posttoday

ความเสมอภาคและไม่เสมอภาคในพุทธศาสนา

10 สิงหาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                      

*******************

จากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบความคิดเรื่องชนชั้นของเพลโตและในพระไตรปิฎก” อันเป็นวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของ วันฉัตร สุวรรณกิตติ ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า...

“...การเปรียบเทียบกับดอกบัวสี่เหล่าในความคิดทางพุทธศาสนานั้นเริ่มต้นจากการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมพิเศษ และทรงพิจารณาถึงมนุษย์ที่จะสามารถรับรู้ธรรมอันพิเศษนี้ว่า จะมีผู้รู้ทั่วถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่ ? ซึ่งพระองค์ก็ทรงทราบด้วยพระปัญญาว่า บุคคลผู้มีกิเลสน้อยเบาบางก็มี ผู้มีกิเลสหนาก็มี ผู้มีอินทรีย์คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา กล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี ผู้มีอาการอันชั่วก็มี เป็นผู้จะฟังสอนให้รู้โดยง่ายก็มี เป็นผู้พึงจะสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี  เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี  ซึ่งพระองค์ได้ทรงเปรียบบุคคลในโลกมนุษย์กับดอกบัวที่มีทั้งที่จมอยู่ในน้ำ อยู่เสมอน้ำ และตั้งขึ้นพ้นน้ำ ดอกบัวเหล่านี้

“พวกที่ตั้งขึ้นพ้นน้ำ พอต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานในวันนั้น พวกที่เสมอน้ำก็จะบานในวันต่อไป และพวกที่อยู่ในน้ำก็หวังจะบานในวันถัดๆ ไป มนุษย์ก็เช่นเดียวกันกับดอกบัวเหล่านี้ พวกที่มีคุณสมบัติพิเศษก็อาจรู้ธรรมในทันที พวกที่มีคุณสมบัติปานกลางก็อาจรู้ธรรมได้เมื่อได้รับการอบรมเพิ่มเติม และพวกที่มีคุณสมบัติอ่อนเมื่อได้รับธรรมอย่างสม่ำเสมอก็ยังอาจจะรู้ธรรมได้ในที่สุด ซึ่งทั้ง ๓ จำพวกนี้เรียกได้ว่าเป็นจำพวก ‘เวไนย’

“แต่ก็ยังมีมนุษย์ประเภทที่สี่ที่ไม่รับการแนะนำ เพราะปัญญาทึบ ทำบาปมาหนักหนา ถือทิฐิมานะ รั้น ซึ่งเปรียบเทียบได้กับดอกบัวประเภทที่สี่เป็นอาหารของปลาและเต่า หมดโอกาสที่จะบาน จัดเป็นพวก ‘อเวไนย’...”

ในการเปรียบเทียบดังกล่าวนี้ หลายคนที่รับเอาความคิดเสรีนิยมตะวันตกมาสมาทานแบบหยาบๆ ก็ย่อมไม่เห็นด้วย เพราะการเปรียบเทียบดังกล่าวถือเป็นการแบ่งชั้นวรรณะซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดเสรีนิยมตะวันตกที่ว่า มนุษย์นั้นมีธรรมชาติที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน และก็มักจะอ้างคำกล่าวของนักคิดเสรีนิยมตัวพ่อในศตวรรษที่ ๑๗ อย่างจอห์น ล็อก (John Locke) ที่ว่า “มนุษย์เกิดมาเหมือนผ้าขาว” ซึ่งเป็นวลีที่ฮิตติดปากผู้คนทั่วไปที่ได้ชื่อมีการศึกษา นั่นคือ โดยธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาเท่ากัน ไม่มีใครเกิดมาโดยมีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าหรือด้อยกว่าใคร ปัญหาอยู่ที่โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันหรือสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันต่างหากที่ทำให้ดูเหมือนว่า คนบางคน ธรรมชาติให้อะไรมากพิเศษเหนือกว่าคนอื่น  ไม่ว่าจะเชื้อชาติเผ่าพันธุ์อะไรก็ไม่มีความสำคัญ หากเป็นคน ก็ย่อมต้องเท่ากัน

ก็น่าคิดว่า ถ้าหากนำเด็กเล็กๆ จำนวนสักหนึ่งร้อยคน สุ่มจากครอบครัวต่างๆ ให้เด็กเหล่านั้นได้รับการศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเข้มข้นเท่าเทียมกัน ผลที่ออกมา ทุกคนจะเก่งเท่ากันหรือไม่ ? หรือในที่สุดก็แบ่งออกมาเป็นลำดับต่างๆ ลดหลั่นกันไปคล้ายดอกบัวสี่เหล่าที่กล่าวไปข้างต้น ?!

เราจะเข้าใจหรือตีความความคิดของพระพุทธองค์ในเรื่อง “ความเท่าเทียม/ไม่เท่าเทียมของมนุษย์” นี้อย่างไร ถึงจะได้ความที่ไม่ไหลไปตามกระแสที่เชิดชูหรือค้านยันป้ายอย่างเดียว ?

มนุษย์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจำแนกได้ ๔ จำพวก

ประเภทที่หนึ่ง บัวพ้นน้ำกำลังบาน เปรียบบุคคลที่มีสติปัญญาสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันที เรียกว่า “อุคฆติตัญญู” 

ประเภทที่สอง บัวที่โตระดับเสมอน้ำ  เปรียบบุคคลที่มีสติปัญญาสามารถเข้าใจธรรมได้เมื่อได้รับการสั่งสอนแนะนำอย่างละเอียด เรียกว่า “วิปจิตัญญู” 

ประเภทที่สาม บัวที่อยู่ใต้พื้นน้ำ เปรียบบุคคลที่มีสติปัญญาที่จะรู้ธรรมได้ เมื่อมีความพากเพียรค้นคว้า หมั่นศึกษาเล่าเรียนจากทุกทาง เรียกว่า “เนยยะ” 

และประเภทที่สี่ บัวที่โตอยู่ใต้พื้นน้ำและไม่มีโอกาสโผล่เหนือน้ำ เปรียบได้กับบุคคลที่ไม่มีสติปัญญาประเภทที่ฟังคำสอนท่องบ่นแล้วไม่สามารถเข้าใจได้ เรียกว่า “ปทปรมะ”

ดูเผินๆ แล้ว อาจคล้ายว่าเป็นการแบ่งมนุษย์ออกเป็นชั้นวรรณะอย่างที่ดำรงอยู่ในสังคมอินเดียโบราณ แต่วันฉัตรศึกษาค้นคว้ามาว่า ในทางพุทธศาสนากล่าวว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของคนต่อสังคมมากกว่าที่จะเป็นการจัดแบ่งชนชั้นหรือจำพวกของมนุษย์  เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนถือกำเนิดมาในลักษณะเดียวกัน ไม่มีใครที่ถือกำเนิดมาในลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากมนุษย์ผู้อื่น รวมทั้งพระพุทธเจ้าก็ทรงไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การจำแนกวรรณะเป็น 4 วรรณะตามแบบพราหมณ์ ด้วยเหตุผลที่ว่าในหมู่วรรณะต่างๆ นี้ ต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน และมนุษย์เมื่อตอนที่ถือกำเนิดนั้นต่างก็มีจุดกำเนิดเดียวกัน มีการทำดีทำชั่วเหมือนกันทั้ง ๔ วรรณะ ซึ่งในพระไตรปิฎกนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง “วรรณะ” ในการจำแนกชนชั้นของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่า การจำแนกมนุษย์เป็น ๔ จำพวก ไม่ได้เป็นการจำแนกมนุษย์ตั้งแต่มนุษย์ผู้นั้นได้ถือกำเนิดมา และไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินของใคร รวมทั้งไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินของรัฐหรือสังคม  แต่การจำแนกจำพวกมนุษย์นี้เป็นผลจากตัวมนุษย์เอง อันเกิดขึ้นจากความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในธรรมอันพิเศษที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้  ที่มนุษย์แต่ละคนมีระดับความสามารถในการรับรู้ธรรมอันพิเศษในระดับที่ต่างกัน ซึ่งเปรียบมนุษย์โดยธรรมชาติได้กับเส้นตรงในแนวนอน ที่มนุษย์ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกันตามแนวเส้นตรง แต่ก็มีความแตกต่างกันตามลักษณะซ้าย-ขวาของเส้นตรงตามแนวนอนนั้น ซึ่งวันฉัตรได้แสดงเป็นแผนภาพไว้ดังนี้

+-------------------------------------มนุษย์ตามธรรมชาติ-------------------------------------------------

_________________/______________________/_________________________/_____________

ปทปรมะ                           เนยยะ                               วิปจิตัญญู                           อุคฆติตัญญู

จากเส้นตรง เปรียบได้ว่า มนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีความเท่าเทียมกันในแง่ของความเป็นมนุษย์ แต่จะมีความแตกต่างกันในแง่ของระดับความสามารถในการเข้าใจธรรมอันพิเศษที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ โดยลักษณะความแตกต่างจะเป็นในทางซ้าย-ขวาเท่านั้น มนุษย์แต่ละคนจะไม่มีความแตกต่างในทางแนวดิ่ง ซึ่งหมายถึง ไม่มีมนุษย์ผู้หนึ่งอยู่เหนือกว่ามนุษย์ผู้ใด โดยจะมีมนุษย์ที่อยู่เหนือกว่ามนุษย์ผู้อื่นก็โดยลักษณะของความสามารถอันเกิดจากความเข้าใจในธรรมอันพิเศษของมนุษย์แต่ละคนซึ่งเป็นผลจากกรรมของมนุษย์ผู้นั้น และนอกจากนั้น ตามลักษณะของเส้นตรงในแนวนอนนี้ มนุษย์ทุกคนจึงมีโอกาสและมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงการสังกัดชนชั้นของตนได้ทั้งในทางที่ดีขึ้นและเลวลงโดยไม่มีปัจจัยใดๆ จะเป็นสิ่งกีดขวางการสังกัดชนชั้นมนุษย์ได้นอกจากตัวมนุษย์แต่ละคนเอง

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่บอกว่า พระพุทธองค์ไม่ได้มีแนวคิดในการแบ่งแยกชนชั้นมนุษย์แต่กำเนิด การจำแนกเป็นสี่เหล่าคือการกระทำหลังกำเนิดของมนุษย์เอง สอดคล้องกับหลักคิด “ประจักษ์นิยม” (empiricism) และ “ปฏิฐานนิยม” (positivism) อันเป็นญาณวิทยาตะวันตกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงโลกให้สู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) แต่นั่นยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยยิ่งขึ้นไปอีกว่า ในเมื่อมนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีความเท่าเทียมกันในแง่ของความเป็นมนุษย์ แล้วปัจจัยอะไรกันเล่า ที่ทำให้มีความแตกต่างกันในแง่ของระดับความสามารถในการเข้าใจธรรมอันพิเศษที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ? กรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนหรือ ?

หรือถ้าพูดให้สมัยใหม่หน่อยก็ถามว่า มันเกี่ยวข้องกับ “สายพันธุ์” หรือ “ยีนส์” (genes) หรือ “ดีเอนเอ” (DNA) หรือ ? แล้วยังเกี่ยวกับภาวะแวดล้อมด้วยหรือไม่ ? เช่น คนยีนส์ดีแต่อยู่ในภาวะแวดล้อมที่ไม่ดี ก็อาจนำพาให้ยีนส์นั้นไปเก่งในทางโจร กลายเป็นหัวหน้าโจรไป แทนที่จะเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นต้น

การจำแนกชนชั้นมนุษย์ในพระไตรปิฎกได้ก่อให้เกิดลักษณะการท้าทายระบบความเชื่อของสังคมหรือก่อให้เกิดแนวความคิดการปฏิรูปในสังคม จากการแสดงให้เห็นถึงที่มาของการแบ่งชนชั้นวรรณะซึ่งส่งผลสู่แนวความคิดเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ตามธรรมชาติ รวมทั้งการยกย่องฐานะของสตรีให้เท่าเทียมกับบุรุษด้วย ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมขณะนั้นที่มีการจำแนกชนชั้นตามระบบวรรณะซึ่งถือกันอย่างรุนแรง และแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันอย่างชัดเจนของมนุษย์ในแต่ละชนชั้นนั้น อาจพิจารณาตีความได้ว่า การจำแนกชนชั้นตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้นมีความมุ่งหมายอื่นนอกเหนือจากการแสดงให้เห็นความแตกต่างของมนุษย์ในการทำความเข้าใจในธรรมอันพิเศษนั้น โดยความมุ่นหมายที่ว่าคือ เพื่อการเผยแผ่ศาสนา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อาศัยการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นหลักจิตวิทยาในการเผยแผ่ เพราะจากลักษณะดังกล่าวทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สามารถเข้าถึงมนุษย์ในทุกชนชั้นวรรณะ  และมนุษย์ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงพุทธศาสนาได้โดยไม่มีปัจจัยในด้านใดเป็นเครื่องขัดขวางการเข้าถึงพุทธศาสนา  ซึ่งจากจุดนี้ได้ทำให้พุทธศาสนามีความได้เปรียบในการเผยแผ่ศาสนาท่ามกลางสังคมที่มีฐานความเชื่อในระบบวรรณะและศาสนาพราหมณ์