posttoday

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (7): ผลกระทบทางการเมือง

11 มิถุนายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

************************

จากบันทึกของธูซิดิดีส (Thucydides: 460-400 ก่อนคริสตกาล) เกิดโรคระบาดใหญ่ที่นครเอเธนส์หลังจากที่เอเธนส์เข้าสู่สงครามกับสปาร์ตาได้เพียงหนึ่งปี และโรคระบาดนี้ไม่ได้มาครั้งเดียว มันยังกลับมาซ้ำอีกในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกัน จนมีผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนถึง 70,000-100,000 คน หนึ่งในสี่ของประชากร ประชากรเอเธนส์ที่มีประมาณ 400,000 คน และคำว่าประชากรนี้หมายรวมถึงคนที่เป็นพลเมืองและไม่ได้เป็นพลเมืองด้วย คนที่เป็นพลเมืองเอเธนส์คือผู้ชายที่มีพ่อเป็นพลเมืองเอเธนส์ ซึ่งต่อมาเคร่งครัดขึ้น มีการออกกฎหมายว่า ผู้ที่จะเป็นพลเมืองเอเธนส์จะต้องมีทั้งพ่อที่เป็นพลเมืองเอเธนส์และมีแม่เป็นชาวเอเธนส์ด้วย

ผู้อ่านคงจะสังเกตได้ว่า ผู้เขียนเขียนอะไรแปลกๆที่ว่า “พ่อเป็นพลเมืองเอเธนส์และมีแม่เป็นชาวเอเธนส์” ที่เขียนแบบนี้ เพราะกฎหมายเอเธนส์ให้สถานะพลเมืองแต่เฉพาะผู้ชายชาวเอเธนส์ที่มีอายุ 18 ปีขั้นไปเท่านั้น ส่วนผู้หญิงไม่มีสิทธิเป็นพลเมือง

ดังนั้น จำนวนประชากร 400,000 คนคือจำนวนพลเมืองบวกกับผู้หญิงและผู้ชายที่อายุต่ำกว่าสิบแปด ทาสและคนต่างด้าวที่ขอสิทธิ์พำนักถาวรเพื่อทำการค้าหรือเหตุผลอื่นๆ แต่ถ้าจะนับเฉพาะจำนวนพลเมืองเอเธนส์จริงๆ มีอยู่ประมาณ 40,000 คน เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่มีผู้คนล้มตายด้วยโรคระบาดถึง 70,000-100,000 คน จึงถือว่าน่าจะมีผลกระทบต่อการเมืองเอเธนส์พอสมควร เพียงแต่เราไม่รู้ว่าที่เสียชีวิตไปเหยียบแสนนั้น เป็นพลเมืองกี่คน ?

แต่เอาเป็นว่า มีผลกระทบต่อการเมืองแน่นอน ยิ่งช่วงทำสงคราม ตายไปขนาดนั้นกระทบกำลังพลแน่นอน เพราะพลเมืองเอเธนส์ทุกคนต้องเป็นทหาร สมัยนั้นไม่ได้มีทหารประจำการแบบสมัยใหม่

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (7): ผลกระทบทางการเมือง

                                                       เพอริคลีส

แต่การตายที่กระทบหนักเอเธนส์อย่างหนักก็คือ การตายของเพอริคลีส (Pericles) ผู้เป็นทั้งผู้นำการเมืองทั้งในสภาและจอมทัพแห่งเอเธนส์ที่ได้เสียชีวิตลงเพราะโรคระบาด เขาเสียชีวิตลงในปี 429 ก่อนคริสตกาล นั่นคือ เป็นปีแรกที่เกิดโรคระบาดขึ้นที่เอเธนส์ นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเอเธนส์เลยทีเดียว เพราะขณะนั้นเอเธนส์กำลังอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานกับมหาศึกสงครามกับสปาร์ตา ที่ใครๆในโลกชาวกรีกและเปอร์เซียย่อมทราบดีว่า สปาร์ตาเป็นชาตินักรบที่เหี้ยมหาญ จากแบบแผนวิถีชีวิตที่ฝึกฝนหล่อหลอมชาวสปาร์ตาให้เป็นนักรบที่เข้มแข็งมาตั้งแต่แรกเกิด

ที่ว่าตั้งแต่แรกเกิด ก็เพราะมีเรื่องเล่าว่า หากทารกสปาร์ตาคนใดที่คลอดออกมาแล้ว ดูท่าจะไม่แข็งแรง ก็จะถูกเอาไปโยนทิ้ง !! แถมพอโตหน่อยก็มีการฝึกแบบหฤโหด นอนกลางดินกินกลางทราย สอนให้ขโมยของและต้องหนีให้ได้ เพื่อว่าในยามสงคราม พลเมืองหรือทหารสปาร์ตาจะต้องสามารถทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอดและต่อสู้กับข้าศึกได้

ใครอยากรู้ว่า สปาร์ตาฝึกผู้คนของเขาอย่างไร และเมื่อโตมากลายเป็นนักรบที่เข้มแข็งน่าเกรงขามอย่างไร ให้ไปหาภาพยนตร์เรื่อง “300” มาดู อย่าคิดว่าเป็นเรื่องแต่งเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่กองกำลังสามร้อยภายใต้การนำของจอมทัพสปาร์ตาที่ชื่อ ลีออนนีดัส (Leonidas) เข้าต่อสู้ประจัญกับมหาทัพของเซอร์เซส (Xerxes) จักรพรรดิเปอร์เซียในปี 480 ก่อนคริสตกาลนี้เป็นเรื่องจริง ถูกบันทึกไว้ในข้อเขียนของเฮโรโดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์เอเธนส์ก่อนหน้าธูซิดิดีส ใครไม่เชื่อให้ไปหาหนังสือ History ของเฮโรโดตัสอ่านได้เลย

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (7): ผลกระทบทางการเมือง

         ลีออนนีดัสในภาพยนตร์เรื่อง “300”                                                         เฮโรโดตัส

เมื่อเอเธนส์ต้องทำสงครามกับสปาร์ตาในปี 430 ก่อนคริสตกาล เอเธนส์มีปัญหาในการหาจอมทัพที่มากสามารถ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่พ้นต้องเป็นเพอริคลีส แต่ปี 430 ก่อนคริสตกาล ตอนเริ่มสงคราม กองทัพสปาร์ตาได้บุกเข้าไปในพื้นที่ของเอเธนส์เป็นครั้งที่สอง

แต่ยุทธศาสตร์ของเพอริคลีสจะไม่เข้าประจัญกับกองทัพสปาร์ตาในทางภาคพื้นดิน (เพราะสปาร์ตาถนัดรบบนบกไม่ถนัดทะเล) โดยเพอริคลีสจะใช้กองทัพเรือจำนวน 100 ลำเข้าโจมตีบริเวณชายฝั่งเพโลพอนนิส

มีเรื่องเล่าว่า ก่อนที่เขาจะเดินกองทัพเรือออกไป ได้เกิดสุริยุปราคาขึ้น สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับบรรดาทหารเรือที่กำลังจะไปออกทัพจับศึก แต่ด้วยความมีสติปัญญาอันล้ำเลิศของเพอริคลิส เขาได้ใช้ความรู้ในทางดาราศาสตร์ที่เขาได้จากนักคิดที่ชื่อ อแนกซากอรัส (Anaxagoras) อธิบายแก่เหล่าทหาร ทำให้พวกเขาสงบจิตสงบใจลงได้

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (7): ผลกระทบทางการเมือง

                                                        อแนกซากอรัส

อแนกซากอรัสได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งนักคิดคนสำคัญของโลกกรีกโบราณ เขามีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 500-480 ก่อนคริสตกาล สิ่งที่เขาสนใจศึกษาทำความเข้าใจ ถ้าพูดในภาษาสมัยใหม่ก็คือ เรื่องฟิสิกซ์และดาราศาสตร์ ตำราเกี่ยวกับนักคิดกรีกโบราณได้ยกให้เขาเป็นมนุษย์คนแรกในโลกตะวันตกที่สามารถทำความเข้าใจและอธิบายการเกิดจันทรุปราคาและสุริยุปราคาได้อย่างถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์ และเพอริคลีสก็ได้ใช้ความรู้ที่ได้รับจากอแนกซากอรัสในการลดความวิตกงมงายของเหล่าทหารที่เจอปรากฎการณ์สุริยุปราคาในขณะที่กำลังจะเดินเรือออกรบ

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (7): ผลกระทบทางการเมือง

                                                                อาจารย์ชลิดาภรณ์ (ตุ๊ก)

ที่จริงไม่ต้องทหารในสมัยโบราณเท่านั้นที่กลัวอะไรแบบนี้ ผู้เขียนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยในยุคสมัยใหม่ ซึ่งอาจจะรวมถึงทหารและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็คงต้องหวาดผวา หากตอนกำลังจะก่อการดันเกิดสุริยุปราคาเข้า มีหลักฐานบ่งชี้ว่านายทหารระดับก่อการปฏิวัติรัฐประหารในอดีตล้วนเชื่อในเรื่องแบบนี้ นั่นคือ เรื่องเหนือธรรมชาติ โหราศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือถ้าไม่เชื่อ ก็ไม่ลบหลู่

ใครไม่เชื่อว่า “ทหารเชื่อ” เรื่องแบบนี้ ขอให้ไปอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของรองศาสตราจารย์ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ แห่งภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดูได้ (วิทยานิพนธ์เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับการทำรัฐประหารในการเมืองไทย”/ Supernatural Prophecy in Thai Politics: A Role of Cultural Element in Coup-Decision Making/ Claremont Graduate School, California, USA, 1991)

อันที่จริงจะกล่าวแค่การที่ทหารไทยต้องดูฤกษ์ยามให้ดีก่อนจะทำการรัฐประหาร ก็ดูจะไม่เป็นธรรมเท่าไรนัก เพราะสมัยที่ประธานาธิบดีเรแกน (Reagan) ของสหรัฐฯจะส่งกองทัพบุกเข้าไปในเกรเนดา (Grenada ที่อยู่ในหมู่เกาะเวสต์อินดี้ แคริบเบียน) เพื่อล้มรัฐบาลสังคมนิยมในปี ค.ศ. 1983 มีข่าวว่า ท่านก็ยังต้องไปปรึกษาหมอดูให้ดูฤกษ์ยามเวลาดีในตอนยกทัพเข้าไป ซึ่งเป็นเวลารุ่งเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1983 เพราะเรื่องแบบนี้มันอันตราย เสี่ยงมาก

แม้ว่าจะพยายามควบคุมตัวแปรอะไรต่างๆนานาแล้ว การดูดวงอีกสักหน่อย ก็ไม่น่าจะเสียหาย ไม่รู้ว่าทหารไทยที่อาจารย์ชลิดาภรณ์ท่านไปเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์จะเป็นประเภทประธานาธิบดีเรแกน นั่นคือ พยายามควบคุมปัจจัยตัวแปรทุกอย่างให้ครบแล้วค่อยดูดวง หรือดูดวงเป็นหลัก !!

แต่จอมทัพสมัยกรีกโบราณอย่างเพอริคลีสกลับใช้ความรู้ดาราศาสตร์เข้าสยบความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติของเหล่าทหารของเขา ว่าไปแล้ว ที่จริงเพอริคลีสนี้น่าจะเทียบชั้นได้กับขงเบ้งผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้หยั่งรู้ฟ้าดินมหาสมุทร” เพราะในตอนจะรบกับโจโฉ ขงเบ้งหยั่งรู้เวลาการเปลี่ยนแปลงทิศทางลมตามธรรมชาติ จนสามารถเล่นงานทัพโจโฉจนต้อง “หนียะย่าย พ่ายจะแจ” ไป

แต่เรื่องฟ้าดินนี่ก็แปลก แม้ว่าเพอริคลีสจะยืนยันกับทหารของเขาว่า ที่ดวงอาทิตย์ดับมืดไปช่วงครู่นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติหรือเป็นปรากฎการณ์สุริยุปราคาหรือ “the eclipse of the sun” และคำว่า eclipse ในภาษาอังกฤษก็มีรากศัพท์ในภาษากรีกโบราณว่า ?κλειψη แปลว่า “หายไป” หรือ “หลบอยู่ข้างหลัง” !

แต่หลังจากเกิดสุริยุปราคาให้ทหารเอเธนส์เห็น ในช่วงหน้าร้อนปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้เกิดโรคระบาดขึ้นที่เอเธนส์ จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญ ก็คงใช่ แต่จะให้ทหารและพลเมืองเอเธนส์คิดยังไง ???!!! พอเกิดสุริยุปราคา ต่อมาไม่นานก็เกิดโรคระบาดขึ้น ของแบบนี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้ว สำหรับคนสมัยนั้น (สมัยนี้ก็เถอะ !)

ที่สำคัญคือ คนที่บันทึกเหตุการณ์ทั้งสองนี้คือ ธูซิดิดีส น่าสนใจว่า เขาจะคิดกับมันยังไง ? แต่เท่าที่อ่านดู เขาก็ไม่ได้พยายามปะติดปะต่อสุริยุปราคากับการเกิดโรคระบาดว่ามันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แต่เขาก็เล่ามันไปอย่างที่มันเกิดและสังเกตเห็น และบันทึกถึงปฏิกิริยาต่างๆที่ผู้คนมีต่อสองเหตุการณ์นี้

แต่ไม่รู้ว่าที่เพอริคลีสเศร้าโศกเสียใจอย่างสาหัสสากรรจ์กับการตายของคนในครอบครัวเขา และเสียขวัญกำลังใจอย่างยิ่ง เป็นเพราะเขาเริ่มรู้สึกไม่ดีกับการที่เขาไม่เชื่อว่าการเกิดสุริยุปราคาก่อนจะเดินทัพเรือออกไปนั้นเป็นลางร้าย แต่อธิบายว่ามันเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ

และที่ว่าการสูญเสียเพอริคลีสไปนั้นถือว่าเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของเอเธนส์ ก็เพราะว่า หลังจากที่เขายืนยันที่จะสู้ทางเรือทั้งๆที่เกิดสุริยุปราคาและต่อมาดันเกิดโรคระบาดทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากผู้คนทั่วไป ตั้งข้อหาเขา จนเป็นวาระที่ต้องพิจารณาคดีในที่ประชุมสภาพลเมือง (ผู้อ่านคงรู้นะครับว่า เอเธนส์เป็นนครที่ให้กำเนิดประชาธิปไตยในปี 508 ก่อนคริสตกาล และเป็นประชาธิปไตยแบบไม่มีตัวแทน คือพลเมืองในฐานะผู้มีอำนาจ เข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองด้วยตัวเองผ่านการจับสลากหมุนเวียนกัน)

เพอริคลีสต้องอภิปรายแก้ต่างในสิ่งที่เกิดขึ้น และต่อมาการอภิปรายของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นสุนทรพจน์อันทรงพลัง ใครสนใจไปตามอ่านได้ในบันทึกของธูซิดิดีส เขาสามารถสยบความไม่พอใจของพลเมืองที่เข้าไปประชุมในครั้งนั้นได้ แต่คนที่ชื่อ คลีออน (Cleon) และพวกที่เป็นศัตรูคู่แข่งทางการเมืองของเขาสามารถบริหารจัดการให้ที่ประชุมลงมติปลดเขาออกจากการเป็นจอมทัพและตัดสินลงโทษให้เขาต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนประมาณ “15 talents” (หนึ่งทาเลนท์มีค่าเท่ากับเงินค่าแรงช่างฝีมือ 9 ปี) นับว่ามหาศาลอยู่

แต่ต่อมาในปี 429 ก่อนคริสตกาล จากสภาวการณ์ที่เอเธนส์ไม่สามารถต่อกรกับสปาร์ตาได้ ที่ประชุมสภาพลเมืองได้ลงมติอภัยโทษให้แก่เพอริคลิส และแต่งตั้งให้เขากลับมาทำหน้าที่จอมทัพอีก และเพอริคลีสก็สามารถคุมทัพเอเธนส์ในการรบทัพจับศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะที่เขากำลังจะกลับมานำเอเธนส์สู่ชัยชนะ โรคระบาดก็มาคร่าเขาไป

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า โรคระบาดส่งผลกระทบทางการเมืองและการสงครามต่อเอเธนส์อย่างมหาศาล แต่ถ้าเทียบกับการเมืองไทยเรา ก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาดโควิด-19 นิสิตนักศึกษานักเรียนทั่วประเทศประท้วงรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ และกำลังจะรวมตัวนัดกันประท้วงใหญ่ แต่เกิดโรคระบาดเสียก่อน อย่างนี้จะถือว่าเป็นคราวเคราะห์ของประเทศแต่เป็นโชคดีของรัฐบาลหรือเปล่า ?

เพราะต่อมา รัฐบาลและคณะผู้เชี่ยวชาญการแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศสามารถทำให้ประเทศไทยติดอันดับต้นๆในการบริหารจัดการควบคุมการแพร่เชื้อของโรคระบาดได้จนทั่วโลกพากันยกย่องสรรเสริญ

ไม่รู้ว่าลุงตู่จะคิดอย่างไร หากท่านสามารถเลือกได้ระหว่างมีหรือไม่มีโรคระบาด ?!!