posttoday

โควิด-19 กับความรุนแรง

10 เมษายน 2563

โดย...โคทม อารียา

**************************

เราอาจจำแนกความรุนแรงออกเป็น 1. ความรุนแรงทางตรงหรือทางกายภาพ 2. ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ผู้กระทำไม่ปรากฏตัวตน หากเกิดแต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งน่าจะมีศักยภาพในการลดความรุนแรงทางตรงได้ แต่โครงสร้างนั้นมีความบกพร่อง จึงไม่สามารถลดจำนวนคนที่บาดเจ็บล้มตายเพราะความรุนแรงทางตรงได้จริง หากเมื่อแก้ไขข้อบกพร่องของโครงสร้างดังกล่าวได้ จึงจะลดได้จริง

3.ความรุนแรงทางวัฒนธรรม ที่จับต้องได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะอยู่ในความคิดความเชื่อ ในจิตใจ ในทัศนคติของมนุษย์ เช่น สังคมในอดีต ที่เคยเชื่อว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน บางคนเหมาะหรือจำต้องเป็นทาส บางคนเป็นไพร่ บางคนเป็นนาย นายจะปฏิบัติต่อทาสอย่างไร ต่อบ่าวอย่างไร ก็อาจมองว่าเป็นธรรมชาติมากกว่าจะเป็นความรุนแรง

พอเกิดการระบาดของโควิด-19 บางคนคิดว่าเป็นความรุนแรงทางกายภาพอย่างเห็น ๆ ก็พอแล้ว แต่มีบางคนสงสัยว่า โครงสร้างความยากจนจะทำให้คนจนหรือประเทศที่ยากจนเดือดร้อนมากกว่าไหม บางคนอาจคิดหรือมีทัศนคติว่า ยากดีมีจนก็คนเหมือนกัน คนไทยหรือคนต่างชาติก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เวลาโควิด-19 มาเยือน ไวรัสก็ต้องการเผยแพร่พันธุกรรมของมันไป โดยไม่ไยดีต่อสถานภาพของผู้รับเชื้อ ไม่ไยดีต่อการข้ามพรมแดน ฯลฯ เผยแพร่ได้ก็เผยแพร่ไปตามธรรมชาติของมัน ถ้ามนุษย์มัวแต่โทษหรือเกี่ยงกันไปมา เช่น โทษองค์การอนามัยโลก ฯลฯ ก็มีแต่ไวรัสเท่านั้นที่ได้ประโยชน์

ดังนั้น เราจะรับมือกับไวรัสได้ดีกว่าไหมถ้าจะคอยกระตุ้นเซลล์สมองของเรา ในส่วนที่ทำหน้าที่เหมือนเซลล์กระจกเงาที่คอยสะท้อนเซลล์สมองของผู้คน เพื่อเราจะได้เปิดใจให้กว้างที่สุดในยามวิกฤตเช่นนี้

ผมชอบพระสันตะปาปาฟรานซิส ในการปฏิสันถานกับนายกรัฐมนตรีอิตาลี ท่านฝากว่าขอให้ดูแลสถานที่สามแห่งเป็นพิเศษ คือบ้านพักคนชรา ค่ายทหาร และค่ายผู้ลี้ภัย ปรากฏว่าในยุโรป สถิติการเสียชีวิตของคนชราในบ้านพักเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดีที่ทุกคนรีบแยกบ้านพักคนชราเพื่อให้มีมาตรการกักกันเป็นพิเศษแล้ว น่าวิตกว่าค่ายผู้ลี้ภัย เริ่มมีคนติดเชื้อโควิด -19 บ้างแล้ว

ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งก็อพยพกลับบ้านเพื่อเลี่ยงความแออัด ในตอนแรก ผมไม่ค่อยเข้าใจความห่วงใยของพระสันตะปาปาเกี่ยวกับค่ายทหาร มาเริ่มเข้าใจเมื่อได้ข่าวการติดเชื้อของทหารในเรือรบ ซึ่งถ้าเป็นลำใหญ่ ๆ ก็มีทหารอยู่ร่วมกันนับพัน เรือบางลำปฏิบัติการอยู่ไกล กว่าจะกลับเข้าเทียบท่าในประเทศได้ก็หลายวัน บางลำที่ขอความช่วยเหลือไปส่วนกลาง พอข่าวรั่วออกไป ผู้บังคับการเรือต้องถูกปลด ถ้าเรากลัวติดเชื้อฉันใด คนชรา ทหาร ผู้ลี้ภัย และคนอื่น ๆ ก็กลัวเหมือนเรา จะไปทำร้ายกันทำไม ช่วยเหลือกันจะดีกว่า

ผมชอบอันโตนิโอ กูร์แตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่เรียกร้องเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ขอให้คู่ขัดแย้งทั่วโลกที่กำลังใช้ความรุนแรงทางตรงเข่นฆ่ากันอยู่ ขอให้หยุดเถอะ อย่าซ้ำเติมภัยพิบัติต่อกันและกันเลย หันมาสู้ภัยพิบัติจากไวรัส ซึ่งเป็นศัตรูร่วมที่มองไม่เห็นเถิด ต่อจากนั้นไม่นาน มีการรณรงค์ของรายชื่อผู้สนับสนุนการเรียกร้องให้หยุดยิงของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ดังปรากฏตามลิงค์ต่อไปนี้ https://secure.avaaz.org/campaign/fr/global_ceasefire_loc/?email ผมได้กดเข้าไปใส่ชื่อแล้ว ได้ทราบข่าวอีกเหมือนกันว่ามีประเทศเกือบร้อยประเทศที่ประกาศสนับสนุนข้อเรียกร้องหยุดยิงขององค์การสหประชาชาติ

ประเทศที่น่าจับตาดูป็นพิเศษคือซีเรีย ซึ่งมีสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ และทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน และผู้ลี้ภัยหลายล้านคนแล้ว มีข่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคมว่า ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีเทย์ยิบ แอร์ดวานของตุรกี ได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่จังหวัดอิดลิบของซีเรีย ที่อยู่ใกล้พรมแดนของตุรกีแล้ว ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลซีเรียก็ดี ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียก็ดี จะยุติปฏิบัติการทางทหาร และหันมากู้ภัยพิบัติจากโควิด-19 อย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด

อีกประเทศหนึ่งที่มีสงครามกลางเมือง ที่ทำให้ประชากรทั่วไป รวมทั้งลูกเด็กเล็กแดงจำนวนมากต้องอดอยาก ล้มตาย ประเทศนี้คือเยเมน คู่กรณีคือรัฐบาลพลัดถิ่นที่มีกองกำลังอยู่ทางใต้ของประเทศ กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งสื่อต่างประเทศเรียกว่ากบฏฮุตตี ฝ่ายรัฐบาลมีพันธมิตรหลายประเทศที่นับถืออิสลามนิกายซุนนีคอยหนุนช่วย ทั้งด้วยกำลังทางทหารและการทิ้งระเบิด ส่วนประเทศตะวันตกให้การสนับสนุนทางการทูต พวกฮุตตีมีอิหร่านเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในหลายๆด้าน

อันที่จริงในเรื่องการหยุดยิงนั้น ทั้งรัฐบาลและฮุตตีได้บรรลุข้อตกลงตั้งแต่ปลายปี 2561 แล้ว แต่ข้อตกลงได้ถูกละเมิดเป็นประจำ แต่ข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายนคือ กองกำลังพันธมิตรที่รัฐบาลซาอุดี อาราเบียเป็นแกนนำ ได้ประกาศหยุดปฏิบัติการทางการทหารฝ่ายเดียว โดยอ้างสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นเหตุผลสำคัญ หวังว่าพวกฮุตตีจะทำตาม และหลาย ๆ ประเทศจะสามารถส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปดูแลพลเรือนที่อดอยากและขาดแคลนอย่างหนักได้โดยเร็ว

ข่าวดีสำหรับบ้านเราก็คือ ขบวนการบีอาร์เอ็นที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาล และใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 นั้น ได้มีแถลงการณ์ออกมาสองฉบับ ฉบับแรกเก่าหน่อยคือออกเมื่อวันที่ 20 มกราคม ว่าจะให้ความคุ้มครองเด็กจากผลการต่อสู้ด้วยอาวุธ รวมถึงการไม่ใช้เด็กเป็นนักรบและการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย แถลงการณ์ฉบับที่สองออกเมื่อวันที่ 3 เมษายน และมีใจความว่า ... “เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขได้ทำงานป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป บีอาร์เอ็นจะหยุดกิจกรรมทุกอย่าง ตราบเท่าที่ บีอาร์เอ็นจะไม่ถูกโจมตีโดยบุคลากรของรัฐบาลไทย”

ผมดีใจกับข่าวนี้ ในยามวิกฤตที่ผู้คนล้มตายจากความรุนแรงทางตรงที่ก่อโดยโคโรนาไวรัส และความรุนแรงทางอ้อม เช่น ความเดือดร้อนในการทำมาหากิน ความทุกข์ใจที่ต้องจำกัดกิจกรรมทางสังคมลง แต่ก็มีแสงรำไรของความหวัง ที่เห็นการร่วมมือร่วมใจกันมากทีเดียว ส่วนการต่อว่าต่อขานและการกล่าวโทษกัน (รวมทั้งการกล่าวโทษรัฐบาล) ก็ลดน้อยลง อีกทั้งเกิดความหวังว่า ชายแดนใต้น่าจะเข้าสู่ความสงบได้ในไม่ช้า อาเจห์สงบ ส่วนหนึ่งเพราะโศกนาฏกรรมสึนามิ ชายแดนใต้จะสงบเพราะโศกนาฏกรรมโควิด-19 บ้างจะได้ไหม

มีคำกล่าวว่า รถไฟขบวนหนึ่งอาจบังอีกขบวนหนึ่งไว้จนไม่เห็น หมายความว่า เรามัวแต่กลัวโควิด-19 เลยไม่ทันป้องกันภัยอีกภัยหนึ่งคือ ความรุนแรงในครอบครัว อันเป็นผลจากการกักตัวอยู่กับบ้าน จนการทะเลาะวิวาทในบ้านซึ่งแต่ก่อนอาจหลบหน้ากันไปได้ กลับเป็นการมาเผชิญหน้ากันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง บวกกับความหงุดหงิดหรือความกลัวหรือความกังวลในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ การทะเลาะจึงปะทุเป็นการใช้ความรุนแรงทางตรง และแน่นอนว่าผู้ที่ถูกทุบตีคือภรรยาเป็นส่วนใหญ่

เมื่อสองสามวันก่อน องค์การสหประชาชาติอีกนั่นแหละ ที่ออกมาเตือนว่าความรุนแรงในครอบครัวได้เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศอาหรับ มีข่าวจากประเทศจีนว่า ชาวจีนในอู่ฮั่น ต้องรอคิวทำเรื่องหย่าร้างกันที่ยาวเหยียดจนถึงปีหน้า สำหรับประเทศไทยอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 เมษายนว่า มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าในช่วงกักตัวอยู่กับบ้าน ผู้หญิงมีโอกาสตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น

ขอลงท้ายว่า โควิด-19 เป็นความรุนแรงทางตรง โดยทิ้งร่องรอยบาดแผลในหลายด้าน แต่มันจะสามารถสอนใจเรา ให้อดทน และสู้กับความรุนแรงที่จะมีมาได้ดียิ่งขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเรา ว่าเราจะเปิดใจรับสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น และด้วยเมตาจิตต่อตัวเราและผู้อื่นที่มีทุกข์มีสุขเหมือนกับเราได้เพียงใด