posttoday

ช่วยอะไรดี

29 เมษายน 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

**************************

เพื่อนอาจารย์รุ่นใหม่หลายคนคิดถึงคนที่กำลังประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากสภาวะโรคระบาดโควิด-19 ปรารภกันว่าชาวมหาวิทยาลัยจะรวมตัวกันทำอะไรได้บ้าง ทั้งในการแบ่งปันส่วนที่มีไปสู่ส่วนที่ลำบากขาดแคลน และในการแบ่งเบาความทุกข์ในสังคมเพื่อลดความรุนแรงของปัญหาอีกหลายด้านที่จะตามมาในเวลาต่อจากนี้

ข้อเสนอหนึ่งคือคิดกันว่าน่าจะใช้การเชิญชวนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมกันสละเงินเดือนส่วนหนึ่ง จะกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินรายได้และจะกี่เดือนก็ตามแต่ เพื่อมาจัดตั้งกองทุน เงินที่ได้คงจะไม่มากมายอะไร แต่ความมุ่งหวังจริงๆ อยู่ที่มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะตั้งวงรวมตัวผู้มีแก่ใจคิดถึงคนที่กำลังเดือดร้อนและปัญหาสังคม แต่ยังคิดกันอยู่ตามลำพัง ให้มีโอกาสได้มารวมกลุ่มกันและร่วมกันคิดร่วมกันทำในสิ่งที่จะเป็นการบำเพ็ญกรณีย์ต่อคนที่ตกอยู่ในความลำบากขณะนี้

สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มนำเรื่องที่ดำริกันนั้นมาเล่าให้ผมฟังพร้อมขอความเห็น เธอรู้ว่าผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย จึงอยากฟังว่าจะเห็นอย่างไรกับข้อเสนอที่คิดกันแบบนี้

เมื่อรู้ว่าเธออยากทราบความเห็นจริงๆ ผมก็เลยกล่าวตามที่คิด ไม่ได้ตอบด้วยภาษานักการทูตอย่างในวิชาเจรจาระหว่างประเทศที่กำลังสอนอยู่

ผมบอกเธอว่า 1.อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยเป็นพวกเงินเย็นมีรายรับรายได้มั่นคงก็จริง แต่เงินและกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากน่าจะไม่ใช่จุดแข็งของอาจารย์มหาวิทยาลัย และน่าจะไม่ใช่บทบาทที่สังคมคาดหวังจากเราในสถานการณ์แบบนี้

2.กองทุนแบบนี้ โดยที่ผมยังไม่รู้ในรายละเอียดว่าเตรียมกันจะทำออกมาแบบไหน แต่ฟังดูแล้วทำให้ผมคิดว่าคล้ายกับข่าวที่พบอ่านพบว่ากระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นมาคล้ายกันแบบนี้ แต่ของมหาดไทยให้ข้าราชการระดับผู้บริหารทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำสละเงินเดือนมาตั้งเป็นกองทุนเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด

กองทุนแบบนี้เป็นกองทุนเฉพาะกิจ ซึ่งการตัดสินใจและการดำเนินการก็จะเฉพาะกิจตามไปด้วย แต่การติดตามตรวจสอบผู้ที่จะมารับความช่วยเหลือต้องการข้อมูลและระบบสนับสนุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นทางการพอสมควร ซึ่งมหาดไทยอาจจะมี แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะมีระบบที่ว่านี้ไหม รวมทั้งระบบตรวจสอบการดำเนินการว่าเป็นไปอย่างโปร่งใส ก็ต้องคิดกันขึ้นมา และไม่ว่าจะเลือกแบบไหน มันมีต้นทุนของมันอยู่

กระบวนการตรงนี้ทางมหาดไทยอาจใช้แบบท้อปดาวน์จากระดับรมต./ปลัดกระทรวง แต่ในแวดวงมหาวิทยาลัย การจัดตั้งกองทุนเฉพาะกิจแบบนี้ต้องการรูปแบบการจัดการที่ชัดเจนและตรวจสอบการทำงานของระบบได้ตามสมควร และกว่าจะได้ความเห็นพ้องต้องกัน คงมีความเห็นหลากหลายและต้องหารือกันอีกหลายรอบมาก

3.ผมถามเธอว่าความคาดหวังของสังคมต่อเราในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายมนุษย์ศาสตร์และสายสังคมศาสตร์คืออะไรแน่ หรือเราจะมีคุณูปการได้ในแบบใดจากการมาร่วมกันคิด ผมบอกเธอว่าผมเองอยู่ข้างที่จะลังเลที่จะเสนอเหมือนกัน ว่าควรจะคิดใหญ่ทำเล็ก หรือคิดจากเล็กๆ แล้วขยายผลไปหาใหญ่แบบไหน แต่เราอาจต้อง active มากขึ้นกระมังในการเปิดประเด็นวาระให้ภาครัฐและสังคมเกิดความตระหนักในปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาและกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม หรือยังไม่มีใคร articulate ออกมาชัดๆ และผลักดันเข้าสู่การทำงานในนามมหาวิทยาลัยและเครือข่าย ไม่เฉพาะแต่กลุ่มอาจารย์

ในเบื้องต้นที่คิดได้แบบเร็วๆ อาจเลือกเรื่องที่ใกล้กับเราเอง เช่น นิสิตจบใหม่ โดยการสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานและการจ้างงานนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบออกไป และเคว้งอยู่ในรอยต่อของการหางานทำ ที่อาจจะทำให้จำนวนไม่น้อยมีความเสี่ยงจะกลายเป็น precarious workers หมิ่นเหม่อยู่ในความไม่มั่นคงของ gig economy เราจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้างไหมในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตลาดงานที่ต้องมาเจอกับสถานการณ์แบบนี้

ถ้ามหาวิทยาลัยเตรียมโครงการหนึ่งสองสาม ที่จะเข้ามารับบทบาทหลักทางวิชาการหรือบริการชุมชน ในการช่วยสังคมตอบโจทย์วิกฤตในช่วงเวลาอันยากลำบาก ซึ่งคงมิได้มีแต่เรื่องโรคระบาด แต่ที่จะตามมาด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอีกหลายด้าน ในการดำเนินโครงการอันพึงคิดพึงทำเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นของสังคมเหล่านั้น ถ้ามหาวิทยาลัยจะดึงนิสิตนักศึกษาจบใหม่เข้ามาร่วมขบวน แล้วอาจารย์จะเข้าไปรับบทบาทอะไรตรงนั้นโดยถือเป็นงานอาสา / บริการชุมชน ตรงนั้นพวกเราในฐานะบุคลากรทางวิชาการอาจช่วยมหาวิทยาลัยตอบโจทย์ได้หลายด้านทั้งทางวิชาการและบริการชุมชนพร้อมกันดีกว่าสละเงินเดือนคนละนิดละหน่อย

พอเสนอความเห็นอย่างนั้น เพื่อนอาจารย์คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงตอบกลับมาว่า ที่ตั้งประเด็นนำไว้ในข้อต้นว่าเป็นเรื่องสละเงินเดือนนั้น ความตั้งใจจริงๆ คืออยากชวนให้ช่วยคิดต่อออกไปจากตรงนั้นว่าน่าจะมีอะไรอีก หรือมีอะไรดีกว่านั้น ที่พวกเราชาวมหาวิทยาลัยจะช่วย “เฉลี่ยทุกข์” ของสังคมได้

พร้อมกันนั้น เธอก็ตอบคำถามผมที่ตั้งถามเธอด้วยในเรื่องที่ว่า อะไรกันแน่ที่เป็นจุดแข็งของคนทำงานวิชาการในมหาวิทยาลัยในการช่วยสังคมในยามยากลำบากเช่นนี้

เธอตอบผมว่า จุดแข็งของมหาวิทยาลัยคือ ”การขยับทำในสิ่งที่คนอื่นๆในสังคมยังไม่กล้าทำ แสดงให้สังคมเห็นความเป็นได้ใหม่ๆ ของการใช้กลไกทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อตอบโจทย์ทางสังคมที่อยู่ตรงหน้า”

**************************