posttoday

แนะธุรกิจไทยพลิกวิกฤตโควิดฯเป็นโอกาสเปิดตลาดรุกอุตสาหกรรม'Health tech'

16 เมษายน 2563

โดย...พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ 

*****************

เมื่อกล่าวถึงการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก ผู้คนมากกว่า 1ใน 4 ของจำนวนประชากรโลก 7,800 ล้านคน ที่ต้องถูกกักบริเวณในบ้านของตัวเองส่วนใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มมาตรการควบคุมการเคลื่อนที่และการติดต่อทางสังคม (Social Distancing) เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส สำหรับประเทศไทยก็มีมาตรการดังกล่าวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นชายแดนที่ถูกปิด ธุรกิจร้านต้องหยุดดำเนินการ และโรงเรียนต้องถูกยกเลิกการเรียนการสอน

ที่สำคัญคือผลกระทบในทางสาธารณสุข การแพทย์ ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศ ได้พยายามขยายขอบเขตการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เช่น Telehealth, Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 Telemedicine จะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถเชื่อมต่อกันได้แบบเรียลไทม์ และกำลังใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ธุรกิจของไทย จะต้องเตรียมพร้อมและคว้าโอกาสในสถานการณ์วิกฤตนี้ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมด้าน Health tech ให้ได้ ซึ่งจะเป็นความได้เปรียบที่ได้เข้าสู่ตลาดเป็นเจ้าแรกๆ เพราะปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าแนวโน้มของ Telemedicine กำลังเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ เป็นช่วงที่มีการใช้บริการ Telemedicine อย่างแพร่หลายและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงจุดที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกแทบจะดำเนินการไม่ทันต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ดังนั้นบริษัทต่างๆ ด้านการดูแลสุขภาพจึงควรจะต้องตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการขยายตลาดด้านนี้อย่างจริงจังได้อย่างไร

ตัวอย่างกรณีศึกษาในอุตสาหกรรมด้าน Health tech ในประเทศสหรัฐอเมริกา PlushCare เป็นหนึ่งในบริษัทของสหรัฐฯ ที่พยายามหาวิธีดำเนินการด้าน Telemedicine โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ป่วยในการเข้าถึงการคุมกำเนิดและยาอื่นๆ ผ่านเครือข่ายแพทย์ออนไลน์ แต่ในปัจจุบันบริษัทได้เข้ามาช่วยผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ป่วยหนัก โดยสามารถตรวจสอบติดตามอาการได้จากระยะไกล

ทั้งนี้ James Wantuck ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์แห่ง PlushCare ระบุว่าแพทย์ของบริษัทพร้อมที่จะเริ่มการรักษาผู้ป่วยในรัฐที่พวกเขาไม่ได้รับใบอนุญาตในปัจจุบัน โดยแพทย์เหล่านั้นจะเข้าถึงคณะกรรมการการแพทย์ของรัฐได้ แพทย์บางคนสามารถตอบสนองผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายคนทำงานจากที่บ้าน

ประเด็นที่น่าสนใจของ Telemedicine ในสหรัฐฯ คือคนไข้เคลมการปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์ได้ด้วยประกันสุขภาพของบริษัทประกัน (reimbursement) การร่วมมือกับบริษัทประกันสุขภาพ ถือเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้บริการ Telemedicine มากขึ้น ในอดีตยอดเคลมประกันจากการใช้ Telemedicine ยังมีสัดส่วนน้อยมากๆ โดยในปี 2018 พบว่ามีน้อยกว่า 1% เนื่องจากผู้ป่วยหลายคนอยากพบแพทย์และนั่งพูดคุยใกล้ชิดกับแพทย์มากกว่า

แต่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ น่าจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยหันมาสนใจบริการ Telemedicine กันมากขึ้น สามารถสรุปได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนรูปแบบการดูแลสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาวได้ เนื่องจากสามารถยกระดับความสามารถการดูแลแบบเสมือน (virtual care) ได้

นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพในระดับแนวหน้า ผู้ปฏิบัติงานได้รับผลกระทบอย่างมากนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากโทรศัพท์เข้าไปที่โรงพยาบาล ต้องการพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับอาการที่อาจเกิดขึ้นสำหรับโควิด-19 ซึ่งระบบสุขภาพหลายแห่งกำลังเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่ใช้คัดกรองอาการด้วยตัวเอง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตรวจสอบอาการก่อนที่จะเข้าพบแพทย์

ดังนั้น Providence Health ในรัฐวอชิงตัน ได้จัดทำ chatbot ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยคำถามที่พบบ่อยและมีการประเมินอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบกว่า 70,000 ราย และมีข้อความมากกว่าหนึ่งล้านข้อความที่เข้ามาใน chatbot ในเดือนแรกของการแพร่ระบาด เป็นการเข้าใช้บริการแบบเสมือนมากกว่า 10 - 15 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ ซึ่งเป็นการพยายามช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการคัดกรองได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามความท้าทายยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นั้น ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ยังต้องรอคิวแบบเสมือน (virtual queue) เนื่องจากมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการแบบเสมือน (virtual visits) จำนวนมาก หากไม่มีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมมาให้คำปรึกษาแบบเสมือนอาจทำให้ปัญหาเลวร้ายลง และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว Providence Health จึงปรับใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษาแบบเร่งด่วนภายในวันเดียว เพื่อดูแลผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามารับบริการตรวจคัดกรองผ่าน chatbots

สำหรับระบบสาธารณสุขในรัฐอื่นๆ กำลังเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์นี้เช่นกัน ในขณะที่ระบบสุขภาพที่ได้พัฒนากระบวนการต่างๆ โดยแพทย์จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ในที่สุดจะทำให้ตอบสนองผู้ป่วยจำนวนมากๆ ได้ จนยับยั้งการระบาดของโรคได้

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักถึง คือ ความเสี่ยงด้านความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์จะเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่นี้อาจเป็นช่วงเวลาที่อาชญากรไซเบอร์เข้ามาใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Champagne-Urbana Public Health District ในรัฐอิลลินอยส์ ได้รับผลกระทบจาก ransomware และต้องจ่ายเงินค่าไถ่เป็นจำนวน 350,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ของตนได้อีกครั้ง ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO), แผนกสุขภาพและบริการมนุษย์ และหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่ง ได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้ระบบสุขภาพต้องใช้พนักงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

และต้องเปิดให้พนักงานทำงานด้วย Virtual Desktop Interface (VDI) และอุปกรณ์เชื่อมต่อ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบไอทีขององค์กรได้อย่างราบรื่น โดยให้มีการไหลของข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ภายในและภายนอกไฟร์วอลล์น้อยที่สุด แม้ว่าจะมีการรักษาความปลอดภัยปลายทางที่แข็งแกร่ง แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่พนักงานแบบเสมือนจริงนี้ ทำให้เกิดช่องโหว่ใหม่ที่รอการโจมตีได้

จะเห็นได้ว่าในภาวะวิกฤตมักจะมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ สำหรับ Telehealth ก็เช่นกัน ที่ถือได้ว่าอาจเป็นโอกาสสำคัญในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ปริมาณการให้คำปรึกษาผ่าน Telehealth เพิ่มขึ้นหลายเท่านับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญจาก Geisinger Health ระบุว่ามีการใช้บริการ Telehealth เพิ่มขึ้น 500% ภายในช่วง 2 - 3 สัปดาห์แรกนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด ซึ่ง Geisinger Health ได้ฝึกอบรมพนักงานผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ราย (และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ)

สำหรับดำเนินการตรวจสุขภาพทางไกลให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้แพลตฟอร์ม Telemedicine ยังช่วยให้ครอบครัวผู้ป่วยสามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้ระหว่างการดูแลรักษา ในขณะที่ระบบสุขภาพส่วนใหญ่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการขยายขนาดของการดำเนินงานด้าน Telehealth ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และสามารถตอบสนองตามความต้องการของผู้ป่วยผ่านเครื่องมือทางด้านสุขภาพแบบเสมือน ส่วนผู้ให้บริการด้านดูแลสุขภาพอื่น ๆ เช่น Cleveland Clinic ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นได้ถึง 10 เท่า

สิ่งสำคัญสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญคือ ปัจจุบันยังขาดรูปแบบการชำระเงินให้แก่แพทย์ที่ให้บริการ Telemedicine ดังนั้นรัฐบาลจึงควรตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งเสริมระบบ Telehealth เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยสาธารณะ รัฐบาลได้ทำการชำระเงินคืนให้แก่แพทย์ผู้ให้บริการผ่าน Telehealth เราอาจเห็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้กระแสหลักด้านสุขภาพเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน สำหรับวิธีการดูแลรัษาสุขภาพในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนจำนวนมากจะต้องมีความคุ้นเคยกับการใช้ Telehealth ให้เป็นที่ยอมรับในการดูแลรักษาสุขภาพโดยทั่วไปของผู้คนในอนาคต

วิกฤตการณ์ของไวรัสโควิดฯ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอนาคตในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพที่ เพราะไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตและการทำงาน และแม้กระทั่งอนาคตของโลก จะเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการดูแลสุขภาพเข้าสู่อุตสาหกรรม Health tech อย่างแน่นอน กอปรกับรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก และบริษัทด้านการดูแลสุขภาพกับระบบสุขภาพชั้นนำ กำลังเร่งแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ตรงนี้เป็นการยืนยันถึงแนวโน้มทางด้านการดูแลสุขภาพที่จะต้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล

ดังนั้น สำหรับธุรกิจของไทย ตอนนี้จึงถือเป็นโอกาสในวิกฤต ที่ผู้ประกอบการจะต้องคิด เร่งวางแผน และลงมือทำ ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม Health tech ซึ่งจะเป็นเทรนธุรกิจเชิงสุขภาพในอนาคตแน่นอน