posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไว้รัสโคโรนาอู่ฮั่น (19)

24 มิถุนายน 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

***********************

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 “รายแรก” ที่อู่ฮั่น พบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 จีนสามารถค้นพบเชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคได้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 และได้นำเสนอรายงานทางวิชาการทางออนไลน์ แสดงรหัสพันธุกรรม (genetic blueprint) ของเชื้อนี้เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563

การเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของเชื้อโรคร้ายนี้ ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูงจากวงวิชาการทั่วโลก เพราะแสดงถึงความ “ใจกว้าง” และ “ยิ่งใหญ่” ที่แท้จริงของผู้นำจีนที่ต้องการให้โลกรู้จัก “ศัตรูของมนุษยชาติ” เพื่อให้ร่วมมือผนึกกำลังทางสมองร่วมกันทั้งโลกพัฒนาหาเครื่องมือทั้งปวงมาต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ทั้งเครื่องมือตรวจวินิจฉัย ยารักษา เครื่องมืออุปกรณ์ และวัคซีนป้องกัน เป็นต้น

มีแต่การร่วมมือของผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทั่วโลกเท่านั้นที่จะเอาชนะโรคร้ายนี้ได้

โรคร้ายนี้ไม่กลัวอำนาจ ไม่กลัวผู้นำอันธพาลแม้จะมีอำนาจยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม แต่มันกลัวความรู้ ที่เป็นความรู้จริง มิใช่ความรู้งูๆ ปลาๆ หรือการ “อวดรู้” ใดๆ

ผู้นำอย่างทรัมป์ แม้จะมีผู้รู้อย่างนายแพทย์แอนโธนี เฟาซี มีกลไกสร้างความรู้อย่างเอ็นไอเอช มีศูนย์ควบคุมป้องกันโรคที่เคยยิ่งใหญ่อย่างซีดีซี มีผู้ทรงความรู้และทรัพยากรมากมาย มีกองทัพสื่อมวลชนที่เข้มแข็ง และมีอำนาจทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจอย่างล้นเหลือ แต่เพราะเป็นผู้นำอันธพาลจึงไม่สามารถใช้ทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่มีอยู่อย่างมากมายให้เป็นโยชน์ กลับละเลยและปล่อยให้ชาวสหรัฐติดโรคแซงหน้าทุกประเทศทั่วโลก และตายไปแล้วเกินแสน จนอเมริกา “มาเป็นที่หนึ่ง” ตามนโยบายและ “คำขวัญ” ของทรัมป์เช่นนี้

เมื่อครั้งโรคเอดส์แพร่ระบาดครั้งแรก มีกรณี “พิพาท” จนถึงขั้นเป็นคดีสู่ศาลในสหรัฐว่าใครเป็น ผู้ “ค้นพบ” เชื้อเอดส์ เพราะเครดิตดังกล่าวนอกจากชื่อเสียงเกียรติยศอันสูงส่งระดับโลกแล้วยังหมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวยจาก “ทรัพย์สินทางปัญญา” ของการค้นพบนั้นเพราะทุกบริษัทที่ผลิตน้ำยาตรวจ หรือยารักษาโรคนี้ล้วนต้องจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้นพบเชื้อโรคต้นเหตุ

มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเป็นหนังสือ ข่าว บทความ ภาพยนตร์ สารคดี สรุปได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ในสถาบันปาสเตอร์ กรุงปารีส นำโดย ลุค มองตาเนียร์ (Luc Montagnier) เป็นนัก วิทยาศาสตร์กลุ่มแรกที่ค้นพบเชื้อเอดส์ โดยค้นพบก่อนนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของสหรัฐ คือ โรเบิร์ต แกลโล (Robert Gallo) ราว 1 ปีครึ่ง

อย่างไรก็ดีตอนที่ค้นพบเชื้อไวรัสเอดส์ ทีมงานของ ลุค มองตาเนียร์ ยังไม่ได้ “ฟันธง” ชัดเจนว่าเชื้อดังกล่าวเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์ โดยนำเสนอตามแบบนักวิชาการว่า เชื้อที่พบนั้นเป็นเชื้อก่อโรคเอดส์แน่ชัดหรือไม่ “ต้องการการพิจารณาตัดสินต่อไป” (remains to be determined)

ในปี พ.ศ. 2532 จอห์น ครูวด์สัน (John Crewdson) ผู้สื่อข่าวประเภทสืบสวนสอบสวนได้ตั้งประเด็นว่าห้องแล็บของโรเบิร์ต แกลโล อาจ “ยักยอก” (misappropriate) เชื้อเอชไอวีจากสถาบันปาสเตอร์ ทำให้มีการสอบสวนเรื่องนี้โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐ และสรุปว่า “ข้อกล่าวหาไม่มีมูล”

ในการสอบสวนของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักจรรยาบรรณการวิจัย (Office of Research Integrity) ได้มอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์จากบริษัทฮอฟมานน์ลาโรชทำการวิเคราะห์ตัวอย่างจาก “หอจดหมายเหตุ” (Archives) ของสถาบันปาสเตอร์ และห้องแล็บทางชีววิทยาเซลล์ก้อนเนื้อ (Laberatory of Tumor Cell Biology) ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐในช่วง พ.ศ. 2526-2528 ได้ข้อสรุปว่า “เชื้อไวรัสในห้องแล็บของโรเบิร์ต แกลโล มาจากห้องแล็บของลุค มองตาเนียร์ ตามคำขอของโรเบิร์ต แกลโล”

ต่อมาสถาบันปาสเตอร์ฟ้องร้องเรื่องสิทธิบัตรเครื่องตรวจเอชไอวีที่สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐ ให้สิทธิบัตรแก่กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2528 โดยฟ้องร้องเมื่อ 12 ธันวาคม 2528 คดีนี้ยุติลงโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศ คือ สหรัฐและฝรั่งเศสได้จัดการให้มีการประนีประนอมให้ ลุค มองตาเนียร์ และโรเบิร์ต แกลโล เป็น “ผู้ค้นพบร่วมกัน” และทั้งคู่ได้เขียนบทความร่วมกันในวารสาร เนเจอร์ในปีเดียวกันนั้น

ทั้งคู่ยังเขียนบทความร่วมกันตีพิมพ์ในนิตยสารวิทยาศาสตร์ (Sciences) ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งทั้งคู่ต่างยกย่องซึ่งกันและกันในบทบาทการค้นพบเชื้อเอดส์ และยังมีบทความทบทวนประวัติศาสตร์เรื่องนี้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ด้วย

นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่ทำงานเรื่องนี้ในสถาบันปาสเตอร์คือนักวิทยาศาสตร์หญิงชื่อฟรังซัวส์ บาร์เร ไซนุสซี (Francoise Barre′ Sinoussi)

ในปี 2551 ลุค มองตาเนียร์ และฟรังซัวส์ บาร์เร่ ไซนุสซี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในผลงานการค้นพบเชื้อเอชไอวี โดยมีนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่ร่วมรับรางวัลนี้ในปีนั้น คือ เฮราลด์ เซอร์ เฮาเซน (Herald zur Hausen) ผู้ค้นพบว่าเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปิลโลมา เป็นเชื้อก่อมะเร็ง ปากมดลูก แต่ไม่มีชื่อโรเบิร์ต แกลโล ร่วมรับรางวัลด้วย

ลุค มองตาเนียร์ แสดงความใจกว้างในทำนองแปลกใจที่โรเบิร์ต แกลโล ไม่ได้รับรางวัลร่วมด้วย เพราะในความเห็นของลุค มองตาเนียร์ เขาและทีมงานเป็นผู้ค้นพบเชื้อนี้ ซึ่งเดิมทีเขาตั้งชื่อว่า “ไวรัสที่สัมพันธักับโรคต่อมน้ำเหลืองโต” (Limphadenoma associated virus : LAV) แต่โรเบิร์ต แกลโล ควรได้รับเกียรติในฐานะผู้พิสูจน์ว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ เขากล่าวให้ความเห็นว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าเชื้อเอชไอวีเป็นสาเหตุของโรคเอดส์, และแกลโลมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องดังกล่าว, ผมเสียใจมากกับโรเบิร์ต แกลโล”

เรื่องนี้เป็นเรื่อง “อื้อฉาว” ที่นอกเหนือจากการพิสูจน์และสรุปอย่างเป็นทางการของสถาบันชั้นสูงในสหรัฐ เพราะสุดท้ายแล้วการเมืองย่อมมีอิทธิพลเหนือเรื่องทางวิชาการและความจริงในประวัติศาสตร์

เรื่องอื้อฉาวนี้ มีผู้เขียนออกมาเป็นหนังสือ และสื่อต่างๆ มากมาย เช่น เรื่อง “และวงดนตรีก็บรรเลงต่อไป” (And the Band Played On) ซึ่งออกมาเป็นหนังสือก่อนและทำเป็นภาพยนตร์ในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีหนังสือชื่อ “สู้กับสิ่งประหลาด” (Against the Odd) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าชื่อเสียงเกียรติยศและทรัพย์สินเงินทองที่จะตามมาจากการเป็น “ผู้ค้นพบ” เชื้อก่อโรคสำคัญเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับบุคคลเพียงใด

แต่จีนมีทัศนะต่อเรื่องนี้ กว้างไกล กว่าเรื่องประโยชน์ของตัวบุคคลหรือแม้แต่กับ “มูลค่า” ที่จะเกิดกับประเทศชาติมาก จีนจึงเร่งเปิดเผยการค้นพบนี้เพื่อให้เป็น “สมบัติ” ร่วมกันของมนุษยชาติ จีนและโดยเฉพาะผู้นำอย่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จึงได้รับการยกย่องชื่นชมจากวงวิชาการและผู้มีใจเป็นธรรมทั่วโลก

ตรงกันข้าม ผู้นำอันธพาลอย่างทรัมป์กลับ “ฉวยโอกาส” “โฆษณา” ต่อชาวโลก ทั้งเรื่องการประกาศการ “ค้นพบ” ยารักษาและวัคซีนป้องกันโรคนี้ ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้ว่าเป็นเรื่อง “เกินจริง” หรือ “ไม่จริง” แทบทั้งสิ้น เพราะในเวลานั้นยังมีคนไข้จำนวนหยิบมือเดียวในสหรัฐ ไม่มีทางพิสูจน์ได้เลยว่ายาที่อ้างว่า “ค้นพบ” นั้นจะปลอดภัยและได้ผลจริง และวัคซีนก็ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 1 ปี

****************************