posttoday

แก้หนี้สินครัวเรือนฐานรากอย่างยั่งยืน ต้องรวมหนี้ชาวบ้านเป็น “1 ครัวเรือน 1 สัญญา”

14 พฤษภาคม 2563

โดย...อภิชาติ โตดิลกเวชช์ 

*******************

ปัญหาหนี้สินครัวเรือนถือเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติทุกรัฐบาลพยายามแก้ไข คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งมี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ จึงมอบหมายให้ คณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ วุฒิสภา ไปศึกษาหาทางทางแก้ไขปัญหา ล่าสุดได้เสนอรายงานผลการศึกษา “การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชน ในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน” ให้คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ค.เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

รายงานผลการศึกษาดังกล่าวได้ระบุถึงการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในชนบทช่วงปี 2558 – 2562 ซึ่งเป็นงานที่กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ ได้แก้ปัญหาสำเร็จในระดับหนึ่งมาแล้ว จากปัญหาการกู้ยืมเงินกองทุนต่างๆกว่า 132,125 แห่ง วงเงินกู้ยืมมากกว่า 216,320 ล้านบาท บางคนกู้เป็นหนี้กองทุนชุมชนถึง 3 – 4 แห่ง และนำไปสู่วงจรเป็นหนี้หมุนเวียนจากกองทุนหนึ่งไปอีกกองทุนหนึ่ง และยิ่งมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ประชาชนในชนบทถูกซ้ำเติม จนอยู่ในภาวะวิกฤติไม่มีความสามารถที่จะใช้หนี้ได้

รายงานผลการศึกษาฯฉบับนี้จึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ควรให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปสู่ “1 ครัวเรือน 1 สัญญา” โดยปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนเป็นไปตามกระบวนการของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศจาก 924 แห่ง (ตามหน่วยอำเภอ) ไปเป็น 75,032 แห่ง (ตามหน่วยหมู่บ้าน) โดยจัดสรรงบประมาณให้ “กองทุนหมู่บ้าน” นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเฉพาะภารกิจ กองทุนละ 300,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 22,510 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในชนบทได้อย่างยั่งยืน

รายงานผลการศึกษาฯนี้จะเป็นแผนงานโครงการที่จะช่วยสนับสนุนรัฐบาลในการใช้งบประมาณ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นโอกาสใช้เงินกู้พื้นฟูเศรษฐกิจและเศรษฐกิจท้องถิ่นทั่วประเทศ ท้องถิ่นได้มีการพัฒนาอาชีพ ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ร่วมคิดร่วมทำจัดการกันเอง โดยหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

รายงานผลการศึกษาฯ มีเนื้อหาสาระสำคัญโดยระบุถึงปัญหาใหญ่รอการแก้ไข 4 ข้อหลัก คือ 1.ในปี 2562 หนี้ส่วนบุคคลจากสถาบันการเงินอยู่ในอัตราสูงร้อยละ 79.8 ของ GDP หรือ 13,472,529 ล้านบาท แต่ก็มีแนวโน้มผ่อนคลาย โดยในปี 2558 จากร้อยละ 80.8 มาเป็น ร้อยละ 79.8 ในปี 2562 (ข้อมูล ธปท.)2.หนี้สินภาคครัวเรือนในชนบท จากการกู้ยืมเงินกองทุนต่างๆ เช่น กทบ. (79,604 แห่ง) กองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิต (23,213 แห่ง) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (76 แห่ง) กองทุน กข.คจ. (29,232 แห่ง) รวม 13,2125 แห่ง มีวงเงินให้กู้ยืมมากกว่า 216,320 ล้านบาท

3.หนี้สินภาคครัวเรือนในชนบทมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี โดยในปี 2560 มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ร้อยละ 21.1 ปี 2561 ร้อยละ 21.7 และปี 2562 ร้อยละ 24.6 (พช. : ข้อมูล 924 หมู่บ้าน) 4. การกู้เงินกองทุนชุมชนในหมู่บ้านมีลักษณะดังนี้ 4.1 กู้หลายที่เป็นหนี้หลายทาง บางคนกู้เงินกองทุนชุมชน 3 – 4 แห่ง 4.2 รายได้จากผลผลิตเกษตรไม่สัมพันธ์กับรอบระยะเวลาของการชำระหนี้ 4.3 เป็นการแก้ไขปัญหาแบบผลักภาระไปข้างหน้า โดยแบกรับภาระดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

ในรายงานผลการศึกษาได้สรุปด้วยว่า ชุมชนในชนบทกำลังดำเนินชีวิตสู่วงจรเป็นหนี้หมุนเวียนจากกองทุนหนึ่ง ไปกองทุนหนึ่งในชุมชน ซึ่งเป็นเพียงการประคับประคองสถานการณ์เอาตัวรอด ได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนในชนบทถูกซ้ำเติมจนอยู่ในภาวะวิกฤติจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือด่วน

จึงได้แนะวิธีว่าจะทำอย่างไร 3 ข้อ 1.กรรมาธิการฯ ได้ศึกษาสภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนในชนบท และการบริหารงบตามโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา ของศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ซึ่งเป็นงานที่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบดำเนินการมา 3 ปี (2560 - 2562) 2.มุ่งต่อการจัดการหนี้สินภาคครัวเรือนในชนบท โดยนำเอาหนี้ของสมาชิกของกลุ่ม หรือองค์กรที่มีกับกองทุนหมู่บ้าน กองทุนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกองทุนอื่นๆมาปรับโครงสร้างจากการกู้เงินหลายกองทุนหรือหลายสัญญา เพื่อจัดให้เป็น 1 ครัวเรือน 1 สัญญา และ 3.การจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชนเป็นเครื่องมือ ปรับเปลี่ยนกระบวนการจาก Functional Organization กองทุนหมู่บ้าน กองทุน กข.คจ. กองทุนกข.คจ. กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และกองทุนอื่นๆ

ในรายงานผลการศึกษาฯได้ระบุถึงข้อค้นพบว่าจะต้องดำเนินการ “1 ครัวเรือน 1 สัญญา” ซึ่งจะทำให้ช่วยประชาชนได้จริง กล่าวคือ1.ระหว่างปี 2560 – 2562 การปรับโครงสร้างหนี้ใน 924 หมู่บ้าน มีสมาชิก 39,674 ครัวเรือน ลดหนี้ได้ 605,814,173 บาท และปลดหนี้ได้ 120,332,462 บาท และมี 4 จังหวัด มีค่าเฉลี่ยลดหนี้ต่อรายได้ครัวเรือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 24.6% 2.การปรับหนี้สร้างผลลัพธ์ที่ดี ต่อการจัดการหนี้สามารถชำระหนี้ที่เดียวทำให้จ่ายเงินน้อยลงกองทุนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพและความมั่นคงเพิ่มขึ้น 3.การสื่อสารสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน จนเอาชนะความเชื่อแบบเดิมๆ

กล่าวคือ 3.1 การกู้ คือ การแสดงโอกาส แสดงความมั่นคงและมีเครดิต 3.2 พฤติกรรมการกู้จนผลักภาระไปข้างหน้าเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น 3.3 มีการแปรผลไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเป็นกองทุนหมุนเวียนส่งเสริมประกอบอาชีพทั้งแบบครัวเรือนและ 4.การจัดการเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการจัดการชีวิตประจำวันของสมาชิกถูกนำมาร่วมคิด ร่วมทำอีกครั้งหลังจากจัดการหนี้ เพื่อสร้างเป็นความสามารถเฉพาะและหลักประกันที่มั่นคงในคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

อย่างไรก็ตามในรายงานผลการศึกษาฯนี้ ได้สรุปข้อเสนอแนะ 2 หลักการสำคัญคือ 1.ให้ขยายผลสำเร็จการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือน ตามกระบวนการของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศจาก 924 แห่ง (ตามหน่วยอำเภอ) ไปเป็น 75,032 แห่ง (ตามหน่วยหมู่บ้าน) โดยจัดสรรงบประมาณให้ “กองทุนหมู่บ้าน” นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเฉพาะภารกิจรวมหนี้ของสมาชิกหลายกองทุน ไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา กองทุนละ 300,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 22,510 ล้านบาท (เงินไม่สูญ)

และ 2.จัดสรรงบประมาณเพื่อการบริหาร 800 ล้านบาท ให้ พช. 2.1 การประสานงานและจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชน จำนวน 760 ล้านบาท 2.2 การกำกับ ติดตาม ความโปร่งใสและประสานงานการมีส่วนร่วม 40 ล้านบาท ในฐานะที่เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ก็หวังว่า รายงานผลการศึกษาฯฉบับนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอทางออกในการแก้ปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน