posttoday

“รัฐสภา ประชาชนและสื่อในยุคนิวนอร์มัล”

09 กรกฎาคม 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ 

***************************

เวลานี้ มีเงินกองใหญ่ที่รอการใช้อยู่สองกอง ๆ หนึ่งคือ งบเงินกู้ 4 แสนล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของไข้โควิด 19 อีกก้อนหนึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท

งบก้อนแรกเกิดขขึ้นในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ ที่ประเทศจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการบรรเทาและฟื้นฟูปัญหาเศรษฐกิจของชาติ  ส่วนก้อนหลังนั้นเป็นงบปกติ   แต่ บรรดา “เสือหิว” ต่างก็จ้องมองงบทั้งสองก้อนนี้แบบตาไม่กระพริบ ชนิดที่เรียกว่าเผลอเมื่อไรมันฟาดแน่ บางคนพูดเลยไปถึงบรรดา “เปรต” ทั้งหลายก็กำลังรอขอแบ่งบุญด้วยเช่นกัน

ใครไม่ได้เป็นทั้งเสือหิวและเปรตก็ไม่ต้องร้อนตัว

สรุปว่า งบสองก้อนนี้  หากพูดว่า มีคนคอยจ้อง “ง่าบ” ก็คงไม่เกินความจริงนัก  เพราะฉะนั้น ประชาชนเจ้าของเงินที่ต้องเสียภาษีมาใช้หนี้เงินกู้ และภาษีมาจ่ายเป็นเงินเดือน ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ต้องช่วยกันมองชนิดไม่กระพริบตาทีเดียว

ดังที่กล่าวแล้ว เงินกู้นานๆ มีครั้ง แต่งบประมาณประจำปีมีทุกปี นักการเมืองบางคนในยุคก่อนหากินกับงบประมาณประจำปีนี่แหละ นักการเมืองใหญ่คนหนึ่งมักจะป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่ที่สำนักงบประมาณเป็นประจำ เพื่อของบประมาณไปลงจังหวัดของตนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โครงการส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการสร้างถนน  ที่บริษัทของตนและพรรคพวกก็รับงานนี้นี้ไป พอสื่อวิจารณ์มากขึ้นก็ใช้วิธีให้บริษัทพรรคพวกประมูลได้แล้วให้บริษัทตนรับช่วงต่อ

ถ้าได้เป็นรัฐบาลข้าราชการก็เกรงใจ แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ก็อดหยากปากแห้ง

นักการเมืองบางคนประกาศว่า ไม่ขอรับตำแหน่งในกรรมาธิการใด ๆ แต่ปีหนึ่ง ๆขอเป็นกรรมาธิการงบประมาณอย่างเดียว และท่านก็ได้เป็นกรรมาธิการงบประมาณทุกปี แต่ท่านก็ไม่ได้มีพฤติกรรมแปลกประหลาดเหมือนกับกรรมาธิการบางคน

หัวหน้าส่วนราชการบางคนที่นำคณะไปชี้แจงงบประมาณประจำปีของหน่วยงาน อาจตกใจแม้ว่าพยายามชี้แจงเหตุผลในการของบประมาณ แต่อยู่ๆ อาจมีกรรมาธิการบางคนเสนอให้ตัดงบดื้อๆ แบบไม่มีเหตุผล จนกรรมาธิการท่านอื่นต้องมากระซิบให้กำลังใจว่า อย่าตกใจไปเลย เขาก็ขู่ไปอย่างนั้นเอง งบของคุณก็ได้เท่าที่เสนอหรืออาจลดลงบ้างตามเหตุผลและความจำเป็น

มีบางช่วงที่ผู้แทนของราษฎรใช้วิธีตัดงบของส่วนราชการต่างๆ แห่งละ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือมากบ้างน้อยบ้าง เพื่อเอามารวมกันแล้วแบ่งกันทีหลังโดยอ้างว่าเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่ผู้แทนของราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าได้เตรียมไว้แล้วเพื่อประชาชน

มีเสียงครหาว่า โครงการเหล่านี้นอกจากผู้แทนจะได้คะแนนนิยมจากประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังถูกมองว่าคงมี “เงินทอน” วิธีนี้ทำมาหลายปีจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนและจากนักวิชาการมากขึ้นว่า ส.ส.ไม่มีหน้าที่ไปทำโครงการ เพราะนี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร

จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการกันใหม่ โดยยังคงตัดงบจากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เช่นเดิม แต่ใช้วิธี “ฝาก” ไว้กับกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง เพื่ออ้างได้ว่า ส.ส.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงบที่ถูกตัด ดังนั้น จะมาว่า ส.ส.หากินกับงบประมาณเหมือนแต่ก่อนไม่ได้

เคยได้ยินเสียงบ่นจากหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆที่งบประมาณที่ถูกตัดและนำมาฝากไว้ว่า กว่าจะใช้งบดังกล่าวตามโครงการที่ตั้งไว้นั้นช่างยากเย็นแสนเข็ญ  หากไม่ขออนุญาตหรือต่อรองกับคนที่เอางบมาฝากไว้

มีเสียงครหาว่า การจะใช้งบฝากดังกล่าวได้ก็ต้องมี “การต่อรอง” กันบางประการ

บางทีก็มีการเสนอว่า งบของกระทรวงทบวงกรมนี้น้อยไป ควรตัดงบของหน่วยอื่นมาเพิ่มให้กับหน่วยนี้  พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องเพิ่มงบของหน่วยงานนี้มากขึ้น ซึ่งก็ถูกครหาว่า งบที่เพิ่มนั้นจะทำให้เม็ดเงินจากเปอร์เซ็นต์เท่าเดิมเพิ่มขึ้นนั่นเอง หรือทำให้ “เป๋าตุง”ขึ้น

ไม่ใช่ ส.ส.ทุกคนในช่วงนั้นจะเป็นแบบนั้น ส่วนใหญ่แล้วตรงไปตรงมา แต่ข้าราชการจะใช้งบที่ฝากก็ต้องมาบอกเล่าเก้าสิบกันก่อน

เงินภาษีของราษฎรในแต่ละปีที่ถูกนำมาใช้เป็นงบประมาณประจำปีเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่กลับคืนให้กับราษฎร จึงรั่วไหลไปมาก ส่วนจะรั่วไปเข้ากระเป๋าใครนั้น ไม่ทราบ

กล่าวกันว่า งบประมาณประจำปีแต่ละปีนั้น หากมีการใช้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์หรือ 90 เปอร์เซ็นต์ หรือเอาแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ได้บ้านเมืองคงเจริญกว่านี้มาก เหมือนกับที่อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและ ส.ส.หลายสมัย เคยกล่าวว่า ในเมืองไทยเรานั้นหากไม่มีการคอร์รัปชั่นเสียอย่าง ถนนจะปูด้วยทองคำก็ยังได้

เพื่อลดข้อครหานินทา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 จึงระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 155 ตอนหนึ่งระบุว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้  แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพัน .....”

สรุปว่า  เอาไว้เท่าเดิม หรือลดลง หรือตัดทอนได้ แต่ไปเพิ่มให้ไม่ได้ เช่นเดียวกัน ในมาตราเดียวกันนี้ ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า  “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย  จะกระทำมิได้”

งบประมาณปี 2564 ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกไปแล้ว เวลานี้อยู่ในขั้นตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัตติ จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย

เรื่องแบบนี้อย่าทำเป็นเล่นไป เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้ยาแรง หากใครฝ่าฝืน ศาลรัฐธรรมนูญอาจเพิกถอนสมาชิกภาพ ส.ส.และส.ว.ของผู้นั้นได้ และถ้า“คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการ หรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวและมิได้ระงับยับยั้ง ให้คณะรัฐมนรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ”

ข้าราชการทำตามใบสั่งของนักการเมืองในทางที่มิชอบ ก็มีสิทธิติดคุกติดตะรางได้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า หากไม่ทำจะโดนย้ายนั้น ก็น่าเห็นใจ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็หาทางแก้ปัญหาให้ระดับหนึ่ง โดยแนะนำข้าราชการดีๆ ที่ถูกนักการเมืองบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ว่า “ หากได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือ หรือมีหนังสือแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ ก็พ้นจากความรับผิด”

หลังโควิด 19 ทั้งรัฐบาล  ส.ส.และ ส.ว.ต้องปรับตัวเองให้เข้า “นิว นอร์มัล” พวกเขาจะคอยหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน หรืองบเงินกู้อีกไม่ได้แล้ว เพราะการทำงานต่อไปต้องมี “ความโปร่งใส ตรวจสอบได้” โดยเฉพาะเมื่อสื่อดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในการตรวจสอบทั้งทางลึกและกว้าง กระจายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ประชาชนเจ้าของงบประมาณและงบเงินกู้และสื่อมวลชนซึ่งเปรียบเสมือนหมาเฝ้าบ้านต้องช่วยกันอย่างแข็งขันมากขึ้น ในการเฝ้าตรวจสอบว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นงบเงินกู้และงบประมาณแผ่นดินหรือไม่อย่างไร

ถ้าหมาเฝ้าบ้านไม่ยอมเห่าขโมยหรือยอมรับเศษเนื้อจากขโมย  เจ้าของบ้านก็หันมาใช้กล้อง ที.วี.วงจรปิดที่สามารถตรวจสอบทั้งนอกบ้านและในบ้าน ทำหน้าที่ได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องหลับนอน ไม่ต้องให้อาหาร เจ้าของบ้านอยู่ที่ทำงานหรือแห่งใดนอกบ้านสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา  ลงทุนครั้งเดียว  ไม่ต้องหาซื้ออาหารให้หมากินทุกวัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คงไม่ปล่อยให้มีการทุจริตโดยเฉพาะจากงบสองก้อนใหญ่นี้ เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เพราะยิ่งอยู่ในอำนาจไปนานเท่าไร ฝ่ายค้านก็ฝ่อลงไปนานเท่านั้น อีกทั้งโควิด 19 ทำให้รัฐบาลมีความแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งจากในและนอกประเทศ

ภัยคุกคามต่อรัฐบาลมีอย่างเดียวคือ ภัยจากการทุจริตคอร์รัปชั่น  ที่มีเนื้อสองก้อนใหญ่เป็นสิ่งล่อใจบรรดา “เสือหิว” ทั้งหลายที่ไม่เคยปรับตัวให้เข้ากับบ้านเมืองใสสะอาดยุค “นิว นอร์มัล”   (จบ)