posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับการเยียวยาคนขายผลไม้สองแนวของอาจารย์ดอกิน (ตอนที่สิบห้า)

20 กรกฎาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                   

*******************

คราวที่แล้ว น้องแก้วลูกบ้านผู้ใหญ่ลีเปิดเทปคำบรรยายของอาจารย์รัฐศาสตร์ รามคำแหงที่อธิบายสาเหตุที่ฝรั่งไม่ยอมสวมหน้ากากและไม่ยอมกักตัวเองอยู่ในบ้าน เพราะพวกเขาคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพที่พวกเขามีติดตัวมาโดยธรรมชาติตั้งแต่เกิด และไม่ยอมรับการใช้อำนาจของรัฐบาลโดยไม่ผ่านการยอมรับเห็นชอบจากพวกเขา  พวกฝรั่งพวกนี้เชื่อว่า “เสรีภาพต้องมาก่อนสุขภาพ” อาจารย์รัฐศาสตร์ รามคำแหงบอกว่า วิธีคิดแบบนี้ได้มาจากนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดที่ชื่อจอห์น ล็อกและมีนักคิดรุ่นต่อๆมาสืบสานวิธีคิดดังกล่าวนี้มาจนปัจจุบัน  ซึ่งผมได้ทิ้งคำถามไว้ตอนท้ายคราวที่แล้วว่า “ตกลง สิทธิที่ฝรั่งบอกว่ามันติดตัวมาแต่กำเนิดนี่ มันติดมาพร้อมกับมนุษย์ทุกคนบนโลก หรือว่ามันเป็นวัฒนธรรมของแต่ละที่ ?” ปรากฏว่า มีผู้อ่านส่งคำตอบมาร่วมสนุกสองท่าน ท่านแรกเป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส อีกท่านเป็นอาจารย์นักวิชาการรุ่นใหม่ ท่านแรกตอบว่า “มันติดตัวมาครับ แต่เข้าเมืองไหนมี่มีวัฒนธรรมแบบไหนย่อมต้องทำตามวัฒนธรรมนั้นครับ” ส่วนท่านที่สองตอบว่า “สิทธิที่ติดตัวมาขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและบริบททางสังคมค่ะ” ฟังแล้วดูเหมือนว่า สิทธิ์ที่ว่านี้มันเกี่ยวๆกับวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม่ของน้องแก้วก็ยังติดใจเรื่องลูกสาวตัวเองอยู่ไม่น้อย เพราะตอนที่แกถามน้องแก้วว่าที่เสียเงินเสียทองให้ไปร่ำเรียนรัฐศาสตร์ที่รามคำแหง และไปได้วิชาปรัชญาการเมืองติดตัวมา มันจะช่วยให้ทำมาหากินสอบติดเป็นปลัดอำเภออย่างไอ้ดิ่งลูกตาโด่งได้ไหม ?  แต่น้องแก้วไม่ตอบ แถมทำหน้าเหม่อลอยคิดถึงหน้าอาจารย์รัฐศาสตร์ที่เธออัดเทปมาเปิดให้พ่อผู้ใหญ่และคนในหมู่บ้านฟัง

ผมเองก็แอบรู้ใจแม่น้องแก้ว (รวมทั้งท่านผู้อ่านอีกหลายๆคน) ที่อยากเห็นหน้าอาจารย์ขวัญใจน้องแก้ว ผมจึงแอบไปหารูปอาจารย์หนุ่มตำแหน่งวิชาการระดับรองศาสตราจารย์และแถมยังมีตำแหน่งบริหารระดับผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาและหัวหน้าภาควิชาการปกครองของรามมาแชร์กันให้จะๆไป

          

ผู้ใหญ่ลีกับการเยียวยาคนขายผลไม้สองแนวของอาจารย์ดอกิน (ตอนที่สิบห้า)

แต่ผู้ใหญ่บ้านไม่สนใจอาจารย์ราม เพราะแกกำลังกลุ้มใจอยู่กับเรื่องปัญหาบ้านเมืองของแกอยู่ เพราะมีคนถามเรื่องการเยียวยาพ่อค้าผลไม้รถเข็นที่มีวิถีชีวิตต่างกัน แต่ประสบปัญหาการทำมาหากินภายใต้โควิด-19 ทั้งคู่ คนหนึ่งใช้ชีวิตพอเพียง พอมีปัญหาขายของไม่ได้ ก็ยังเอาเงินที่เก็บหอมรอมริบมาประทังได้ ส่วนอีกคนใช้ชีวิตแบบบริโภคเต็มที่มาตลอด พอมีปัญหา ก็ลำบากแสนเข็ญ จะช่วยพ่อค้าสองคนนี้ยังไงดี ถึงจะยุติธรรมตามทฤษฎีของอาจารย์โรนัล ดอกิ้น (Ronald Dworkin แห่งมหาวิทยาลัยเยล)มีท่านผู้อ่านเจ้าเก่าคนหนึ่งเห็นใจท่านผู้ใหญ่ เลยลองเอาทฤษฎีของดอกิ้นมานำเสนอแนวทางการช่วยเหลือพ่อค้าทั้งสองขอเชิญสดับตรับฟังกันได้เลยครับ        

“คนขายผลไม้ที่พอเพียงและมีทักษะวางแผนทางการเงินร้องทุกข์ผู้ใหญ่ลี"

เป็นธรรมดาที่เมื่อลูกบ้านในหมู่บ้านผู้ใหญ่ลีเดือดร้อน ผู้ใหญ่ลีก็ต้องคิดหาทางเยียวยาลูกบ้าน ผมก็เป็นหนึ่งในลูกบ้านผู้ใหญ่ลีคนหนึ่งที่ได้ติดตามเรื่องราว “ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรม” ที่ริเริ่มโดยอาจารย์ไชยันต์ และนำข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมตั้งแต่อาจารย์รอลล์ อาจารย์โนซิคจนกระทั่งมาถึงอาจารย์ดอว์กิ้นมาเป็นแว่นขยายส่องประเด็นสาธารณะร่วมสมัย

มาคราวนี้ผู้ใหญ่ลีก็ได้รับเรื่องราวน่าปวดหัวจากลูกบ้านอีกเช่นเคย คือ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาล (สมมติ) ตั้งเกณฑ์ว่า คนขายผลไม้รถเข็นที่ประสบปัญหาขายผลไม้ไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าอะไรจิปาถะ ให้มารับเงินเยียวยาได้  เมื่อคนขายผลไม้ได้ทราบข่าวนี้จากเรื่องราว ‘ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรม” ของอาจารย์ไชยันต์เข้า เขาก็รีบมาตีกลองหน้าบ้านผู้ใหญ่ลี แล้วพูดกับผู้ใหญ่ว่า “ผู้ใหญ่ ! ทำไมผมไม่ได้เงินเยียวยาจากรัฐบาล ผมก็ขายผลไม้ไม่ได้เหมือนกัน แต่เพื่อนผมมันกลับได้เงินเยียวยาทั้งๆ ที่มันเอาเงินไปลงขวดทุกวันจนไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน รัฐบาลตั้งเกณฑ์อะไรแบบนี้ ไม่ยุติธรรมกับผมที่วางแผนการเงินแถมประหยัดเงิน ใช้ชีวิตพอเพียงอย่างดิบดีเลย !’

ผมขอแทรกเพื่อเพิ่มความเข้าใจเรื่องนี้กับผู้อ่านนิดนึงครับ หลังจากที่ผมได้อ่าน ‘ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์ดอว์กิ้น’ (ตอนที่สิบสอง) ผมก็ได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องโชคชะตา (Luck) ของอาจารย์ดอว์กิ้น ซึ่งอาจารย์ดอว์กิ้นได้ใช้เพื่อบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผ่านมาในชีวิตเราเกิดจากโชคชะตาที่เราเลือกเองได้ (Option Luck) กับโชคชะตาที่เราไม่ได้เลือก และเลือกไม่ได้ (Brute Luck) ที่นี้ผลที่ตามมาจากโชคชะตาที่เราเลือกและโชคชะตาที่เราไม่ได้เลือก เราก็ต้องยอมรับผลจากโชคชะตาที่เราเลือกเองได้ และเราไม่ได้เลือก แถมเลือกไม่ได้ทั้งนั้น

ดังนั้นในสถานการณ์ที่ผู้ใหญ่ลีกำลังเจอนั้น ผมเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และประชาชนทั่วไปอาจมีความรู้สึกเหมือนๆ คือ คนขายผลไม้ที่เลือกใช้ชีวิตอย่างพอเพียง แต่พอมาพบกับเกณฑ์ของรัฐบาลที่ใช้ในการเยียวยาแล้วกลับพบความน้อยเนื้อต่ำใจและเห็นว่าตนเองเหมาะสมที่จะได้รับการเยียวยามากกว่าเพื่อนของเขาที่เลือกใช้ชีวิตแบบบริโภคจัด แต่กลับได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้

กลับมาต่อที่หมู่บ้านผู้ใหญ่ลี เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทางรัฐบาลเสนอนโยบายเยียวยาให้คนขายผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดจนไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง นโยบายนี้สร้างความไม่พอใจให้กับคนขายผลไม้ที่เลือกโชคชะตามีวิถีชีวิตที่พอเพียง และมีการวางแผนทางการเงิน เขาจึงยังมีเงินจ่ายค่าเช่าห้องอยู่ และเขาเห็นว่า ไม่ยุติธรรมเลยที่เพื่อนของเขาก็ขายผลไม้ แต่กลับเลือกใช้ชีวิตแบบบริโภคเต็มที่ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทั้งคู่ไม่ได้เลือก และเลือกไม่ได้อย่างการระบาดของโรคโควิด-19 คนขายผลไม้ที่เลือกใช้ชีวิตแบบพุ่งชนกลับได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล

ด้วยความโชคดีของผู้ใหญ่ลี ทางรัฐบาลได้ส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาเพื่ออธิบายและปรับความเข้าใจเรื่องเกณฑ์ที่จะใช้เยียวยาคนที่ประสบปัญหาต่างๆ ในช่วงโควิด-19 พอดี ผู้ใหญ่ลีจึงเรียกคนขายผลไม้เข้ามาร่วมฟังคำอธิบายชี้แจงและตอบข้อสงสัยในปัญหาที่คับข้องใจของเขา ข้าราชการจากส่วนกลางได้อธิบายชี้แจงตอบข้อสงสัยปัญหาที่คับข้องใจของคนขายผลไม้ว่า

‘...การที่คุณ (คนขายผลไม้) อ้างว่า เกณฑ์การเยียวยาของรัฐบาลไม่ยุติธรรมเพราะคุณเลือกโชคชะตามีวิถีชีวิตที่พอเพียง และมีการวางแผนทางการเงิน ส่วนเพื่อนของคุณกลับเลือกใช้ชีวิตแบบบริโภคจัดเป็นเหตุผลที่บอกว่าคุณสมควรจะได้รับการเยียวยามากกว่า ข้ออ้างนี้ไม่ใช่ข้ออ้างที่ยุติธรรมเพราะคนขายผลไม้ทั้งคู่ได้เลือกโชคชะตาของตนเองแล้ว คือ คนนึงเลือกที่จะใช้ชีวิตพอเพียง ส่วนอีกคนเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบพุ่งชน

ดังนั้น มันจะเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม หากจะประเมินคนขายผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยเกณฑ์การมีชีวิตพอเพียง และการมีทักษะการวางแผนทางการเงิน หากรัฐบาลกำหนดเกณฑ์ด้วยการใช้โชคชะตาที่บุคคลเลือกเป็นเกณฑ์ที่ควรจะได้รับการเยียวยา คือ การใช้ชีวิตพอเพียง เกณฑ์นี้จึงเป็นเกณฑ์ชุดเดียวที่ใช้ประเมินและเป็นเกณฑ์ที่ให้ประโยชน์สาธารณะแก่คนเพียงกลุ่มเดียว คือ คนขายผลไม้ที่ใช้ชีวิตพอเพียงและมีการวางแผนทางการเงิน...’ 

‘...ในทางกลับกันถ้าไม่มีการระบาดของโควิด – 19 คนขายผลไม้ที่เลือกใช้ชีวิตแบบพุ่งชนก็จะมีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านเหมือนเดิม การเลือกใช้ชีวิตแบบพุ่งชนก็ไม่ได้ทำให้เขาได้รับผลจากโชคชะตา Brute Luck จนทำให้เขาไม่มีที่อยู่ แต่เมื่อเกิดโรคระบาด หรือเกิดโชคชะตา Brute Luck ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำใดๆ ก็ตามอย่างในกรณีนี้ คือ คนขายผลไม้อีกคนได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ขายผลไม้ไม่ได้จนไม่มีที่อยู่ การกำหนดนโยบายตามตามพันธกิจของรัฐบาลจึงเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุดด้วยการกำหนดโควต้าการเยียวยาให้คนขายผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจนไม่มีที่อยู่…’

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลตั้งเกณฑ์คัดเลือกการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไว้แล้ว คนขายผลไม้ที่เลือกใช้ชีวิตที่พอเพียงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดพันธกิจใดๆ ตามโชคชะตาที่ตนเลือกและยกเกณฑ์การประเมินการใช้ชีวิตที่พอเพียง เหนือเกณฑ์อื่นๆ คนขายผลไม้ที่พอเพียงจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ต่อผู้ใหญ่ลีโดยอ้างว่า เขาควรได้รับการเยียวยาด้วยโชคชะตาที่เขาเลือกและรับผลจากโชคชะตาจากการใช้ชีวิตพอเพียง คนขายผลไม้ที่พอเพียงไม่ควรเอาเรื่องโชคชะตาที่ตนเองเลือกมาปะปนกับพันธกิจของรัฐบาลที่จะมาจัดการลดความเหลื่อมล้ำให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากโชคชะตา Brute Luck หรือการระบาดของโควิด – 19 นั่นเอง !

ตัวอย่างวิธีคิดของอาจารย์ดอกิ้นอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ กรณีที่ศาลที่สูงพิจารณาคดีที่รู้จักกันในนามของคดี “บากเค” (The Regents of the University of California v. Allan Bakke/ https://www.nybooks.com/articles/1977/11/10/why-bakke-has-no-case/บทความชื่อ Why Bakke Has No Case เขียนโดย โรนัล ดอกิ้น ใน the New York Review, 10 Nov. 1977)  ศาลสูงสหรัฐฯตัดสินอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ให้รักษานโยบายโควตารับคนผิวสีของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ซึ่งโรนัลด์ ดอว์กิ้นเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลเพราะนโยบายโควตาที่เปิดโอกาสให้กับคนผิวสีไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิของใครเพียงเพราะข้ออ้างที่ว่า ผู้สมัครควรได้รับการคัดเลือกเพราะมีความสามารถทางวิชาการเหนือกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ

ดอว์กินอธิบายต่อว่า มันไม่ยุติธรรมที่จะให้ผู้สมัครมีสิทธิเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยกำหนดพันธกิจและยกเกณฑ์การประเมินใดๆ เหนือเกณฑ์อื่นๆ ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยตั้งเกณฑ์คัดเลือกไว้แล้ว ผู้สมัครมีสิทธิคาดหวังว่าจะได้รับการคัดเลือกผ่านเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ตราบเท่าที่ผู้สมัครทำได้ดีกว่าผู้อื่น แต่ผู้สมัครไม่มีสิทธิคาดหวังที่จะยกเกณฑ์ใดเหนือเกณฑ์อื่นๆ การตั้งเกณฑ์ด้วยระบบโควตานี้ตามความคิดของดอว์กิ้นจึงเป็นการส่งเสริม และสร้างประโยชน์สาธารณะให้กับกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด

เรื่องราวที่ข้าราชการเล่าให้ผู้ใหญ่ลีฟังทำให้ผมนึกถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีที่ดำเนินนโยบายตามกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เสนอนโยบายสร้างงานให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้ได้กำหนดโควตาให้กับผู้สมัครต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ปทุมธานี สระแก้ว และนนทบุรี และต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากโครงการช่วยเหลือใดๆ ของรัฐบาล และที่น่าสนใจ คือ ลักษณะงานได้ระบุว่า เป็นงานด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน

การกำหนดโควตาดังกล่าวจึงเป็นการขยายประโยชน์สาธารณะออกสู่ผู้คนที่หลากหลายและแตกต่างให้ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ผู้ใหญ่ลีกับการเยียวยาคนขายผลไม้สองแนวของอาจารย์ดอกิน (ตอนที่สิบห้า)

                                             --------------------------------------------------------------------

เป็นไงครับ คำตอบตามทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์ดอกิ้น ? หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นความเชื่อมโยงกรณีพ่อค้าผลไม้พอเพียงกับคนผิวขาวที่มีคุณสมบัติความสามารถแต่ต้องเจอกับระบบที่ให้โควต้าคนผิวสีในการเข้าเรียนหมอในคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียนะครับ

คิดว่าคงมีปฏิกิริยาทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากผู้อ่านเข้ามาแชร์กันอย่างแน่นอน !