posttoday

เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (3)

06 มิถุนายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************

ใครนะที่เป็นผู้สร้าง “วงจรอุบาทว์” ให้กับการเมืองไทย?

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็คือ “ฐานอำนาจง่อนแง่น” แม้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารก็ตามที ความง่อนแง่นนี้เป็นผลมาจากการขาดความเคารพศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล อันเกิดจาก “ความผิดหวัง” ในการบริหารประเทศไปสู่เป้าหมายต่างๆ ที่ผู้ปกครองมักจะ “วาดฝัน” ให้กับประชาชนจนเหลือล้น แต่พอปกครองไปสักระยะหนึ่งก็ประสบความล้มเหลว ทั้งยัง “ฝากรอยแผล” หรือสร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับการเมืองการปกครองของประเทศ อย่างเช่น “วงจรอุบาทว์” ในการเมืองไทย

นายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารมักจะใช้กองทัพเป็นฐานค้ำจุนอำนาจ โดยเชื่อมั่นว่าจะทำให้ตนเองมีความมั่นคงในตำแหน่งสูงสุดนั้น ตัวอย่างแรกก็คือการขึ้นสู่อำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังการรัฐประหาร 2490 ก็มีการปูนบำเหน็จแก่นายทหารทุกระดับอย่างเอิกเริก พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นอมินีที่นำการปฏิวัติได้รับตำแหน่งเป็นจอมพล รวมทั้งลิ่วล้อบริวารที่ได้รับการอวยยศอีกจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการแจกจ่ายที่ดินที่ทำกินให้แก่นายทหารในระดับต่างๆ ลดหลั่นกันไป (ว่ากันว่าโฉนดที่ดินในบางพิ้นที่ของกรุงเทพมหานครเป็นชื่อนายทหารนับร้อยรายจำนวนหลายร้อยไร่) มีการเพิ่มงบประมาณอย่างมหาศาลให้แก่สามเหล่าทัพ รวมถึงกรมตำรวจที่ส่งลูกเขยของจอมพลผินคือ พล.ท.เผ่า ศรียานนท์ ไปคุมและสร้างให้ใหญ่โต (สื่อในสมัยนั้นเรียกว่า “กองทัพตำรวจ”) แล้วปรับเปลี่ยนยศเป็นพล.ต.อ.มีการสร้างรัฐวิสาหกิจให้ทหารใหญ่ๆ ไปเป็นประธานและกรรมการ มีการให้สัมปทานแก่นายทุนที่เป็นพรรคพวกหรือยอมจ่ายใต้โต๊ะ

นายทหารหลายคนมี “หุ้นลม” อยู่ในธนาคารและบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อหวังว่า “ระบบร่วมอยู่ร่วมกิน” นี้จะทำให้นายทหารทั้งหลายมีความจงรักภักดีต่อตัวผู้นำ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์

พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายทหารที่มี “มุมมอง” แตกต่างไปจากกลุ่มของ จอมพล ป. มากพอควร นั่นก็คือการสร้างบทบาทใหม่ของทหารในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่จอมพล ป.ยังมี “รอยบาป” ในเรื่องนี้ในฐานะผู้นำฝ่ายทหารในการลดทอนอำนาจสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ใน พ.ศ. 2475 ที่สุด พล.อ.สฤษดิ์ ที่ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็โค่นล้ม จอมพล ป. ที่มีฐานในกองทัพง่อนแง่น

แม้จะมีฐานทางเศรษฐกิจคือกลุ่มธุรกิจ “บ้านราชครู” ค่อนข้างแน่นหนา แต่ก็สู้ฐานทางทหารคือ “สวนรื่นฤดี” นั้นไม่ได้ จอมพลสฤษดิ์ ก็ยังเลี้ยงดูทหารเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดี ภายใต้ระบอบ “นายทุนขุนศึก” ที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. ก็มาเสริมด้วยระบอบ “พ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ” ที่ จอมพลสฤษดิ์ สร้างขึ้นเอง ซึ่งระบอบนี้ไม่ใช่แค่การโปรยปรายประโยชน์สุขให้กับทหารด้วยกันแล้ว ยังโปรยปรายไปยังประชาชนภายใต้ “เมกะโปรเจคต์” ที่ไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ไทยยอมเป็น “บริวาร” ของสหรัฐเพื่อร่วมกันต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเซียอาคเนย์ ท่ามกลางภาวะสงครามเย็นที่กำลังโหมกระพืออยู่ในช่วงเวลานั้น

“ระบอบสฤษดิ์” ได้สร้างจุดเด่นทางประวัติศาสตร์ให้กับการเมืองไทย ว่าเป็นยุค “เผด็จการสุดขั้ว” อย่างเปิดเผย (แตกต่างจากยุคจอมพล ป. ที่เป็นเผด็จการผสมประชาธิปไตย โดยที่ใช้เผด็จการแบบแอบๆ ซ่อนๆ กำจัดศัตรูทางการเมืองและสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันก็พยายามแง้มหน้าต่างให้มีบรรยากกาศของประชาธิปไตยบ้าง เช่น เสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์และพรรคการเมือง) ความเด็ดขาดเข้มแข็งของจอมพลสฤษดิ์เป็นที่ “ประทับใจ” ของประชาชนยุคนั้น จนมีการเล่าขานในทางที่ชื่นชมว่าทำให้บ้านเมืองสงบสุขราบรื่น พวกอาชญากรทั้งหลายกลัว มาตรา 17 กันหัวหด เพราะรัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งประหารชีวิตในอาชกรรมบางอย่างได้ เช่น การวางเพลิง การฆ่าคนตาย และการค้าเฮโรอีน

ทว่าภายใต้ภาพของ “ทหารใจถึง” จอมพลสฤษดิ์ ก็ยังจำเป็นเลี้ยงดูบรรดานายทหารดังที่เคยเป็นมาในสมัย จอมพล ป. “ทหารธุรกิจ” จึงเป็นอีกสาขาอาชีพหนึ่งของนายทหารไทย ซึ่งแผ่รากหยั่งลึกลงไปในทุกแวดวงธุรกิจของประเทศ และเป็นมูลเหตุหนึ่งของการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อควบคุมและรักษาธุรกิจของทหารนั้นด้วย

จอมพลสฤษดิ์ มาเสียชีวิตในขณะที่กำลังรุ่งสุดขีด พร้อมกับอสัญกรรมนั้นบรรดา “ตอ” ต่างๆ ก็ผุดขึ้น ทั้งเรื่องอนุภรรยานับไม่ถ้วน การทุจริตหลายพันล้าน (น่าจะมากกว่านั้น แต่ภายหลังที่มีการสอบสวนและยึดทรัพย์ มีจำนวนทรัพย์สินที่ยึดได้เป็นเงินประมาณ 2,800 ล้านบาท คิดเป็นเงินปัจจุบันก็ต้องคูณด้วย 100) และธุรกิจที่ซ่อนเร้นต่างๆ

โดยที่นายทหารผู้สืบทอดคือ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ยังไม่สามารถลบภาพ “ความเละเทะ” นั้นได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เติบโตภายใต้งบประมาณทางการทหาร เช่น การสร้างฐานทัพ ค่ายทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งมาความแตกในตอนที่มีการชุมนุมขับไล่ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516

แต่ทหารก็ยังไม่สิ้นไร้ไม้ตอก เนื่องด้วยเคยสร้างบุญคุณไว้กับกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจในครั้งที่มีระบบการให้สัมปทานผูกขาด และการร่วมมือกันทำธุรกิจกับทหาร เพราะในการเลือกตั้งปี 2518 เครือข่ายทหารธุรกิจสามารถแอบแฝงเข้ามาในคราบของพรรการเมืองบางพรรค (ชื่อพรรคคล้ายๆ ธงชาติอะไรทำนองนั้น) รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับนักการเมืองหลายๆ กลุ่มที่เคยมีสัมพันธ์กันมาในการ “ทำมาหากิน” ระดับท้องถิ่น

พูดตรงๆ ก็คือกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ในท้องถิ่นที่มีทหาร(รวมถึงข้าราชการอื่นๆ)เป็นผู้อุปถัมภ์ เช่น กลุ่มพ่อค้าของเถื่อนตามเมืองชายทะเลและชายแดน กลุ่มเจ้าพ่อในสินค้าเกษตรในหลายๆ จังหวัด และกลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมายที่มี “คนมีสี” ให้ความคุ้มครอง

ในยุคนี้นี่เองที่ทหารใช้นักการเมืองเป็น “ค้ำถ่อ” กระโดดข้ามความเกลียดชังที่ประชาชนเคยมีต่อทหาร (หลัง 14 ตุลาคม 2516 ทหารต้องระวังตัวมาก เช่น ทหารชั้นผู้น้อยเวลาจะขึ้นรถเมล์ไปทำงานยังต้องใส่ชุดธรรมดาไปก่อนแล้วค่อยไปเปลี่ยนเป็นเครื่องแบบทหารในที่ทำงาน) ให้ไปเกลียดชังนักการเมืองแทน อันเป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองโดยที่ทหารไม่ได้ตั้งใจ และเป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้ทหาร “มีอำนาจเหนือ” นักการเมืองมาจนทุกวันนี้

นักการเมืองได้กลายเป็น “กระถางธูป” ให้กับทหารมาตั้งแต่บัดนั้น

*******************************