posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น (24)

28 กรกฎาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*************************

ไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 มีลักษณะคล้ายกัน คือ ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดการระบาดใหญ่คล้ายกัน โดยมีการแพร่โรคในลักษณะเดียวกัน ขณะที่มนุษย์ยังไม่มีประสบการณ์เรื่องวัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อไวรัสโคโรนา มาก่อน แต่มนุษย์มีประสบการณ์เรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาราว 80 ปีเศษ จึงสมควรศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดเรียกว่าไข้หวัดใหญ่สเปน ระบาดช่วง พ.ศ. 2461-63 ประมาณว่ามีคนตายระหว่าง 20-100 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อราว 500 ล้าน คิดเป็นประมาณ 36% ของประชากรขณะนั้น ซึ่งมีราวพันกว่าล้าน อัตราตายประมาณ 2-10% ถือเป็นการระบาด ครั้งรุนแรงที่สุด (ระดับ 5) เชื้อไวรัสต้นเหตุเป็นสายพันธุ์ เอช1 เอ็น1 (H1N1)

ก่อนหน้านั้นมีการระบาดในช่วง พ.ศ. 2432-2433 มีผู้ติดเชื้อราว 20-60% ของประชากร คือ 300-900 ล้าน จากประชากรโลก 1,530 ล้าน ตายประมาณ 1 ล้าน คิดเป็นอัตราตาย 0.110-0.28% ความรุนแรงของการระบาดระดับ 2 เชื้อต้นเหตุเป็นสายพันธุ์ เอช3 เอ็น2 (H3N2)

หลังไข้หวัดใหญ่สเปน มีการระบาดอีกครั้งในช่วง พ.ศ. 2500-2501 ผู้ติดเชื้อกว่า 500 ล้าน คิดเป็นมากกว่า 17% ของประชากรโลกราว 2900 ล้าน ตายราว 1-4 ล้าน คิดเป็นอัตราตายน้อยกว่า 0.2% ความรุนแรงของการระบาดระดับ 2 เชื้อก่อโรคเป็นสายพันธุ์ เอช2 เอ็น2 (H2N2) เรียกกันว่า “ไข้หวัดใหญ่เอเชีย” (Asian Flu)

ต่อมาเป็น “ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง” ระบาดช่วงปี 2511-2512 มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 ล้านคน คิดเป็นมากกว่า 14% ของประชากรโลกราว 3,530 ล้านคน ตายราว 1-4 ล้าน คิดเป็นอัตราตายน้อยกว่า 0.2% ความรุนแรงของการระบาดระดับ 2 เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช3 เอน2 (H3N2)

พ.ศ. 2520-2521 เป็นการระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย” (Russian Flu) ไม่มีข้อมูลอัตราติดเชื้อ และอัตราตาย ประชากรโลกขณะนั้น 4,280 ล้านคน เชื้อก่อโรค คือ ไวรัสสายพันธุ์ เอช1 เอ็น1 (H1N1)

ต่อมาเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดช่วง พ.ศ. 2552-2553 มีผู้ติดเชื้อราว 700-1400 ล้านคน คิดเป็น 11-21% ของประชากรโลกราว 6,850 ล้านคน ตาย 151,700-575,400 คน คิดเป็นราว 0.03% ความรุนแรงของการระบาดระดับ 1 เชื้อต้นเหตุเป็นสายพันธุ์ เอช1 เอ็น1/09 (H1N1/09)

ทุกปีจะมีการระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” (Seasonal Flu) ซึ่งจะมีผู้ติดเชื้อระหว่าง 240-1,000 ล้านคน คิดเป็น 3-20% ของประชากรโลก ราว 7,750 ล้านคน อัตราป่วยตายน้อยกว่า 0.1% หรือราว 290,000-600,000 คน ความรุนแรงระดับ 1 เชื้อก่อโรคเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ ส่วนมากเป็นกลุ่ม เอ สายพันธุ์ เอช3 เอน1 และ สายพันธุ์ เอช1 เอ็น1 และกลุ่ม บี (A/H3N2, A/H1N1, B, …)

ตัวเอช และเอ็น เป็นตัวย่อ เอช คือ โปรตีนฮีแมกกลูตินิน (Hemaggluthinin) , เอ็น คือ เอ็นซัยม์ นิวรามินิเดส (Nuraminidase) ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ตัวเอชจะทำหน้าที่เหมือนเป็นกุญแจไขเข้าไปในเซลส์ของมนุษย์ผ่านทาง “ตัวรับ” (Receptor) เมื่อ “ทะลุทะลวง” เข้าไปได้แล้ว จะบังคับให้เซลล์ของมนุษย์เพิ่มจำนวนของไวรัสขึ้นมากมายมหาศาล ในเวลา 24 ชั่วโมง อาจเพิ่มถึง 10 ล้านตัว และจะออกไป “โจมตี” เซลล์อื่นๆ โดยเอนซัยม์นิวรามินิเดสจะทำหน้าที่ “ย่อยสลาย” เซลล์จึงทำหน้าที่เสมือนกุญแจไขออกจากเซลล์ไปโจมตีเซลล์อื่นๆ ต่อไป

ปกติเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในสัตว์อื่นๆ เช่น ในสัตว์ปีกอย่างนก ไก่ เป็ด ส่วนไวรัสโรคซาร์ส พบว่าอยู่ในค้างคาว และไม่เข้ามา “ทำร้าย” มนุษย์ เพราะจะมี “ปราการ” (Barrier) ธรรมชาติ คือ ไวรัสนั้นไม่สามารถจับกับตัวรับของเซลล์มนุษย์ได้ หรือเข้าไปแล้วไม่มีตัวย่อสลายเซลล์ ทำให้ออกไปโจมตีเซลล์อื่นๆ ต่อไปไม่ได้

การที่ไวรัสในสัตว์ สามารถเข้ามาโจมตีมนุษย์ได้ เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา จน“วันดีคืนดี” หรือ “วันร้ายคืนร้าย” ก็จะทะลุทะลวงปราการร่างกายของมนุษย์เข้าไปได้ รวมทั้งออกไปโจมตีเซลล์อื่นๆ ต่อๆ ไปได้ด้วย

มนุษย์กับสัตว์อยู่ใน “อาณาจักรสัตว์” (Animal Kingdom) เหมือนกัน อยู่ร่วมโลกเดียวกัน เชื้อโรคจึงมีโอกาสแพร่ข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ได้ โรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนเรียกชื่อว่า “โรคจากสัตว์สู่คน” (Zoonosis)

การคิดค้นยา “ต้านไวรัส” ใช้วิธีหายาที่เข้าไปขัดขวางการ “เข้า” หรือ “ออก” หรือการ “เพิ่มจำนวน” ของไวรัส โดยไม่ทำอันตรายกับเซลล์ของร่างกายมนุษย์ ซึ่งยากมาก เพราะไวรัสมี “หน่วยชีวิต” พื้นฐานคือโปรตีนที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ ยาหรือสารที่ทำลายไวรัสมักทำอันตรายต่อเซลล์ของมนุษย์ด้วย แตกต่างจาก “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotics) ที่ใช้ทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในมนุษย์ เช่น เพนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกที่มนุษย์ค้นพบ

และเป็น “หมุดหมาย” เปลี่ยนโลกที่สำคัญในด้านการสาธารณสุข เพนิซิลลินฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยการทำลายผนังเซลล์ชั้นใน (Cell membrane) ของแบคทีเรีย โดยไม่ทำลายเซลล์เมมเบรนของมนุษย์ จึงเป็นการ “ค้นพบ” (Discovery) ที่สำคัญยิ่ง เพราะถือเป็นการค้นพบ “กระสุนมหัศจรรย์” (Magic Bullet) ที่ฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ไม่ทำร้ายมนุษย์

แตกต่างจากยาต้านไวรัสที่มักฆ่าไวรัสได้ไม่ดีนัก และมักมี “ผลข้างเคียง” (Side effect) หรือ “ผลไม่พึงประสงค์” (Adverse reaction) ต่อเซลล์ของมนุษย์ด้วย แต่มนุษย์ก็ไม่ลดละความพยายาม ทำให้ในที่สุดก็สามารถคิดค้นยาต้านไวรัสที่ได้ผลดี “พอสมควร” คือ กำจัดไวรัสได้ดี และมีผลข้างเคียงหรือผลไม่พึงประสงค์ไม่มากออกมาได้เรื่อยๆ ดังกรณียาต้านไวรัสเอดส์หลายชนิด ซึ่งกลายเป็น “กระสุนมหัศจรรย์” ที่ช่วยให้ทั่วโลกเอาชนะโรคเอดส์ได้

ส่วนการคิดค้นและพัฒนาเรื่องวัคซีน ใช้หลักการที่แตกต่างออกไป คือ จะทำให้เชื้อไวรัส “เชื่อง” ลง เมื่อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อนั้นควรจะกระตุ้นให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นโดยไม่ทำให้เกิดโรค และให้ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นสามารถต่อต้านเชื้อโรคในธรรมชาติได้ในระดับต่างๆ ที่ดีที่สุด คือ สามารถป้องกัน “การติดเชื้อ” (infection) รองลงมาคือถ้าป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ก็ให้ป้องกัน “มิให้เกิดโรค” ถัดมา คือ ถ้าป้องกันการเกิดโรคไม่ได้ ก็ป้องกันมิให้เกิดอาการรุนแรง หรือทำให้เกิดโรคได้ช้าๆ สุดท้ายคือถ้าป้องกันการเกิดโรคหรือความรุนแรงของโรคไม่ได้ ก็ให้ป้องกันมิให้มีการแพร่โรคออกไปสู่ผู้อื่น

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันมานานในอดีตมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดเชื้อตาย (Inactivated influenza vaccine) และชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้ “เชื่อง” ลง (Live-attenuated influenza vaccine)

*************************