posttoday

กองทัพไทยหลังวิกฤติโควิด 19

25 เมษายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***************************

เขตทหารห้ามโควิด 19 ไม่ให้เข้าไปไม่ได้

สมัยที่ผู้เขียนเป็นวัยรุ่น เคยขุ่นใจมากๆ เวลาที่ไปเดินแถวรั้วกรมกองทหารที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน เพราะมักจะเจอป้ายเขียนไว้ตลอดแนวรั้วว่า “เขตทหารห้ามเข้า” แต่พอหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ป้ายเหล่านี้ก็ถูกปลดไป ที่เคยพ่นสีเป็นข้อความก็ถูกพ่นสีทับให้ข้อความนั้นหายไป ก็ดูโล่งหูโล่งตาไปมาก พร้อมกับความหวังว่าทหารในยุคต่อไปนั้นคงจะไม่เหมือนเดิม แต่มาถึงทุกวันนี้ความรู้สึก “ขุ่นๆ” นั้นก็กลับมาอีก เพราะดูเหมือนว่าทหารยังมีปัญหาในการ “เข้าถึง” ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับ “ความไม่โปร่งใส”

พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในปี 2519 ทหารก็กลับมา “ใหญ่” อีกรอบ แต่อาจารย์บางท่านก็ยังสอนนิสิตพร้อมกับวิพากษ์ระบบราชการรวมถึงทหารอย่างออกรส อาจารย์ท่านหนึ่งบรรยายว่า ทหารมีพลังอำนาจเหนือองค์กรราชการอื่น เพราะ หนึ่ง ทหารเป็นองค์กรที่สามารถใช้อาวุธสงครามได้ถูกต้องโดยกฎหมาย สอง ทหารมีระเบียบวินัยควบคุมให้เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา สาม ทหารมีความเป็นปึกแผ่น อย่างที่เรียกว่า Solidarity อันเนื่องมาจากสายการบังคับบัญชาและความเป็นรุ่น หมู่เหล่า หรือระบบ “ลูกพี่ลูกน้อง” และสี่ เฉพาะทหารในประเทศไทย ก็คือเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ

ในห้องเรียนยุคนั้น แม้จะมีนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ และปัญญาชนจำนวนมาก จะถูกผลักไสให้ลี้ภัยไปอยู่ในป่า เพราะรัฐบาลประกาศใช้อำนาจเด็ดขาดกับพวกที่มีแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และต่อต้านอำนาจรัฐ แต่พวกที่สอนและเรียนกันอยู่ในหลายๆ มหาวิทยาลัยก็ยัง “ชำแหละ” ระบบราชการและทหารอย่างเข้มข้น จนทหารต้องตั้งกลุ่มเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดการเมืองสมัยใหม่ เรียกตัวเองว่า “ทหารประชาธิปไตย”

และทหารกลุ่มนี้นี่เองที่เป็นพวกที่เสนอแนวคิด “การเมืองนำการทหาร” อันนำมาสู่รูปธรรมของการปลดปล่อยกลุ่มคนที่หนีภัยคุกคามจากอำนาจรัฐ ในชื่อว่า “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่66/2523” ที่ประกาศใช้โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทหารที่ได้ชื่อว่ามีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่งคนหนึ่ง ปัจจุบันปัญหาการต่อต้านอำนาจรัฐก็ยัง “วนเวียน” คล้ายๆ รูปแบบเดิม คือมุ่งต่อต้านทหารเป็นเป้าหมายหลัก ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าทหารคือผู้เผด็จการ ชอบแทรกแทรงเข้ามาใช้อำนาจรัฐ ขัดขวางระบอบประชาธิปไตย และทำลายสังคมที่กำลังเติบโตก้าวหน้า

ในขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนทหารก็กล่าวหาผู้คนที่โจมตีสถาบันของชาติอย่างเช่นทหารนี้ว่า “พวกชังชาติ” ซึ่งฝ่ายที่ต่อต้านทหารก็ทราบดีว่า การต่อสู้กับทหารนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การใช้กำลังไม่มีทางเป็นไปได้ นอกจากจะสร้าง “สงครามจิตวิทยา” ค่อยๆ บ่อนเซาะความน่าเชื่อถือของทหารให้ลดลงเรื่อยๆ เพื่อทำลาย “เกราะทางสังคม” ที่โอบอุ้มทหารนั้นอยู่ พร้อมกับเสริมพลัง “เจาะไช” ให้สามารถล่วงรู้เข้าไปในเรื่องลับๆ ต่างๆ ของทหาร อย่างเช่น การใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ และชีวิตความเป็นอยู่ของทหารเกณฑ์ที่เรียกว่า “ไอ้เณร” นั้น เป็นต้น

ผู้เขียนเคยเข้าศึกษาในหลักสูตรชั้นสูงของสถาบันการศึกษาที่ใช้งบประมาณของรัฐสภา มีผู้ร่วมศึกษาเป็นนายทหารระดับนายพลอยู่หลายคน ได้ความรู้จากนายพลบางคนว่า ตำแหน่ง “บังคับบัญชา” ต่างๆ ในกองทัพมี “การประกันมูลค่า” คือสามารถล่วงรู้ถึง “ผลได้” จากการดำรงตำแหน่งนั้นที่มีมูลค่าพอประมาณได้ (ผู้เขียนขออภัยที่ใช้ถ้อยคำอ้อมๆ เพราะถ้าใช้คำพูดของนายทหารท่านนั้นๆ โดยตรง ก็คงไม่พ้นข้อหาหมิ่นประมาทและปิดปากด้วย “ไอ้โอ๊บ” และจริงเท็จอย่างไรก็ไม่มีใครไปหาข้อมูลจริงๆ มาได้)

แต่ระบบทหารจะแตกต่างจากตำรวจ เพราะตำรวจมักจะใช้ระบบ “กินรวบ” คือรวบผลได้ต่างๆ ไว้กับตัวนายในตำแหน่งนั้นๆ เพียงคนเดียว แต่ทหารจะมีระบบที่ “แจกจ่ายเจือจุน” คือแบ่งส่วนได้ให้แก่นายทหารระดับรองๆ ลดหลั่นไปตามชั้นยศและสายการบังคับบัญชา คือมีการเลี้ยงดูกันตามสมควร จึงทำให้ทหารมีความเป็น “ปึกแผ่น” ดังกล่าว นายทหารที่บอกเรื่องนี้ชี้แจงอีกด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การคอร์รัปชั่น แต่เป็น “ธรรมเนียม” การดูแลกองทัพที่ทหารไทยกระทำมาแต่โบราณและยังดำรงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ข่าวที่ทหารยอมตัดลดงบประมาณของกองทัพเพื่อช่วยวิกฤติโควิด19 ตามที่กองทัพออกมาชี้แจงดูเหมือนว่าจะเป็น “พระคุณ” แก่คนไทยยิ่งนัก (ในขณะที่หน่วยราชการอื่นๆ ก็ต้องยอมตัดลดงบประมาณลงในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน) แต่ถ้าเรื่องที่นายทหารคนที่เล่าให้ผู้เขียนฟังนั้นเป็นเรื่องจริง ก็น่าจะต้องมีนายพลในกองทัพจำนวนไม่น้อยที่ “เคราะห์ร้าย” ถูกกระทบกระเทือนจากที่การจัดซื้อนั้นถูกระงับหรือเลื่อนออกไป (ดังนั้นที่มีพรรคการเมืองบางพรรคบอกให้ทหารไปเจรจาผู้ขายเพื่อระงับการจัดซื้อ จึงมีความเป็นไปได้ยาก เพราะยังไงก็จะต้องจัดซื้อให้ได้ในเวลาต่อไป เพื่อรักษาระบบ “การดูแลลูกน้อง” นั้น) ทว่าผลที่ตามมาอย่างยิ่งใหญ่ก็คือ กองทัพที่คนทั่วไป “เอื้อมมือไม่ถึง” ไปจับต้องไม่ได้นั้น แต่ก็ยังมี “สิ่งมีชีวิตเล็กๆ” อย่างเจ้าไวรัสโควิด 19 ที่สามารถ “แทรกซึม” เข้าไปทำลายความเป็นปึกแผ่นของทหารนั้นได้

ภายใต้สงครามกับไวรัสโควิด19 ในครั้งนี้ ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลไปอย่างถ้วนทั่ว กองทัพเองก็คงจะ “ซวดเซเรรวน” ไปไม่น้อย เพราะจะต้องถูกจับตาถึงการใช้จ่ายในทุกย่างก้าว สังคมอาจจะตั้งคำถามว่า “ซื้ออาวุธไปรบกับใคร” (ในขณะที่ทหารตอบได้แต่เพียงว่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความมั่นคงของประเทศ ที่ชาวบ้านต้องแปลความอีกมาก)

รวมถึงการเปรียบเทียบกับกำลังพลของหน่วยราชการอื่น เช่น กำลังพลของกองทัพทำอะไรได้เทียบเท่าอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)บ้าง และนายทหารระดับนายพลที่มีอยู่นับพันๆ คน ทำอะไรกันบ้างในเวลาราชการของแต่ละสัปดาห์หนึ่งๆ ฯลฯ หลังวิกฤติโควิด 19 คนไทยจะกล้าตั้งคำถามกับทหารมากขึ้น เพียงแต่ทหารจะตอบคำถามเหล่านั้น “เข้าหู” ผู้ถามหรือไม่

*******************************