posttoday

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สี่)

09 กรกฎาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                 

*******************

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนเริ่มลงตัวในปี ค.ศ. 1680 และมาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1718  สาเหตุสำคัญคือ Charles XII พระมหากษัตริย์สวีเดนนำประเทศเข้าสู่ “มหาสงครามทางเหนือ” (the Great Northern War) ที่ลงเอยด้วยความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของประเทศไม่ว่าจะเป็นชีวิตผู้คนและสภาพเศรษฐกิจ ทั้งประชาชนธรรมดาและข้าราชการ ตัวแทนประชาชนในรัฐสภาส่วนใหญ่เห็นว่า สาเหตุสำคัญคือตัวระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากเกินไป ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการตัดสินใจทำสงครามของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังมีปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ เพราะ Charles XII ทรงไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา คงเหลือแต่ Ulrika Eleonora ผู้เป็นพระขนิษฐภคินีและ Charles Frederick พระราชนัดดาของ Charles XII ที่อยู่ในลำดับที่จะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์  ซึ่งเจ้าหญิง Ulrika Eleonora ทรงมีความปรารถนาที่จะครองราชย์บัลลังก์โดยใช้วิธีการต่างๆในการทำให้ Charles Frederick อยู่ในสภาพที่จำต้องนิ่งเฉย ส่วนพระองค์ทรงแสดงความชัดเจนต่อรัฐสภาในฐานะที่เป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจาก Charles XII      

         

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สี่)

คงต้องขอกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนจะเป็นไปอย่างอัตโนมัติ หากพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต พระราชโอรสพระองค์ใหญ่หรือหากไม่มีพระราชโอรสเลย พระราชธิดาก็สามารถทรงสืบราชสันตติวงศ์ได้ทันที  แต่กรณีของ Charles XII ทรงไม่มีองค์รัชทายาท ทำให้สวีเดนต้องกลับไปใช้ประเพณีการปกครองที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสี่ นั่นคือ หากมีปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ รัฐสภาจะเป็นองค์กรทางการเมืองที่ทรงอำนาจในการตัดสินใจลงมติให้ผู้ใดขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

หลังราชบัลลังก์ว่างลง ในเบื้องต้น Ulrika Eleonora ทรงเรียกประชุมสภาบริหาร (ทำหน้าที่ประดุจคณะรัฐมนตรีและคณะองคมนตรีไปพร้อมๆกัน โดยในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะเรียกว่า สภาบริหารแห่งพระมหากษัตริย์) เพื่อให้สภาบริหารยอมรับพระองค์ในฐานะสมเด็จพระราชินี  แต่ทั้งสภาบริหาร กองทัพและสภาฐานันดร (รัฐสภาสวีเดนในขณะนั้น) ปฏิเสธการขึ้นครองบัลลังก์ของพระองค์โดยไม่มีเงื่อนไข  เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลมีสองพระองค์ นั่นคือ Ulrika Eleonora พระขนิษฐภคินีของ Charles XII และ Charles Frederick พระราชนัดดาของ Charles XII และทั้งสองต่างเป็นตัวเลือกของสภาฐานันดรได้ทั้งคู่ตามกฎมณเฑียรบาล  แต่ในกรณีของ Ulrika Eleonora พระองค์มิได้มีสถานะที่เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลเสียทีเดียว แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลจะให้ผู้หญิงสามารถขึ้นครองบัลลังก์ได้ แต่จะต้องไม่ได้ผ่านพิธีเสกสมรสมาก่อน

คำถามคือ ระหว่าง Ulrika Eleonora ผู้ซึ่งมีพระชันษา 30 พรรษา เป็นสตรีและมีพระสวามีแล้ว ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพระองค์ กับ Charles Frederick ผู้ซึ่งมีพระชันษา 18 พรรษา เป็นบุรุษและไม่มีปัญหาในด้านคุณสมบัติใดๆ ผู้ใดคือผู้ที่เหมาะสมที่จะขึ้นครองบัลลังก์สวีเดน ?

ภายใต้ปัญหาในการสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสถาบันพระมหากษัตริย์ขณะนั้น  โดยเฉพาะความปรารถนาที่จะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระนาง Ulrika Eleonora   พระองค์จะต้องเผชิญกับเงื่อนไขและการต่อรองจากสถาบันทางการเมืองสามสถาบัน ได้แก่ สภาบริหาร กองทัพ และสภาฐานันดร ในส่วนของสภาบริหาร จะพบว่า ในรัชสมัยของ Charles XII  มีความพยายามที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้อำนาจอยู่ในมือของพวกอภิชนมากขึ้น นั่นคือ ลดความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเพิ่มความเป็นอภิชนาธิปไตยมากขึ้น โดยฟื้นฟูให้อำนาจอยู่ในมือของคณะบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมือของสภาบริหาร ด้วยสภาบริหารต้องการที่จะยืนยันอำนาจที่สภาบริหารเคยมีมาก่อนในช่วง “the Kalmar Union” และในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1611- 1660

ซึ่งในช่วงดังกล่าว สมาชิกสภาบริหารเคยทำหน้าที่ในฐานะผู้มีอำนาจในการพิทักษ์รักษากฎกติกาตามจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดน แต่ตั้งแต่เข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี ค.ศ.1680 อำนาจของสภาบริหารถูกควบคุมภายใต้กฎเกณฑ์ข้อจำกัดที่ถูกกำหนดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์  และภายใต้ช่วงเวลาที่ Charles XII ไม่ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจภายในสวีเดนได้เป็นเวลายาวนาน (extended absence) เนื่องด้วยทรงออกทัพจับศึกในต่างแดน สภาบริหารจะต้องทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในสวีเดน แต่จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้สภาบริหารไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อกิจการภายในเป็นอย่างมาก และเมื่อ Charles XII เสด็จสวรรคต และไม่มีองค์รัชทายาท สภาบริหารจึงพร้อมที่จะยืนยันอำนาจของตน โดยสภาบริหารจะตกลงยอมรับ Ulrika Eleonora ในฐานะราชินีบนเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ พระนางจะต้องยอมรับรัฐธรรมนูญที่จะให้มีการร่างขึ้นใหม่และจะต้องทรงปกครองตามคำแนะนำของสภาบริหาร และทรงต้องยอมรับกฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาฐานันดรโดยไม่ทรงมีพระราชอำนาจที่จะคัดค้าน

ฝ่ายกองทัพก็ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การนำและการตัดสินใจที่จะนำสวีเดนเข้าสู่สงครามภายใต้องค์พระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว กองทัพได้ยื่นเงื่อนไขว่าจะยอมรับพระนางขึ้นเป็นพระมหากษัตรีย์ได้ต่อเมื่อจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกองทัพจะไม่ทำสัตย์ปฏิญาณจนกว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ในส่วนของสภาฐานันดร ก็ต้องการที่จะยืนยันอำนาจของตนเองเช่นกัน และในการสืบราชสันตติวงศ์นี้ อำนาจในการตัดสินใจว่าใครจะได้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์คือ สภาฐานันดรเท่านั้น และแน่นอนว่า สภาฐานันดรต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขสำคัญที่สถาบันทางการเมืองสำคัญทั้งสาม อันได้แก่ สภาบริหาร กองทัพและสภาฐานันดรต้องการคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยผ่านการต่อรองและตกลงให้มีการแก้ไขหรือตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยไม่ได้มีการใช้กำลังรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ให้เกิดการ “ฉีกรัฐธรรมนูญ”

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ในสถานการณ์ที่ไม่มีองค์รัชทายาทสายตรง ความปรารถนาที่จะขึ้นครองบัลลังก์ย่อมเป็นจุดอ่อนของบุคคลในลำดับถัดไปที่ต้องการขึ้นครองราชย์ย่อมกลายเป็นจุดอ่อนของบุคคลคนนั้นในสายตาของทั้งสามสถาบันทางการเมืองข้างต้นและโดยเฉพาะสภาฐานันดร และผู้ที่แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าในบรรดาผู้มีสิทธิ์ทั้งสองคือ Ulrika Eleonora

ที่นอกจากจะเป็นสตรีแล้ว ยังมีคุณสมบัติไม่ต้องตรงตามกฎมณเฑียรบาลด้วยพระนางมีพระสวามี ในขณะที่ Charles Frederick เป็นบุรุษและมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา และไม่ได้แสดงออกถึงความปรารถนาที่จะขึ้นครองบัลลังก์ ซึ่งทั้งหมดนี้กลับเป็นจุดแข็งในตัวของพระองค์  นั่นคือ จากความเป็นบุรุษที่จะสามารถเป็นผู้นำในการทำศึกสงคราม และหากขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียง 18 พรรษา พระองค์มีศักยภาพที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็งและครองราชย์ต่อไปอีกยาวนาน และไม่มีจุดอ่อนจากความปรารถนาที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อันจะเป็นเงื่อนไขให้สภาฐานันดรได้ต่อรองเรียกร้องต่างๆเท่ากับในกรณีของ Ulrika Eleonora ดังนั้น หากฝ่ายสภาอภิชนต้องการจะต่อรองและหาทางลดทอนพระราชอำนาจและเพิ่มอำนาจของพวกตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตัวเลือกย่อมต้องเป็น Ulrika Eleonora  

  

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สี่)

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สี่)

และด้วยเหตุนี้ ทางกองทัพที่เคลื่อนกองกำลังเข้าสู่สตอคโฮล์มหลังจากกรำศึกมาเป็นเวลานานภายใต้การนำสวีเดนเข้าสู่สงครามโดย Charles XII และต้องประสบกับความพ่ายแพ้ได้ยื่นข้อเสนอว่าจะยอมรับให้ Ulrika Eleonora ขึ้นครองบัลลังก์ได้ก็ต่อเมื่อพระองค์ทรงยอมยกเลิกหลักการปกครองในแบบเอกาธิปไตย (autocracy) และได้ขอให้พระองค์ทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรเพื่อให้มีการลงมติยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ

ซึ่งจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้เอง ทำให้ Ulrika Eleonora  ทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรอย่างเร่งรีบและทรงยอมประกาศยกเลิกพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจในการปกครองโดยอิสระจากข้อจำกัดใดๆ แต่จะต้องทรงปกครองตามคำแนะนำจากสภาบริหารเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตามประเพณีการปกครองงของสวีเดน ปัจจัยสำคัญท้ายที่สุดที่พระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์นั้นขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินของสภาฐานันดร

ด้วยเหตุนี้ จึงได้นำไปสู่การทำสัญญาทางการเมือง (Political Contract) ระหว่าง Ulrika Eleonora กับสภาฐานันดร โดยในสัญญาดังกล่าวนี้ Ulrika Eleonora  ทรงสละสมบูรณาญาสิทธิ์เพื่อแลกกับการสืบราชสันตติวงศ์

จะสังเกตได้ว่า ภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งฝ่ายสภาบริหารก็ดี กองทัพก็ดี และที่สำคัญคือสภาฐานันดรได้ใช้โอกาสภายใต้สถานการณ์ขณะนั้นต่อรองเพื่อนำไปสู่การตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยผ่านการตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการต่อรองและหาข้อตกลงร่วมกันที่จะสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ อาจจะเข้าข่ายในสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สัญญาประชาคม” (contract) ที่มีคู่สัญญาคือ Ulrika Eleonora ในฐานะองค์อธิปัตย์และพวกอภิชนที่ประกอบไปด้วยสภาบริหาร กองทัพและสภาฐานันดร โดยที่ประชุมสภาฐานันดรจะลงคะแนนตัดสินให้เจ้าหญิง Ulrika ขึ้นครองราชย์สืบราชบัลลังก์โดยมีข้อแม้ว่า พระองค์จะต้องยอมสละพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในสมบูรณาญาสิทธิ์ที่สถาปนาขึ้นโดย Charles XI พระราชบิดาของพระองค์  ซึ่ง Ulrika Eleonora ทรงยอมที่จะสละสมบูรณาญาสิทธิ์แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดนกับการได้ขึ้นครองบัลลังก์

และในการประชุมสภาฐานันดร ณ กรุงสต็อกโฮล์มหลังการสวรรคตของ Charles XII เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ในวันที่ 26 ธันวาคม 1718  เจ้าหญิง Ulrika Eleonora  ทรงมีพระราชดำรัสยินยอมที่จะสละพระราชอำนาจตามเงื่อนไขของสภาฐานันดร โดยใจความสำคัญในพระราชดำรัสนี้คือ “ดังที่เราได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในใจของเราเอง ดังที่ได้ประกาศแก่สภาบริหาร และดังที่เราจะประกาศต่อไปนี้ เราขอประกาศล้มเลิกสิ่งที่เรียกกันว่าอำนาจอธิปไตย (อำนาจสูงสุดเน้นโดยผู้วิจัย) ซึ่งตัวเราตลอดจนทายาทและสายโลหิตของเราขอประกาศสละอำนาจดัง กล่าวไปชั่วนิรันดร์......”

และตั้งแต่วินาทีนั้นของวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1718 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนก็ได้สิ้นสุดลงเพียงจากพระราชดำรัสดังกล่าว และสวีเดนก็ได้ Ulrika Eleonora เป็นสมเด็จพระราชินีผู้ครองราชบัลลังก์สวีเดนเป็นพระองค์ที่สองหลังจากก่อนหน้านั้นสวีเดนมีสมเด็จพระราชินีคริสตินาที่ทรงขึ้นครองราชย์ (ค.ศ. 1633-165)

คำถามต่อมาคือ รัฐธรรมนูญฉบับที่สภาบริหาร กองทัพและรัฐสภาต้องการมีเนื้อหาสาระอย่างไร ? ระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือระบอบอะไร ? และทำไมสภาบริหาร กองทัพและรัฐสภาไม่ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเสียเลย ? และฝ่ายเจ้ายอมสละอำนาจไปง่ายๆเช่นนี้หรือ ?