posttoday

โควิด 19 กับระเบียบโลกใหม่

26 มีนาคม 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังคงเป็นประเด็นอันดับหนึ่งที่คนไทยและคนทั่วโลกพูดถึงขณะนี้ และคงจะพูดกันต่อไปอีกหลายเดือน เพราะโรคร้ายนี้อาจเกิดกับใครก็ได้โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติศาสนา ยากดีมีจน ความเชื่อทางการเมือง ฯลฯ นอกเหนือจากคนไทยที่มีความเท่าเทียมกันทางกฎหมายแล้ว ยังมีความเสมอภาคและมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อโรคร้ายนี้อย่างเท่าเทียมกันด้วยหากไม่ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์บอกไว้จะบอกว่า โรคโควิด 19 ได้สร้างความเสมอภาคของคนในสังคมทั้งในและนอกระบอบประชาธิปไตย ก็คงไม่ผิด

ขณะที่หลายคนบอกว่า มาตรการในการต่อสู้และแก้ปัญหาโรคโควิด 19 ก็เป็นสากล ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา ผิวพรรณ ความเชื่อทางการเมือง ฯลฯ ก็ไม่ผิดอีกเหมือนกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันไปเสียทั้งหมด

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ความสามารถในการแก้ปัญหานั้น ประเทศที่รวมศูนย์อำนาจหรือประเทศ “อำนาจนิยม” (Autocracy) เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ประสบผลสำเร็จได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าประเทศ “ประชาธิปไตย” (Democracy) จริงหรือไม่ หรือ การแก้ปัญหาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองแต่อย่างใดเรื่องนี้คงหาข้อสรุปในขณะนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่เห็นคือ รัฐบาลจีนใช้ยาแรงตั้งแต่ต้น สั่งการและควบคุมการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาด ปิดเมืองอู่ฮั่นประชาชนจีนเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลด้วยดี จากสถานการณ์ที่พัฒนารุนแรงและเลวร้ายที่สุด จีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเวลา 3-4 เดือนเท่านั้น

หลายคนตั้งคำถามว่า ประเทศประชาธิปไตยสามารถที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวด เอาจริงเอาจัง เอาชนะโรคร้ายที่รุนแรงระดับเดียวกับจีน ได้ในเวลาใกล้เคียงกับจีนได้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะประชาชนซึ่งชินชากับการใช้สิทธิและเสรีภาพพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลได้ยาวนานแค่ไหน เพราะมาตรการที่รัฐบาลออกมาซึ่งอาจต้องใช้ “ยาแรงที่สุด” ที่กระทบหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชน

การใช้ “ยาแรง” หลีกไม่พ้นที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็น “หัวใจ” ของประชาธิปไตย แต่ประชาชนในทุกประเทศประชาธิปไตยในโลกไม่เคยได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตซึ่งอาจไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่น และความมั่นคง ปลอดภัยของชาติ

เมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยบางประเทศเตรียมใช้ยาแรง ก็มีปฏิกิริยาออกมาทันทีจากบางภาคส่วนที่เกรงว่ารัฐบาลจะลิดลอนเสรีภาพของประชาชน แม้ว่ามาตรการดังกล่าวออกมาเพื่อระงับยับยั้งการแพร่กระจายของโรคโดยเร็วที่สุด เพื่อชีวิตของประชาชนก็ตาม ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ ชาวประชาธิปไตยจะทนได้นานเพียงใด

การแก้ปัญหารุนแรงเช่นไข้หวัดโควิด 19 ต้องใช้เวลา แต่คำถามคือ ประชาชน ประชาธิปไตยจะรับยได้นานแค่ไหน ถ้าเป็นรัฐบาลประเทศ “อำนาจนิยม” ก็อยู่ไปจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ประชาชนประชาธิปไตยจะให้รัฐบาลอยู่ต่อไปครบ 4 ปี หรือจะเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาลทันที เพื่อหาคนอื่นที่คิดว่ามีฝีมือดีกว่ามาแทน ถ้ายังแก้ไม่ได้ ก็เปลี่ยนอีก อย่างนั้นหรือ

การระบาดของโรคร้ายโควิด 19 ยังถูกนำมาเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองจนได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีข้อยุติแน่นอนว่า ระบอบไหนจะดีกว่ากันในการแก้วิกฤติของชาติ หรือดีที่สุด คือ การผสมผสานกันทั้งสองระบบ

แต่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาโรคระบาดไข้หวัดโควิด 19 ของจีนครั้งนี้ ทำให้นักรัฐศาสตร์หลายสำนักเริ่มคิด เพราะความสำเร็จของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจจนก้าวมาสู่ลำดับต้นๆ ของโลกซึ่งขนาดความใหญ่โตของเศรษฐกิจจีนอาจแซงเศรษฐกิจสหรัฐมาเป็นอันดับ 1 แล้วก็ได้ ที่สำคัญคือ จีนสามารถทำให้ประชาชนเกือบ 1 พันล้านคนของตนพ้นจากความยากจนได้ ในขณะที่หลายประเทศยังแก้ปัญหานี้ไม่ตก เมื่อจีนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการระบาดของไข้หวัดโควิด 19 ได้อย่างรวดเร็วเกินคาด ทำให้นักรัฐศาสตร์หลายสำนักของโลกเริ่มทบทวนทฤษฎีรัฐศาสตร์ของโลกใหม่

ประกอบกับการพัฒนาระบอบการปกครองของโลกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีบทความมากมายที่เขียนโดยฝรั่งซึ่งตั้งคำถามว่า “อะไรเกิดขึ้นกับประชาธิปไตยของโลก” บ้างวิเคราะห์ถึง “ความเสื่อมสลายของประชาธิปไตย” บ้าง มีคำถามมากกว่าเกี่ยวกับ “ระบอบประชาธิปไตย” หรือ “เสรีนิยม” และ “ระบอบเผด็จการ” หรือ “อำนาจนิยม” โดยกลุ่มหลังมีจีนเป็นตัวอย่าง ที่ใช้อำนาจนิยมในการปกครอง เพราะจีนมีอาณาเขตกว้างขวาง ประชากรกว่าพันล้านคนประกอบด้วยคนเชื้อชาติต่างๆ หากไม่ใช้อำนาจในการปกครอง ประเทศจีนคงวุ่นวายแน่ๆ

ในขณะที่คนจีนมีสัญชาติญาณของความเป็นพ่อค้าอยู่ในตัว แต่ถูกเหมาเจ๋อตุงกดความเด่นนี้ไว้ จนกระทั่งเติ้งเสี่ยวผิงมาปลดปล่อย จีนซึ่งหันมาใช้ระบบทุนนิยมทางเศรษฐกิจ ทำให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแซงหน้าจากลำดับที่ 7 ของโลกเมื่อ 20 ปีก่อน มาเป็นอันดับหนึ่ง ท่ามกลางความตระหนกของบรรดานักรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ตะวันตก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแนวคิดใหม่ที่ว่า การผสมผสานระหว่างเสรีนิยมกับอำนาจนิยม หากใช้ให้ถูกทาง น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับหลายประเทศในปัจจุบันที่กำลัง “แสวงหา” รูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับคน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย

แม้จีนจะเป็นต้นตอของโรคร้ายโควิด 19 แต่การประสบความสำเร็จอย่างดีในการแก้ปัญหา ทำให้นักรัฐศาสตร์ตะวันตกเริ่มคิดว่า ความสำเร็จของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาวิกฤติจากโรคร้ายแรง อาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายหันมามองรูปแบบการปกครองของจีนมากขึ้น

นอกจากนั้น นักรัฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่งยังมองไปไกลว่า ไข้หวัดโควิด 19 จะทำให้ “โลกต้องจัดระเบียบตัวเอง” อีกครั้งหนึ่ง หลังจากโลกจัดระเบียบใหม่ นำโดยสหรัฐอเมริกาแต่ผู้เดียว เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วด้วยระบบโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ครั้งนี้ โลกจะจัดระเบียบตัวเองอีกครั้งด้วย (1) ระบบโลกาภิวัฒน์ และ (2) การสื่อสารด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งไปได้รวดเร็ว และกว้างขวาง ไข้หวัดโควิด 19 อาจจะมาเป็น “ตัวเร่ง” ช่วยให้โลกจัดระเบียบอีกครั้งเร็วขึ้น โดยมีจีนเป็นกลไกหลัก ในช่วงสามปีที่ผ่านมา (2560-2562) ความเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกร้อยละ 35 มาจากจีน จากสหรัฐเพียงร้อยละ 18 และจากอินเดียร้อยละ 9 อีกทั้งจีนพัฒนาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ระบบ 5 จี ก้าวหน้ากว่าใคร

เราลองมานั่งคิดดูว่า หลังจากไข้หวัดโควิด 19 มาช่วยกวาดล้างโลก โลกในช่วงต่อไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร