posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับชายปริศนาผู้ประเมินอุบายของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่แปด)

08 มิถุนายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร           

*******************

ก่อนหน้านี้ผมได้เล่าเรื่องปัญหาความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ลีโดยมีทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ (ศาสตราจารย์ จอห์น รอลส์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) เป็นแนวทางในการจัดสรรสิ่งต่างๆให้ผู้คนไปหลายตอน จนกระทั่งผมได้กล่าวถึงคู่ปรับทางวิชาการของอาจารย์รอลส์ คือ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต โนซิค ผู้เป็นเพื่อนร่วมงานของอาจารย์รอลส์ในภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่ได้เขียนหนังสือเล่มโต (พอๆกันกับหนังสือของรอลส์) ออกมาวิจารณ์และชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนในทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์

มาคราวนี้ มีท่านผู้อ่าน (เจ้าเก่าที่เคยส่งข้อเขียนมา และผมก็นำมาลงไว้ในคอลัมน์นี้ในตอนที่สองและตอนที่สี่) ส่งมุมมองเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิคมาลองปรับใช้กับหมู่บ้านผู้ใหญลี เป็นอย่างไรลองอ่านกันดูเองนะครับ

ชายปริศนาในหมู่บ้านผู้ใหญ่ลี

“เรื่องราวของผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรมได้ดำเนินมาถึง 7 ตอนแล้ว ผมในฐานะผู้อ่านและก็เป็นผู้มีส่วนร่วมที่เคยลองทดลองทางความคิดสมมติตนเองเป็นลูกบ้านผู้ใหญ่ลีนำเสนอสิ่งที่ลูกบ้านทุกคนควรจะได้รับในที่ประชุมหมู่บ้านตามอุบายที่ผู้ใหญ่ลีได้รับคำแนะนำจากอาจารย์รอลส์ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด – 19

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทดลองทางความคิดตามคำแนะนำของอาจารย์รอลส์ คือ การคิดหากติกาที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลได้เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ในจุดที่ไม่รู้ว่าตนเองรวย หรือจน ดังนั้น ผมในฐานะลูกบ้านคนหนึ่งรวมถึงลูกบ้านคนอื่นๆ คงจะออกแบบกติกาเพื่อตนเอง และกติกาที่คุ้มครองตัวเราเองไว้ก่อนหากเกิดตกในที่นั่งลำบากในหมู่บ้านผู้ใหญ่ลี กติกาที่ควรจะต้องมี คือ มาตรการความช่วยเหลือเยียวยา

ผู้ใหญ่ลีกับชายปริศนาผู้ประเมินอุบายของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่แปด)

ที่สำคัญคือ เรื่องราวของผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์ของอาจารย์ไชยันต์ที่ผมติดตามอ่านมานั้นเป็นเรื่องราวที่ดำเนินควบคู่กันไปกับสถานการณ์การระบาดโควิด – 19 ในประเทศไทย  ตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจนกระทั่งตอนนี้รายงานผู้ติดเชื้อน้อยลงจนรัฐบาลประเมินสถานการณ์เพื่อคลายมาตรการล็อคดาวน์

และเมื่ออาจารย์ไชยันต์ดำเนินเรื่องราวมาถึงตอนที่ 7 อาจารย์ได้ประเมินทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ด้วยการเอ่ยนามเพื่อนร่วมงานในภาควิชาและมหาวิทยาลัยเดียวกันอย่างอาจารย์โนซิค (Robert Nozick) ผมเลยได้โอกาสที่จะส่งข้อเขียนให้กับอาจารย์ และถือเป็นการประเมินและวิจารณ์การทดลองทางความคิดของตนเองตามอุบายของอาจารย์รอลส์อีกด้วย

ตามที่ผมได้เคยสมมติตนเองเป็นลูกบ้านผู้ใหญ่ลีและเข้าร่วมประชุม ผมก็ได้เสนอแก่ที่ประชุมตามอุบายของอาจารย์รอลส์ว่า ควรให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่พวกเราทุกคนในหมู่บ้าน  เพราะพวกเราแต่ละคนคงไม่อยากถูกบังคับโดยเสียงส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน และในหมู่บ้านก็ควรมีวิธีการช่วยเหลือผู้คนในหมู่บ้านเพื่อเยียวยาผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากคราวเคราะห์ที่ไม่คาดฝัน เช่น เกิดโรคระบาด แต่เมื่อได้ยินชื่ออาจารย์โนซิคจากอาจารย์ไชยันต์ ผมก็เกิดคำถามในใจและลองถามที่ประชุมว่า

“...แล้วเราจะเอาเงินจากไหนมาเป็นทุนทรัพย์ในการช่วยเหลือคนในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโชคชะตาพาซวยโรคระบาด เราก็ควรจะมีกติกาเก็บเงินคนในหมู่บ้านมาเป็นทุนทรัพย์สำหรับสวัสดิการในเรื่องนี้ดีไหม ?...”

เพียงคำถามเดียวเท่านั้นก็มี ชายปริศนา  ในหมู่บ้านออกมาพูดว่า ‘...ถ้าเราจะช่วยเหลือใคร เราควรช่วยเขาด้วยความสมัครใจของเราสิ ไม่ใช่มาบังคับให้เอาเงินเราไปช่วยผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน...’

เขาคนนั้นก็เริ่มอธิบายต่อไปว่า

‘มนุษย์เกิดมา โดยธรรมชาติ ก็มีสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลอยู่แล้ว นี่คือจุดตั้งต้น เราไม่ควรเริ่มต้นตั้งคำถามจากตรงที่เราจะสมมติให้เราไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นคำถามเริ่มต้นที่เราควรจะถามคือ ถามว่า ผู้นำหมู่บ้านเราควรมีอำนาจและขอบเขตที่จะทำอะไรให้เราได้แค่ไหน ? สำหรับตัวข้าฯ เห็นว่าอำนาจของผู้นำชุมชนในหมู่บ้านนี้ควรมีให้น้อยที่สุด คือ อำนาจในการบังคับให้การทำสัญญาใดๆระหว่างใครกับใครในหมู่บ้าน จะต้องเป็นตามสัญญา ไม่งั้นผู้คนจะละเมิดโกงกันและจะมีการแก้แค้นเอาคืนกันให้วุ่นวายไปหมด และจะต้องปกป้องผู้คนจากการถูกการใช้กำลัง การขโมย และการหลอกลวง ฯลฯ ถ้าผู้นำชุมชนใช้อำนาจมากกว่านี้ถือว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของพวกเรา เช่นบังคับให้พวกเราต้องออกเงินเป็นทุนทรัพย์ให้ผู้คนที่โชคชะตาเล่นตลกให้ตกอับในหมู่บ้าน

ข้าฯว่า มันไม่ยุติธรรมเลย ! ที่จะเอาทุนทรัพย์ที่พวกเราเป็นเจ้าของไปทำอะไรก็ได้  อีกทั้งการที่ในหมู่บ้านของพวกเรามีทั้งคนรวยกับคนจนก็ไม่ได้สรุปอะไรได้ว่าในหมู่บ้านของเราไม่ยุติธรรม แต่การตัดสินว่าหมู่บ้านใดยุติธรรมหรือไม่อยู่ขึ้นอยู่กับว่าที่นั้นมีกติกาบังคับว่า ทรัพย์ที่ได้มานั้นได้มาอย่างชอบธรรมหรือไม่ คือ ได้มาโดยไม่ได้ผิดสัญญา ได้มาโดยไม่ใช้กำลังบังคับ หรือขโมย และหลอกลวงต้มตุ๋นเขามา กับทุนทรัพย์ของเราที่เพิ่มพูนมากขึ้นได้มาโดยการแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรี หรือมีคนมอบหรือยกให้ด้วยความสมัครใจพอใจ

แต่ถ้าใครได้อะไรมาโดยไม่เป็นไปตามที่ว่ามานี้ หมู่บ้านจะต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจรับแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินการสืบ จับกุมและสอบสวน แล้วก็ส่งไปที่อัยการและศาล  ซึ่งก็แปลว่า หมู่บ้านเราต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม  และสุดท้ายก็ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกป้องหมู่บ้านจากใครก็ตามที่จะมาทำร้ายหมู่บ้านของเรา หากในหมู่บ้านของพวกเราเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ นั่นคือ มีตำรวจ มีหน่วยงานยุติธรรมและมีทหาร  แค่นี้ หมู่บ้านของพวกเราก็เรียกได้ว่ามีความยุติธรรมดีแล้ว การที่ในหมู่บ้านเราจะมีมาตรการเอาทุนทรัพย์ของพวกเราไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโชคชะตาความซวยใดๆ  ข้าฯว่ามันไม่ยุติธรรม !’ ชายปริศนายังกล่าวต่อไปอีกว่า

‘ที่รัฐบาลนำภาษีของพวกเราไปทำนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแถมออกมาตรการล็อคดาวน์มา และเริ่มผ่อนปรนเป็นระยะๆ ข้าฯว่า รัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของพวกเราอยู่ แถมรัฐบาลยังออกข้อบังคับปิดการทำมาหากินของคนในหมู่บ้านไม่ให้ออกไปทำงานเพิ่มทุนทรัพย์ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเสรีอีก แล้วในหมู่บ้านของพวกเรา ก็ยังจะให้เอาทุนทรัพย์ของพวกเราไปทำมาตรการเยียวยาคนในหมู่บ้านอีก ข้าฯก็ไม่เห็นด้วย

ดังนั้นในสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาดในหมู่บ้านของพวกเรา การให้ความช่วยเหลือคนในหมู่บ้านจะช่วยอะไร ช่วยใคร ควรปล่อยให้เขาช่วยกันด้วยความสมัครใจดีกว่า ไม่ใช่บังคับทางอ้อมด้วยการออกอุบายให้เขาเริ่มคิดจากความไม่รู้อะไรเลย แล้วให้เขาคล้อยตามให้ช่วย อย่างที่ไอ้อาจารย์รอลส์อะไรนั่นมันมาเสนอกับผู้ใหญ่’

  

ผู้ใหญ่ลีกับชายปริศนาผู้ประเมินอุบายของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่แปด)

ผู้ใหญ่ลีกับชายปริศนาผู้ประเมินอุบายของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่แปด)

              

             

เมื่อชายปริศนาพูดจบ ที่ประชุมหมู่บ้านเกิดถกเถียงกัน ส่วนผมเมื่อได้ฟังแนวคิดของชายปริศนาผู้นี้ ทำให้ต้องหันมาขบคิดทบทวนและประเมิน “การทดลองทางความคิด (thought experiment) หรือทฤษฎีความยุติธรรม” ของอาจารย์รอลส์ที่ผมคล้อยตามและชื่นชม ข้อคิดของชายปริศนาทำให้ผมเริ่มสับสน เกิดวิวาทะขึ้นในใจว่า ตกลงแล้ว จะเลือกทางไหนดี ? แต่ที่แน่ๆก็คือ  การเกิดโรคระบาดโควิด – 19 ส่งผลกระทบต่อคนในหมู่บ้าน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบความคิดความเชื่อ จิตใจ และคุณธรรมในการตัดสินใจเลือก หรือชี้นำการกระทำของพวกเราในฐานะลูกบ้านผู้ใหญ่ลี”

ผม (อาจารย์ไชยันต์) ฟังๆแล้ว รู้สึกยังงงๆและไม่เคลียร์อยู่หลายเรื่องโดยเฉพาะกับข้อเสนอของชายปริศนาที่น่าจะคือกระบอกเสียงของอาจารย์โนซิค  ยิ่งในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ด้วยแล้ว จะให้รัฐไม่ทำอะไร และปล่อยให้ผู้คนใช้เสรีภาพในการบริหารจัดการกันเอง  ก็ยิ่งงงๆ คงต้องขยายความกันอีก แต่ฟังดูแล้ว ก็ให้พอเข้าใจได้ว่า อาจารย์โนซิคนี่ไม่ชอบให้รัฐบาลเข้ามาดูแลสวัสดิการของลูกบ้านอะไรเลย ศัพท์ที่อาจารย์โนซิคใช้เรียกรัฐแบบของเขาคือ “minimal state” ที่ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งที่ชื่อ “ป่าน” เธอตั้งชื่อในภาษาไทยวัยรุ่นแบบจำได้ง่ายๆว่า “รัฐตะมุตะมิ” ต่อมาลูกศิษย์อีกรุ่นหนึ่งตั้งว่า “รัฐปุ๊กปิ๊ก”

ซึ่งรัฐตะมุตะมิหรือปุ๊กปิ๊กนี่จะมีความหมายตรงกันข้ามกับ “extensive state” ที่หมายถึง การให้รัฐมีขอบเขตอำนาจที่ขยายวงออกไปมาก ซึ่งยังไม่รู้จะหาคำอะไรง่ายๆมาใช้เรียกรัฐแบบนี้ แต่ขอเรียกว่า “รัฐเยอะ” ไปพลางๆก่อน  ตัวอย่างของรัฐเยอะนี่ก็คือ “รัฐแบบคุณพ่อรู้ดี” ที่ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “paternalistic state” คำว่า “paternal” นี้สื่อถึง “อะไรที่เกี่ยวกับพ่อหรือป๋า” เราอาจเรียกรัฐแบบนี้ว่า “รัฐป๋าๆ”  เวลาเราเรียกใครว่า “ป๋า” โดยที่ไม่ใช่พ่อของเรา เรากำลังเห็นว่า เขาผู้นั้นใจดี ดูแล มีแต่ให้ ซึ่งอาจารย์โนซิคไม่ชอบรัฐป๋าๆ เพราะรัฐแบบป๋าๆจะป๋ากระเป๋าหนักได้ ก็ต้องเก็บภาษีมาจากเรานั่นเอง ไม่ใช่จะควักเงินตัวเองมาให้ซะที่ไหน และการเก็บภาษี

อาจารย์โนซิคเห็นว่า มันไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคน แล้วยิ่งเอาไปช่วยคนจน แบบไม่ดูตาม้าตาเรือว่า ก่อนหน้าที่จะจน คนๆนั้นขยันทำงานหรือเปล่า ?  หรือวันๆหนึ่งเอาแต่ทอดหุ่ย  คนที่ถูกเก็บภาษีเขาไม่อยากจะให้รัฐมาเก็บเงินของเขาไปให้คนจนแบบไม่ดูประวัติ ถ้าจะให้เขาจะเลือกให้เองตามที่เขาพอใจ ฟังๆดูแล้ว แนวคิดของอาจารย์โนซิคก็มีทั้งที่มีเหตุมีผล และที่ฟังดูแล้วออกจะใจร้ายที่ไม่ต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลคนยากลำบาก แต่ปล่อยให้ผู้คนในสังคมใช้เสรีภาพบริจาคเงินกันเอาเอง  ซึ่งเราคงจะได้คุยกันในประเด็นนี้ต่อไปคราวหน้าว่า อาจารย์โนซิคเขามีข้อแก้ตัวหรือมีเหตุผลสนับสนุนการปล่อยให้คนใช้เสรีภาพช่วยเหลือกันเอง

แต่ที่แน่ๆเห็นได้ชัดคือ เขาเป็นนักคิดที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลอย่างยิ่ง จะเรียกเขาว่าเป็นพวกเสรีนิยม ก็คงจะไม่พอ เพราะจริงๆแล้ว รากฐานความคิดของอาจารย์รอลส์ก็เป็นเสรีนิยมเหมือนกัน แต่เป็นเสรีนิยมที่เน้นความเสมอภาค ในวงวิชาการเขาเรียกว่า “egalitarian liberalism” ส่วนของโนซิคที่เน้นเสรีภาพมากกว่าเสรีนิยมทั่วไป เลยต้องเรียกเขาว่าเป็นพวก “libertarian” เพื่อให้แตกต่างจาก “liberal” เฉยๆ  ส่วนภาษาไทย บางคนใช้คำว่า “อิสระนิยม” เพื่อให้ต่างจาก “เสรีนิยม” ใครตั้งอะไรที่ดีกว่านี้ได้ ก็ช่วยแชร์กันมาหน่อยนะครับ จักเป็นพระคุณยิ่ง