posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (10)

21 เมษายน 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*******************************

แล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ “หน้าแตก” อีกครั้ง” ไม่เพียงหน้าแตกเท่านั้น แต่การกระทำของทรัมป์ในกรณีนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ตายจากโรคโควิด-19 ในสหรัฐแซงหน้าทุกประเทศทั่วโลก

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ทรัมป์ได้ทวีตข้อความดังนี้ “ไฮดรอกซีคลอโรควิน และ อะซิโธรมัยซิน เมื่อรับประทานร่วมกัน, มีโอกาสแท้จริงที่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การแพทย์ สำนักงานอาหารและยาได้เคลื่อนย้ายภูเขา-ขอบคุณ! หวังว่ายาทั้งคู่ (ฮ. ได้ผลดีกว่า เมื่อใช้ร่วมกับ อ, ตามรายงานในวารสารยาต้านจุลชีพนานาชาติ) จะนำมาใช้ได้โดยพลัน. ประชาชนกำลังตาย เคลื่อนให้เร็ว และ พระเจ้าโปรดอวยพรให้ทุกคน!”

ทรัมป์ทวีตข้อความนี้เพราะ “หลงผิด” “หลงเชื่อ” รายงาน “การวิจัย” ของศาสตราจารย์ดิดิเอร์ ราอูลต์ (Didier Raoult) ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในมาร์เซลล์ [I’Institut Hospitalo Universitaire (IHU)] ที่รายงานทางวิดีโอเมื่อวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม สรุปว่ายาทั้งสองนี้ได้ผลดีต่อการรักษาโควิด-19

สื่อสังคมออนไลน์ “ขยายความผิดๆ” โดยการ “โฆษณา” ว่าการศึกษานี้สนับสนุนโดยบริษัทซาโนฟี ซึ่งเป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส และแนะนำยานี้ของบริษัทโดยใช้ชื่อการค้าว่าเป็น “ยาต้านโคโรนา”

ความจริงรายงานชิ้นนี้ไม่กล่าวถึงบริษัทนี้เลย

ผลการทวีตของทรัมป์ ทำให้เกิดการ “แตกตื่น” ไปทั่ว ทำให้เกิดความต้องการยานี้กันอย่างขนานใหญ่ทั่วโลก บริษัทโนวาร์ติสเสนอขอบริจาคยาไฮดรอกซีคลอโรควิน 130 ล้านเม็ด โดยรอให้สำนักงานอาหาร และยาสหรัฐ อนุมัติให้ใช้ยานี้กับโรคโควิด-19, บริษัทมัยแลน (Mylan) ประกาศเร่งผลิตยาให้ได้ 50 ล้านเม็ด และบริษัทเทวา (Teva) ประกาศบริจาคยา 16 ล้านเม็ดให้โรงพยาบาลทั่วสหรัฐ

ยาของหลายบริษัทที่ผลิตยาฮัยดรอกซีคลอโรควินล้วนหมดสต็อครวมทั้งยาอะซิโธรมัยซิน สำนักงานอาหารและยาสหรัฐยอม “ยกเว้น” (exception) คำสั่งห้าม ยอมให้บริษัทอิปคาแล็บส์ (Ipca Labs) ของอินเดียที่เคยสั่งห้ามเป็นเวลา 4 ปี ให้ส่งยาคลอโรควินและฮัยดรอกซีคลอโรควินของบริษัทเข้าไปขายในสหรัฐได้

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเกรงว่าจะไม่มียารักษาประชาชนอินเดียที่เจ็บป่วย จึงประกาศห้ามส่งออกยานี้ แต่ถูกทรัมป์โทรศัพท์ข่มขู่ จึง “ยอมศิโรราบ” อนุญาตให้ส่งออกยานี้ได้ และยา ฮัยดรอกซีคลอโรควินก็ได้ส่งจากอินเดียไปถึงสหรัฐแล้ว 3.58 ล้านเม็ด และตัวยาสำหรับผลิตอีก 9 ตัน

แต่แล้วเรื่องก็โอละพ่อ

รายงานทางวิดีโอของศาสตราจารย์ราอูลต์ ถูกตรวจสอบและพบความไม่น่าเชื่อถือมากมาย

ประการแรก รายงานนี้ศึกษาผู้ป่วยเพียง 42 ราย ซึ่งถือว่าขนาดตัวอย่างเล็กมาก ไม่สามารถพิสูจน์ “ประสิทธิผล” และ “ความปลอดภัย” ได้ เพราะไม่มี “กำลังทางสถิติ” (Statistical power) มากพอ

ประการที่สอง ผู้ป่วย 42 รายนั้น นำผลไปวิเคราะห์เพียง 36 ราย อีก 6 รายตัดออกไปจากการวิเคราะห์ ซึ่งทำให้เกิด “อคติ” และความไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะทั้ง 6 รายนั้นปรากฏว่า 3 รายยังตรวจพบเชื้อ และถูกส่งต่อไปเข้าไอซียู; 1 ราย ตรวจไม่พบเชื้อวันที่ 2 แต่เสียชีวิตในวันที่ 3; 1 ราย ยังตรวจพบเชื้อในช่วงวันที่ 1-3 แต่หยุดยาเพราะอาการคลื่นไส้; 1 ราย ออกจากโรงพยาบาลหลังตรวจไม่พบเชื้อในวันที่ 1 และ 2

ประการที่สาม 36 ราย ที่ตรวจไม่พบเชื้อนั้น 6 ใน 6 ราย (100%) ได้รับยา 2 ชนิด คือ ไฮดรอกซีคลอโรควิน (ฮ) และ อะซิโธรมัยซิน (อ) ; 14 รายได้ยา ฮ. อย่างเดียว มี 8 ราย (57%) ที่ตรวจไม่พบเชื้อ ; และ 13 ราย ไม่ได้ยา และตรวจไม่พบเชื้อ 2 ราย (13%) สองรายนี้ไม่ปรากฏในรายงาน

การศึกษานี้จึงมีผู้ป่วย 3 กลุ่ม ที่ได้รับยาแตกต่างกัน ไม่ใช่กลุ่มเดียว (ฮ+อ) จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์รวมกันเป็นกลุ่มเดียวได้

ประการที่สี่ การศึกษานี้ไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบหรือกลุ่มควบคุม (control group) จึงมีความเชื่อถือ ได้ต่ำ

ประการที่ห้า วิธีการตรวจเชื้อในรายงานนี้ ผิดมาตรฐานของ อย. สหรัฐ ที่กำหนดค่าขีดจำกัดวงรอบ (cycle trhreshold : CT) ที่ 40 รอบ แต่รายงานของราอูลต์ตัวเลขนี้แค่ 35 รอบ

ความจริงผู้รายงานเรื่องนี้ตระหนักดีถึงจุดอ่อนเหล่านี้จึง “ออกตัว” ไว้แล้วว่า “การศึกษาของเรามีข้อจำกัดบางประการได้แก่ขนาดตัวอย่างเล็ก, ไม่ได้มีการติดตามผลระยะยาว, และมี 6 รายที่ออกจากการศึกษา” ผู้วิจัยให้เหตุผลในการ “เผยแพร่” รายงานนี้ว่า “อย่างไรก็ดี ในบริบทปัจจุบัน, เราควรเผยแพร่ผลของเราในวงวิชาการ”

ผู้วิจัยอ้างว่าจะ “เผยแพร่” (Share) ผลการศึกษาในวงวิชาการ แต่นำเสนอเป็นวิดีโอและเผยแพร่ต่อสาธารณะและหลังจากนั้นก็มีการ “บิดเบือนและกระจายข่าว” ทางสื่อสังคมออนไลน์

เรื่องนี้น่าจะเป็นเพียง “รายงานเบื้องต้น” เพื่อรับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการ เมื่อสื่อออกไปในวงกว้างก็ควร “ผ่านมาแล้วผ่านไป”

แต่ทรัมป์ น่าจะเชื่อเป็นตุเป็นตะ และตอกย้ำให้คนทั่วโลกคล้อยตาม รวมทั้ง “ส่งสัญญาณ” ให้ อย.สหรัฐเร่งขึ้นทะเบียนยานี้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่ง อย. สหรัฐก็ดูจะยอม “ลู่ตามลม” ถึงขั้น “ยกเว้น” คำสั่งห้าม ยอมให้บริษัทที่เคยตรวจพบจากการเข้าตรวจโรงงานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 นี้เองและพบว่า “มีความบกพร่องเป็นชุด” (a cascade of failure) ส่งยาให้คนอเมริกันใช้ได้ และทรัมป์ถึงขั้น บีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีอินเดียต้องยอมส่งยาให้จำนวนมากให้

อย่างที่กล่าวกันว่ายุคนี้ “กรรมติดจรวด”

มีรายงานการศึกษาการใช้ยา ฮ. ที่มีการออกแบบการวิจัยถูกต้องและน่าเชื่อถือกว่ารายงานของ ราอูลต์ เพราะเป็นการวิจัยแบบ “สุ่มเปรียบเทียบ” (Randomized-Controlled Trial : RCT) ในหลายประเทศพบว่ายานี้ให้ผลไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับ “ยาหลอก” และบางรายงานพบว่ามีปัญหาความไม่ปลอดภัยด้วย

โดยสรุปแล้ว ยา ฮ. + อ. นี้ อาจเหมือนกรณียาทามิฟลู ที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ 2009 กันอย่างกว้างขวาง แต่การศึกษาต่อมาพบว่าได้ผลพอๆ กับยาพาราเซตามอล ขณะที่ผลไม่พึงประสงค์ของยาสูตรนี้อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต

ทรัมป์ ทวีตข้อความ “บอก” ชาวโลกว่ามีสูตรยาที่แก้ปัญหาโควิด-19 ได้ชงัด ถึงขั้นจะ “เปลี่ยนเกมนี้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุด” ไม่รู้ทรัมป์ตั้งใจหลอกหรือปลอบใจชาวโลกรวมทั้งชาวอเมริกันหรือไม่ แต่ทรัมป์คงเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ทรัมป์จึง “ตายใจ” แม้จะปรากฏหลักฐานแล้วว่าทีมงานได้เตือนภัยให้ทรัมป์เร่งป้องกันแก้ไขปัญหา แต่ทรัมป์ก็ยัง “ลำพอง” ต่อไปหลายสัปดาห์ จนเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐดังที่เห็น

*******************************