posttoday

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สอง)

25 มิถุนายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*********************

นักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองการปกครองสวีเดนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ลงหลักปักฐานในรัชสมัยของ Charles XI (ครองราชย์ ค.ศ. 1660-1697) โดยนับ ค.ศ. 1608 เป็นหมุดหมายของการเริ่มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนักวิชาการก็เห็นพ้องต้องกันอีกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนสิ้นสุดลงไปปี ค.ศ. 1718 ดังนั้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนจึงมีอายุขัยเพียง 38 ปีเท่านั้น ดังนั้น นักวิชาการไทยที่เคยบอกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปล้วนมีอายุอานามเป็นศตวรรษหรือสองศตวรรษ คงลืมหรือข้ามสวีเดนไป

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สอง)

สาเหตุสำคัญสองประการที่ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1718 คือ หนึ่ง Charles XII ทรงนำสวีเดนเข้าสู่สงครามเป็นเวลานานและลงเอยด้วยความพ่ายแพ้สูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทหารและผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจพังย่อยยับ ราษฎรเบื่อหน่ายสงครามและนโยบายทำสงครามโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิ์ที่ไม่จำเป็นต้องฟังใคร และสภาไม่มีน้ำยาจะตรวจสอบถ่วงดุล

อย่าง ในตอนปี ค.ศ. 1710 Arvid Horn ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหาร (หรือบางทีก็เรียกว่าสภาที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์ ที่ทำหน้าที่คล้ายๆกับคณะองคมนตรีผสมกับการเป็นคณะรัฐมนตรีไปด้วย) Horn ได้ทักท้วงไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศและการทำสงครามของ Charles XII ผลก็คือเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งไป

-----[Arvid Horn (1664-1742) มาจากตระกูลอภิชนฟินนิช (Finnish) ที่ยากจน และรับราชการทหารจนได้รับตำแหน่งนายพล เป็นนายทหารคนสนิทและเป็นนายทหารรักษาพระองค์และเป็นหนึ่งในนายพลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่โปรดปรานของ Charles XII ได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติการสำคัญๆหลายครั้งจนในปี ค.ศ. 1705 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาบริหาร และในปี ค.ศ. 1708 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแล Charles Frederick Duke of Holstein-Gottorp พระราชนัดดาของ Charles XII และในปี ค.ศ. 1710 เขาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารต่อจาก Nils Gyldenstolpe และต่อมา เขาเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์]--------

สาเหตุประการที่สอง คือ Charles XII ทรงเสด็จสวรรคตกะทันหันในขณะที่ทรงออกรบ ทรงถูกยิงและสิ้นพระชนม์ในสนามรบ และพระองค์ไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สอง)

                                                                              Arvid Horn

จากสาเหตุสำคัญสองประการนี้เองที่ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนต้องพบจุดจบ

เมื่อ Charles XII ไม่มีองค์รัชทายาทสายตรง พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีอยู่และอยู่ในฐานะที่จะเป็นองค์รัชทายาทได้คือ Ulrika Eleonora (อ่านว่า อุลริจกะ เอเลียวนอรา) และ Charles Fredrik

Ulrika Eleonora (30 พรรษา) เป็นพระขนิษฐภคินีร่วมอุทรของ Charles XII ส่วน Charles Fredrik (18 พรรษา) เป็นพระโอรสของ เจ้าหญิงเฮด์วิก โซเฟีย (Hedvig Sophia) พระราชธิดาพระองค์โตของ Charles XI และเป็นพระเชษฐภคินีผู้ล่วงลับไปแล้วของทั้ง Charles XII และ Ulrika Eleonora ดังนั้น ทั้งสองพระองค์จึงทรงอยู่ในลำดับสถานะที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจาก Charles XII ได้

ทีนี้ ระหว่าง “น้องสาว” กับ “หลานชาย” ของพระมหากษัตริย์ ใครมีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชย์ ? ของแบบนี้ จะใช้กฎมณเฑียรบาลของประเทศอื่นเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะกฎมณเฑียรบาลแต่ละประเทศเกิดขึ้นตามบริบบทของแต่ละประเทศ และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ตามเงื่อนไขเฉพาะในช่วงเวลานั้นๆ

แต่ไม่ว่าใครจะมีสิทธิ์ แต่สิทธิ์ในการตัดสินใจว่าใครจะได้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์อยู่ที่สภาของสวีเดน โดยสภาของสวีเดนในศตวรรษที่สิบแปด ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นตัวแทนของฐานันดรทั้งสี่ อันได้แก่ ฐานันดรอภิชน ฐานันดรนักบวช ฐานันดรพ่อค้าคนเมืองและฐานันดรชาวนา – และอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่าสวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนามีความเป็นอิสระมาตลอด และถือเป็นฐานันดรที่สำคัญฐานันดรหนึ่ง และมีสิทธิ์มีเสียงในสภาด้วย

ทำไมสภาจึงมีอำนาจในการตัดสินเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ ?

เหตุผลคือ ตามจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดนที่เริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสี่ในรัชสมัยของ Magnus Eriksson ได้กำหนดให้สภามีอำนาจในการลงมติตัดสินเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชโอรสสายตรงก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถขึ้นครองราชย์ได้โดยอัตโนมัติ เพราะจะต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาเสียก่อน

และเมื่อสวีเดนเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สภาจึงได้หมดอำนาจได้กล่าวไป และการสืบราชสันตติวงศ์เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาอีกต่อไป เมื่อ Charles XII เสด็จสวรรคตโดยไม่พระราชโอรสและพระราชธิดา แต่มีสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีสิทธิ์สองพระองค์ อันได้แก่ Ulrika Eleonora ผู้เป็นพระขนิษฐภคินี และ Charles Fredrik ผู้เป็นพระราชนัดดา จึงเป็นปัญหาที่จะต้องตัดสิน

และภายใต้เงื่อนไขที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญอย่างยิ่งยวดที่ Charles XII ทรงเสด็จสวรรคตกะทันหันโดยไม่มีองค์รัชทายาทสายตรง ทำให้สภาอ้างอำนาจตามจารีตประเพณีการปกครองที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสี่ในการเป็นผู้ตัดสินว่า ใครสมควรจะขึ้นครอง ราชย์บัลลังก์แห่งสวีเดน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าให้ “น้องสาว” ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะขัดต่อกฎมณเฑียรบาลไหม ? เพราะอย่างในกรณีของไทยเรานั้น ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีกรณีที่ให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นสตรีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา ๑๓ กล่าวว่า

“ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด”

แต่รัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมา เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ มาตรา ๒๕ กำหนดไว้ว่า “การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา หากไม่มีพระราชโอรส รัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้” และรวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

แต่ในการสืบราชสันตติวงศ์ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดนนั้น เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ผู้ที่เป็นพระราชโอรสพระองค์โตจะเสด็จขึ้นครองราชย์โดยอัตโนมัติ หรือหากไม่มีพระราชโอรส พระราชธิดาก็สามารถสืบราชสันตติวงศ์ได้ตามจารีตประเพณีกฎมณเฑียรบาลของสวีเดนที่เคยให้พระราชธิดาเสด็จขึ้นครองราชย์มาแล้วในปี ค.ศ. 1633 นั่นคือ สมเด็จพระราชินีนาถ Christina และเป็นไปตามข้อตกลงที่รู้จักกันในนามของ “the Norrkoping Agreement 1604”

Christina เป็นพระราชธิดาใน Gustav II Adolf (ครองราชย์ ค.ศ. 1611-1632) หลังจากที่ Gustav II Adolf เสด็จสวรรคตในสงครามที่ Lutzen พระนางทรงขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียง 6 พรรษาและเข้าพิธีบรมราชินีภิเษกในปี ค.ศ. 1650 เมื่อพระองค์ทรงพระชนมายุได้ 24 พรรษา ถือเป็นสมเด็จพระราชินีพระองค์แรกผู้ทรงครองบัลลังก์สวีเดน

และด้วยเหตุนี้ Ulrika Eleonora ในฐานะ “น้องสาว” ของ Charles XII จึงทรงอ้างสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ตามจารีตประเพณีการปกครองในกรณีของ Christina และข้อตกลง “the Norrkoping Agreement 1604” แต่ปัญหาคือ ตามข้อตกลงดังกล่าวได้ให้พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ อีกทั้งยังกำหนดไว้ชัดเจนว่า พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ได้จะต้องยังไม่เสกสมรส

แต่ Ulrika Eleonora ไม่ได้เป็นพระราชธิดาของ Charles XII และที่สำคัญคือ พระองค์ได้เข้าพิธีเสกสมรสแล้วกับเจ้าชาย Frederick อีกทั้ง Frederick ยังทรงนับถือศาสนาที่แตกต่างศาสนาหลักของสวีเดนด้วย

ดังนั้น Charles Fredrik ผู้เป็น “หลานชาย” ของ Charles XII จึงน่าจะเป็นผู้ที่มีสิทธิ์และคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะขึ้นครองราชย์

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สอง)

แต่ถ้าใครแอบไปเปิดกูเกิ้ลดูว่า ใครคือผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อจาก Charles XII ก็จะพบว่าผู้นั้นคือ Ulrika Eleonora และนี่คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งของการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น !