posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (11)

28 เมษายน 2563

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน  

*********************

เมื่อกลางสัปดาห์ที่สองของเมษายนที่ผ่านมา มีภาพตัดกัน (contrast) อย่างชัดเจนเกิดขึ้นระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตก

เช้าวันพุธที่ 8 เมษายน 2563 มีพิธี “เปิด” เมืองหวู่ฮั่นอย่างยิ่งใหญ่ หลังจากรัฐบาลสั่งปิดมารวม 75 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม โดยตั้งฉายานครแห่งนี้ว่า “เมืองแห่งวีรบุรุษ” เพราะเป็นเมืองที่นักรบจำนวนมากของเมืองนี้ โดยเฉพาะแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างกล้าหาญท่ามกลางศัตรูที่มองไม่เห็นตัวแต่ประชิดตัวอยู่โดยรอบ จนหลายคนต้องสละชีวิตไป เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจำนวนมากต้อง “เข้ากะ” เวรละ 6 ชั่วโมง สวมชุดป้องกันสองชั้นตั้งแต่หัวจรดเท้า ทำงานในหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ไม่กินข้าวกินน้ำและไม่เข้าห้องน้ำ จำนวนมากไม่ได้กลับบ้านไปพบหน้าคนในครอบครัวเป็นเวลานานกว่าเดือน ประชาชนทุกคนในหวู่ฮั่นก็ต้องรักษาระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ มีเวลาให้ออกไปทำธุระจำเป็นจริงๆ อย่างจำกัด ในที่สุดเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวหวู่ฮั่น โดยการหนุนช่วยอย่างแข็งขันจากรัฐบาลกลางระดมความช่วยเหลือเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถ “ประกาศชัยชนะ” อย่างยิ่งใหญ่ได้

ในเมืองที่ชื่อว่าเมืองแห่งนักรบ เพราะหวู่ตรงกับภาษาแต้จิ๋วว่า “บู๊” แปลว่านักรบนั่นเอง

เมืองหวู่ฮั่นกลับมาเปิดใหม่แล้ว แต่ชีวิตผู้คนยังไม่สามารถกลับไปสู่วิถี “ปกติ” เหมือนเดิม เพราะหลังจากการ “เฝ้าระวัง” (surveillance) อย่างรอบคอบ ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเมืองนี้ติดต่อกันระยะหนึ่งแล้ว แต่เพราะชาวเมืองหวู่ฮั่นติดเชื้อไปเพียง 8 หมื่นกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของประชากรราว 11 ล้านคนเท่านั้น แม้จะมี “ผู้ติดเชื้อ” ที่ไม่ได้ตรวจหรือตรวจไม่พบการติดเชื้ออีกจำนวนไม่น้อย แต่ก็คงเป็นสัดส่วนเล็กน้อยของประชากรทั้งเมืองหวู่ฮั่น ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาตัวใหม่ (novel coronavirus) ผู้คนยังไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน และวัคซีนก็ยังไม่มี และจะยังไม่มีไปอีกอย่างน้อยราวหนึ่งปี ตามทฤษฎีแล้วโรคจะไม่ “ระบาด” ก็ต่อเมื่อประชากรมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity) 60-70% การที่ประชาชนในหวู่ฮั่นติดโรคซึ่งแปลว่ามีภูมิคุ้มกันแล้วราวร้อยละ 0.7 จึงยังห่างไกลจากตัวเลขร้อยละ 60-70 มาก โอกาสที่โรคจะกลับมาระบาดระลอกสองระลอกสามจึงยังเป็นไปได้มาก ฉะนั้นทางการจีนจึงมีมาตรการให้ประชาชนยังต้องระมัดระวังป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรักษาอนามัยส่วนบุคคล (personal hygiene) การสวมหน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่าง (distancing) เป็นต้น ชีวิตของชาวหวู่ฮั่นจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป จะกลับไป “เหมือนเดิม” อีก “ยังไม่ได้” ขณะเดียวกันทางการก็ยังต้อง “เฝ้าระวัง” อย่างเข้มแข็ง มิให้โรคกลับมาระบาดอีก จนกว่าการระบาดของโรคนี้ในส่วนอื่นๆ ของประเทศและของโลกจะ “ซาลง” หรือมีวัคซีนที่ปลอดภัย (safe) และได้ผล (efficacious) ออกมาฉีดให้แก่ประชาชนทั่วโลก

มีนักวิชาการคำนวณว่า การปิดเมืองหวู่ฮั่นอย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ สามารถป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ในเมืองนี้ได้ราว 7 แสนคน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เพราะ (1) ลดการเสียชีวิตของผู้คนไปได้ราว 14,000 คน (คิดจากอัตราตายราวร้อยละ 2) (2) ลดภาระในการดูแลรักษา ความเสี่ยงติดโรคและการเสียชีวิตของบุคลากรลงได้มาก และ (3) ลดการแพร่ระบาดไปสู่ส่วนอื่นๆ ของประเทศและของโลกลงได้มากมายมหาศาล

ขณะที่จีนประกาศความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่และน่าชื่นชมที่นครหวู่ฮั่น ทางซีกโลกตะวันตก เหตุการณ์กลับตรงข้าม ประเทศเจริญแล้วอย่างอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส จำนวนผู้ติดเชื้อรวมของแต่ละประเทศเกินแสนไปแล้ว ประเทศที่แซงหน้าใครไปหมดคือ สหรัฐ ตัวเลขวันที่ 23 เมษายน มีผู้ติดเชื้อ 856,209 คน และเสียชีวิตแล้วถึง 47,272 คน

การที่โรคนี้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในโลกตะวันตก ต้นเหตุสำคัญมาจาก “ผู้นำโลกตะวันตก” คนสำคัญคือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐแทนที่จะทำหน้าที่เป็น “ผู้นำแบบอารยะ” กลับทำตัวเป็น “ผู้นำอันธพาล” ชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (Amarica First) และต้องการนำอเมริกากลับมา “ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Amarica Great Again) ขณะที่โลกพัฒนาไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ทรัมป์กลับทำลายกฎระเบียบโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผลคือหายนะจากโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่เป็นประจักษ์พยานอยู่ในเวลานี้

ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ผู้คนเดินทางติดต่อกันทั่วโลกอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เชื้อโรคสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางพอๆ กัน การที่จะสามารถต่อสู้และเอาชนะโรคระบาดได้ จำเป็นที่ทั่วโลกจะต้องผนึกกำลังและร่วมมือกันต่อสู้กับ “ภัยของมนุษยชาติ” ร่วมกัน จึงจะสามารถเอาชนะได้โดยไม่ต้องสูญเสียมากเกินสมควร ในยุคโลกาภิวัตน์ โลกมีความรู้และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า สามารถที่จะนำมาใช้เอาชนะโรคระบาดได้อย่างที่จีนทำให้เห็นเป็นผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาแล้วตั้งแต่ (1) สร้างโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียงให้เสร็จใช้การได้ในเวลาเพียง 10 วัน เมื่อไม่เพียงพอก็สามารถสร้างแห่งที่สองขนาด 1,400 เตียงเสร็จใช้การได้ในเวลาเพียง 12 วัน (2) สามารถสร้างระบบการดูแลรักษาคนไข้ ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย และอุปกรณ์ป้องกันการติดโรคให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใช้ป้องกันใน “แนวหน้า” ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ (3) สามารถนำยาต้านไวรัสอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว มา “ทดลองใช้” (experiment) กับคนไข้ รวมทั้งนำการแพทย์แผนจีนที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องมาใช้ผสมผสานหรือเสริมอย่างได้ผล ช่วยชีวิตคนไข้ไว้ได้มาก ทำให้อัตราตายต่ำอย่างน่าทึ่ง (4) สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในโรงพยาบาล ทำให้ประสิทธิผลในการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาคนไข้ดีมาก (5) สามารถใช้มาตรการปิดเมืองอย่างทันการณ์และมีประสิทธิ ภาพสูง ทั้งมาตรการทางกฎหมาย และการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนได้อย่างดี

ข้อสำคัญจีนสามารถตรวจพบการระบาดของโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงนี้ได้อย่างรวดเร็ว หลังพบผู้ป่วย “รายแรก” เมื่อ 8 ธันวาคม 2562 เพียง 23 วัน ก็แจ้งองค์การอนามัยและองค์การอนามัยโลกได้ประกาศแจ้งเตือนการระบาดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562

ถ้าผู้นำโลกมิใช่อันธพาลอย่างโดนัลด์ทรัมป์และ “ตื่นตัว” เป็นผู้นำโลกในการเตรียมการควบคุมและป้องกันโรค เหมือนเมื่อครั้งมีการระบาดของโรคเอดส์, ไข้หวัดนก, ซาร์ส, เมอร์ส, ไข้หวัดใหญ่ 2009, อิโบลา โลกตะวันตกและชาวโลกน่าจะไม่ตกอยู่ในชะตากรรมเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

นายแพทย์แอนโธนี เฟาซี พูดชัดเจนในการแถลงในรัฐสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 เรื่องการที่ทรัมป์สั่งยุบ “หน่วยความมั่นคงทางสุขภาพโลก” ในสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ว่า “เราทำงานได้ดีมากกับสำนักงานแห่งนั้น ... คงจะดีถ้าสำนักงานนั้นยังอยู่” ทรัมป์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการยุบสำนักงานแห่งนั้นทิ้งไปว่า “ผมไม่ได้สั่งยุบ ผมไม่รู้เรื่อง” ซึ่งหลักฐานย่อมชี้ชัดว่าทรัมป์โกหกเหมือนหลายๆ เรื่องหรือไม่ สถานการณ์ขณะนี้จึงเป็นไปตามหลักพุทธศาสนาที่ว่า “กัมมุนา วัตตติ โลโก” สัตว์โลกย่อมเป็นไป ตามกรรม

....................