posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรน่าหวู่ฮั่น(7)

31 มีนาคม 2563

โดย....น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*******************************

ในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็ “อั้นไม่อยู่” ประกาศว่า โควิด-19 เข้าขั้น “ระบาดใหญ่ทั่วโลก” (pandemic) แล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563

อันที่จริงการแพร่ระบาดของโรคนี้ เริ่มต้นจากการ “ระบาด” (outbreak) ขึ้นในประเทศจีน และองค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากจีนและประกาศ “การแพร่ระบาด” (epidemic) ของโรคอุบัติใหม่ (emerging disease) นี้ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ต่อมาองค์การอนามัยโลกก็ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินระดับนานาชาติ” (international emergency) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 หลังจีนประกาศปิดเมืองหวู่ฮั่นเมื่อวันที่ 23 มกราคม เพียง 1 สัปดาห์ ซึ่งการประกาศครั้งนั้นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกประกาศหลังกลับจากดูสถานการณ์ในจีน “ด้วยตาตนเอง” และ “เห็นประจักษ์” ถึงขีดความสามารถของจีนว่าจะสามารถ “เอาอยู่” คือสามารถควบคุม (control) การระบาดได้การประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนั้น ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกจึงแถลงอย่างชัดเจนว่า เหตุผลสำคัญมิใช่เพราะความห่วงใยสถานการณ์ในจีน แต่เพราะห่วงใยในประเทศอื่นๆ ซึ่งมีความสามารถในการควบคุมป้องกันโรคด้อยกว่า

ต่อมาโรคก็แพร่ระบาดออกไปในประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จนเข้านิยามของ “การแพร่ระบาดทั่วโลก” (pandemic) แล้ว นั่นคือมีการแพร่ระบาดไปในหลายทวีปแล้วแต่องค์การอนามัยโลกก็ “รั้งรอ” อยู่ชั่วระยะหนึ่งจึงประกาศอย่างเป็นทางการ

การที่องค์การอนามัยโลกเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการประกาศสถานการณ์ต่างๆ เพราะผลจากประกาศย่อมตามมาด้วย 2 อย่างคือ (1) มาตรการการควบคุมและป้องกันโรค และ (2) ความ “แตกตื่น” หรือ “ตระหนกตกใจ” (panic) ของประเทศต่างๆ และประชาชนทั่วไป จึงแม้สถานการณ์จะเข้าตาม “นิยาม” ของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือต่อมาเป็น “การแพร่ระบาดทั่วโลก” แล้ว ก็ยังมีช่วงเวลาให้มีการประชุมปรึกษาหารือและประกาศอย่างเป็นทางการ

ผลจากการประกาศขององค์การอนามัยโลก ประกอบกับ “สถานการณ์เข้าขั้นร้ายแรง” ในหลายประเทศ ประกอบกับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของจีนในการควบคุมโรคนี้ด้วยมาตรการสำคัญที่เป็น “ยาแรง” คือ “การปิดเมือง” (Shutdown) รวมทั้งความสำเร็จของบางเมืองอย่างฮอคไกโดในญี่ปุ่นซึ่งนายกเทศมนตรีหนุ่มใช้ความกล้าหาญประกาศปิดเมืองเช่นกัน และโรคก็สงบลงโดยเร็ว ทำให้หลายประเทศเริ่มทยอยใช้มาตรการนี้แล้ว

ประวัติศาสตร์ในอดีตพบว่าสำหรับโรคระบาดร้ายแรงโดยเฉพาะที่เป็นโรคอุบัติใหม่ มักต้องใช้ยาแรง จึงจะสามารถควบคุมโรคไว้ได้ เช่น กรณีการระบาดของ “ไข้หวัดนก” ซึ่งเกิดจากการเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ที่ฮ่องกง เมื่อ พ.ศ. 2540 เมื่อพบว่าต้นเหตุเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่เอช 5 เอ็น 1 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่จาก “สัตว์ปีก” (จึงเรียกว่า Bird Flu) ทางการฮ่องกงจึงสั่งฆ่าเป็ดไก่นับล้านตัว ทั้งๆ ที่เป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ซึ่งทำให้โรคสงบลงทันทีและสามารถ “หยุด” การแพร่ระบาดของโรคนี้ไปได้ถึง 7 ปี

แต่เพราะเชื้อเอช 5 เอ็น 1 อยู่ใน “สัตว์ปีก” เช่น นกที่มิใช่สัตว์เลี้ยง จึงไม่มีทางฆ่าได้หมด และโรคก็แพร่ระบาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2547 โดยแพร่ไปหลายประเทศและหลายทวีป จึงมีการ “ควบคุม” การแพร่ระบาดด้วย “ยาแรง” เช่นเดิม ดังประเทศไทยได้ฆ่าไก่-เป็ดไปกว่า 70 ล้านตัว โรคจึงสงบลง ประเทศอื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน ต่อมาได้มีการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการระบาด คือเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงไก่จาก “ระบบเปิด” เป็น “ระบบปิด” เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจาก “นกป่า” ทำให้โรคนี้สงบลง โดยยังรายงานการเกิดโรคเพียงประปรายทั้งจากสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 และสายพันธุ์อื่นๆ อีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ต่อมามีการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อีกโรคหนึ่งในมาเลเซีย ซึ่งช่วงแรกเข้าใจผิดว่าเป็นไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis) ซึ่งมีแหล่งรังโรค (reservoir) อยู่ในหมูและมียุงเป็น “พาหะนำโรค” (vector) จึง “หลงทาง” ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในหมูและพ่นสารเคมีฆ่ายุง ซึ่งพบว่านอกจากควบคุมป้องกันโรคไม่ได้แล้วยังเพิ่มการแพร่ระบาดของโรคในหมูเพราะการฉีดวัคซีนในหมูใช้กระบอกและเข็มฉีดยาเดียวกันฉีดติดต่อกันถึง 20 ตัว เชื้อจึงแพร่ผ่านหัวเข็ม เพราะพบต่อมาว่าเชื้อก่อโรคมิใช่เชื้อเจอีแต่เป็นเชื้อไวรัสตัวใหม่ ซึ่งต่อมาตั้งชื่อว่าไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ไวรัสตัวนี้พบในค้างคาวแม่ไก่ ทำให้เกิดโรคในหมูและแพร่มาสู่คน จึงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) และเป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีทั้งความรุนแรง (Servere) และร้ายแรง (Serious) ไม่มียารักษา การควบคุมโรคจึงต้องใช้ “ยาแรง” คือ ฆ่าหมูไปนับล้านตัว และโรคก็สงบลงโดยเร็ว

เมื่อเกิดโรคซาร์สระบาด เมื่อ พ.ศ. 2545 ซึ่งจุดตั้งต้นอยู่ในจีน และแพร่ไปหลายประเทศโดยจุดกระจายโรคอยู่ที่ฮ่องกง แพทย์คนหนึ่งติดโรคจากเมืองกวางตุ้งไปเยี่ยมญาติที่ฮ่องกง พักที่โรงแรมเมโทรโปล เชื่อว่าแพทย์คนนี้เป็น “ตัวแพร่โรคอย่างกว้างขวาง” (super-spreader) โดยแพร่โรคให้แก่คนราว 17-18 คน มีสมมติฐานว่าจุดแพร่โรคสำคัญ คือ ปุ่มลิฟต์ที่มือที่เปื้อนน้ำมูกของแพทย์ผู้นี้กดแล้วคนอื่นๆ มากดต่อ ทำให้เกิดการแพร่กระจายโรค และเมื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งยังไม่ทราบว่าเกิดโรค “อุบัติใหม่” ที่ร้ายแรงและติดต่อง่าย แต่ยังไม่มีมาตรการในการป้องกันการติดโรคที่เข้มงวดเพียงพอ จึงมีแพทย์พยาบาลติดโรคไปหลายคน และแพร่ระบาดไปในประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว จากการเดินทางของผู้คนในยุคโลกาภิวัตน์ และเพราะเป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ ซึ่งการแพร่โรครวดเร็วมาก

บนเครื่องบินลำหนึ่งจากฮ่องกงไปแคนาดา พบว่าผู้ป่วยรายหนึ่งแพร่โรคให้แก่ผู้โดยสาร 2 แถวข้างหน้าและ 2 แถวข้างหลัง และแพร่ต่อๆ ไปยังคนอื่นๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่โรคนี้รุนแรงและร้ายแรงทำให้อัตราตายสูงมาก องค์การอนามัยโลกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและแนะนำมาตรการห้ามเดินทาง ทำให้โรคสงบลงโดยเร็ว โดยโรคแพร่ระบาดอยู่ราว 8 เดือน มีผู้ป่วย 8 พันกว่าคน ตายไป 8 ร้อยกว่าคน เพราะตอนนั้นสนามบินต่างๆ ทั่วโลก กลายเป็นสนามบินร้าง

ขณะนี้ประเทศที่สถานการณ์ร้ายแรงที่สุดคืออิตาลี อิตาลีเริ่มรายงานการพบโรคเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2563 และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นร้อยเป็นพันและเมื่อ 10 มีนาคม 2563 มีรายงานการเกิดโรคถึง 10,149 ราย อิตาลีจึงประกาศปิดเมืองเพราะโรคได้แพร่จากจุดตั้งต้นในแคว้นลอมบาร์ดีออกไปหลายเมือง

หลังมาตรการปิดเมืองออกมาไม่นาน รายงานการเกิดโรคลดลงอย่างมากโดยรวดเร็ว แสดงว่ามาตรการปิดเมืองเป็น “ยาแรงที่ได้ผลดี”

เปรียบเทียบอิตาลีกับไทยจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะทั้งอิตาลีและไทยซึ่งมีประชากรใกล้เคียงกันมีความคล้ายคลึงกันประการหนึ่ง คือ มีเที่ยวบินบินตรงจากหวู่ฮั่นเหมือนกันจึงมีชาวจีนเดินทางสู่อิตาลีและไทยจำนวนมากคล้ายกัน เมื่อจีนแจ้งต่อองค์การอนามัยโลกและประกาศอย่างเป็นทางการต่อชาวโลกถึงโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงนี้ ยังมีผู้โดยสารชาวจีนจำนวนมากเดินทางไปทั่วโลก และทั่วโลกยังไม่ตระหนกตกใจกับเรื่องนี้ ข้อสำคัญยังไม่ “ตื่นตัว” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้ ทั่วโลกไม่ “ตระหนัก” ว่าโรคนี้ใกล้ตัวของทุกคนเพียงใด เพราะเป็นโรคติดต่อง่ายทางระบบหายใจ และทั่วโลกยังคงเดินทางติดต่อถึงกันอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ไทยนับว่า “ตื่นตัว” เร็วที่สุด เพราะทันทีที่องค์การอนามัยโลกประกาศการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้ นักวิชาการควบคุมโรคของไทยได้ประชุมปรึกษาหารือกันตั้งแต่ช่วงวันหยุดปีใหม่ 1-2 มกราคม 2563 และเริ่มมาตรการ “เฝ้าระวังโรค” ตั้งแต่ 3 มกราคม 2563 โดยไป “เฝ้าระวัง” ณ จุดสำคัญ คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต ทำให้ไทยพบผู้ป่วยโรคนี้รายแรกนอกประเทศจีน เมื่อ 8 มกราคม และประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 13 มกราคม

หลักการสำคัญของการควบคุมโรคระบาดคือ “รู้เร็ว แก้ปัญหาทันท่วงที” (Early recognition and prompt response) เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกเรารีบเข้าไป “ปิดล้อม” (contain) โรคทันที มิให้แพร่ระบาด โดยติดตามตรวจผู้สัมผัสทุกราย และ “ปิดล้อม” ต่อไปโดยรวดเร็ว ทำให้ไทยถูกคนไทยจำนวนหนึ่ง “ประณาม” ว่า ปล่อยให้โรคแพร่เข้ามาในประเทศก่อนประเทศอื่น และถูกประณามต่อเนื่องราว 1 เดือน แต่ผลที่สุด ณ วันที่ 10 มีนาคม จำนวนผู้ป่วยโรคนี้ของเรายังอยู่ในหลักสิบ และในวันที่ 19 มีนาคม ตัวเลขเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว แต่ยังอยู่ที่หลักร้อย คือ 271 ราย ขณะที่อิตาลีขึ้นไปกว่า 3 หมื่นแล้ว

นับถึงกลางเดือนมีนาคม จำนวนการตรวจพบผู้ติดเชื้อโรคนี้ในไทยขึ้นไปถึงหลักสิบต่อวันแล้ว และเริ่มมีการพูดถึงมาตรการปิดเมืองจนมีผู้คนเริ่มเข้าร้านค้าเตรียมสำรองอาหารกันอย่างกว้างขวางแล้ว

**************************