posttoday

24 มิถุนา 2475 ความจริงอีกด้านหนึ่ง

25 มิถุนายน 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

***************************

เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ อย่างน้อยสองกรณีสำคัญคือ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเพียงอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะกรณีหลัง ที่บุคคลคณะหนึ่งอ้างตัวเองว่าชื่อ “คณะราษฎร” ได้เข้ายึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และกำหนดรูปแบบการปกครองของรัฐจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชให้เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

แกนนำฝ่ายพลเรือนบางคนมีความคิดแบบสุด ๆ ไปเลย อยากให้ประเทศมีการปกครอง “สาธารณะรัฐ” แบบฝรั่งเศส ที่พวกตนไปศึกษาเล่าเรียนมา บางคนก็นำวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบคณะบอลเชวิคของรัสเซียมาใช้ คณะผู้นำมีความเห็นตรงกันอย่างหนึ่งคือ ไทยต้องเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย ที่แตกต่างกันแต่ไม่กล้าพูดตรงๆ คือ กลุ่มหนึ่งใจจริงไม่ต้องการให้มีพระมหากษัตริย์อีกต่อไป เช่น การโค่นล้มอำนาจพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส และปฏิวัติล้มราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย

สำหรับในไทยนั้น ฝ่ายทหาร่ปี 2475 ยังไม่ก้าวไปไกลถึงขนาดนั้น แกนนำเพียงแต่ต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็น “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ตามที่พูดคุยกับผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน ทหารบางส่วนอาจไม่พอใจที่งบประมาณทหารถูกตัด จึงถูกชักชวนได้ง่าย ทั้งที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศหลังสงครามได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง (เป็นไปในทุกประเทศทั่วโลก

“คณะราษฎร” ยอมรับความจริงว่า การจะเปลี่ยนแปลงแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่านั้นทำไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ยังเป็นที่เคารพรักของประชาชนคนไทยตลอดมา จะเห็นได้ว่า หลังการยึดอำนาจ คณะราษฎรต้องส่งคนมากราบบังคมทูลให้เสด็จกลับประทับที่กรุงเทพ และหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จไปรักษาพระเนตรที่อังกฤษ เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า คณะราษฎรยังมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่แท้ที่จริงคงต้องการใช้พระมหากษัตริย์ เป็นตัวประกัน

นับแต่ประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรต่างแก่งแย่งชิงดีเพื่อยึดครองอำนาจมาเป็นของตนตลอดมา ประวัติศาสตร์ไทยในช่วงหลังปี 2475 จนถึงปี 2500 จึงเต็มไปด้วยการแย่งช่วงชิงอำนาจทางการเมือง มีการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้งหลายหน ระหว่างกลุ่มผุ้ก่อการพลเรือนและทหาร คนแพ้ก็ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ หรือต้องออกจากเวทีไป

เมื่อพูดถึงวันครบรอบ 24 มิถุนายน 2475 ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเฉพาะประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเป็นสำคัญ นัยหนึ่ง คือการเชิดชูบทบาทของคณะราษฎรในการเปลี่ยนประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือใช้คณะราษฎรเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนในการเพรียกหา “ประชาธิปไตย” หรือต้องการลดบทบาทของสถาบันกษัตริย์จนถึงล้มเลิกสถาบันดังกล่าว

คำถามในใจหลายคนที่คงเหมือนกันคือ ผ่านไป 87 ปี ประชาธิปไตยไทยก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่เช่นนี้ เราใช้เวลานานไปหรือเปล่าในการแสวงหาบทเรียนว่าด้วยประชาธิปไตย

วันนี้จึงขอเขียนถึงประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน อีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน โดยเฉพาะการพัฒนาแนวคิดประชาธิปไตยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่สามารถศึกษาไว้เป็นบทเรียนได้ และเพื่อไม่ให้ใครมาบิดเบือนหลอกลวง

ความจริง พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่พระบาทสมเด้จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิทยาการ และระบอบการปกครองของประเทศ พระองค์ท่านทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลายยาเธอ ข้าราชการอีกจำนวนหนึ่ง ไปศึกษาต่อที่ประเทศในยุโรปซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของการปกครองและวิทยาการต่างๆ ของโลก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมนี รวมทั้งรัสเซีย ซึ่งนอกจากเป็นการดำเนินกุศโลบายและวิเทโศบายด้านการต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการแสวงหาความรู้ในวิทยาการสาขาต่าง ๆ กลับมาพัฒนาประเทศ

รวมทั้งศึกษาระบอบการปกครองของประเทศเหล่านั้น เพื่อนำมาปรับใช้กับระบอบการปกครองของประเทศไทยด้วย เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า ไทยจะต้องเปิดรับและมีการพัฒนาระบอบการปกครองให้สอดคล้องกับอารยะประเทศและตามสภาพแวดล้อม ประวัติศาสตร์ สังคมของไทยด้วย

คนที่เรียนประวติศาสตร์คงจำได้ว่า ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 มีกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งมีแนวคิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ซึ่งพระองค์ทรงทราบดีและไม่ได้ถือโกรธ แต่ชี้แจงให้เห็นว่า ประเทศไทยในขณะนั้ยังไม่พร้อม แต่ต้องเตรียมตัวไว้สำหรับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในอนาคต

พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าหลานยาเธอที่ถูกส่งไปศึกษาต่อที่ยุโรป ต่างได้ศึกษาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทั้งสองพระองค์ได้ทรงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษและยุโรป เพื่อจะนำมาใช้ในประเทศไทย

อาจกล่าวได้ว่า สมัยในหลวงรัชกาลที่ 6 มีการเตรียมการที่จะนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศไทยอยางเป็นรูปธรรมที่สุด โดยมีการทดลอง ฝึกหัด ให้ความรู้เร่องประชาธิปไตย มีการจัดตั้งเมืองประชาธิปไตยจำลอง มีสภา มีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มีสื่อมวลชนที่สะท้อนความต้องการของประชาชน ฯลฯ โดยเริ่มจากวงเล็ก ๆ สร้าง “แกนนำ” เพื่อขยายให้กว้างขวางต่อไปในอนาคต ถือว่าเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยที่เห็นและจับต้องได้เป็นครั้งแรกในประเทศ ในรัชสมัยนี้ มีคนไทยกลุ่มหนึ่งวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งที่รู้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้เตรียมการฝึกคนให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่พวกนี้รอไม่ไหว อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้ทั้งหมดถูกจับกุมในเวลาต่อมา

สมัยในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศเล็ก ๆ เช่นไทย ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงตระหนักดีว่า ประชาธิปไตยในไทยจะเกิดเป็นรูปร่างในรัชสมัยพระองค์ท่านแน่นอน ทรงเตรียมการตั้งแต่ปี 2472 โดยมอบให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย รัฐมนตรีต่างประเทศ ไปเตรียมการ

หลักฐานที่ปรากฏเป็นรูปธรรมได้มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน ในหลวงรัชกาลที่ 7 มอบหมายให้พระยาศรีวิศาลวาจาและนายเรมอนด์ บี.สตีเวนสัน ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน ร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยเตรียมที่จะพระราชทานให้กับประชาชนในวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบ 150 ปีแห่งการสถาปนาราชวงศ์จักรี นายปรีดี พนมยงค์ ก็ทราบเรื่องนี้ดี

อย่างไรก็ดี บรรดาอำมาตย์และข้าราชการผู้ใหญ่ในขณะนั้น แม้แต่ที่ปรึกษาอเมริกันท้วงติงว่า ควรจะรอไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบง่าย ๆ เสียก่อน เนื่องจากภายใต้การปกครองแบบใหม่ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ๆ จึงต้องรู้ว่าจะใช้อำนาจของตนอย่างไร

อย่าว่าแต่ประชาชนคนไทยปี 2475 จะไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยเลย คนที่เป็น “ปัญญาชน” ก็พยายามตีความประชาธิปไตยให้เข้ากับความต้องการของตน แม้แต่ผู้แทนของประชาชนยังเข้าใจระบอบประชาธิปไตยในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเข้าใจถึงเหตุผลของผู้ที่ให้ชะลอการพระราชทานรัฐธรรมนูญไปก่อนเพื่อให้การศึกษาแก่คนไทยไปอีกระยะหนึ่งเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ พระองค์ท่านทราบตลอดมาว่า มึคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ ส่วนคณะราษฎรก็ทราบข่าวที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงเร่งยึดอำนาจเสียก่อน

เวลานั้น มีข่าววงในว่า บางส่วนต้องการให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 สละราชย์ ยกพระคลังข้างที่ให้ชาติทั้งหมด จับในหลวงและพวกเจ้าเป็นตัวประกัน คณะราษฎรจะประกาศให้ไทยเป็น “สาธารณะรัฐ”

หากในหลวงรัชกาลที่ 7 รวบรวมกำลังจากต่างจังหวัดสู้กับฝ่ายปฏิวัติก็สู้ได้ แต่มีรับสั่งว่า “ ไม่อยากให้มีการสู้รบกัน เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่า ๆ “ จึงยอมโอนอ่อนผ่อนปรนตามที่คณะราษฎรต้องการ ยกเว้นบางเรื่องที่ทรงเห็นว่าจะทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหายจริง ๆ เช่น โครงการเศรษฐกิจระยะห้าปี ซึ่งคณะราษฏรฝ่ายพลเรือนและทหารในเกินกว่ากึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะนำเสนอ พระองค์ท่านพระราชทานข้อสังเกตแบบแดกดันว่า เหมือนกับของรัสเซียอย่างแน่นอน ส่วนใครจะลอกจากใครนั้นไม่ทราบได้

สิ่งที่พระองค์ท่านรับไม่ได้คือ แถลงการณ์ของคณะราษฎร ที่กล่าวหา โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยด้วยข้อความโกหก มดเท็จ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระราชวงศ์จักรี ประหนึ่งว่าพระบูรพมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีไม่เคยทำอะไรดีเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองเลย ในที่สุด นายปรีดี ยอมรับสารภาพว่าเขียนเอง โดยมีเหตุผลที่ให้ผู้อ่านไปหาอ่านเอาเอง

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานคำแนะนำบางประการ เพื่อคณะราษฎรจะได้บริหารบ้านเมืองให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป แต่เมื่อไม่ฟังและหวังที่จะใช้พระองค์เป็นหุ่นเชิด เพราะประชาชนไทยยังมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ พระองค์จึงสละราชสมบัติ

คนไทยสมัยก่อนกล่าวกันว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในไทยสมัยก่อนนั้น ด้วยวิธี “จากบนสู่ล่าง” ทุกอย่างจึงเรียบร้อย พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระปรีชาสามารถและทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

การเลิกทาสสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 เปรียบเทียบกับการเลิกทาสในอเมริกาสมัยลินคอล์นที่มีคนตายเป็นหมื่นเป็นแสนคน แต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงใช้เวลาปลายปี ทรงทำเป็นขั้นตอน ทำให้การเลิกทาสในไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เสียเลือดเนื้อหรือมีการปฏิวัติต่อต้านแต่อย่างใด

การรักษาเอกราชอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ป่านนี้เมืองไทยคงตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกไปเรียบร้อยแล้ว

กล่าวกันว่า “การปฏิรูปประเทศ” ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ส่วนการปฏิรูปประเทศครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะการปฏิรูปความยากจนของประชาชนในการต่อสู้กับภัยคุกคามจาก พ.ค.ท.

ในวาระครบรอบเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง 24 มิถุนายน การยกย่องเชิดชู “คณะราษฏร” เป็นเรื่องปกติที่ควรจะทำ แต่ต้องให้ความจริงทุกด้าน ไม่ใช่ให้เฉพาะความจริงที่ถูกเลือกสรร และอย่าบิดเบือนความจริงเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์ “ดูไม่ดี”

ส่วนที่มีบางคนประกาศว่าจะสืบสานเจตนารมณ์ของการปฏิวัติปี 2475 คืออะไร ปีนี้ พ.ศ.2563 แล้ว ยังเพ้ออยู่กับเจตนารมณ์ปี 2475 อีกหรือ (จบ)

********************