posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (18)

16 มิถุนายน 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน 

***************************

ประสบการณ์จากความผิดพลาดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศผู้ชนะสงครามใช้วิธี “ลงโทษ” ประเทศผู้แพ้อย่างรุนแรง ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระยะเวลาเพียง 21 ปีต่อมา ก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 “ผู้นำ” ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มยุโรปและสหรัฐจึงเตรียมการ “จัดระเบียบโลกใหม่” เพื่อป้องกันการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 โดยแทนที่จะ “ลงโทษ” ประเทศผู้แพ้ “อย่างสาสม” ก็กลับลงโทษแต่ “พอสมควร” เช่น สหรัฐเข้าไปยึดครองญี่ปุ่น ร่างรัฐธรรมนูญให้ใหม่ ห้ามสร้างกองทัพ และมุ่ง “ฟื้นฟูบูรณะประเทศ” จาก “เถ้าถ่านสงคราม” รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตรเพื่อลบรอยความเกลียดชัง และสร้างความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญคือมีการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาและป้องกันสงคราม ได้แก่ (1) องค์การสหประชาชาติ (United Nations Organizations : UNO) ซึ่งต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า สหประชาชาติ (United Nations : UN) โดยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวสต์ แห่งสหรัฐเป็นผู้ริเริ่ม เหมือนสันนิบาตชาติที่สหรัฐก็เป็นผู้ริเริ่ม คือ ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แต่ล้มเหลว เพราะรัฐสภาสหรัฐเองไม่ให้สัตยาบัน และเป็นเหตุสำคัญเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งนี้รัฐสภาสหรัฐยอมให้สัตยาบัน (2) ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development : IBRD) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าธนาคารโลก (3) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) (4) องค์กรการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเริ่มจากข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tafiff and Trade) หรือ แกตต์ (GATT) เมื่อ พ.ศ. 2491 ก่อนจะมาเป็นองค์การการค้าโลก เมื่อ 1 มกราคม 2539

นอกจากนี้ยังมีองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งที่ก่อตั้งมาก่อนสหประชาชาติและก่อตั้งภายหลัง เป็นองค์การชำนัญพิเศษต่างๆ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO ) , องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO), สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU), องค์การยูเนสโก (United Nations Education, Sciences and Culture Organization : UNESCO), กองทุนฉุกเฉินเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children Emergency Fund : UNICEF) เป็นต้น. องค์การระหว่างประเทศเหล่านี้ล้วนมีบทบาทในการพัฒนาและสร้างสันติภาพให้แก่โลกทั้งสิ้น

ยุโรปเอง ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดสงครามใหญ่ขึ้นในโลกมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่สงครามนโปเลียน สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ปัญญาชนคนสำคัญหลายท่านจึงวางแผนยุทธศาสตร์ให้มีการสร้างกลไกให้ยุโรปต้องสามัคคีและผนึกกำลังกัน แทนการต่อสู้ห้ำหั่นกันจนกลายเป็นชนวนสงครามใหญ่หลายครั้ง ทำให้ผู้คนล้มตายไปมากมาย ระเบิดปรมาณู 2 ลูก ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาเป็นระเบิดปรมาณูได้ คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ทำนายว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่สงครามโลกครั้งที่ 4 มนุษย์จะต่อสู้กันโดยใช้ก้อนหินขว้างใส่กัน แปลว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะทำลายอารยธรรมของมนุษย์ทั้งโลก ทำให้โลกกลับไปสู่ยุคหิน ยุโรปจึงมีการรวมตัวกันโดยสร้างภาคีพลังงาน ซึ่งตอนนั้นแหล่งพลังงานหลักคือถ่านหิน เริ่มจากไม่กี่ประเทศ ต่อมาพัฒนาเป็นตลาดร่วมยุโรป และเป็นสหภาพยุโรปในที่สุด ผลงานของสหภาพยุโรปทำให้เกิดสันติภาพที่ค่อนข้างมั่นคง จนสหภาพยุโรปได้รับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพ

ในระดับประเทศ สหรัฐเองเริ่มก่อตั้งประเทศโดยทำสงครามปลดแอกจากอังกฤษของ 13 อาณานิคม แล้ว 13 อาณานิคมนั้นได้รวมตัวกันหลวมๆ เป็น “สมาพันธ์” (Confedertion) โดยทั้ง 13 อาณานิคมเปลี่ยนสถานภาพเป็นมลรัฐ (State) แต่ละมลรัฐยังมีอำนาจอธิปไตยของตนเองในระดับสูง แบ่งอำนาจให้ “รัฐบาลกลาง” ไม่มาก ทำให้รัฐบาลของสมาพันธ์ยังอ่อนแอ จนเกิด “กบฏชาวนา” ขึ้น และรัฐบาลกลางก็มีศักยภาพต่ำในการปราบปราม ทำให้บรรดา “บิดรผู้ก่อตั้งประเทศ” (Founding Fathers) ทั้งหลายเห็นความจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาลกลาง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางปกป้องประเทศได้จากศัตรูภายนอก ทำให้เกิดการสร้างรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก เมื่อ พ.ศ. 2330 เกิดประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพัฒนาต่อมาจนยิ่งใหญ่ตราบเท่าทุกวันนี้

สหรัฐเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อรัฐทางใต้รวมตัวกันแยกตัวออกเพื่อคงการมีทาสไว้ แต่ผู้นำสมัยนั้น คือ ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ไม่ยินยอม ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอยู่ถึง 4 ปี รัฐบาลเป็น ฝ่ายชนะ ประเทศสหรัฐจึงไม่แตกแยกเป็น 2 เสี่ยง และสามารถสร้างความยิ่งใหญ่มาจนปัจจุบัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐยังไม่มีอิทธิพลและอำนาจเท่าทุกวันนี้ แต่เพราะต้องต่อสู้ในสงครามเย็นกับค่ายสังคมนิยมที่สหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ทำให้สหรัฐประพฤติตัวเป็นผู้นำที่ดีของโลกเสรี จึงทำให้สหรัฐสามารถเพิ่มพูนอิทธิพลและอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารจนเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะเมื่ออาณาจักรสังคมนิยมล่มสลาย เมื่อ พ.ศ. 2533 สหรัฐกลายเป็นผู้นำเดี่ยวของโลกและนำโลกเข้าสู่ยุค โลกาภิวัตน์อย่างองอาจ

แต่ทุกอย่างย่อมเป็นอนิจจัง มหาอำนาจของทุกอาณาจักรและจักรวรรดิในโลกล้วนเดินทางไปสู่ความเสื่อมทั้งสิ้น สหรัฐก็เช่นกัน เมื่อรัสเซียกลับฟื้นตัวและมั่งคั่งขึ้น โดยยังคงฐานอำนาจทางความรู้ เศรษฐกิจ และการทหารไว้ได้มาก สหรัฐซึ่งเริ่มต้นจากการ “ญาติดี” กับจีน ในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 และผนึกกำลังแน่นหนากับยุโรปตะวันตกมาโดยตลอด ก็ยังคงรักษาสถานะผู้นำโลกเสรีไว้ได้

สหรัฐเริ่ม “หลงระเริง” กับอำนาจเดี่ยว จนถูกท้าทายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงโดยถูกบุก “เข้าไปตีหัวถึงบ้าน” ในกรณี 11 กันยายน 2544 ทำให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เริ่มลุแก่อำนาจหาเหตุ “แก้แค้น” โดยทำสงครามบุกอิรักด้วยการสร้างหลักฐานโกหกคนทั้งโลกว่าอิรักสร้างอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง จำเป็นต้องเข้าไปทำลาย และบังคับ “พันธมิตร” ให้ “เลือกข้าง” ว่าถ้าไม่เป็นพวกก็เป็นศัตรู ผลที่สุดก็ไม่พบ “หลักฐาน” อะไร แต่ผลยืดเยื้อเรื้อรังตามมาคือ สหรัฐเข้าไป “ติดหล่ม” สงครามในอิรัก และต่อมาในอัฟกานิสถานมาจนบัดนี้

สหรัฐสามารถ “เว้นวรรค” ผู้นำแบบนักเลงโตอย่างบุช ด้วยการที่ชาวอเมริกันให้โอกาสคนผิวดำอย่าง บารัค โอบามา ขึ้นมาเป็นผู้นำอยู่ถึง 2 สมัย 8 ปี โลกกลับเข้าสู่ภาวะ “เข้าร่องเข้ารอย” อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ในที่สุดคนอเมริกัน ก็ไม่ยอมให้ “ผู้หญิง” คือ ฮิลลารี คลินตัน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก แต่เป็นไปได้ว่าคนอเมริกันถูก “ปั่นหัว” โดยทีมงานหาเสียงของทรัมป์ซึ่งร่วมมือลับๆ กับรัสเซีย เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี โดยคะแนนเสียงจากประชาชน (Popular Vote) ได้น้อยกว่า ฮิลลารี หลายล้าน แต่ชนะเพราะคะแนนผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) จากรัฐต่างๆ และสหรัฐก็เริ่มเดินทางไปสู่หุบเหว

ทรัมป์ ใช้อำนาจถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเรื่องการลดภาวะโลกร้อน เลิกสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่าน ก่อสงครามการค้ากับจีน ยุโรป และพันธมิตรไม่เลือกหน้า เพื่อประโยชน์ของสหรัฐแต่ถ่ายเดียว

โลกในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องการการประสานร่วมมือกันทั้งในการผลิต การค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการต่อสู้กับโรคระบาด

การผลิตและส่งมอบสินค้าทั่วโลกในปัจจุบัน เป็นระบบของเครือข่ายแหล่งผลิตและขนส่งสินค้าทั่วโลก กลไกการค้าโลกเป็นไปตามข้อตกลงพหุภาคีโดยการนำขององค์การการค้าโลก

การต่อสู้กับโรคระบาดก็ต้องการระบบข่าวกรองที่ดี และความร่วมมือที่ดีทั่วโลกจึงจะควบคุมการระบาดทั่วโลกได้

การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มต้นที่เมืองหวู่ฮั่น ของจีน จีนแจ้งองค์การอนามัยโลกซึ่งประกาศ “เตือนภัยร้ายแรง” ต่อชาวโลกตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โคโรนาต้นเหตุของโรค โดยเปิดเผยต่อชาวโลกตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2563

การแจ้งว่ามีโรคอุบัติใหม่ระบาดอย่างรวดเร็ว ก็เพื่อให้ทุกประเทศกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคโดยทันที การเปิดเผยรหัสพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคก็เพื่อให้นักวิชาการทั่วโลกทุ่มเทผนึกกำลังร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้กันผลิตยาและวัคซีนออกมาต่อสู้กับโรคร้ายนี้

แทนที่สหรัฐซึ่งเคยมีระบบควบคุมป้องกันโรคที่เข้มแข็งที่สุดในโลก และมีฐานความรู้ทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่เหนือใครในโลก จะลงมือทำหน้าที่ผู้นำโลกเพื่อเอาชนะโรคร้ายทรัมป์กลับทำหน้าที่ผู้นำอันธพาลกล่าวหาและเย้ยหยันจีน สหรัฐและหลายประเทศทั่วโลกจึงตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้