posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น (25)

04 สิงหาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**********************

ช่วงการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปนไปทั่วโลกนั้น สหรัฐก็เผชิญการระบาดของโรคนี้อย่างรุนแรง ช่วงนั้นการแพทย์และการสาธารณสุขของสหรัฐกำลังวางรากฐานของการพัฒนาอย่างน่าสนใจ

เมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกในปี พ.ศ. 2330 นั้น กรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งสร้างเสร็จได้ 2 ปี และเราเพิ่งเอาชนะศึกพม่าอย่างงดงามที่ลาดหญ้า เมื่อ พ.ศ. 2328 และศึกพม่าที่ท่าดินแดงเมื่อ พ.ศ.2329 การชนะศึก 2 ครั้งนั้น ไม่เพียงชนะสงครามเท่านั้น แต่ที่สำคัญ คือ สามารถทำให้คนไทยเลิกกลัวพม่าอันเป็นภาพจำครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 ได้อย่างงดงาม

ช่วงที่บรรดา “บิดรผู้สร้างชาติ” (Founding Fathers) ของสหรัฐกำลังสร้างประวัตศาสตร์ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้สหรัฐสามารถสร้างชาติได้ จนเข้มแข็งและกลายเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ของโลกสืบมาจนทุกวันนี้นั้น สหรัฐอเมริกายังอยู่ในสภาพที่ห่างไกลจากความเจริญมาก ทั่วทั้งประเทศมีสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่เพียงสะพานเดียว ถนนหนทางส่วนใหญ่ยังเป็นถนนดิน เมื่อถึงฤดูฝนก็จะเต็มไปด้วยหล่มโคลนเป็นอุปสรรคอย่างมากแก่การคมนาคมขนส่ง ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญที่เมืองฟิลาเดลเฟียเมื่อ พ.ศ. 2330 นั้น ผู้แทนหลายคนจากมลรัฐห่างไกลมาประชุมหลังเปิดการประชุมไปแล้วเป็นสัปดาห์

รัฐธรรมนูญฉบับที่สั้นที่สุดแต่มีอายุยืนนานและยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะนอกจากนักกฎหมาย นักการทหาร และนักการเมืองที่ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญร่วมอยู่ในคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญด้วย คือ เบนจามิน แฟรงคลิน ซึ่งเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักการทูต นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียน ที่มีชื่อเสียงและบทบาทสูงทั้งคุณวุฒิ และวัยวุฒิ เพราะเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดของคณะผู้ร่าง คืออายุถึง 81 ปี โดยเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล่าวปราศรัยจูงใจให้ที่ประชุมรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยฉันทมติ (consensus) เพื่อให้มีความหนักแน่นเพียงพอก่อนจะส่งไปให้มลรัฐทั้ง 13 แห่ง ลงประชามติรับรอง

สหรัฐจึงให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นรากฐานสำคัญมาตั้งแต่ก่อร่างสร้างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ที่สำคัญสหรัฐมีกฎหมายและค่านิยมที่ส่งเสริมการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อ พ.ศ. 2416 จอห์นส์ ฮอปกินส์ ถึงแก่กรรม ทิ้งมรดกมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์ อุทิศเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล ซึ่งพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันการแพทย์ชั้นนำของสหรัฐ และของโลกมาจนทุกวันนี้ ต่อมามหาเศรษฐีจากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งร่ำรวยที่สุดในโลกเวลานั้น คือ จอห์น ดี.ร็อคกีเฟลเลอร์ ได้อุทิศเงินก้อนโตก่อตั้งสถาบันร็อคกีเฟลเลอร์ ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยร็อคกีเฟลเลอร์ และยังก่อตั้งมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของโลก ซึ่งจุดตั้งต้นสำคัญคือการส่งเสริมและเผยแพร่ตำราแพทย์ชื่อ “หลักและวิถีปฏิบัติทางการแพทย์” (Principles and Practice of Medicine) ของนายแพทย์วิลเลียม ออสลอร์

เมื่อโรคไข้หวัดใหญ่สเปนแพร่ระบาดไปทั่วโลก สหรัฐมีการใช้ความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขในการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคค่อนข้างก้าวหน้า มีการประกาศมาตรการกำหนดระยะห่างในสังคม (Social Distancing) และส่งเสริมการใช้หน้ากากอนามัยอย่างกว้างขวาง ทำให้อัตราการเสียชีวิตในสหรัฐค่อนข้าง ต่ำมาก

มีความพยายามศึกษาเชื้อต้นเหตุของไข้หวัดใหญ่สเปน ตั้งแต่ทศวรรษนับแต่ พ.ศ. 2473 โดยการศึกษาพบว่าเชื้อไวรัสนี้เพาะเลี้ยงได้ดีในน้ำคร่ำ (amniotic fluid) ของไข่ไก่ฟัก จนนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำเร็จ สามารถนำมาฉีดป้องกันโรคได้อย่างกว้างขวางช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย กล่าวคือจะมีการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในน้ำคร่ำของไข่ไก่ฟักนำมาผลิตเป็นวัคซีนซึ่งเชื้อยังมีชีวิต แต่นำไปทำให้เชื้อตายโดยที่ยังมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

วัคซีนเชื้อเป็นและเชื้อตายจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ชนิดแรกค้นพบโดยโจนาส ซอล์ค เป็นชนิดเชื้อตาย ต่อมาเซบินค้นพบชนิดเชื้อเป็น และทั่วโลกใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอย่างกว้างขวางรวมทั้งในประเทศไทย เพราะวัคซีนเชื้อเป็นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ ทั้งในกระแสโลหิตและในทางเดินอาหาร และใช้ง่ายกว่าโดยการหยอดทางปาก ปัจจุบันจึงใช้วัคซีนนี้เพื่อควบคุมการระบาดซึ่งได้ผลดี แต่ในด้านความปลอดภัยแล้วชนิดเชื้อตายจะปลอดภัยกว่า

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็เช่นกัน โดยทั่วไปวัคซีนชนิดเชื้อตายจะปลอดภัยกว่า จึงใช้กับคนทั่วไปได้กว้างขวางกว่าชนิดเชื้อเป็น ซึ่งมีข้อกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในวัคซีนซึ่งจะเปลี่ยนจาก “เชื่อง” (attenuated) เป็น “ดุร้าย” (virulent) ทำอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะในคนที่ภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ วัคซีนเชื้อเป็นจึงมีข้อห้ามใช้ในกลุ่มต่างๆ ได้แก่ (1) เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (2) ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี (3) เด็กอายุ 2-4 ปี ที่เป็นโรคหอบหืด (4) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ได้รับยากดภูมิต้านทาน หรือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (5) หญิงตั้งครรภ์ (6) ผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วง 48 ชม. ก่อนรับวัคซีน เป็นต้น

ประเทศโลกเสรีส่วนมากมีการพัฒนาและใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายมายาวนาน ขณะที่สหภาพโซเวียตมีการพัฒนาและใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นมายาวนานเช่นกัน สหรัฐ มีการพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อเป็นเช่นกัน และใช้เวลายาวนานกว่าจะประสบความสำเร็จ และสามารถขึ้นทะเบียนจำหน่ายกับสำนักงาน อาหารและยาสหรัฐได้เมื่อเดือนมีนาคม 2555

ปัญหาเรื่องการกลายพันธุ์จากพันธุ์ที่เชื่องแล้ว เป็นพันธุ์ที่ดุร้ายของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในวัคซีนชนิดเชื้อเป็นนี้ เป็นข้อห่วงใยของนักวิชาการทั่วโลกมายาวนาน ทำให้การพัฒนาเรื่องนี้ในสหรัฐและยุโรปตะวันตกค่อนข้างเชื่องช้า แต่เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์รัสเซียมีความมั่นใจในความรู้และเทคโนโลยีของตนมาก แม้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการกลายพันธุ์สูงและตลอดเวลา แต่นักวิทยาศาสตร์รัสเซียสามารถควบคุมและตรวจสอบการกลายพันธุ์ได้อย่างมั่นใจ เพราะในวัคซีนเชื้อเป็นชนิดอื่น เช่น วัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อเป็นพบสารพันธุกรรมที่ทำให้เชื้อไวรัสเชื่องเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น

แต่ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นมีการ “ล็อค” สารพันธุกรรมป้องกันการกลายพันธุ์ถึง 5 ตำแหน่ง เปรียบเสมือนมีกุญแจล็อคถึง 5 ชั้น และมีการควบคุมตรวจสอบในหัวเชื้อตั้งต้น (Master Seed) อย่างเข้มงวดว่าไม่มีการกลายพันธุ์ รัสเซียได้พัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิดเชื้อเป็น มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษในประชากรจำนวนมากมายมหาศาล ไม่ปรากฏปัญหาเรื่องเชื้อ ในวัคซีน กลายพันธุ์เป็นชนิดดุร้ายเลย

ในการเตรียมการเพื่อเผชิญกับปัญหาการระบาดใหญ่ ของไข้หวัดใหญ่ รวมทั้ง “ไข้หวัดนก” ของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการไปตั้งแต่ก่อนการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยองค์การเภสัชกรรมในช่วงที่ผู้เขียนเป็นประธานกรรมการก็ใช้เทคโนโลยีเชื้อเป็นจากรัสเซีย

การที่ใช้เทคโนโลยีเชื้อเป็นจากรัสเซียเพราะเราอยู่ในโลกที่เรา “เลือกไม่ได้” ก่อนหน้านั้นมีความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขที่จะขอ “ถ่ายทอด” หรือ “ซื้อ” เทคโนโลยีเชื้อตายของทั่วโลก ไม่มีใครขายให้ เราจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีของรัสเซีย ซึ่งยินยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โดยการสนับสนุนทั้งทางวิชาการ และเงินทุนกว่าร้อยล้านบาทจากองค์การอนามัยโลก

*****************************