posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่เก้า)

15 มิถุนายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร              

*******************

ที่ผ่านมาแปดตอน ผมและผู้เขียนร่วมอีกสองท่านได้เล่าเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ลี เริ่มจากที่ลูกบ้านมีความเห็นต่างในเรื่องวิธีการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร อย่างไรถึงจะเกิดความยุติธรรม ? แม้ว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่า ความยุติธรรมก็คือ การให้ในสิ่งที่คนๆหนึ่งควรจะได้ และไม่ให้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ แต่พอลงรายละเอียดก็เห็นต่าง เช่น การแบ่งเท่าๆกันก็มีคนว่าไม่ยุติธรรม เพราะบางทีคนจน คนพิการควรได้ คนที่ไม่จนไม่พิการก็ไม่ควรได้ ฯลฯ ครั้นจะให้ยึดเสียงข้างมาก ถ้าบังเอิญข้างมากไม่มีน้ำใจขึ้นมาก็ไม่ยุติธรรมอีก หรือปล่อยให้คนที่มีอำนาจอิทธิพลเป็นคนจัดการแบ่งสันปันส่วน ก็มักจะเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง จะว่าไปแล้วแต่ละคนก็จะเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้งทั้งนั้น ผู้ใหญ่ลีก็เลยปวดหัว

จู่ๆก็มีฝรั่งแปลกหน้าชื่อ จอห์น รอลส์ ( John Rawls เป็นอาจารย์เจ้าของทฤษฎีความยุติธรรมที่โด่งดังในช่วงเกือบห้าสิบปีที่แล้ว) มาเสนอทฤษฎีความยุติธรรมให้ผู้ใหญ่ลี หลังจากผู้ใหญ่พอเข้าใจหลักการในทฤษฎี ก็ชักชวนให้ลูกบ้านสมมุติว่า ตัวเองยังไม่รู้ว่าจะจนหรือรวย ฉลาดหรือโง่ เก่งหรือไม่เก่งด้านไหน ฯลฯ และถ้าแต่ละคนคิดจากจุดที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นยังไง และอาจารย์รอลส์เชื่อว่า แต่ละคนจะได้ข้อสรุปเหมือนกัน คือ ถ้าเกิดลำบาก ก็อยากให้รัฐบาลช่วย และถ้าไม่ลำบากและเก่งธุรกิจ รัฐบาลก็จะต้องเปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการทำการค้า ทุกคนเห็นพ้องกันที่จะให้มีการเก็บภาษีและนำภาษีมาช่วยตนหรือคนอื่นในยามตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งรายละเอียดและข้อถกเถียงสามารถไปดูย้อนหลังในตอนก่อนๆได้

ใครฟังทฤษฎีของอาจารย์รอลส์ ก็มักจะคิดว่าน่าจะใช้ได้ สมควรนำมาใช้ในหมู่บ้าน แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะมีชายปริศนาโต้แย้งขึ้นมา (ในตอนที่แปด) ซึ่งข้อโต้แย้งของชายปริศนานี้ก็คือ ทฤษฎีของอาจารย์ฝรั่งอีกคนหนึ่ง ที่เป็นเพื่อนร่วมงานของอาจารย์รอลส์ที่ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อาจารย์ฝรั่งที่ว่านี้คือ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต โนซิค (Robert Nozick) เจ้าของหนังสือชื่อ Anarchy, State and Utopia ที่เขาเขียนออกมาเพื่อโจมตีทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์โดยเฉพาะ

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์โนซิคโจมตีทฤษฎีความยุติธรรมของรอลส์ก็คือ ทำไมเราต้องยอมให้รัฐบาลเก็บภาษีไปช่วยคนจนโดยไม่ดูว่า เขาจนเพราะอะไร ? หรือเขาใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างไร ? ซึ่งประเด็นนี้โดนใจผู้อ่านบางท่าน ถึงกับแคปเจอร์ส่งมาให้ผม 

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่เก้า)

อาจารย์โนซิคจะให้ความสำคัญมากกับสิทธิเสรีภาพของคนแต่ละคน และโดยเฉพาะทรัพย์สินข้าวของเงินทองที่แต่ละคนหามาได้ ย่อมเป็นสิทธิ์ของเขา และเป็นเสรีภาพของเขาที่จะใช้ไปยังไง รัฐบาลหรือใครก็ตามไม่มีสิทธิ์จะมาออกกฎหมายบังคับเก็บภาษี ยิ่งถ้าจะมาเก็บภาษีไปช่วยคนจนอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือด้วย ยิ่งรับไม่ได้

ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลจะลงไปในรายละเอียดเพื่อดูว่า ใครจนเพราะอะไรนั้นมันเป็นเรื่องยากมากๆ จะกำหนดแบบแผนอะไรว่าจะช่วยใครยังไง มันก็มีหลุดเล็ดลอดไปช่วยคนที่ไม่สมควรได้รับการช่วยเหลืออยู่เสมอ ดังที่เราได้เห็นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่คนที่เดือดร้อนไม่ได้รับ และคนที่ได้รับไม่ได้เดือดร้อน บางคนเข้าเกณฑ์ แต่จริงๆแอบมีตังค์อยู่แล้ว เป็นต้น

แต่คนไทยบ้านเราจำนวนไม่น้อยก็มีวิธีคิดที่เน้นไปที่ความตั้งใจของตัวเองมากกว่าจะเน้นไปที่ตัวผู้รับ คือ คนแบบนี้ จะบอกตัวเองและคนอื่นๆว่า ถ้าเราตั้งใจจะให้หรือบริจาคแล้ว แม้คนรับจะปลอมตัวมาหรือเป็นแก๊งขอทาน ก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีจิตกุศลก็เพียงพอแล้ว  แต่นั่นมันเงินส่วนตัว ไม่ใช่การเก็บภาษี เพราะเก็บภาษีมันเก็บทุกคน และไม่ใช่ทุกคนจะมีกุศลจิตแบบที่ว่าไป ขณะเดียวกัน แม้แต่คนที่มีกุศลจิตแบบนั้น ก็อาจจะอยากให้ ยามที่เขาอยากจะให้

ทฤษฎีของอาจารย์โนซิคจึงห้ามรัฐบาลเก็บภาษีแบบนี้ไปเลย และรัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่จะต้องมาช่วยเหลือใครในสังคม ฟังดูแล้วออกจะโหดร้ายเหมือนกัน  แต่อาจารย์โนซิคไม่ได้ห้ามให้คนในสังคมช่วยเหลือกันเอง แต่ละคนยังมีเสรีภาพที่จะเอาเงินของตนไปช่วยใครที่ตนอยากจะช่วย ซึ่งก็อาจจะออกมาในรูปขององค์กร มูลนิธิการกุศลที่สามารถมีการวางเกณฑ์หรือเป้าหมายในการช่วยอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น อยากจะช่วยเฉพาะศิลปินตกยาก คนพิการบางประเภท หรือสตรีที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ และองค์กรมูลนิธการกุศลหรือองค์กรประชาสังคมเหล่านี้สามารถที่จะตรวจสอบประวัติของผู้ที่องค์กรเห็นว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือ อาจจะมีการให้คนลงไปดูความเป็นอยู่ของคน และอาจจะมีเงื่อนไขว่า ไม่ช่วยคนจนที่กินเหล้าเป็นประจำหรือเล่นการพนัน ฯลฯ

หรืออย่างล่าสุดที่มี “มูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ” (Life Inspired For Transsexuals Foundation/LIFT) ที่ก่อตั้งโดย คุณแอน จักรพงษ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “สาวข้ามเพศที่รวยที่สุดในเอเชีย” โดยมูลนิธินี้จะช่วย “สาวข้ามเพศ” หรือคนที่อยากจะผ่าตัดแปลงเพศ แต่จะไม่ได้ช่วยในลักษณะให้เงินไปเป็นค่าผ่าตัด แต่จะช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษาและพยายามให้คนข้ามเพศสามารถหางานหาเงินมาเป็นค่าผ่าตัดเอง

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่เก้า)

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีมูลนิธิอื่นๆอีกมากมายที่มีเป้าหมายเฉพาะและวางเงื่อนไขสำหรับคนที่จะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเราจะพบว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยพอใจที่จะบริจาคเงินให้กับองค์กรมูลนิธิแบบนี้มากกว่าจะเสียภาษีให้รัฐบาลเอาไปช่วยคนแบบเหมาเข่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจารย์โนซิคโจมตีทฤษฎีของอาจารย์รอลส์  เพราะตามทฤษฎีของอาจารย์รอลส์ ใครก็ตามที่จนยากลำบากเข้าเกณฑ์ก็จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลทันที โดยไม่ดูประวัติหรือภูมิหลัง ซึ่งการช่วยแบบไม่ดูประวัติแบบนี้ บางที ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่คิดขวนขวาย ไม่คิดเก็บหอมรอบริบ เพราะคิดอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าถึงวันที่ตนเข้าเกณฑ์ความจนหรือขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลทันทu

อาจารย์โนซิคแกเชื่อเรื่องเสรีภาพและความรับผิดชอบในการใช้เสรีภาพของแต่ละคน แกมีแนวคิดที่ฟังแล้วดูใจร้ายอีก นั่นคือ แกบอกว่า คนที่ไม่ขยัน  เพราะเลือกที่จะไม่ขยัน แปลว่าเขาใช้เสรีภาพของเขาในการเลือกที่จะขี้เกียจ สิ่งที่เขาได้คือ ความสบาย มีเวลาว่างมากกว่าคนที่ขยันทำงานงกๆทั้งวันหรือโอเวอร์ไทม์ คนเลือกหรือใช้เสรีภาพไปการทำมาหากินงกๆ ย่อมจะได้เงินได้งานหรือการเลื่อนขั้น ส่วนคนขี้เกียจไม่ใช่จะไม่ได้อะไร อย่างที่กล่าวไปแล้ว เขาได้เวลาว่าง ไม่ต้องเครียด อาจไม่มีโรคภัยไข้เจ็บแบบที่คนทำงานหนักจะต้องเจอ พูดง่ายๆคือ แต่ละคนมีเสรีภาพ ไม่ควรมีใครไปแทรกแซง และแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบกับการใช้เสรีภาพของตัวเอง ทุกคนเลือก และทุกคนก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองเลือd

แล้วเมื่อใครคนหนึ่งเลือกที่จะขี้เกียจ แล้วยากจนไม่มีอะไรจะกิน ทำไมจะต้องให้อีกคนหนึ่งที่ขยันจนร่ำรวยมารับผิดชอบชีวิตของคนที่จนเพราะขี้เกียจด้วย ? แล้วคนขยันที่ร่ำรวยแล้วเกิดเป็นโรคโน่นนี่ คนจนก็คงไม่สามารถมารับผิดชอบดูแลได้เช่นกัน

มาถึงตรงนี้แล้ว มีประเด็นหนึ่งที่ทั้งอาจารย์รอลส์และอาจารย์โนซิคให้เป็นความสำคัญ นั่นคือ ศักดิ์ศรีหรือความภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “self-respect” หรือบางทีก็ใช้ว่า “self-esteem” แต่แม้ว่า ทั้งสองจะให้ความสำคัญต่อสิ่งเดียวกัน แต่กลับมองไม่เหมือนกัน

อาจารย์รอลส์มองว่า เวลาคนตกต่ำมีฐานะลำบากยากจนขาดแคลน เราควรช่วยเขาให้พ้นจากสภาพอันย่ำแย่ เขาจะได้ลืมตาอ้าปากและยืนด้วยลำแข้งของเขาได้เองอีกครั้งหนึ่ง เขาจะได้เดินหน้าทำมาหากินมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและสามารถที่จะกลับมาภาคภูมิใจในตัวเองได้ เพราะถ้าไม่ช่วย ก็เหมือนปล่อยเขาจมอยู่ในหลุมที่เขาไม่มีวันจะขึ้นมาเองได้

ส่วนอาจารย์โนซิคเห็นว่า การไปช่วยแบบที่อาจารย์รอลส์ว่าไว้ มันทำลายศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจในตัวเองมากกว่า คนต้องสู้และเมื่อใช้เสรีภาพไปอย่างไร ก็ต้องกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ตนเลือก และนั่นคือ ศักดิ์ศรีของคน

และอาจารย์รอลส์ก็จะเถียงกลับว่า การช่วยตามทฤษฎีของตน คือ รัฐบาลช่วย คนที่รับความช่วยเหลือไม่ได้เสียศักดิ์ศรีอะไร เพราะหลังจากที่เขาฟื้นยืนได้ด้วยตัวเองแล้ว เขาก็จะทำงานและเสียภาษีให้กับรัฐอยู่ดี

ส่วนอาจารย์โนซิคก็จะแย้งกลับอีกว่า ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบที่อาจารย์รอลส์คาดหวัง ดีไม่ดี จะมีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าไม่มีการช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาลเลย สังคมแบบนั้นจะทำให้คนรู้จักใช้เสรีภาพและรับผิดชอบต่อตัวเองมากขึ้น และเคารพศักดิ์ศรีของตัวเองได้อย่างแท้จริงต่างหาก

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่เก้า)