posttoday

อาจไม่เหลือรัฐบาลให้ตั้งคณะรัฐมนตรีได้อีก (1)

09 พฤษภาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

********************************

การเมืองไทยอาจ “รวมศูนย์” อีกครั้งหลังวิกฤติโควิด 19

สำหรับคนที่ชิงชังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทั้งฝ่ายที่เป็นรัฐบาลอยู่ขณะนี้ที่ไม่อยากจะอยู่ในสภาพปริ่มน้ำ(และสำลักน้ำ)ไปเรื่อยๆ แบบนี้ กับฝ่ายที่อยากจะขอพิสูจน์คนไทยอีกครั้งว่าชอบเผด็จการหรือประชาธิปไตยกันแน่ ซึ่งก็คือทั้งสองฝ่ายก็อยากให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพียงแต่ว่ายังมี ส.ส.อีกบางส่วนทั้งในฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ที่ยังเสียดายตำแหน่ง อยากให้อยู่ไปนานๆ จนครบเทอม เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งมันยากลำบากและใช้จ่ายสิ้นเปลืองมาก รวมถึง ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลบางคนก็ยังอยากได้ตำแหน่งในรัฐบาลนี้ เพราะคงมีเวลาอีกไม่มาก

ซึ่งถ้าหากจะมีการปรับ ค.ร.ม.หลังวิกฤติโควิดก็อาจจะเป็นการปรับครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นบ้านเมืองก็อาจจะมีวิกฤติใหญ่อีกรอบให้รัฐบาลแก้ คือความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ที่อาจจะทำให้เกิดวิกฤติการเมืองตามมาด้วย ซึ่งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนี้ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ ในที่สุดก็ต้องใช้บริการของ “สามเหล่าทัพกับหนึ่งสำนักงาน” ทำรัฐประหารดับวิกฤตินั้นแต่ต้นลม

เมื่อสัปดาห์ก่อนในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนได้เขียนถึงปัญหาของการวิ่งเต้นเป็นรัฐมนตรีในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ใน พ.ศ. 2526 จากการได้รู้เห็นด้วยตนเองของผู้เขียนที่ทำงานอยู่กับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของ “ตัณหาราคะ” อันเป็นธรรมดาของการเมืองทั่วไป

แต่พอได้ทราบถึง “แรงบีบ” ของ ส.ส.บางกลุ่มที่จะให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “ต้อง” ปรับ ค.ร.ม.ในครั้งนี้แล้ว ก็ให้นึกถึงการเมืองไทยในยุคสมัยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2518 ซึ่งไม่เกิดขึ้นเฉพาะจากตัณหาราคะของ ส.ส.เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นจากตัณหาราคะของผู้มีอำนาจ ที่อยากโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน ทำลายประชาธิปไตย และฟื้นฟูเผด็จการ

ขอนุญาตท้าวความเป็นความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมืองสักเล็กน้อยแก่ท่านที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อ 40 กว่าปีมานั้น (เพราะคนที่มีอายุ 30-40 ปีในช่วงนี้กำลังจะต้องเข้ามารับผิดชอบประเทศมากขึ้นๆ แต่พวกเขายังขาดสัมผัสของการเมืองในยุคก่อน เพียงแต่ว่าปัญหาของการเมืองยุคก่อนก็ไม่ได้พิสดารไปกว่าการเมืองในยุคนี้มากนัก คือยังอยู่ในวงกลมเดิมที่เรียกว่า “วงจรอุบาทว์” นั่นแล) โดยจะอธิบายเชื่อมโยงการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516ให้เห็นว่าแม้มาถึงวันนี้ ผู้มีอำนาจในบางสถาบันก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และอาจจะกำลังคิดทำบางอย่างเหมือนในอดีตนั้น

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังว่า หลังการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2518 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่ร่างขึ้นภายใต้กระแส “ประชาธิปไตยของปวงชน” ซึ่งมีข้อห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกประเภท นั่นก็คือการป้องกันไม่ให้มีการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ อันเป็นเป้าหมายหลักของการต่อสู้ของนักศึกษาปัญญาชนในวันที่ 14ตุลาคม2516และผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ดูเหมือนจะทำให้ขบวนการต่อต้านทหาร “ลิงโลด” จนเกิดสภาพ “ย่ามใจ” มีการใช้เสรีภาพกันอย่างวุ่นวาย

รัฐบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งก็มีสภาพแบบที่เรียกว่า “จับปูใส่กระด้ง” คือประกอบด้วยพรรคการเมืองจำนวนมาก โดยมีการรวมกันอย่างหลวมๆ เพียงเพื่อจะให้ตั้งรัฐบาลได้ อย่างที่สื่อมวลชนยุคนั้นเรียกว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” เพราะพร้อมที่จะเปลี่ยนขั้วและสร้างพลังต่อรองกับรัฐบาลไม่หยุดหย่อน

แม้ว่าทหารจะ “เสียเหลี่ยม” ไปพอควรที่ถูกนิสิตนักศึกษาขับไล่ออกไปจากการเมือง ในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่ก็เป็นการจำยอมออกไปเพื่อ “เลียแผล” และกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยทหารได้ใช้สถานการณ์ 2 เรื่องในการคืนสู่อำนาจ สถานการณ์แรกก็คือสภาวะความวุ่นวายของบ้านเมืองอันเกิดจาก “ความกร่าง” ของกลุ่มนิสิตนักศึกษา ที่พยายามจะมาเป็นผู้กำหนดนโยบายและควบคุมรัฐบาล

อีกสถานการณ์หนึ่งก็คือการเรียกร้องต่อรองผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่บ่อนเซาะเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พร้อมกันนั้นทหารได้ใช้มวลชนฝ่ายทหาร เช่น กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มอภิรักษ์จักรี ร่วมกับสื่อวิทยุของทหาร รวมทั้งมวลชนที่รัฐบาลในอดีตสร้างขึ้น คือลูกเสือชาวบ้าน ออกเคลื่อนไหวและสร้างกระแสให้ประชาชนเห็นว่า นิสิตนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์และต้องการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ช่วงที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่ท่านมีความทุกข์ทรมานมากที่สุด เพราะท่านต้องคอยแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ หลายเรื่อง นอกเหนือจากการฟื้นฟูประเทศภายหลังการเลือกตั้งนั้นแล้ว ท่านยังต้องมาคอย “สนองตัณหา” ส.ส.ที่มาขอต่อรอง “เอาโน่นเอานี่” ทุกวัน แม้แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีก็มีผู้มาขอให้มีการปรับ เอาคนนั้นออก เอาคนนี้เข้า เรียกว่า “ค.ร.ม.รายวัน”

บางคนมาขอเป็นรัฐมนตรีสักเดือนสองเดือน บอกว่าเพื่อเป็นเกียรติยศชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล บางคนขอสลับกันเป็นกับรัฐมนตรีในกลุ่มคนละ 3-4 เดือน แบบที่เรียกว่า “เวียนเทียน” ทั้งนี้ไม่รวมที่มาขอ “จ๊อบ” หรืองานที่ได้ผลประโยชน์ไปให้พรรคพวก หรือถ้าไม่ได้ก็ขอ “ค่าเลี้ยงดู” เป็นก้อนๆ หรือเป็นรายเดือน ซึ่งมีนับสิบๆ คน

แต่ที่เป็นความน่าสังเวชยิ่งกว่านั้นก็คือ การเคลื่อนไหวของ ส.ส.ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นด้วยสติปัญญาของ ส.ส.เหล่านั้นโดยลำพัง แต่มีข้อมูลยืนยันว่ามีนายทหารใหญ่บางคนเข้ามาเป็น “เจ้ากี้เจ้าการ” ในเรื่องนี้ด้วย (ฟังดูเหมือนแรงบีบให้ปรับ ค.ร.ม.ในตอนนี้อยู่เหมือนกัน ที่มีคนอ้างนายทหารใหญ่ไปก่อความเคลื่อนไหวให้มีการปรับรัฐมนตรีบางคนนั้น) ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองชช่วงนั่นตึงเครียดโดยตลอด เพราะไหนจะสู้กับความวุ่นวายของนักศึกษา และการแก้ปัญหาของประชาชน แต่ยังต้องมาสู้กับคนรอบข้าง คือ ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาล แต่ที่แย่ที่สุดก็คือต้องมาต่อสู้กับทหารที่จ้องโค่นล้มรัฐบาลอยู่ด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สู้กับทหารอย่างไร แล้วทำไมถึงแพ้ โปรดติดตามสัปดาห์หน้านะครับ

*******************************