posttoday

การศึกษาเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในทางวิชาการ

03 กรกฎาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

ความจริงในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ? คงขึ้นอยู่กับการนำเสนอและการตีความข้อเท็จจริงที่นำมาวางเรียงกันอยู่ตรงหน้าผู้เขียนประวัติศาสตร์ และจะว่าไปแล้วคนเขียนประวัติศาสตร์ก็ยากที่จะปราศจากคติความเชื่อของตัวเองในการนำข้อมูลในอดีตมาปะติดปะต่อร้อยเรียงขึ้นมาเป็นเรื่องราว แต่การเขียนประวัติศาสตร์โดยไม่อิงอยู่กับข้อเท็จจริงเสียเลย ก็ไม่น่าใช่งานประวัติศาสตร์ แต่น่าจะเป็นนิยายเสียมากกว่า และถ้ามีเค้าโครงข้อเท็จจริงในอดีตอยู่บ้าง

งานเขียนนั้นก็อาจจะเป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ แต่งานเขียนประวัติศาสตร์ที่แม้จะพยายามอิงอยู่กับข้อมูลในอดีต แต่ถ้าข้อมูลนั้นถูกนำมาจัดระเบียบตามคติความชอบของผู้เขียน งานเขียนนั้นก็น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่อิงอยู่กับนิยายในใจของผู้เขียน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้างานเขียนไม่ลงเอยเป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ ก็ต้องลงเอยเป็นประวัติศาสตร์ที่อิงนิยายไป มีทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่สองทางนี้ไหม ?

น่าจะยาก ถ้าจะมีอะไรที่แตกต่างไปก็คือ คนเขียนรู้สำนึกถึงคติ (และอคติ) ในใจของตัวเองหรือกล้าสารภาพเปิดเปลือยให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของตนได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ที่อิงนิยาย

ยิ่งภายใต้บริบททางการเมืองที่มีการต่อสู้ขัดแย้งประชันขันแข็งในทางจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองด้วยแล้ว การวิพากษ์โจมตีด้วยข้อกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นนั้นประวัติศาสตร์ที่อิงนิยาย หรือนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

โชคดีที่ผู้เขียนไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ที่งานเขียนของตนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่จะต้องถูกตีตราว่าเป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ที่อิงกับนิยาย แต่หากผู้เขียนนำข้อเขียนที่เป็นความเห็นต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของท่านอื่นมานำเสนอ ผู้เขียนจะเข้าข่ายผลิตซ้ำงานเขียนที่เป็นข้อวิจารณ์ต่อเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

ซึ่งการนำเสนอหรือผลิตซ้ำงานเขียนของท่านอื่นเป็นส่วนหนึ่งของการสอนหนังสือของผู้เขียนอยู่แล้ว และสิ่งที่ผู้สอนหนังสือควรกระทำคือ นำเสนองานประวัติศาสตร์จากจุดยืนต่างๆให้กับนักเรียนได้รับทราบว่า มีใครเขียนอะไร อย่างไรบ้าง และท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของนักเรียนว่าจะเห็นไปในทางไหน หรือมีข้อสังเกตต่องานประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างไร หรือจะต่อยอด “หาความจริง” อย่างไร ?

ดังนั้น หน้าที่ของผู้สอนจึงต้องนำเสนอทั้งงานที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่อิงนิยายและงานที่เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์

ท่ามกลางการผลิตซ้ำเรื่องราวเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ดูจะเทไปในทางเดียวไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการก็ดี หรือการเสวนาที่ถูกนำมาเผยแพร่ในสื่ออิเลคทรอนิคก็ดี หรือตามหนังสือพิมพ์ทั่วไปก็ดี

ดังนั้น เนื่องในโอกาสจะครบรอบ 88 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้เขียนจึงขอนำเสนองานที่อาจจะถูกมองว่าเทไปอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้แง่มุมที่แตกต่างกันไปจากมุมมองที่เคยเป็นกระแสรองที่ได้กลายเป็น “กระแสหลัก” หรือจากกระแสหลักที่ได้กลายเป็น “กระแสรอง”

โดยผู้เขียนจะคัดข้อความบางตอนจากหนังสือ “14 ตุลา คณะราษฎร์กับกบฎบวรเดช” (14 ตุลาคม พ.ศ. 2476เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏบวรเดช”/ผู้เขียน) ของ ชัยอนันต์ สมุทวนิช (ศาสตราจารย์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2517 ดังต่อไปนี้:

“จนบัดนี้ ข้าพเจ้ายังคงสมัครใจที่จะเรียก ‘กบฏบวรเดช’ ว่า ‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ ข้าพเจ้ายังคงเชื่อว่า คณะราษฎรได้บิดเบือนข้อเท็จจริงอันสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นหลายประการ โดยเฉพาะแถลงการณ์ของรัฐบาลยุคนั้นที่ว่า การสู้รบระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายหัวเมืองเป็นเพราะได้มี ‘พวกกบฏโจรขึ้น’ และรัฐบาลจำเป็นต้องปราบ ‘พวกกบฏและปราบกองโจรเสียให้เด็ดขาดลงไป’

ข้าพเจ้าคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้สนใจประวัติการเมืองไทย จะนำ “กบฏบวรเดช” มาพิจารณากันอีกครั้ง ข้าพเจ้าใคร่ขอตั้งข้อสังเกตบางประการเพื่อให้มีการสืบค้นรายละเอียดกันต่อไป ดังนี้

1. อะไรคือมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ทหารฝ่ายหัวเมืองไม่พอใจในรัฐบาลชุดนั้นจนถึงกับรวมกันยกทัพเข้ากรุง

2. ทหารฝ่ายหัวเมืองหรือคณะกู้บ้านกู้เมืองต้องการล้มล้างการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และนำระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาจริงหรือไม่

3. ทหารฝ่ายหัวเมืองมีแผนที่จะปะทะกับรัฐบาลโดยใช้แต่ความรุนแรง ดังที่ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาว่า กระทำการเยี่ยงโจรจริงหรือไม่

ตามหนังสือประวัติศาสตร์ไทยและหนังสืออื่นๆที่กล่าวถึงกรณี ‘กบฏบวรเดช’ ผู้เขียนมักเหมาว่า เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2476 (เหตุการณ์การปะทะกันขั้นนองเลือดระหว่างกองทัพของฝ่ายรัฐบาลกับกองทัพคณะกู้บ้านกู้เมืองเริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2476/ผู้เขียน) เป็นการพยายามที่จะนำระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้อีก เช่น ว.ช. ประสังสิต เขียนใน ปฏิวัติ รัฐประหาร และกบฏจลาจลในสมัยประชาธิปไตย (พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทรัฐภักดี, 2492) เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“รัฐบาลที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญภายใต้การนำของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาได้บริหารราชการต่อมาอีก4 เดือนถึงเดือนตุลาคม 2476 ก็เกิดกบฏเพื่อคิดล้างรัฐธรรมนูญภายใต้การนำของพล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเรียกกันว่า ‘กบฏบวรเดช’ กบฏบวรเดชนั้นเกิดขึ้นโดยความประสงค์ของบุคคลอันคิดฝักใฝ่ในคณะเจ้า เพื่อจะคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม..’

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้เขียนใช้แต่แถลงการณ์ของรัฐบาลเป็นข้อมูลในการเขียนแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่สืบสวนถึงมูลเหตุอันแท้จริง นอกจากนี้ การที่หัวหน้าคนหนึ่งของคณะกู้บ้านกู้เมือง คือ พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีผู้เห็นคล้อยตามคำประกาศชวนเชื่อของรัฐบาลมากว่า เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2476 เป็นปฏิกิริยาโต้กลับของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ผู้สนใจประวัติการเมืองไทยสมัยนี้ได้ใช้หนังสือของ ว.ช. ประสังสิตเป็นเอกสารชั้นสอง (Secondary sources) ในการศึกษาปัญหาความขัดแย้งในปี พ.ศ. 2476โดยไม่สามารถหาหลักฐานชั้นหนึ่ง (Primary sources) ได้ หนังสือของ ว.ช. ประสังสิตนั้นเขียนขึ้นโดยอาศัยคำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482เป็นข้อมูล คำพิพากษาศาลพิเศษ 2482นี้ ฝ่ายรัฐบาลในยุคนั้นได้เสกสรรปั้นแต่งเรื่องที่เป็นเท็จหลายประการ (ขณะนี้ กำลังมีผู้ศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียดอยู่ และกำลังจะเผยแพร่ต่อไป)

ว.ช. ประสังสิตกล่าวว่า ‘การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476โดย พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยนายทหารผู้ใหญ่นอกประจำการอีกหลายคน เช่น พล.ต.พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์), พล.ต.พระยาจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ), พล.ต.พระยาทรงอักษร (ชวน ลิขิกร),พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ),พ.อ.พระยาเทพสงคราม (สิน อัคนิทัต), พ.อ.พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ทองคำ ไทไชไย), พ.อ. พระยาไชยเยนทร์ฤทธิรงค์ (อึ้ง โพธิกนิษฐ์), พ.อ. พระยาศรีสรศักดิ์ (ทองอยู่ ทูตานนท์)

บุคคลเหล่านี้ได้อุบายหลอกลวงทหารทางหัวเมือง มี จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา สระบุรี และอยุธยา รวมกำลังทั้งสิ้นเป็นทหารราบ 3 กองพัน ทหารปืนใหญ่2กองพัน ทหารช่าง 2 กองพันเคลื่อนมายึดสนามบินดอนเมืองไว้ และอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนเข้ายึดบางเขนไว้’ (ว.ช. ประสังสิต, ปฏิวัติ รัฐประหาร และกบฏจลาจล, [2492], หน้า 62)

ถ้าเราจะลองพิจารณาจากเอกสารที่ทางฝ่าย ‘กบฏ’ เขียนไว้บ้าง (ซึ่งมีน้อยมาก) จะพบว่าเรื่องราวของเหตุการณ์ในครั้งนั้น ตรงกันข้ามกับข่าวสารที่รัฐบาลออกแถลงการณ์โฆษณา และต่างกับความในคำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 หลายประการ เช่น คำกล่าวหาข้างต้น ที่ว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่หลอกลวงทหารหัวเมืองให้ก่อการกบฏนั้น ตรงกันข้ามกับข้อเขียนของฝ่ายกบฏที่เป็นจักรกลสำคัญในการรวมพลในครั้งนั้น เช่น หนังสือชื่อ เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ ของ ร.อ. หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) และจดหมายของ ร.อ.ขุนเริงรณชัย (ต่วน โกมารทัต) ซึ่งยืนยันว่า การกบฏในครั้งนั้น นายทหารชั้นผู้น้อยได้คบคิดกันขึ้นก่อนแล้วจึงไปชวนนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาร่วมภายหลัง”

ดังนั้น ในทางวิชาการ เราจะไม่สรุปไปในทางใดทางหนึ่ง หากมีหลักฐานข้อมูลประวัติศาสตร์สองชุดที่ขัดแย้งกันวางอยู่ตรงหน้า แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ และไม่ใช่ดูปริมาณการอ้าง ว.ช. ประสังสิต หรือหนังสือ เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ ของ ร.อ. หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) และจดหมายของ ร.อ. ขุนเริงรณชัย (ต่วน โกมารทัต) แต่ดูว่า มีแหล่งข้อมูลชั้นหนึ่งแหล่งอื่นอีกหรือไม่ ถ้าไม่มี ในทางวิชาการ จะต้องกล่าวทิ้งไว้ว่า ต่อกรณีดังกล่าว มีข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงยังไม่สามารถสรุปไปในทางใดทางหนึ่งได้ จนกว่าจะมีการพบหลักฐานเพิ่มเติม แต่ผู้อ่านสามารถที่จะประเมินตัดสินเอาเองได้ว่า จะเห็นไปในทางใด

ขณะเดียวกัน นักวิชาการก็สามารถลงความเห็นได้ แต่ต้องกล่าวชัดเจนว่า เป็นความเห็นส่วนตัวของนักวิชาการเอง ซึ่งก่อนจะลงความเห็น นักวิชาการคงต้องถามตัวเองว่า ระหว่างคำพิพากษาศาลพิเศษ กับ ข้อเขียนของนายทหารยศ ร.อ. อย่างหลวงโหมรอนราญ และ ร.อ. ขุนเริงรณชัย ที่ยืนยันว่า “การกบฏในครั้งนั้น นายทหารชั้นผู้น้อยได้คบคิดกันขึ้นก่อนแล้วจึงไปชวนนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาร่วมภายหลัง” อันไหนมีน้ำหนักและมีเหตุมีผลมากกว่ากัน และร้อยเอกทั้งสองนั้นได้เขียนอธิบายขั้นตอนการคบคิดจนไปถึงการชวนนายทหารชั้นผู้ใหญ่อย่างน่าเชื่อถือเพียงไร และหากมีการกล่าวพาดพิงกลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อยคนอื่นๆ คนเหล่านั้นมีตัวตนและเคยเขียนเล่าเหตุการณ์ที่ตรงกันหรือไม่

ทำไม ร.อ. หลวงโหมรอนราญต้องเขียนหนังสือเล่าเรื่อง เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ และตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2492 อันเป็นปีเดียวกันกับที่ ว.ช. ประสังสิตตีพิมพ์ ปฏิวัติ รัฐประหาร และกบฏจลาจล ใครพิมพ์หนังสือของตนออกมาก่อน ใครโต้ใคร ? ใครแก้ต่างให้ใคร ? เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ทำไมถึงมาเปิดเผยเรื่องราวกบฏบวรเดชในปี พ.ศ. 2492 การเมืองในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ?

และยังต้องมีกระบวนการคิดไตร่ตรองตรวจสอบอีกหลายขั้นตอนกว่า “จะเป็นงานวิชาการ” มิฉะ นั้นแล้ว งานเขียนนั้นก็อาจจะเป็นนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่อิงอยู่กับนิยายในใจของผู้เขียน

การศึกษาเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในทางวิชาการ

พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดช                                                                             ร.อ. หลวงโหมรอนราญ