posttoday

ศรัทธารัฐคือเคร่งครัดใช้กฎหมาย

28 มีนาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************************

อย่าให้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เป็นแค่ “เสือกระดาษ”

เหตุผลของการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อบ่ายวันที่24 มีนาคม 2563 อาจจะไม่เป็นที่สงสัยของผู้คนทั่วไป เพราะฟังดูแล้วก็เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีความ “ฉุกเฉิน” จริงๆ แต่ผู้อ่านบางท่านอาจจะพอทราบว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาในสมัยรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นการที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.แบบนี้จึง “ไม่ธรรมดา” ซึ่งอาจจะมีเหตุผลในการประกาศใช้ที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัยนั้น แต่เป้าหมายน่าจะคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะ “เป้าหมายทางการเมือง” ที่ต้องการจะ “จัดการ” กับอะไรบางอย่าง รวมถึง “การกระชับอำนาจ” สู่ผู้นำรัฐบาลนั้นด้วย

หากท่านทั้งหลายจำได้ ในต้นปี 2547ได้เกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืน จำนวน 413 กระบอก ในค่ายทหารที่จังหวัดนราธิวาส พร้อมกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นพูดชุ่ยๆ ออกมาว่า “โจรกระจอก” จากนั้นเหตุการณ์ในภาคใต้ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ว่าการพูดออกไปดังกล่าวเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นนั้น

แต่เนื่องด้วยรัฐบาลยังได้รับความนิยมจากประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมต่างๆ รวมทั้งการที่รัฐบาลสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเด็ดขาด จากการที่กวาดต้อนพรรคการเมืองหลายๆ พรรคให้มาเข้ากับพรรคไทยรักไทย ดังนั้นในการเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยจึงชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้ ส.ส.เข้ามาถึง 377 คน (จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน เป็น ส.ส.ที่มาจากเขตเลือกตั้ง 309 คน จากจำนวนทั้งหมด 400 คน และจากบัญชีรายชื่อ 68 คน จากจำนวนทั้งหมด 100 คน)

ทว่าความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลกลับรุนแรงมากขึ้น โดยฝ่ายค้านกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา และในการบริหารประเทศก็ใช้นโยบายที่เด็ดขาดรุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการปราบปรามการค้ายาเสพติดด้วยการจับกุมและสังหารผู้คนกว่า 2,000คน ซึ่งรัฐบาลก็คงเริ่มรู้ตัวว่ากำลังมีภัยต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเกิดขึ้นแล้ว

การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 แม้จะมีเหตุผลจากที่รัฐบาลอ้างถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้เป็นสาเหตุสำคัญ แต่เหตุผลที่แท้จริงได้มีบางท่านวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นด้วยความหวดระแวงในการที่อาจจะมีกลุ่มคนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและล้มล้างรัฐบาล ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะต่อมาในเดือนกันยายน 2548 ภายหลังจากที่มีการแบนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เพราะไปโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงในเรื่องที่ผู้นำรัฐบาลกำลังจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันสูงสุด

แต่นายสนธิยังคงดำเนินการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่อไป โดยการจัดชุมนุมประชาชนขึ้นที่สวนลุมพินี ต่อมาก็มีกลุ่มที่สนับสนุนนายกฯทักษิณออกมาต่อต้าน เหตุการณ์มารุนแรงเมื่อเกิดกรณีการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรให้แก่บริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งของสิงค์โปร์โดยไม่เสียภาษีสักบาทเดียว นำมาซึ่งการต่อต้านรัฐบาลในวงกว้าง จนรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในตอนต้นปี 2549 นั่นเอง แต่เหตุการณ์ก็ไม่สงบลง จนกระทั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ตามมาด้วยการยุบพรรคไทยรักไทย รวมถึงที่การชุมนุมของทั้งสองฝ่ายก็ยังยืดเยื้อ ที่สุดทหารก็ออกมายึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน2549

เรื่องนี้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ของการต่อต้านระบอบทักษิณเมื่อตอนนั้นเป็นผู้วิเคราะห์ให้ผู้เขียนฟัง โดยวิเคราะห์ถึงความล้มเหลวของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงเวลาดังกล่าวว่า เป็นเพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งในหมู่ผู้นำทหารและผู้นำตำรวจ จึงทำให้การ “กระชับอำนาจ” ของนายกรัฐมนตรีด้วย พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่สัมฤทธิ์ผล อย่างที่มีคำเรียกขานแบบเย้ยหยันเสียดสีว่า “ทหารแตงโม – ตำรวจมะเขือเทศ” นั้น ซึ่งหมายถึงทหารและตำรวจที่อาจจะเกรงอกเกรงใจรัฐบาล

แต่ในขณะเดียวกันไม่อยากที่จะทำอะไรรุนแรงกับประชาชน ด้วยการปราบปรามด้วยอาวุธอย่างที่รัฐบาลสั่ง และลักษณะการทำงานแบบ “ยึกยัก” ของทหารกับตำรวจในแบบนั้นก็ยังดำเนินมาในการชุมนุมที่มีต่อมา จนถึงการรัฐประหารในปี 2557 ที่สุดกูรูท่านนี้ได้สรุปให้คิดว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการกระชับอำนาจขึ้นอยู่กับผู้ใช้กฎหมายนั้นเป็นสำคัญ โดยพวกเขา(หมายถึงทหารและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)จะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ(ตั้งแต่ ผบ.ทบ.และ ผบ.ตร. ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี)นั้นอย่างแท้จริง มิฉะนั้นกรณีทหารแตงโมและตำรวจมะเขือเทศก็จะยังเกิดขึ้นได้อีกในวัฎจักรการบริหารราชการของไทย

จากข้อวิเคราะห์ของกูรูคนดังกล่าว ผู้เขียนได้นำมาเชื่อมโยงกับความเชื่อของผู้เขียนดังที่ได้นำเสนอมาแล้วในสัปดาห์ก่อนว่า ที่สุดนายกรัฐมนตรีอาจจะต้อง “กระชับอำนาจ” แต่คิดตื้นๆ มากไปหน่อยว่า คงแค่ปรับกระบวนการบริหารให้เข้าสู่ตัวนายกรัฐมนตรีให้มากขึ้น ในแบบที่ภาษาการบริหารเรียกว่า Single Command หรือถ้าจะทำให้เด็ดขาดที่สุดก็คือต้องยึดอำนาจ “รัฐประหารซ้ำ” นั้นเสียเลย แต่นี่กลับหันมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งก็เป็นยาแรงมากๆ ขนานหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ผู้เขียนคิดว่านายกฯประยุทธ์ไม่น่าจะเอา พ.ร.ก.ที่ออกโดยอดีตนายกฯคนที่รัฐบาลต้องจัดการนี้มาใช้อีกให้เป็นที่อับอาย เพราะเคยประสบความล้มเหลวมาแล้วในอดีต ซึ่งก็เป็นความล้มเหลวที่เกิดจาก “แขนขา” ของรัฐบาลนั่นเอง

สภาพการณ์อย่างนี้ในทางรัฐศาสตร์ท่านเรียกว่า “วิกฤติศรัทธา” คือประชาชนในฟากฝ่ายต่างๆ สิ้นความไว้เนื่อเชื่อใจในรัฐบาล เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาล เช่นเดียวกันในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ไม่อยากจะเห็นความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายเช่นในอดีตนั้นอีก (อย่างกรณีหนึ่งที่รัฐบาลและกองทัพบกอาจจะทำได้ก็คือ การสอบสวนกรณีการปล่อยให้มีการชกมวยที่สนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ทั้งที่รัฐบาลสั่งห้ามในวันที่ 3 ก่อนหน้านั้น รวมถึงกรณีที่มีตำรวจไปเที่ยวผับซอยทองหล่อ ที่ทั้งสองกรณีเป็นส่วนหนึ่งของ Super Spreader ที่สังคมไทยกำลังจับตามองว่าจะเป็น “มวลล้ม”รือมีการ “ลูบหน้าปะจมูก” หรือไม่)

กฎหมายจะเป็นกฎหมาย ก็เมื่อผู้ใช้กฎหมายก็ต้องเคารพกฎหมายนั้นด้วย