posttoday

ระเบียบเสรีนิยม

24 กรกฎาคม 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

****************************

แม้การดำเนินนโยบายทั้งภายในและการต่างประเทศที่ผ่านมาของทรัมป์ จะสั่นคลอนหลักการเสรีนิยมในระเบียบระหว่างประเทศเพียงใดก็ตาม แต่มองอีกแง่หนึ่ง หลักการเสรีนิยมในระเบียบระหว่างประเทศก็ยังคงมีผลมากในการเมืองระหว่างประเทศร่วมสมัย

แต่เหตุผลไม่ใช่เพราะว่ามันมีโอกาสจะฟื้นคืนพลังกลับมาใหม่ได้อีกถ้าสหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่มาแทนทรัมป์ในปีหน้า หรือในการเลือกตั้งสมัยถัดไป แต่เป็นเพราะในเวลานี้เองที่หลักการเสรีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีนิยมทางการเมือง ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรสถานภาพเดิมที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศ ที่มองตนเองและเห็นหลักการเสรีนิยมเป็นแก่นแกนอยู่ในอัตลักษณ์ที่ช่วยดำรงภาพส่วนดีงามของตน และใช้มันเป็นตัวเแบ่งฝ่ายดีฝ่ายร้ายว่าใครเป็นฝ่ายไหน เป็นพวกเดียวกับตน หรือว่าไม่ใช่

การใช้หลักการเสรีนิยมมาแบ่งข้างในการเมืองระหว่างประเทศมีความสำคัญก็เพราะการมีมหาอำนาจโลกขึ้นมาใหม่อีกขั้วหนึ่งย่อมก่อให้เกิดการหาทางถ่วงดุล ยับยั้ง และแข่งขันกันอยู่ในตัวอยู่แล้ว เหมือนตอนยุค 80s ที่ญี่ปุ่นเหมือนว่าจะไล่หลังสหรัฐฯ ขึ้นมาในทางเศรษฐกิจก็ก่อกระแสในสหรัฐฯ ขึ้นมากดดันญี่ปุ่นมากพอใช้ แต่แล้วญี่ปุ่นก็ไม่ใช่มหาอำนาจที่ขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ แต่เป็นจีน และเป็นจีนในระยะการผลัดเปลี่ยนผู้นำมาสู่รุ่นสีจิ้นผิง ซึ่งเขาและแนวทางของเขาไม่ใช่และไม่สนับสนุนเสรีนิยมทางการเมือง

ไม่กี่วันก่อน ทางการจีนเพิ่งจัดตั้งสถาบันศึกษาวิจัยความคิดทางการทูตของสีจิ้นผิงขึ้นมา เราคงจะได้เห็นผลผลิตที่จีนจะบอกให้โลกฟังว่าอะไรคือแก่นแกนความคิดทางการทูตของผู้นำรุ่นใหม่คนนี้ ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังการปฏิวัติสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่ที่แน่ชัดก็คือการดำเนินนโยบายทางการเมืองแบบไม่เสรีนิยมของสีจิ้นผิง กระตุ้นให้ประเทศสถานภาพเดิมฝ่ายเสรีนิยมในระบบระหว่างประเทศเห็นความแตกต่างที่ไม่เข้ากัน หรือเข้ากันไม่ได้ระหว่างคุณค่า / ค่านิยม / ฐานคิดเกี่ยวกับการเมืองของตนที่เป็นขั้วอำนาจเก่า กับของจีน ที่เป็นขั้วอำนาจใหม่

ถ้าสงครามเย็นรอบใหม่จะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วก็ตาม ความคล้ายกันแบบหนึ่งระหว่างรอบแรกกับรอบปัจจุบันคือการแข่งขันกันระหว่างตัวแบบการเมืองการปกครองและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างเสรีนิยมกับไม่เสรีนิยม

เมื่อเป็นแบบนั้น การถ่วงดุลอำนาจ ยับยั้ง/ขยายอิทธิพล ระหว่างจีนขั้วอำนาจใหม่ กับฝ่ายขั้วอำนาจเดิม จึงไม่ใช่การแข่งขันแต่เฉพาะเรื่องเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ แต่เป็นการประจัญกันระหว่างคุณค่า ค่านิยม และรากฐานความคิดของระบอบการเมืองและหลักการที่มาของความชอบธรรมทางการเมือง ที่มีผลต่อจีนไม่เพียงแต่ในระดับความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่ยังกระทบถึงความมั่นคงภายใน ทั้งในการจัดอำนาจรัฐและการดำรงคงอยู่ของอำนาจปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในขณะที่ประเทศสถานภาพเดิมในระบบระหว่างประเทศฝ่ายเสรีนิยม ในเกมการแข่งขันอำนาจกับจีน ก็จะใช้การขับเคลื่อนทางความคิด/ค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยมมาเปิดประเด็น และเลือกกลวิธีที่จะใช้กดดันจีนและประเทศฝ่ายเดียวกันกับจีน โดยอาศัยการเสริมพลังให้แก่แนวร่วมที่ยึดถือและเรียกร้องเสรีนิยมทางการเมือง และก่อตัวเป็นพลังทางสังคมขึ้นมาในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

ในแง่นี้ สีจิ้นผิง ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่เมื่อเทียบกับผู้นำก่อนหน้านี้ทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็คงคิดว่าถ้าการดำเนินการในแบบที่เขาเตรียมจะมุ่งต่อไปจากนี้ มีความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นไปอีกขั้นมาตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในสังคมจีนให้เห็นอนาคตภายใต้การปกครองในอำนาจผู้นำสูงสุดของเขาได้ ก็เท่ากับว่าตัวแบบจีนสามารถทำในสิ่งที่สหภาพโซเวียตในสงครามเย็นคราวแรกทำไม่ได้ นั่นคือการเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสถานะอำนาจและความสำเร็จทางเศรษฐกิจคู่ขนานกับตัวแบบของสหรัฐอเมริกา หรือของสหภาพยุโรป/เยอรมนี

ส่วนจีนก็คงเรียนรู้มาแล้วอย่างดีว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตส่วนหนึ่งนั้นก็เพราะถูกดึงให้มาเล่นในเกมแข่งขันสะสมอาวุธและแข่งขันขยายอิทธิพลในภูมิภาคอื่นนอกพื้นที่ที่มิได้เป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงโดยตรงของตน เขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกขึ้นได้ว่า แต่จีนคงไม่มองว่าฮ่องกง ทะเลจีนใต้ หรือซินเจียงเป็นพื้นที่นอกเขตความมั่นคงของตนเป็นแน่

ดังนั้น การพัวพันอยู่กับโจทย์ความมั่นคงภายนอกและภายในพร้อมกับการเผชิญกับเกมสกัดกั้นทางเศรษฐกิจจากขั้วอำนาจฝ่ายตรงข้าม จะเป็นบททดสอบว่าตัวแบบของจีนจะยืนระยะและเพิ่มความสามารถที่จะรักษาสถานะการเป็นขั้วอำนาจในระบบระหว่างประเทศได้ยืนยาว จนอย่างน้อยทำให้ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษของจีนได้หรือไม่ สีจิ้นผิงตั้งใจมาเล่นเกมยาวแน่นอน

4 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันเป็นคนมาสั่นคลอนหลักการเสรีนิยมในระเบียบระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในแง่นี้ สีจิ้นผิง ก็คงอยากให้เขาชนะเลือกตั้งคราวนี้อีกรอบ ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัย เพื่อให้เป็นแนวร่วมในมุมกลับของจีนในการบ่อนเซาะหลักการเสรีนิยมทางการเมืองและเอกภาพความร่วมมือระหว่างพันธมิตรของฝ่ายนี้ให้เรรวนยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ความเสี่ยงก็มี ไม่ใช่ว่าไม่มี

ปลายปีก่อน เฮนรี่ คิสซินเจอร์ ในวัย 96 ออกมาเตือนทุกฝ่ายว่า สถานะทางเศรษฐกิจของพวกท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยมทางการเมืองหรือไม่เป็น ขึ้นต่อกันและกันมากกว่าที่ตระหนักกัน การทำสงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นของโลกโดยพ่วงประเทศลูกคู่เข้ามา “are bound to step on each other’s toes all over the world. .... If conflict is permitted to run unconstrained the outcome could be even worse than it was in Europe. World War I broke out because a relatively minor crisis could not be mastered.”