posttoday

แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด -19

08 พฤษภาคม 2563

โดย...โคทม อารียา

*******************************

คำว่าแรงงานข้ามชาติพอจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย และเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งอาจแบ่งเป็นแรงงานข้ามชาติทั้งที่ทางการรับรองและไม่รับรอง รวมกันมีประมาณ 3 ล้านคน ส่วนแรงงานนอกระบบที่มีสัญชาติไทยนั้น มีนิยามที่ซับซ้อนพอสมควร ILO หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศเสนอให้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานในภาคนอกระบบ + แรงงานนอกระบบในภาคในระบบ + แรงงานนอกระบบในครัวเรือน ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณาโดยสังเขปดังนี้

ก่อนอื่น ILO ให้เริ่มพิจารณาจากสถานภาพการทำงาน ถ้าเป็นนายจ้าง ผู้ทำงานส่วนตัว ผู้ทำงานเป็นกลุ่มตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป และถ้าหน่วยเศรษฐกิจหรือสถานที่ประกอบการเป็นภาคในระบบ ให้ถือเป็นแรงงานในระบบ ถ้าหน่วยเศรษฐกิจเป็นครัวเรือน หรือเป็นหน่วยเศรษฐกิจนอกระบบ หรือเป็นกลุ่มทำงานน้อยกว่า 6 คน ให้ถือเป็นแรงงานนอกระบบ ถ้าสถานภาพการทำงานเป็นผู้ช่วยธุรกิจครอบครัวให้ถือเป็นแรงงานนอกระบบ

ถ้าสถานภาพการทำงานเป็นลูกจ้างที่มีประกันสังคมถือเป็นแรงงานในระบบ ถ้าไม่มีถือเป็นแรงงานนอกระบบ ถ้าไม่ทราบหรือจำแนกสถานภาพการทำงานได้ไม่ชัดเจน ให้ดูว่ามีประกันสังคมไหม หรือมีวันหยุดและลาป่วยโดยได้ค่าจ้างไหม ถ้ามีให้ถือเป็นแรงงานในระบบ ถ้าไม่มีหรือไม่ทราบให้ถือเป็นแรงงานนอกระบบ อย่างไรก็ดี การรวบรวมสถิติของไทยไม่ได้ใช้เกณฑ์ ของ ILO ทั้งหมด ตัวเลขสถิติจึงอาจต่างกันอยู่บ้าง

สถิติเท่าที่พอรวบรวมได้คือ ผู้อยู่ในกำลังแรงงานมี 38.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้มีงานทำ 37.6 ล้านคน และมีผู้ว่างงานหรือรอฤดูกาลน้อยมากเพียง 0.8 ล้านคน แต่พอเกิดวิกฤตโควิด -19 หอการค้าประเมินว่า คนตกงานทั้งในและนอกระบบมีประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งถ้าปัญหายืดเยื้อไป 2-3 เดือน คนตกงานอาจเพิ่มเป็นประมาณ 10 ล้านคน ในบรรดาผู้มีงานทำก่อนวิกฤต 37.6 ล้านคน

แบ่งเป็นแรงงานภาคบริการและการค้าประมาณ 48 % ภาคเกษตรประมาณ 28% และภาคการผลิตประมาณ 24 % หรือแบ่งเป็นแรงงานในระบบประมาณ 16.4 ล้านคน และแรงงานนอกระบบประมาณ 21.2 ล้านคน ในจำนวน 21.2 ล้านคนนี้ 55.5% อยู่ในภาคเกษตร 33.2% อยู่ในภาคบริการและการค้า อีก 11.3% อยู่ในภาคการผลิต มีข้อสังเกตว่า แรงงานในภาคการเกษตรเกือบทั้งหมด (94.6%) เป็นแรงงานนอกระบบ

ในสถานการณ์โควิด-19 เกิดอะไรขึ้นแก่แรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันคงไม่มีสถิติที่แม่นยำใด ๆ และสถานการณ์ก็มีพลวัตอยู่เสมอ จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมอนามัย พอมีข้อมูลเบื้องต้นดังนี้ แรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงมีประมาณ 5 แสนคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกิจการก่อสร้าง

ปัญหาหลักคือไม่มีงานทำ และเงินเก็บก็ไม่มี กลับบ้านก็ไม่ได้และบางคนที่กลับไปก็ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส เมื่อเงินเดือนสุดท้ายใช้หมด บางครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ด้วยกัน 2-3 ครอบครัว ทำให้มีสภาพแออัด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส สภาพไม่แน่นอนต่าง ๆ ทำให้แรงงานข้ามชาติเกิดความกังวลสูง กลัวจะติดเชื้อโควิด -19 กลัวถูกกักตัว 14 วัน กลัวถูกไล่ออกจากที่พัก กลัวตกงานนาน กลัวถูกส่งกลับ ฯลฯ

ในการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่ช่วยได้คือทัศนคติที่ว่า แรงงานข้ามชาติทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจไทย เมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อคนไทยมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจกว่านี้ ก็มีคนไทยหลายคนไปทำงานในต่างประเทศเพื่อหาเงินส่งกลับมาบ้าน แรงงานข้ามชาติก็เหมือนแรงงานไทยในต่างแดนของเมื่อก่อน เราจึงน่าจะเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ และปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติด้วยมาตรฐานเดียวกัน และด้วยเมตตาจิตเหมือนกันกับแรงงานไทย

คราวนี้ขอกลับมาพิจารณาปัญหาของแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 สำหรับแรงงานในระบบนั้นไม่น่าวิตกนัก เพราะมีระบบประกันสังคมและมีระบบการคุ้มครองแรงงานอยู่บ้าง จึงขอมุ่งความสนใจไปที่แรงงานนอกระบบ (รวมแรงงานข้ามชาติด้วยถ้าเป็นไปได้)

แรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่คือแรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีประมาณ 10.5 ล้านคน รัฐบาลมีแผนแจกเงิน 15,000 บาทให้เกษตรกรจำนวน 9 ล้านครัวเรือน ถ้าทำได้ตามเป้าหมายก็นับว่าทั่วถึงพอสมควรทีเดียว และคงจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ อีกทั้งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินที่จะช่วยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจด้วย อย่างไรก็ดี มีหลายคนที่เข้าใจความจำเป็นรีบด่วนของการแจกเงิน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า นอกจากการแจกเงินแล้ว ควรมีการสร้างงานและการพัฒนาทักษะด้านการเกษตรและด้านการถนอม/แปรรูปผลิตผลการเกษตรด้วย ซึ่งจะทำให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างทัศนคติว่า อย่าหวังพึ่งแต่ของฟรี ทำงานแลกเงินย่อมดีกว่า โดยเฉพาะน่าจะสร้างความภูมิใจได้ดีกว่า

ผมอ่านบทความหรือข่าวในเรื่องนี้แล้วชอบใจในบางเรื่อง เช่นเรื่อง ‘ข้าวแลกปลา’ โดยจังหวัดยโสธรร่วมกับสมาคมชาวยโสธร ฝ่ายหนึ่ง และมูลนิธิชุมชนคนไทที่ดูแลชาวเล 5 จังหวัดชายฝั่งอันดามันอีกฝ่ายหนึ่ง และมีกองทัพอากาศ และกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นฝ่ายหนุนช่วย ฝ่ายแรกปลูกข้าวสารหอมมะลิมีคุณภาพแต่ขาดปลา ฝ่ายหลังมีปลาที่จับได้จากทะเลมาทำปลาแห้งแต่ร้านอาหารปิดไม่มีการรับซื้อปลา

ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงแลกเปลี่ยนข้าวกับปลาในอัตรา ข้าว 4 กิโลกรัม แลกปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาหวาน 1 กิโลกรัม โดยกองทัพอากาศอนุเคราะห์เครื่องบินลำเลียงมาขนส่งข้าวและปลาในครั้งนี้

นอกจากนี้ หลายจังหวัดมีการส่งเสริมการปลูกผักชุมชน โดยปลูกที่วัดบ้าง หรือแม้กระทั่งในบริเวณจวนผู้ว่าฯ ก็มี

ในสมัยหนึ่ง เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้สนับสนุนโครงการ ‘เงินผัน’ ให้ชุมชนทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกหนอง คลอง บึง (ปัจจุบันอาจรวมการขุดแก้มลิงด้วย) รวมทั้งการพัฒนาฝายตลอดจนถนนหนทางในชุมชน ยังมีโครงการปลูกป่า การพัฒนาพื้นที่สาธารณะของชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น พื้นที่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักขององค์กรส่วนท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมามักใช้วิธีจ้างเหมาบริการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมน้อย หรือทุกคนอยากให้ใช้เครื่องจักรกลมากกว่าใช้แรงคน ในสมัยนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนอาจต้องเป็นการริเริ่มโครงการที่ใช้เทคโนโลยี และเป็นนวตกรรมของชุมชน ที่ตรงตามความต้องการของชุมชน และให้เม็ดเงินตกอยู่กับชุมชนให้มาก

รัฐบาลที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก การพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องนี้น่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากได้ไม่มากก็น้อย รัฐควรให้การสนับสนุนเพิ่มขึ้น และมีนโยบายที่แยบคายเพื่อให้สินค้า OTOP เป็นสินค้าที่มีเสน่ห์ของท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องสนับสนุนแบบปูพรม หากสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีลักษณะเด่นที่ไม่ซ้ำแบบใคร และมีเรื่องเล่าเบื้องหลังความหายากของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

แรงงานนอกระบบที่อยู่นอกภาคเกษตรมีจำนวนใกล้เคียงกับที่อยู่ในภาคเกษตร คือประมาณ 10.7 ล้านคน มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ใช้บ้านเป็นสถานประกอบการหรือทำงานที่บ้านนั่นเอง และเป็นวิสาหกิจขนาดเล็กที่มีคนทำงานน้อยกว่า 6 คน มีผู้ค้ารายย่อย ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ไม่ค่อยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ แต่ก็เป็นที่พึ่งของคนจนเมืองและเป็นส่วนที่ขาดเสียไม่ได้ของเศรษฐกิจนอกระบบ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งมีการประเมินว่ามีอยู่ประมาณ 2.8 แสนคนในกรุงเทพฯ ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างชาติประมาณ 5 หมื่นคน

เรามีข้อมูลน้อยเกินไปเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตร อีกประการหนึ่ง แรงงานนอกระบบหลายคนทำงานทั้งในและนอกภาคเกษตรแล้วแต่ฤดูกาลและโอกาสการมีงานทำ เมื่อเกิดนโยบายแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือนแก่แรงงานนอกระบบที่ตกงานเป็นเวลา 3 เดือน แก่คน 14 ล้านคน ซึ่งน่าจะครอบคลุมแรงงานนอกระบบนอกภาคการเกษตรได้อย่างทั่วถึง แต่คนที่ลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือมีกว่า 20 ล้านคน

อย่างไรก็ดี จากการลงทะเบียนและเก็บข้อมูลไว้ในระบบ big data ครั้งนี้ น่าจะช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูลมากขึ้นสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ในโอกาสต่อไป

มาตรการแจกเงินอาจจำเป็นเพื่อเยียวยาและแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นการเฉพาะหน้า ในระยะกลาง รัฐบาลแถลงว่ามีการเตรียมงบประมาณไว้ 400,000 ล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก แต่ผมอยากเชิญชวนผู้รู้ในทางเศรษฐศาสตร์และมีใจให้แก่ผู้ใช้แรงงานที่ยากจน ให้ช่วยกันวางนโยบายระยะยาว เพื่อลดจำนวนแรงงานนอกระบบหรือจัดระเบียบให้กลายเป็นแรงงานในระบบให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น

โดยมีเป้าหมายคือให้ (เกือบ) ทุกคนแจ้งรายการภาษีเงินได้แม้ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีมีรายได้ต่ำ ให้ (เกือบ) ทุกคนอยู่ในระบบประกันสังคมเพื่อทำการออม มีรายได้พอยังชีพเมื่อตกงาน และมีเงินบำนาญพอยังชีพเมื่อแก่เฒ่า วิกฤตคราวนี้ทำให้เกิดคำขวัญ เราจะไม่ทิ้งกัน ซึ่งผมตีความว่า ทุกคนจะอยู่ในระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ