posttoday

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (3)

14 พฤษภาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***********************

ในราวปี 430 ก่อนคริสตกาลหรือประมาณเกือบสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว ได้เกิดโรคระบาดใหญ่ในเอเธนส์ ผู้คนล้มตายไปหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด ที่ตายๆไปเยอะมาจากการที่โรคกลับมาระบาดซ้ำสองภายในหนึ่งปี และโรคระบาดนี้เมื่อใครติดมักจะทรมานและตายภายในเจ็ดวัน แต่ที่ติดแล้วรอดก็มี ได้แก่ ธูซิดิดีส ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์สงครามเพโลพอนนิส” และได้บันทึกเหตุการณ์โรคระบาดที่เอเธนส์ไว้ด้วย เพราะโรคระบาดเกิดขึ้นปีหนึ่งให้หลังจากที่เอเธนส์เริ่มทำสงครามกับสปาร์ตา

จากการที่ไม่รู้วิธีการรักษาโรคนี้ หันไปบวงสรวงเทพเจ้าต่างๆตามความเชื่อก็ไม่ได้ผล ผู้คนเริ่มสงสัยว่า ตกลงเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ ? หรือไม่ก็รู้สึกว่า เทพเจ้าทอดทิ้งพวกเขาไปแล้ว และจะกราบไหว้บูชาบวงสรวงไปทำไม หากไม่มีเทพเจ้าองค์ไหนจะช่วยได้ อีกทั้งวิหารที่ผู้คนแห่มาทำพิธีบวงสรวงก็กลับกลายเป็นสถานที่ที่น่าทุกขเวทนาอย่างแสนจะบรรยายได้ เพราะบรรดาผู้คนที่หลบลี้หนีมาจากชนบทต่างมาอาศัยอยู่ในวิหาร ไปๆมาๆวิหารเลยกลายเป็นที่มีคนนอนตายเกลื่อนไปหมด หรือไม่ก็นอนรอความตาย

และยิ่งเอเธนส์กำลังอยู่ในช่วงที่ทำสงครามกับสปาร์ตาแล้วยังแถมเกิดโรคระบาดซ้ำเข้าไปอีก เมื่อบูชาขอให้เทพเจ้าช่วยให้หายจากโรคระบาดไม่เป็นผล ผู้คนก็พากันคิดไปว่าเทพเจ้าหันไปเข้าข้างสปาร์ตา และแถมยังมีเทพยากรณ์จากอพอลโล (Apollo) ผู้เป็นเทพแห่งโรคและการแพทย์ที่เคยให้นิมิตไว้ว่า ตัวพระองค์จะอยู่ข้างสปาร์ตา หากสปาร์ตาจะสู้อย่างเต็มสรรพกำลังที่มีอยู่ และได้มีนิมิตเตือนมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยว่า จะเกิดสงครามกับชาวสปาร์ตา และสงครามจะนำโรคระบาดมาด้วย

แม้ว่า ธูซิดิดีส จะบันทึกเล่าถึงความคิดความเชื่อของผู้คนเอเธนส์ต่อเรื่องโรคระบาดที่เชื่อมโยงกับอพอลโล แต่ตัวเขาเองกลับมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากคนยุคนั้นมาก และดูจะมีวิธีคิดแบบคนสมัยใหม่เลยด้วยซ้ำ เพราะเขาให้ความเห็นว่า การที่ผู้คนคิดไปเช่นนั้นเพราะผู้คนงมงาย !

ส่วนมุมมองของเขาต่อเรื่องโรคระบาดก็อิงอยู่กับแนวคิดทางการแพทย์ในสมัยนั้น อันได้แก่ ทฤษฎีการแพทย์ของฮิปโปเครติส (Hippocrates ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการแพทย์) โดยธูซิดิดีสพยายามรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆผ่านการที่ตัวเขาเข้าไปสังเกตการณ์โดยตรงด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งก็เป็นระเบียบวิธีของเขาในการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ในสงครามอยู่แล้ว

ในบรรดาสิ่งต่างๆที่เขาไปสังเกตการณ์ เขาพบว่า พวกนกและสัตว์ที่กินศพได้หายไป ไม่มากินศพเหมือนที่ผ่านมาในช่วงที่ยังไม่เกิดโรคระบาด ธูซิดิดีสตั้งเป็นคำถามไว้ว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่บรรดาสัตว์เหล่านั้นตายหลังจากกินซากศพผู้ติดเชื้อหรือไม่ยอมกินศพคนตายที่ติดเชื้อ นับว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่มีเหตุมีผลอยู่ในระดับหนึ่งทีเดียว แต่หลังจากที่เขาเฝ้าเพียรสังเกตอยู่พักใหญ่ เขาพบว่า พวกนกไม่ได้ตาย แต่มันไม่ได้สนใจที่จะมากินซากศพ

เขายังบันทึกไว้เกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดที่มีต่อพฤติกรรมทางสังคมของผู้คน นั่นคือ สิ่งที่เป็นพฤติกรรมของผู้คนในเอเธนส์ที่เกิดขึ้นตามมาจากสภาพสิ้นหวังในชีวิตก็คือ การทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่สนใจกฎหมายบ้านเมือง ไม่กลัวบทลงโทษใดๆ เพราะคิดว่า ยังไงๆก็จะต้องตายอยู่แล้ว คนที่ยังพอมีสุขภาพร่างกายดีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าวันนี้พรุ่งนี้จะติดเชื้อร้ายนี้ไหม ก็รีบหาความสุขใส่ตัว ใช้เงินซื้อความสุขตามที่ต้องการ เงินทองที่หามาได้ก็ไม่รู้จะเก็บไปทำไม แต่กลับกลัวที่จะไม่ทันได้ใช้

ส่วนคนบางคนที่ไม่ค่อยมีสตางค์อยู่ดีๆก็เกิดรวยขึ้นมาก็มี เพราะญาติพี่น้องหรือพ่อเสียจากโรคระบาด จึงทิ้งมรดกไว้ให้ ผู้คนไม่แคร์ภาพลักษณ์ของตนเองในสังคมอีกต่อไป เพราะชื่อเสียงเกียรติยศไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไปแล้ว พวกเขาจึงทำทุกอย่างที่อยากทำ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้คนมีพฤติกรรมที่ไม่สนภาพลักษณ์หรือชื่อเสียง เป็นเพราะการระบาดติดเชื้อกันได้ง่ายๆ คนที่ไปดูแลคนป่วยคือคนที่จะเปราะบางที่สุดที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้น คนที่ยังไม่มีอาการก็เลยกลัว ไม่มีใครจะยอมเสี่ยงไปดูแลพยาบาลคนป่วยอีกต่อไป แม้ว่าจะเป็นญาติพี่น้องของตนก็ตาม มิพักต้องพูดถึงคนที่ไม่ใช่ญาติ ส่งผลให้คนป่วยต้องนอนรอความตายตามลำพัง

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (3)

ผู้คนล้มตายราวกับใบไม้ร่วง จนต้องเอาศพมาสุมกองๆทับกัน แล้วต้องปล่อยให้เน่าไปเอง หรืออย่างดีก็มีคนมาจับโยนลงไปในหลุมใหญ่ๆที่ขุดเอาไว้สำหรับทิ้งศพ หรือบางทีคนที่แบกศพมา พอเจอกองไฟที่กำลังเผาศพใครก็ไม่รู้อยู่ ก็จะโยนศพไปในกองไฟนั้นดื้อๆ และก็รีบจากไป ทำให้ผู้คนที่กำลังเผาศพอยู่นั้น ต้องรีบไปหาฟืนหรือเชื้อไฟมาสุมเพื่อไม่ให้ไฟมอดจากการที่มีคนเอาศพมาโยนทิ้งกันมากเกินกำลังไฟ

ธูซิดิดีสได้บันทึกว่า คนที่โชคดีคือคนที่สามารถรอดชีวิต แม้จะติดเชื้อมาก็ตาม เข้าใจว่า คงมีอาการ แต่ไม่ลุกลามไป จึงรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ซึ่งหนึ่งในคนแบบนี้ก็คือ ตัวธูซิดิดีสเอง ที่ตัวเขาเองได้บันทึกไว้ว่า ตัวเขาก็ติดเชื้อแต่รอดมาได้ ถ้าเป็นสมัยใหม่หน่อยก็คงจะบอกว่า เขาได้พัฒนาภูมิต้านทานในตัวของเขาขึ้นมาได้ และธูซิดิดีสบอกว่า คนที่มีภูมิต้านทานแล้วก็จะเป็นกลุ่มคนหลักที่ไปดูแลคนที่ล้มป่วยในเวลาต่อมา ส่วนคนที่ยังไม่มีอาการอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือยังไม่ติด ก็จะหลบลี้หนีหน้าไม่ไปช่วยดูแลคนป่วย เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองจะไปติดเชื้อเข้าหรือเปล่า

การที่มีคนประเภทนั้นที่ไปช่วยดูแลคนป่วย ก็แปลว่า คนเหล่านั้นย่อมจะต้องมีอาการมาก่อนแน่ๆ จะมากหรือน้อย แต่ก็รอด ซึ่งก็น่าคิดว่า คนสมัยนั้นรับรู้เข้าใจถึง การพัฒนาภูมิต้านทานในร่างกายแล้วหรืออย่างไร ถึงกล้าไปดูแลคนป่วย ? เพราะไม่งั้นแล้ว การไปดูแลคนป่วยย่อมจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างยิ่ง อีกทั้งพวกเขาคงคิดว่า ถ้าเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก ซึ่งโรคระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ ก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดในโลกกล้ายืนยันฟันธงว่า คนที่ติดเชื้อและเป็นแล้ว จะไม่กลับมาเป็นอีก !!!

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (3)