posttoday

แนวโน้มโลกใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลโรคระบาดแบบ real time

22 เมษายน 2563

โดย...พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ  

*****************

เมื่อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ ต่างเร่งการเฝ้าระวัง โดยจากเอกสาร Top10VPN ของกลุ่ม digital rights ที่แนะนำมาตรการใหม่ คือติดตามโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้คน ซึ่งในบางประเทศกำลังรวบรวมข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน เพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวของประชาชนโดยทั่วไป ขณะที่ในบางประเทศให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแต่ละบุคคล ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกกำลังใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลนี้ในการเฝ้าระวัง เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีหลายประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนและพกติดตัวตลอดเวลา ทำให้การติดตามการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการสนับสนุนจากบริษัทเทคโนโลยีเอกชนรายใหญ่ อย่างเช่น Google และ Apple ที่ได้ประกาศว่ามีการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนา API ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศต่างๆ สามารถใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชันตรวจสอบติดตามไวรัสโควิด

การตรวจสอบติดตามโควิด-19 แบบเรียลไทม์ ทำให้เกิดมาตรการใหม่ๆ ในการตอบสนอง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อสิทธิดิจิทัล (digital rights) ทั่วโลก โดย Top10VPN ระบุรายละเอียดว่ามีหลายประเทศที่นำมาตรการตรวจสอบติดตามโทรศัพท์ของผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้มากขึ้น ตั้งแต่ข้อมูลโดยรวมที่ไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของผู้คน ไปจนถึงการติดตามผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโควิด-19 และผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งมาตรการใหม่ที่เป็นมาตรการเชิงรุกอย่างมากนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานทั่วโลก ถึงแม้ว่าในบางครั้ง การดำเนินการอาจดูเหมือนว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยงต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของประชาชน

แม้ว่าบางประเทศจะใช้มาตรการฉุกเฉินที่กำหนดขึ้นใหม่ แต่มีความเสี่ยงที่ความสามารถใหม่ ๆ เหล่านี้จะถูกนำมาใช้ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมาตรการใหม่ๆ จำนวนมากไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากสาธารณะและการเมือง ซึ่งในแต่ละประเทศมีการกำหนดนโยบาย และมีการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะนโยบายในเรื่องการตรวจสอบติดตามข้อมูลสมาร์ทโฟนของผู้คน

ในสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าได้มีการรวบรวมข้อมูลจากอุตสาหกรรมโฆษณา เพื่อรับทราบว่าผู้คนมีการชุมนุมกันที่ไหน ทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลของรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น ได้เริ่มรวบรวมและศึกษาข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้ได้แนวคิดที่ดีขึ้น เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของผู้คน โดยข้อมูลกำลังถูกรวบรวมจากอุตสาหกรรมโฆษณา ซึ่งมักจะเข้าถึง location ของผู้คน เมื่อพวกเขาสมัครใช้งานแอปพลิเคชัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมโฆษณาเพื่อติดตาม location ของประชาชนทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก เนื่องจากในอุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมแล้วมักมีเรื่องความไม่โปร่งใส และผู้ใช้จำนวนมากมักจะไม่ทราบว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้กำลังเริ่มติดตามการเคลื่อนไหวของพวกเขาอยู่ ดังนั้นรัฐบาลและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดอ่อนนี้ ควรจะต้องมีวิธีการดำเนินงานและมาตรการที่โปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชนได้รับการปกป้อง

อย่างเช่น บริษัท X-Mode และ Tectonix ที่มุ่งเน้นติดตามข้อมูลตำแหน่งจากโทรศัพท์ของผู้คนที่มาเที่ยวชายหาดใน Fort Lauderdale รัฐ Florida ในช่วงเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดของนักเรียนในอเมริกา เมื่อผู้คนเหล่านั้นไม่สนใจคำเตือนให้มีระยะห่างทางสังคม (social distancing) ในขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนารุนแรงขึ้น ซึ่งผลการติดตามข้อมูลจากการโพสต์ location บน Twitter แสดงให้เห็นว่าผู้คนเดินทางไปสถานที่ใดต่อบ้าง ภายหลังจากไปเที่ยวชายหาด ผู้คนที่เดินทางกระจายไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ รวมถึงนิวยอร์กและชิคาโก อาจเป็นผู้นำพาไวรัสโคโรนาติดตัวไปด้วย

ส่วนเกาหลีใต้ถือได้ว่าก้าวไปไกลกว่าประเทศอื่น ๆ ในการตรวจสอบติดตามโทรศัพท์ของแต่ละคน และยังสร้างแผนที่ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ และหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้ป่วยได้ ข้อมูลการตรวจสอบติดตามที่อยู่ในแผนที่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะข้อมูลโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยข้อมูลการใช้บัตรเครดิต และแม้แต่การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับผู้ป่วย ก็สามารถนำมาสร้างแผนที่ย้อนหลังได้ นอกจากประชาชนจะสามารถตรวจสอบข้อมูลบนแผนที่ได้แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังใช้แผนที่ในเชิงรุกเพื่อส่งข้อความเตือนในระดับภูมิภาค ถึงบุคคลที่อาจมีการติดต่อกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส หรืออาจมีการรายงานสถานที่เฉพาะเจาะจง ที่ระบุว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ที่นั่นในวันใดเวลาใด ให้แก่ประชาชนทราบ แม้ว่าวิธีการดังกล่าวอาจละเมิดเสรีภาพของพลเมือง แต่ผลประโยชน์สาธารณะน่าจะมีความสำคัญมากกว่าสิทธิมนุษยชนของบุคคล เมื่อต้องรับมือกับโรคระบาดที่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว

ในประเทศแถบตะวันออกกลาง มีรายงานว่ารัฐบาลอิหร่านรับรองแอปพลิเคชันที่ใช้วินิจฉัยไวรัสโควิด ที่รวบรวมข้อมูล location ของผู้ใช้แบบเรียลไทม์ โดยมีการข้อความแจ้งไปยังประชาชนชาวอิหร่านหลายล้านคน ให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน AC19 ก่อนจะไปโรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพ แอปดังกล่าวอ้างว่าสามารถวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ โดยการตอบคำถามแบบตอบรับหรือปฏิเสธ แต่แอปนี้ได้ถูกลบออกจาก Google Play store แล้ว ส่วนอิสราเอลนั้นได้ผ่านกฎหมายใหม่เพื่อสอดแนมประชาชนได้ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงของอิสราเอลไม่ต้องรอคำสั่งศาลในการติดตามโทรศัพท์ของผู้คนอีกต่อไป โดยกฎหมายใหม่นี้ ยังมีการกำหนดให้ข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมานั้นจะต้องถูกลบออกภายในระยะเวลา 30 วัน

ทางด้านหน่วยงานเทคโนโลยีของรัฐบาลสิงคโปร์และกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการติดตามการใกล้ชิดของผู้คน ที่เรียกว่า TraceTogether ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยแอปพลิเคชันนี้ใช้เพื่อระบุว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ใกล้ภายใน 2 เมตรเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที แต่ผู้ป่วยจะต้องใช้เทคโนโลยีบลูทูธไร้สาย โดย TraceTogether ระบุว่าจะไม่มีการรวบรวมข้อมูลตำแหน่ง Location หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ แต่แอปพลิเคชันนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างกว้างขวางนักโดยพบว่ามีเพียง 12% ของชาวสิงคโปร์เท่านั้น ที่ดาวน์โหลดแอปนี้มาใช้ ทางด้านไต้หวัน ก็ได้เปิดใช้งาน Electronic fence ซึ่งจะติดตามข้อมูลโทรศัพท์มือถือและแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ เมื่อมีผู้ที่ควรถูกกักตัวไว้ที่บ้านกำลังจะออกจากบ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งผู้คนไม่ให้ออกจากบ้านไปแพร่กระจายเชื้อ

โดยเจ้าหน้าที่และตำรวจท้องถิ่นควรจะสามารถตอบสนองต่อผู้ใช้งานทุกคนที่เรียกใช้การแจ้งเตือนนี้ได้ภายใน 15 นาที แม้ว่าการปิดโทรศัพท์น่าจะเพียงพอที่จะรับประกันได้ว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากตำรวจได้ แต่นักเรียนชาวอเมริกันคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในไต้หวันได้เขียนบทความใน BBC ว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสองคนเข้าตรวจสอบในเวลา 8:15 น. เนื่องจากโทรศัพท์ของเขาเพิ่งแบตเตอรี่หมด ในเวลา 7:30 น. และรัฐบาลก็เริ่มตรวจสอบเขาในระยะเวลานั้นเอง ซึ่งนักเรียนคนดังกล่าวได้ถูกกักตัวในช่วงเวลานั้น เพราะเพิ่งเดินทางมาจากยุโรป

มาดูกันที่ประเทศในทวีปยุโรป ออสเตรียกำลังใช้ข้อมูลที่ไม่เปิดเผยตัวตนเพื่อทำแผนที่ความเคลื่อนไหวของผู้คน ส่วนประเทศโปแลนด์กำลังทำให้ผู้คนส่งภาพเซลฟี่เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาถูกกักตัวอย่างถูกต้อง โดยใช้แอปพลิเคชัน “Home Quarantine” จุดประสงค์ก็เพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้ที่ควรจะถูกกักตัวไว้เป็นเวลา 14 วัน มีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ส่วนทางสหราชอาณาจักรยืนยันว่ากำลังสร้างแอปพลิเคชันการติดตาม สำหรับผู้ใช้ที่ใช้เทคโนโลยีบลูทูธ คล้ายกับแอปพลิเคชันของสิงคโปร์ โดยแอปพลิเคชันนี้จะให้ผู้ป่วยเป็นผู้รายงานตัวเอง หากพบว่าเริ่มมีอาการต้องสงสัย แล้วทำการส่งการแจ้งเตือนสีเหลืองไปยังผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง หากบุคคลนั้นได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการว่าเป็นโควิด-19 พวกเขาจะสามารถป้อนรหัสที่ไม่ซ้ำกันในแอปพลิเคชัน ซึ่งจะส่งการแจ้งเตือนสีแดงออกมา ส่วนทางเยอรมนีก็กำลังสร้างแบบจำลองการเคลื่อนไหวของผู้คน เช่นเดียวกับทางอิตาลีได้สร้างแผนที่การเคลื่อนไหวเพื่อรวบรวมข้อมูล location ที่ไม่เปิดเผยตัวตน

รัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังประเมินถึงความจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ในบางกรณีประชาชนอาจต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัว แต่การใช้ประโยชน์จากข้อมูล location ของผู้คน เพื่อการเฝ้าระวัง ควรจะต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ และเป็นการใช้แบบชั่วคราวเท่านั้น เมื่อทุกอย่างกลับคืนสู่สภาะปกติ หรือภายหลังจากการสิ้นสุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทุกอย่างควรจะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งรวมถึงสิทธิการคุ้มครองข้อมูลพื้นฐานทั่วโลกด้วย ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยเช่นกัน หากจะแนวทางเหล่านี้มาใช้ จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อม ให้ความรู้ รวมทั้งปรับปรุงหรืออกกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกกฎหมาย