posttoday

ฟื้นฟูการเมืองสร้างศรัทธาประชาชน

04 เมษายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************************

“การเมืองไทยป่วยหนัก” อ่อนแอ ขี้โรค น่ารังเกียจ

ท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 มีหลายคนบอกว่า มีความสุขมากที่ไม่ต้องเห็นหน้านักการเมืองออกมาทะเลาะกัน จำนวนหนึ่งก็บอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองมาปกครองดูแลประเทศก็ได้ มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกับข้าราชการกระทรวงต่างๆ ก็บริหารประเทศไปรอดได้ และดูดีกว่าในตอนที่มีนักการเมืองเสนอหน้าออกมาแย่งความนิยม ดีแต่สร้างภาพ มองดูบ้านเมืองตอนนี้แล้ว “สะอาดสะอ้าน”

ความเบื่อหน่ายชิงชังนักการเมืองเป็นปรากฏการณ์ปกติของการเมืองในทุกประเทศทั่วโลก เพราะนักการเมืองต้องแข่งขันกัน มีการแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ว่าทำงานไม่ได้เรื่อง ดีแต่รับปากให้สัญญา แต่ทำตามสัญญานั้นไม่ได้ การเมืองเป็นเรื่องของแนวคิดที่มีความหลากหลาย จนไม่รู้ว่าการเมืองแบบใดที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดี แต่ทั้งหมดนั้นประชาชนก็มองว่าเป็นความผิดของนักการเมือง ระบอบการเมืองใดๆ ถ้าได้นักการเมืองไม่ดีก็พาบ้านเมืองฉิบหายทุกที่ ตรงกันข้ามกับถ้าประเทศนั้นได้นักการเมืองที่ดี แม้จะปกครองด้วยระบอบการเมืองก็ตาม ก็ทำให้ประชาชนมีความสุขสมหวัง บ้านเมืองรุ่งเรือง

ในคราวที่มีการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนเห็นว่าเป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ก็คือ “การได้นักการเมืองที่ดี” โดยมองถึงมาตรการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นเป็น2 ส่วน ส่วนแรกก็คือ การเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ได้แก่ คุณลักษณะของนักการเมืองที่พึงปรารถนา ระบบการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักการเมือง

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การตรวจสอบควบคุมนักการเมือง ภายหลังจากที่นักการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งนั้นแล้ว (คือตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. ตำแหน่งในรัฐสภาและรัฐบาล) ได้แก่ การบังคับใช้ประมวลจริยธรรมของนักการเมืองอย่างจริงจัง (คือการควบคุมตนเองโดยนักการเมืองเอง) การควบคุมตรวจสอบโดยประชาชน และการมีองค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบ ซึ่งภายหลังที่ได้บรรจุมาตรการต่างๆ เหล่านี้เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็พบว่า “นักการเมืองไทยไม่ได้ดีขึ้น” เช่น การกำหนดคุณสมบัติของนักการเมือง ที่กำหนดให้ต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ก็ไม่ได้ทำให้นักการเมืองมีคุณธรรมหรือความรับผิดชอบสูงขึ้น หรือการกำหนดให้ประมวลจริยธรรมสำหรับนักการเมืองเป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติ

แต่พอนักการเมืองเหล่านี้เข้ามาในรัฐสภาแล้วก็ยังมีความประพฤติที่น่ารังเกียจอยู่ดังเดิม (การไม่รักษามารยาทและพฤติกรรมที่น่ารังเกียจทั้งหลาย เช่น การพูดการจา และการวางตัว เป็นต้น) หรือการสร้างกลไกต่างๆ ไว้ในพระราชบัญญัติพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง รวมถึงมีองค์กรอิสระ คือคณะกรรมการการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ก็ใม่ได้ทำให้การทุจริตในการเลือกตั้งนั้นเบาบางลง ซ้ำยังเกิดกลวิธีในการโกงเลือกตั้งที่ซับซ้อนมากขึ้น หรือในส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบควบคุมโดยภาคประชาชน ก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถจัดการอะไรกับนักการเมืองที่ไม่ดีทั้งหลายเหล่านั้นได้

พฤติกรรมของนักการเมืองคือสาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่ง “ความเสื่อมศรัทธา” ในหมู่ประชาชน จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ได้ใกล้ชิดติดต่อกับนักการเมืองจำนวนหนึ่ง รวมถึงที่ได้เข้าไปทำงานอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ช่วงสั้นๆ ประมาณปีเศษๆ พบว่า นักการเมืองคือพวกที่ชอบ “อยู่เหนือกฎหมาย” อย่างเช่นในกรณีที่สมาชิกรัฐสภาทุกคน(ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร)จะต้องยึด “ประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา” เป็นกฎหมายแม่บทในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และถ้าหากมีการละเมิดไม่กระทำตนตามประมวลจริยธรรมนี้ ก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย ต้องถูกลงโทษเช่นเดียวกับการทำผิดกฎหมายทั่วไป

แต่ที่ได้พบก็คือเมื่อมีการร้องเรียนถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของสมาชิกรัฐสภาในหลายๆ เรื่อง ประธานรัฐสภาก็ได้แต่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน สุดท้ายก็จบลงด้วยการว่ากล่าวตักเตือน ทั้งที่โทษเหล่านั้น เช่น การให้ร้ายต่อสมาชิกรัฐสภาคนอื่นมีโทษถึงชั้นพ้นสภาพการเป็นสมาชิก และมีความผิดทางแพ่ง คือต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย เช่นเดียวกันกับที่ปรากฏเป็นข่าวในทางสาธารณะ ที่มีข่าวว่า ส.ส.ทะเลาะกันถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ก็ไม่เคยเห็นว่ารัฐสภาได้มีการลงโทษ ส.ส.ที่ทำความผิดนั้นแต่อย่างใด หลายกรณีเรื่องถูกปิดเงียบ หรือปล่อยปละละเลย จนดูเหมือนไม่มีความสำคัญ แล้วทุกอย่างก็ “หายไปกับสายลม”

เรื่องความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของนักการเมืองนี่แหละที่เป็นต้นเหตุของความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีต่อนักการเมือง ดังจะเห็นได้ว่าในคราวที่มีการรัฐประหารครั้งใด ประชาชนก็ดูเหมือนจะโล่งอกที่ทหารเข้ามาจัดการกับนักการเมืองเหล่านั้นไปเสียได้ รวมถึงการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นี้ด้วย ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ว่าจะสร้างการเมืองใหม่ที่ใสสะอาด จะจัดการกับนักการเมืองที่ทำไม่ดีกับบ้านเมือง และจะนำความสุขความชื่นใจมาให้แก่ประชาชน

ทว่าพลันที่พล.อ.ประยุทธ์ อ้าแขนต้อนรับนักการเมืองแบบเก่าๆ เข้ามารวมกันเป็นพรรคพลังประชารัฐ และเข้าร่วมรัฐบาลกับนักการเมืองเหล่านั้นภายหลังการเลือกตั้ง ความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อพล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พอมีวิกฤติโควิด 19  และรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเอาพวกรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ “ไปนั่งข้างๆ” (สำนวนรองนายกฯวิษณุ เครืองงาม ในความหมายที่น่าจะแปลได้ว่า “อย่าเข้ามายุ่ง”) ก็ดูเหมือนประชาชนจะฮือฮามีความพอใจ นั่นก็แสดงว่าความรู้สึกที่ไม่ดีต่อนักการเมืองของประชาชนมีอานุภาพที่สามารถกลบเกลื่อนความเสื่อมในความนิยมที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวนายกรัฐมนตรีนั้นได้

หลังวิกฤติโควิด 19 น่าจะต้องมีการฟื้นฟูการเมืองไทย โดยเฉพาะฟื้นฟูตัวนักการเมืองเพื่อเป้าหมายที่จะทำให้การเมืองไทยมีความสะอาด มีเสถียรภาพแข็งแรง และเป็นประโยชน์กับประชาชน

*******************************