posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่หก): เยียวยาถ้วนหน้า 3,000 ยุติธรรมทำได้ หาก...!

25 พฤษภาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร         

********************

ความเดิมจากตอนก่อนๆ: มีการตั้งคำถามขึ้นในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ลีถึงเกณฑ์การจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณแบบไหนถึงจะเป็นที่พอใจแก่ทุกคนในหมู่บ้าน ? ให้ทุกคนแสดงความต้องการของแต่ละคนออกมา ก็อาจจะไม่ลงตัว เพราะคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะ ความถนัด ความสามารถ ฯลฯ ครั้นจะใช้เสียงข้างมากตัดสิน เสียงข้างน้อยก็อาจจะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ฯลฯ

มีอาจารย์ฝรั่งชาวอเมริกันท่านหนึ่งชื่อ จอห์น รอลส์ เสนอทางออกที่เขาคิดว่าเป็นคำตอบที่ทุกคนจะยอมรับได้และทุกคนจะเห็นว่าเป็นเกณฑ์ที่ยุติธรรม โดยเขาเสนอให้แต่ละคนลองสมมุติตัวเองไปอยู่ใน “จุดเริ่มต้น” ที่ยังไม่มีสังคม ยังไม่มีกฎหมาย กติกาใดๆ เพื่อจะได้มาตั้งต้นกันใหม่ว่า หาก “สามารถ” กำหนดกติกากันใหม่ได้ เราจะกำหนดมันอย่างไร  และนอกจากจะสมมุติว่ามาอยู่ที่ “จุดเริ่มต้น” และอาจารย์รอลส์ยังให้เราแต่ละคนสมมุติว่า เราไม่รู้ว่าเราจะเกิดมาในครอบครัวรวยหรือจน จะฉลาดหรือโง่ ฯลฯ นั่นคือ ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเราเลย

ซึ่งอาจารย์รอลส์ตั้งชื่อไว้แสนจะโรแมนติกว่า “ม่านแห่งความไม่รู้ อาจารย์รอลส์ยังให้เรายังมีความสามารถในการใช้เหตุผล และให้คิดอยู่ภายใต้กรอบที่ว่า ทรัพยากรในสังคมมีพอประมาณ ไม่มากไปไม่น้อยไป  และอาจารย์รอลส์เชื่อว่า เมื่อแต่ละคนในสถานการณ์สมมุติที่ว่านี้คิดหากฎกติกาที่ยุติธรรมสำหรับตัวเองออกมาได้แล้ว ผลลัพธ์มันจะเหมือนกัน และนั่นก็จะเป็นกฎกติกาที่ยอมรับกันได้และยุติธรรมด้วย

สองตอนที่แล้ว ได้มีผู้อ่านสองท่านได้สมมุติเป็นลูกบ้านของผู้ใหญ่ลีและได้ลองตอบมาแล้วว่ากติกาที่ตนคิดได้มีหน้าตาอย่างไร  แต่ทั้งสองท่านนั้นคิดในเชิงสมมุติว่าตนจะเกิดมาซวย คือ โง่ จน เจ็บอะไรแบบนั้น และทั้งสองท่านเห็นว่า  หากบังเอิญ ตนไปอยู่ในสังคมจริงๆแล้ว เกิดตกทุกข์ได้ยากขึ้นมา กติกาที่เป็นธรรมก็คือ รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือตน หากตนไม่ซวย ก็ยินดีจะให้เก็บภาษีตนไปช่วยคนที่ลำบากที่รอลส์เรียกว่า “the least advantage” ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะตัวเองใจบุญสุนทรทาน แต่คิดในแง่ว่า หากตนเกิดซวย ก็จะได้รับการเยียวยาเช่นกัน ไม่ได้คิดเผื่อคนอื่น แต่คิดเผื่อตัวเองยามซวยเท่านั้น                        

ทฤษฎีอาจารย์รอลส์ยอมรับความเหลื่อมล้ำได้ หากคนลำบากมากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

และกรณีของความซวยขณะนี้ ก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดที่ทำให้การทำมาหากินต้องหยุดชะงัก คนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน ทีนี้ตามทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ การนำภาษีประชาชนมาจัดสรรเยียวยาช่วยเหลือ “ผู้ลำบากที่สุด” ย่อมถือว่าเป็นกติกาที่ทุกคนยอมรับได้ หากทุกคนแต่ละคน

“ลองจินตนาการว่า หากตัวเองยังไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ในสถานะอย่างไร (เป็นข้าราชการที่ยังได้เงินเดือนปกติในช่วงวิกฤตโรคระบาด หรือเป็นนักธุรกิจที่มีทรัพย์สินสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก หรือเป็นคนหาเช้ากินค่ำ รับจ้าง ตกงาน ฯลฯ  และหากแต่ละคนได้ใช้เหตุผล อาจารย์รอลส์เชื่อว่า ทุกคนแต่ละคนย่อมจะวางกติกาไว้ล่วงหน้าว่า หากตนลำบากมาก (the least advantage) รัฐบาลควรนำเงินภาษีอากรมาจัดสรรช่วยตน แต่ถ้าบังเอิญตัวเองไม่ลำบากมาก ก็ยอมรับที่จะให้นำเงินภาษีนั้นไปช่วยคนที่ลำบากมาก”

คราวที่แล้ว ผู้อ่านท่านหนึ่งได้ใช้ทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์วิเคราะห์ข้อเสนอที่ว่า “รัฐบาลควรเยียวยา 3,000 บาททุกคนถ้วนหน้า” และยืนยันว่า การช่วยแบบถ้วนหน้านั้นไม่ยุติธรรม เพราะบางคนไม่ควรได้รับการช่วยเหลือกลับได้ แทนที่จะแจกถ้วนหน้า ควรจะนำเงินที่ไปให้กับคนที่ไม่ควรได้ไปเพิ่มให้กับคนที่ลำบากมากน่าจะยุติธรรมกว่า

ขณะเดียวกัน มีผู้อ่านถามมาว่า อะไรคือดัชนีชี้วัดว่า ความลำบากมาก (the least advantage) ? อาจารย์รอลส์จะตอบว่า คนที่ลำบากมากคือ คนที่ขาดสิ่งที่เขาเรียกว่า “primary goods”  ซึ่งประเด็นเรื่อง “primary goods” นี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักวิชาการฝรั่ง เพราะฝรั่งเขาคิดมาคิดเยอะ   แต่เราคงยังไม่ต้องแอดวานซ์ขนาดนั้น

เอาเป็นว่า “primary goods” ถ้าเอาแบบง่ายๆ แบบพูดภาษาบ้านเราก็คือ ความจำเป็นพื้นฐาน แต่ความจำเป็นพื้นฐานนี่คืออะไร ? การจะดูว่าอะไรคือ “ความจำเป็นพื้นฐาน” อาจจะต้องพิจารณาภายใต้บริบททางเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศด้วย ในประเทศที่พัฒนามากแล้ว “primary goods” อาจจะต่างจากประเทศที่ยังไม่พัฒนา

แต่กระนั้น พวกที่เชื่อในความเป็นสากลของ “primary goods” อย่างอาจารย์รอลส์ที่มีฐานของความเป็นเสรีนิยม จะยืนยันว่า ไม่ว่าสังคมระดับไหน “primary goods” หากคนใน “จุดเริ่มต้น” (original position) ใช้เหตุผลไตร่ตรองแล้ว เขาย่อมจะต้องการของดีพื้นฐานสำหรับตัวเองดังต่อไปนี้คือ “สิทธิเสรีภาพและโอกาสต่างๆ รายได้และทรัพย์สิน”   (แต่กระนั้น อาจารย์รอลส์ก็เห็นว่า เสรีภาพอาจจะไม่สำคัญ หากการดำเนินชีวิตของผู้คนทั้งหมดในสังคมยังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ)

สมมุติว่าเราลองใช้ดัชนีชี้วัดความลำบากมาก (the least advantage index) ของอาจารย์รอลส์ในกรณีวิกฤตโรคระบาดในสังคมไทยขณะนี้เราจะพบว่า คนที่หมดสิทธิ์ทำมาหากิน ขาดเสรีภาพในการทำมาหากิน ขาดรายได้ ไม่มีทรัพย์สิน ย่อมเข้าข่าย “คนลำบากมาก” ดังนั้น คนที่สมควรได้รับการเยียวยาที่สุดก่อนใครเลยคือ “คนไม่มีงานทำ ขาดโอกาสที่จะหางานใหม่ ไม่มีเงินออม” นั่นเอง

ที่จริง ปัญหาในบ้านเราไม่ได้อยู่ที่เกณฑ์ เท่ากับปัญหาในการตามหาและพิสูจน์ทราบว่า ใครคือคนที่เข้าเกณฑ์ เพราะระบบฐานข้อมูลยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน  ที่จริงภายใต้วิกฤต รัฐบาลก็ควรเปลี่ยนให้เป็นโอกาสเสียเลย นั่นคือ ใช้เป็นโอกาสในการจัดระบบฐานข้อมูลให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด เพื่อที่จะได้รู้ว่า จะกำหนดนโยบายปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปีที่คุยไว้ได้ถูกต้องเหมาะสมอย่างไร

ขณะเดียวกัน ต่อประเด็นการเยียวยาถ้วนหน้า 3,000 บาทที่คราวที่แล้ว ท่านผู้อ่านท่านหนึ่งได้ชี้ว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่ยุติธรรม แต่ถ้าเราจะช่วย “หามุม” ในทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์ที่จะเห็นชอบในการให้เงินเยียวยาถ้วนหน้า 3,000 บาท  ก็หาได้อยู่ !

ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่หก): เยียวยาถ้วนหน้า 3,000 ยุติธรรมทำได้ หาก...!

นั่นคือ ถ้าหากเราพิจารณาหลักการประการหนึ่งของเขาที่ว่า ความไม่เท่าเทียมกันในการจัดสรรทรัพยากรจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ก็ต่อเมื่อการจัดสรรอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ลำบากมากในสังคม  นั่นคือ ถ้าจัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน คนลำบากมากจะได้ประโยชน์น้อยกว่าจัดสรรอย่างไม่เท่าเทียมกัน ตัวอย่างคือ  ถ้ารัฐบาลจัดสรรเงินให้ทุกคนเท่าๆกัน เช่น ไม่ว่ารวยหรือจน ได้ 3,000 บาท

แต่ถ้าจัดสรรให้นักธุรกิจฝีมือดีผ่านการส่งเสริมการลงทุน นักธุรกิจหรือธุรกิจนั้นอาจจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น มีการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียน คนลำบากมากอาจจะได้เงินมากกว่า 3,000 แต่แน่นอนว่านักธุรกิจคนนั้นก็จะรวยมากขึ้นไปอีก แต่คนลำบากมากก็จะมีฐานะดีขึ้นด้วย แต่ช่องว่างอาจจะห่างกันมากด้วย แต่คนระดับล่างไม่ได้จะลำบากมาก เพียงแต่จะไม่พอใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่อาจารย์รอลส์จะบอกว่า ความเหลื่อมล้ำแบบนี้ยุติธรรมยอมรับได้ เพราะถ้าจะให้เสมอภาคถ้วนหน้ากันหมด ก็จะไม่มีใครมีแรงจูงใจทำอะไร เพราะทำไปแล้ว ก็จะถูกเกลี่ยให้เท่ากันอยู่เสมอ ไม่รู้จะทำมากหรือคิดขยายธุรกิจไปทำไม

ทีนี้ เราอาจจะนำหลักการที่ว่านี้มาปรับใช้ในการให้ทุกคนถ้วนหน้า 3,000 บาทได้ นั่นคือ หากให้ทุกคนโดยไม่ต้องพิสูจน์ความลำบากมาก  และคนรวยมีจำนวนน้อยกว่าคนจนอยู่แล้ว สมมุติว่า คนทั้งประเทศมี 1,000 คน เป็นคนรวยเสียร้อยละ 1 ก็คือ 10 คน คนชั้นกลางร้อยละ 5  นั่นคือ 50 คน ที่เหลือเป็นคนลำบากมากคือ 940 คน ทีนี้ หากมีปัญหาในการตรวจสอบพิสูจน์ 940 คน นั่นคือ ไม่สามารถเยียวยาได้ครบ 940 คนได้ง่ายและรวดเร็ว

การแจกแบบเหวี่ยงแหถ้วนหน้า ย่อมทำให้ 940 คนได้ครบทุกคนแน่ๆ  แต่คนรวยและคนชั้นกลาง 60 คนก็จะได้ไปด้วย  ซึ่งอาจจะดูว่าไม่ยุติธรรม เพราะไปช่วยเหลือคนที่ไม่สมควรช่วย และแม้ว่า ดูอย่างผิวเผินจะเป็นการแจกเงินอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถ้ามองลึกลงไป มันเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมกัน เพราะทำให้คนรวยและคนชั้นกลาง “มีมากขึ้นโดยไม่จำเป็น” ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีก แต่ถ้าช่วยแบบไม่เหวี่ยงแห คนจำนวนหนึ่งใน 940 ที่ตกสำรวจหรือมีปัญหาการพิสูจน์ทราบก็จะลำบากมากที่สุด

ดังนั้น การให้คนรวย คนชั้นกลางได้อานิสงส์ไปด้วยเพื่อให้คนลำบากมากได้รับการเยียวยาอย่างแน่นอน นั่นคือ ให้ทุกคนได้เท่ากันหมด เพื่อให้คนลำบากมากทุกคนได้  ย่อมยุติธรรมกว่าการหวังให้คนลำบากมากได้มากกว่า แต่ไม่สามารถให้คนลำบากมากได้ครบทุกคน อย่างนี้ย่อมจะเป็นสิ่งที่ยุติธรรมกว่าการปล่อยให้คนลำบากมากจำนวนหนึ่งอดตายไม่ใช่เหรือ ?

และถ้าคำนวณเม็ดเงิน สมมุติว่า ต้องการแจกแบบไม่เหวี่ยงแห นั่นคือ ต้องการให้เฉพาะ 940 คนๆละ 5,000 บาท จะต้องใช้เม็ดเงินทั้งสิ้น 4,700,000 บาท  แต่ถ้าให้แบบเหวี่ยงแหคนละ 3,000 บาท ก็จะตกเป็นเงิน 3,000,000 บาท แม้ว่าการจ่ายแบบเหวี่ยงแห จะประหยัดกว่า และคนลำบากมากก็จะได้น้อยลง แต่คนลำบากมากทุกคนจะได้ไม่ตกหล่น  อย่างนี้มันก็อยู่ที่ว่า คนลำบากมากส่วนใหญ่ที่ไม่ตกสำรวจจะยอมให้ใช้นโยบายเหวี่ยงแหเพื่อช่วยเหลือคนลำบากมากแบบตนทุกคนหรือไม่สนใจ ?

แต่ถ้าคิดตามทฤษฎีอาจารย์รอลส์ภายใต้แนวความคิด “จุดเริ่มต้น ม่านแห่งความไม่รู้และการคิดอย่างมีเหตุมีผล” คนลำบากมากที่ไม่ตกสำรวจจะยอมรับที่จะได้เงินน้อยลงแต่ให้กระจายไปถึงคนลำบากมากทุกๆคน เพราะจะคิดเผื่อว่าถ้าตัวเองอยู่ในสภาพนั้นก็คงจะยากให้มีนโยบายถ้วนหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องให้แน่ใจว่า ช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแหนี้ ส่งผลไปถึงคนลำบากมากทุกคนได้แน่นอน  ไม่ได้ทิ้งใครไว้เลย

ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ การอธิบายให้สังคมเข้าใจและมีเหตุมีผลกว่าที่จะเสนอมาแบบลอยๆ คือ มันต้องมีฐานมีทฤษฎีในการคิดวิเคราะห์ แต่อย่างที่กล่าวไปในคราวที่แล้วว่า ต่อให้เยียวยาแบบเหวี่ยงแห ก็ยากที่จะครอบคลุมคนลำบากมากได้หมดทุกคน เพราะคำถามคือ เยียวยาแบบเหวี่ยงแหนี้ ใช้อะไรเป็น เกณฑ์ ? บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือลงพื้นที่เดินแจกไปทุกหย่อมหญ้า เท่ากับเป็นการสำรวจสำมโนประชากรใหม่เสียเลย !?