posttoday

เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (4)

13 มิถุนายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

****************

นักการเมืองที่ “แย่งกระดูก” คือผู้ผลิต “กระถางธูปทางการเมือง”

“กระถางธูปทางการเมือง” มีความหมายว่า “การไว้อาลัยให้กับการเมือง” ดังที่ได้เขียนทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนนี้ว่า ภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ทหารแทบจะ “มุดดิน” ไม่กล้าสู้หน้าผู้คน น่าจะเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ควบคุมทหารให้อยู่ในกรอบของประชาธิปไตยนั้นได้ แต่เป็นเพราะความวุ่นวายของบ้านเมืองที่มีอยู่โดยตลอด อันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของกลุ่มประชาชน รวมถึง “ความกร่าง” ของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในตอนต้นปี 2518 ก็ยิ่งทำให้บ้านเมืองเกิดความปั่นป่วน และเป็น “ตัวเร่ง” ให้ทหารกลับมามีอำนาจอีกครั้ง จึงเท่ากับว่านักการเมืองนี้เป็นผู้นำความเสื่อมเสียอันน่าเศร้ามาสู่การเมืองไทย ที่ผู้คนทั้งหลายควรจุดธูปไปวางและไว้อาลัย

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ได้เคยให้สัมภาษณ์ “ตักเตือน” ทั้งกลุ่มประชาชนและนักการเมืองไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2518 นั้นว่า ถ้าทุกคนไม่เคารพกติกาของระบอบประชาธิปไตยตามที่ได้ประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญ การเสียสละของประชาชนในขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ก็จะสูญเปล่า และอาจจะนำมาสู่การหวนคืนกลับมาของผู้ที่สูญเสียอำนาจ ซึ่งก็คือทหารนั่นเอง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าทันทีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2517 และประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน 3 เดือน บรรยากาศทางการเมืองตอนนั้นเหมือนกับ “ระเบิดปรมาณู” คือแตกตัวออกมาเป็นลูกโซ่อย่างน่ากลัว มีความเคลื่อนไหวที่จะเสนอตัวลงเลือกตั้งจากผู้สมัครทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่อย่างพลุกพล่าน รวมถึงมีการเริ่มหาเสียงโจมตีกันอย่างอื้ออึง นี่ก็เป็น “สัญญาณเสื่อม” ของการเมืองไทยที่กำลังจะเปิดออก ซึ่งตัวท่านเองได้ลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภามาเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าเมื่อเราได้มีส่วนร่วมในการวางกติกา(จัดทำรัฐธรรมนูญ 2517) ก็ต้องร่วมรับผิดชอบบ้านเมือง ปัญหาถ้าจะเกิดขึ้นก็จะขอสู้ และก็มองในแง่ดีว่าคงจะสู้ได้

ผู้เขียนจะไม่เล่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยุ่งเหยิงอย่างยิ่งในยุคนั้น แต่อยากจะเล่า “วิธีเอาตัวรอด” ของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ”ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ซึ่งผู้เขียนเคยทำงานอยู่ด้วยเกือบ 10 ปี โดยท่านได้เล่าปัญหาต่างๆ ที่ท่านต้องเผชิญ ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคกิจสังคม การต่อสู้ในสภา การแก้ปัญหาความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล การแก้ปัญหาของประชาชน การเมืองระหว่างประเทศ และการต่อสู้กับทหาร โดยที่ท่านต้องใช้ความรู้สารพัดชนิดเข้าต่อสู้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจการเมืองในยุคปัจจุบันนี้อยู่บ้าง

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึง “ประวัติชีวิต” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พอสังเขป ไว้ให้คนที่สนใจอ่านคอลัมน์นี้แต่ “เกิดไม่ทัน” หรือยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ได้ใช้เป็นความรู้เข้ามาสู่การศึกษาการเมืองในยุคปัจจุบัน เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนในสมัยของท่านว่าเป็น “ปรมาจารย์” บ้างก็เรียกเป็นภาษาจีนว่า “ซือแป๋” หรือ “ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู” (ตอนที่ท่านไปฉลองครบรอบ 10 ปี เปิดสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ใน พ.ศ. 2548

ซึ่งผู้เขียนเดินทางไปด้วย ทางการจีนเขียนยกย่องท่านอ่านเป็นเสียงไทยว่า “เขอลี่ ปาม๋อ โจ๋ยจงหลี่ ซิงอ้วง เหล่าซือ” แปลทีละคำได้ว่า “คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี หลานพระเจ้าแผ่นดิน ท่านอาจารย์ใหญ่”) แต่ตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2518 สื่อมวลชนได้ตั้งฉายาให้ท่านมากมาย ที่โด่งดังที่สุดก็คือ “เฒ่าสารพิษ” อันมีความหมายว่า “ผู้อาวุโสมากพิษสง” ดังที่ปรากฏอยู่ในนิยายกำลังภายในของโกวเล้ง ซึ่งแสดงถึงความสามารถที่มากมายของท่านที่ทำให้คู่ต่อสู้ต้องมีอันเป็นไป

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เกิดเมื่อ พ.ศ. 2454ถ้านับถึง พ.ศ.นี้ก็จะมีอายุย่างเข้าปีที่ 110 แต่ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุได้ 84 ปีใน พ.ศ. 2538 ตอนเด็กๆ ท่านเคยตามท่านแม่(หม่อมแดง ปราโมช สกุลเดิม บุนนาค)ไปในวังหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 หลายครั้ง เพราะท่านแม่เป็นชาววังมาก่อน รวมทั้งได้ตามท่านพ่อ(พระองค์เจ้าคำรบ อดีตแม่ทัพภาค 3 และอธิบดีกรมตำรวจ)ไปตรวจราชการอยู่บ้างในบางครั้ง จึงได้เรียนรู้ระบบการเมืองการปกครองโดยทางอ้อมมาแต่เด็กๆ เพราะการเมืองการปกครองในสมัยนั้นขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์และระบบราชการ (ในเรื่องนี้ท่านได้นำมาสอดแทรกไว้ในนวนิยายอันโด่งดังเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ที่ท่านได้ประพันธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2493

โดยตลอด ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับพระเจ้าอยู่หัว ผ่านชีวิตของแม่พลอยผู้เป็นชาววัง ในฐานะคนไทยที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นแฟ้น) รวมทั้งได้ฝึกฝนเล่นโขนและละครจากราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 6 อยู่พักหนึ่งด้วย จึงทำให้ท่านรอบรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยในด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก

ต่อมาท่านได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เทรนต์คอลเลจ จนจบปริญตรีที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในหลักสูตร PPE คือ ปรัชญา(Philosophy) การเมือง(Politics) และเศรษฐศาสตร์(Economics) ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยพูดอย่างติดตลกว่า “เป็นวิชาที่จบไปเป็นมหาราชาและนายกรัฐมนตรี” (คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งของไทยก็จบหลักสูตรเดียวกันนี้) จึงได้ทำให้ท่านคุ้นเคยกับวัฒนธรรมตะวันตก ที่รวมถึงอารยธรรมทางการเมืองการปกครองนั้นด้วย

ชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นชีวิตที่น่าสนใจ “อย่างยิ่ง” เพราะท่านได้เห็นการเมืองของไทยมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่ท่านเป็นทั้งผู้รู้ ผู้เล่น ผู้สังเกตการณ์ และนักวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจมาตลอดชีวิต ซึ่งท่านได้นำความรู้และประสบการณ์ในส่วนนั้นมาใช้ในการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ด้วยหลายอย่าง อันเป็นที่มาของชื่อคอลัมน์ในชุดนี้

ที่อาจจะเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า “เทคนิคในการเป็นนายกฯของซือแป๋แห่งซอยสวนพลู”

********************