆ

อีกทั้งที่ประชุมรัฐสภายังลงมติเห็นชอบออกพระราชบัญญัติรัฐสภา (the Riksdag Act 1723) เปิดให้พื้นที่ให้ชาวนาที่ยังไม่เคยดำรงตำแหน่งหรือเป็นสมาชิกของรัฐสภาสามารถได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาในฐานันดรชาวนาได้ และพระราชบัญญัตินี้กลับเพิ่มอำนาจให้กับฐานันดรทั้งสี่มากขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 เสียอีก

การเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับฐานันดรทั้งสี่นี้หมายถึง การใช้อำนาจร่วมกันของฐานันดรทั้งสี่ในรัฐสภาที่มีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นกว่าเดิม และจากกฎหมายต่างๆดังกล่าวนี้ ฐานันดรชาวนาก็ไม่ได้ติดใจที่จะลุกฮือต่อต้านนอกรัฐสภาต่อสู้เพื่อให้มีการขยายพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ดังนั้น ความพยายามของ Frederck I ที่จะให้ฐานันดรชาวนาเป็นเสียงสนับสนุนให้มีการปรับพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้นจึงล้มเหลว นอกจากจะไม่ได้มีพระราชอำนาจเพิ่ม แต่กลับลดลงไปอีก จากพระราชบัญญัติรัฐสภา (the Riksdag Act 1723) ที่ให้รัฐสภามีอำนาจมากขึ้น

ปรากฏการณ์จากที่ประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1723 ส่งผลให้สถานะของพระองค์กลับยิ่งตกต่ำ Frederick I ทรงไม่มีอิทธิพลใดๆเหลืออยู่อีกต่อไปในรัฐสภา และกลุ่มเจ้าก็ได้สลายร่างไปในเวลาเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าจะให้ผู้เขียนประเมินสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนและหลังการประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1723 จะพบว่า แม้ว่า รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 จะยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กระนั้น ถ้าพิจารณาให้ดีๆ จะพบว่า ไม่ถึงกับจะจำกัดพระราชอำนาจจนไม่เหลือเลยอย่างที่เกิดขึ้นในพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1723 แต่ยังมีพื้นที่ที่พระมหากษัตริย์จะยังทรงมีบทบาทได้บ้าง

และมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางในการบริหารราชการแผ่นดิน หากพระมหากษัตริย์ทรงบารมีและมีความมุ่งมั่นที่จะอุทิศพระองค์ต่อชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง พระองค์ก็จะทรงสามารถทำให้ผู้คนยอมรับเคารพได้ โดยเฉพาะในการประชุมรัฐภาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1723 แต่ Frederick I ทรงกลับสูญเสียโอกาสดังกล่าวนี้ พระราชอำนาจกลับหมดความหมายไปอย่างสิ้นเชิงเพราะพฤติกรรมที่รวนเรและบุคลิกภาพท่าทีส่วนพระองค์ที่มีต่อการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น กล่าวได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดนเริ่มสูญเสียสถานะบทบาททางการเมืองตามจารีตประเพณีการปกครองที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน

และสัญญาณของระเบียบใหม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้น นั่นคือ พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสมาชิกสำคัญคนหนึ่งของสภาบริหาร และทรงถูกจำกัดให้มีเพียงสองเสียงในการออกเสียงในประเด็นสำคัญ

เป็นเพราะบุคลิกภาพของ Frederick I เองที่ตกต่ำถดถอยลงมากเกินกว่าที่จะรักษาพระราชอำนาจที่ลดน้อยถดถอยลงไปอย่างรวดเร็วอยู่แล้วจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 และยังทรงเป็นเหตุให้รัฐสภาสามารถออกพระราชบัญญัติรัฐสภา ค.ศ. 1723 ที่ยิ่งตอกย้ำชัดเจนว่า อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่แปด)

                                                        Frederick I