posttoday

สู้กับโรคอหิวาต์ 85 ปีก่อน

02 เมษายน 2563

โดย...ประสาร มฤคพิทักษ์

*******************

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นปูชนียแพทย์ที่วางรากฐานด้านสาธารณสุขไว้มากมาย เช่น ผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลในทุกอำเภอ และสถานีอนามัยในทุกตำบลเพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการหมอและยาได้โดยง่ายเมื่อปี พ.ศ. 2478

เพิ่งจบแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ารับราชการที่กรมสาธารณสุข ตอนนั้นโรคอหิวาต์ระบาดจากเมืองมะละแหม่งในพม่า เข้ามากาญจนบุรี ราชบุรี ตามลำน้ำแม่กลองสู่จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดรอบๆกรุงเทพฯ ระบาดอยู่ราว 2 ปี คนไทยเสียชีวิตนับหมื่นคน

นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ฝึกหัดอายุ 24 ปี ถูกส่งไปประจำที่ อ.อัมพวา ขึ้นไปหานายอำเภอแล้วพูดว่า“กรมสาธารณสุขให้ผมมาตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ เพื่อป้องกันอหิวาต์ที่อัมพวา ”นายอำเภอบอกว่า“ผมไม่รู้ว่า รพ.เอกเทศของคุณหมอหมายความว่าอะไร แต่ผมมีศาลาวัดอัมพวา คุณหมอจะใช้เป็นสถานที่ได้ก็เอา”

10 วันแรกไม่มีใครมาใช้บริการเลย ชาวบ้านไม่นิยมการแพทย์สมัยใหม่ วันต่อมา มีคนหามคนไข้ชื่อนายผ่อง อายุราว 50 ปี จะมุ่งเอาไปเผาที่ป่าช้าวัดซึ่งลือกันว่าผีดุมาก กลุ่มชาวบ้านแวะที่ศาลาวัด

“ไหนๆก็มีหมอแล้วไอ้นี่ตายแล้ว ลองดู เขาให้เราลองดู ทุกคนที่มาถือดาบกันทั้งนั้น เราเผอิญเคราะห์มันดี เอาเข็มแทงเข้าเส้นเลือดดำ แล้วให้น้ำเกลือ 2 ขวด พอคนไข้ฟื้น ขอกินน้ำหน่อย เท่านั้นละเว้ย มันร้อง ไอ้นี่มันเทวดา ตายแล้วยังให้ฟื้นมาได้

นายผ่องกลับไปบ้าน ปรากฏว่า แกเป็นหัวหน้านักเลงในอัมพวาจึงประกาศว่า ‘หมอคนนี้รักษาฉันไว้ ใครจะไปแตะต้องหมอคนนี้ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าพวกเราคนไหนเป็นโรคอหิวาต์ ไปหาเขาให้หมด’ก็มีคนไข้มาเรื่อย เอากันใหญ่ เราก็เลยไม่ได้หลับไม่ได้นอน”นพ.เสม เล่าเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือครบรอบอายุ100 ปี เมื่อปี 2554

นพ.เสมสรุปว่า น้ำสำคัญยิ่งกว่าแมลงวัน จะป้องกันอหิวาต์ระบาดต้องทำลายเชื้อโรคในน้ำ ต้องให้ประชาชนดื่มน้ำต้มสุก ไม่ใช้น้ำคลองล้างภาชนะ และอย่าให้น้ำไม่สะอาดเข้าปาก ต้นปี 2479 อหิวาต์บางเบาลง หมอหนุ่มกลับเข้ากรุงเทพฯประสบการณ์อัมพวา กลายเป็นอุดมคติ ให้ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เลือกที่จะอุทิศตนเป็นแพทย์ชนบทนานนับสิบปี