posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาอู่ฮั่น (20)

01 กรกฎาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*****************

นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกกล่าวถึงเรื่องวัคซีนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า จะต้องใช้เวลาอีกปีครึ่งถึงสองปี ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดในช่วงเดียวกันเหมือนว่ากำลังจะมีวัคซีนออกมาต่อสู้เอาชนะโรคนี้ได้ในเร็ววัน

ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่

โดยทั่วไปเรื่องวัคซีนมีเรื่องต้องพิจารณา 6 เรื่อง ตามลำดับ คือ (1) การวิจัยและพัฒนา (2) การทดสอบในคน (3) การผลิต (4) การกระจาย (5) การใช้ (6) ประสิทธิผล (Effectiveness) ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนมีปัญหาใหญ่ให้ต้องแก้ไขและใช้เวลาทั้งสิ้น

ระยะเวลาปีครึ่งถึงสองปีตาม “การทำนาย” (Prediction) ของนายแพทย์แอนโธนี เฟาซี ครอบคลุมเพียง 3 ขั้นตอนแรกเท่านั้น

ขั้นตอนที่หนึ่ง การวิจัยและพัฒนาวัคซีน วัคซีนชนิดแรกที่มนุษย์ค้นพบและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพคือ วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ มีมาแต่โบราณกาลโดยใช้สะเก็ดฝีจากคนที่เป็นโรคมาป่นแล้วพ่นเข้าจมูก สามารถป้องกันโรคได้

วิธีการดังกล่าวค้นพบโดยผู้รู้ใน จีน อินเดีย และ แอฟริกา แต่ไม่แพร่หลาย และไม่เป็นที่นิยม เพราะยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากทำมาจากสะเก็ดฝีของคนจึงยังมีอันตรายค่อนข้างสูง นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ เป็นคนแรกที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จากการที่เป็น “แพทย์ชนบท” ได้ยินหญิงที่รีดนมวัวพูดกันว่าคนที่เป็น “ฝีดาษวัว” แล้ว จะไม่เป็น “ไข้ทรพิษ” ซึ่งเป็น “ฝีดาษคน”

เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ จึงศึกษาและพัฒนาหนองฝีจากวัวโดยทดสอบในคน ครั้งแรกกับลูกคนสวนของตนเอง เด็กคนนั้นชื่อเจมส์ ฟิฟส์ (James Phipps) อายุ 8 ปี และต่อมาเจนเนอร์ลองปลูกฝีให้แก่ลูกของตนเองด้วย แนวคิดและวิธีการของเจนเนอร์ได้รับการยอมรับทีละน้อยๆ จนกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็พบว่าเป็น “ของจริง” ป้องกันโรคได้จริง และกลายเป็นอาวุธที่ “ทรงอานุภาพ” ในการต่อสู้เอาชนะโรคนี้ได้ ถึงขั้นกวาดล้างโรคนี้ให้หมดไปจากโลกและประชาชนทั่วโลกไม่ต้องฉีดวัคซีนนี้ (คือการ “ปลูกฝี”) อีกเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

วัคซีนไข้ทรพิษถือเป็น “หมุดหมาย” สำคัญของการสาธารณสุขของโลก ทำให้โลกพัฒนาเข้าสู่ “ยุควัคซีน” โดยมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ได้หลายโรค แต่ไม่สำเร็จกับทุกโรค ด้วยเหตุปัจจัยต่างกัน

เมื่อมหาเศรษฐีที่มีใจกุศลท่านหนึ่ง คือ บิล เกตส์ ตั้งใจจะ “ใช้เงินช่วยชาวโลก” ได้มอบหมายให้คนไปศึกษาว่าจะใช้เงินช่วยชาวโลกให้เกิดประสิทธิผล (Effectiveness) และประสิทธิภาพ (Efficiency) ได้อย่างไร ผู้ศึกษาได้ใช้วิธีการต่างๆ วิธีการหนึ่งคือการ “ทบทวนวรรณกรรม” (Literature review) พบ “เอกสาร” เล่มหนึ่งของธนาคารโลกชื่อ “การลงทุนเรื่องสุขภาพ” (Investing in Health) มีหลักฐานและข้อสรุปว่า การลงทุนที่ได้ผลดีที่สุดคือ ลงทุนเรื่องวัคซีน เพราะ (1) ได้ผลจริง (2) คุ้มค่าตามหลัก “กันดีกว่าแก้” บิลเกตส์ จึงอุทิศเงินจำนวนมากในเรื่องนี้ สามารถช่วยชาวโลกได้มากมายมหาศาล โดยเฉพาะในประเทศยากจนที่ไม่มีกำลังซื้อวัคซีนไปใช้ได้ด้วยตนเอง

ทั่วโลกประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการควบคุมเพื่อป้องกัน “โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน” รวมทั้งประเทศไทย เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ประเทศไทยชุกชุมด้วยโรคพื้นๆ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน ปัจจุบันนี้โรคเหล่านี้แทบหมดไปแล้วเพราะวัคซีน วัคซีนจึงเป็นความหวังของชาวโลกเสมอ รวมทั้งกับโรคโควิด-19

แต่จะ “สมหวัง” หรือไม่ต้องติดตามต่อไป

เพราะหลายโรคมนุษย์ยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนออกมาได้ เช่น วัคซีนมาลาเรีย เอดส์ วัคซีนไข้เลือดออกที่สามารถขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ในบางประเทศ ก็เจอปัญหา “ไม่ปลอดภัย” จนต้องเลิกฉีด

ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนนี้ สมัยก่อนต้องใช้วิธี “ลองผิดลองถูก” อยู่นาน วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษที่ “ค้นพบ” โดยเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ทดสอบครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2339 นั้น ก็มีการศึกษาและทดลองมาก่อนแล้วกว่า 20 ปี ตั้งแต่ทศวรรษนับจาก พ.ศ. 2313 ซึ่งพบว่ามีการทดลองอย่างน้อยโดยนักวิทยาศาสตร์ 5 คน ในอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส แต่ยังไม่สำเร็จ

ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก และ “กฎเกณฑ์” ต่างๆ ก็ “เข้ารูปเข้ารอย” เป็น “มาตรฐาน” ที่ทั่วโลกยอมรับ ขั้นตอน “การวิจัยและพัฒนา” วัคซีนโดยทั่วไปจะเริ่มต้นดำเนินการใน 2 ส่วน คือ (1) การศึกษาในห้องทดลอง และ (2) การศึกษาในสัตว์ทดลอง ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามาก

สถาบันและหน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยก็มีมากมายทั่วโลก โดยแต่ละแห่งจะมีองค์ความรู้แบ่งกว้างๆ เป็น 2 ส่วน คือ (1) ส่วนที่เปิดเผยต่อชาวโลก โดยการเผยแพร่ผ่านวารสารและการประชุมวิชาการ หรือโครงการความร่วมมือต่างๆ และ (2) ส่วนที่เป็น “ความลับ” หรือส่วนที่ “ยังไม่เปิดเผย” ความรู้ในส่วนที่เปิดเผย ทำให้มีการสั่งสมความรู้ “Collection of Knowledge) ของมนุษยชาติที่จะช่วยให้สามารถผนึกกำลังกันเอาชนะโรคร้ายได้ ความรู้ในส่วนที่ยังไม่เปิดเผยหรือยังไม่อยู่ในขั้นตอนที่ควรเปิดเผยจะเป็น “ต้นทุน” การพัฒนาของหน่วยงาน/สถาบัน แต่ละแห่ง ซึ่งในที่สุดจะเกิดเป็นผลผลิตที่มนุษย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเชื่อมต่อกัน (Connectivity) ของวงวิชาการโดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลทำให้ขั้นตอนการวิจัยในห้องทดลองและสัตว์ทดลองดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วมากกว่าแต่ก่อนมาก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้เวลาราว 15 ปี จึงประสบความสำเร็จ แต่วัคซีน โควิด-19 ใช้เวลานับแต่พบรหัสพันธุกรรมของเชื้อจนเริ่มทดลองในคนครั้งแรก เพียง 42 วันเท่านั้น

หมุดหมายสำคัญของความเจริญก้าวหน้าอย่าง “ก้าวกระโดด” คือการเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของเชื้อโรคโควิด-19 ต่อชาวโลก ของจีน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคนี้ในขั้นตอนที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว และมีหลายแห่งได้ประกาศการนำวัคซีนเข้าสู่การทดสอบในขั้นตอนที่สอง คือ การทดสอบในคนได้แล้วเช่นจีนมี “วัคซีนทดลอง” (Candidate vaccine) เข้าสู่การทดลองในมนุษย์แล้วหลายชนิด บริษัทยาและชีววัตถุในประเทศตะวันตกบางแห่งก็ประกาศการ “ค้นพบ” วัคซีนโรคนี้ในขั้นตอนที่หนึ่ง และเริ่มนำเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ได้แล้วหลายชนิด

การทดลองในมนุษย์เป็นขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา อาจเร่งรัดได้บ้างแต่ไม่มาก และเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้นายแพทยแอนโธนี เฟาซี ประกาศว่ากว่าจะได้วัคซีนออกมาใช้ต่อสู้กับโรคนี้ ก็ต้องใช้เวลาราวปีครึ่งถึงสองปี

*****************************