posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรน่าหวู่ฮั่น (6)

24 มีนาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*********************

ความ “ตระหนก” ต่อโรคโควิด-19 ในสังคมไทยก็คงคล้ายคลึงกับนานาประเทศทั่วโลก

ความจริงประเทศไทยมีระบบการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่ดีมาก ติดอันดับต้นๆ ของโลก ดังได้กล่าวแล้วว่าเราได้พัฒนาระบบนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ครั้งที่มีการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ในสมัยรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ.2517 โดยครั้งนั้นมีการตั้งกรมควบคุมโรคติดต่อขึ้นด้วย

หลังจากนั้นประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อต่างๆ หลายโรค เช่น การร่วมกวาดล้างไข้ทรพิษจนหมดสิ้นไปจากโลกแล้ว การขจัดโปลิโอจนหมดไปจากประเทศไทย และเมื่อเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ประเทศไทยก็สามารถแก้ปัญหาได้ดี แม้แต่โรคร้ายซึ่งประเทศไทยมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วที่สุดและกว้างขวางที่สุดในเอเชียเช่นโรคเอดส์ เราก็สามารถ “เอาชนะ” จนได้ด้วยดี อหิวาหตกโรคก็น่าจะกลายเป็น “ประวัติศาสตร์” ไปแล้ว เพราะไม่ปรากฏการระบาดติดต่อกันมาราวสองทศวรรษแล้ว การระบาดของไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่เราก็ฟันฝ่าเหตุการณ์มาได้ด้วยดี

สำหรับโควิด-19 เราก็สามารถตรวจพบผู้ป่วยรายแรกและประกาศต่อชาวโลกหลังประกาศขององค์การอนามัยโลกได้ในเวลาเพียง 13 วัน และประกาศการพบผู้ป่วยที่รับเชื้อในประเทศรายแรกได้ในเวลาหลังจากนั้น 20 วัน นับถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมเพียง 53 ราย เสียชีวิตเพียง 1 ราย และจากที่เคยติดอันดับจำนวนผู้ป่วยนอกประเทศจีนมากที่สุด เราตกไปอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลกแล้ว

ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลักฐานชัดเจนว่าประเทศไทยมีระบบการควบคุมและป้องกันโรคระบาดโดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ได้ดี แต่เพราะความศรัทธาในระบอบการเมืองการปกครองและรัฐบาลตกต่ำมาก รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่สามารถเป็นหลักให้ประชาชนเชื่อถือได้ จึงทำให้เกิดข่าวลือข่าวเท็จแพร่ไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และต่อเนื่อง หน่วยงานต่างๆ ก็ออกมาตรการออกมาอย่างสะเปะสะปะในลักษณะ ตื่นตูม ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถช่วยในการควบคุมป้องกันโรคได้แล้ว ยังสร้างความตระหนกและสับสนอลหม่านไปอย่างกว้างขวาง

ตั้งแต่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยังไม่มีมติประกาศให้โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย มีมหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” ทางด้านสุขภาพได้ออกประกาศ ห้ามการเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานการเกิดโรคนี้ ทั้งๆ ที่การประกาศขององค์การอนามัยโลกมีความชัดเจนเรื่องไม่ห้ามหรือจำกัดการเดินทาง เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล การประชุมนานาชาติรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 ก็ยังดำเนินไปตามปกติ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีการพบผู้ป่วยโรคนี้และประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 13 มกราคม ในการประชุมดังกล่าวมีชาวต่างประเทศจำนวนน้อยเท่านั้นที่ไม่เดินทางมาร่วมประชุม และในที่ประชุมก็มีผู้สวมหน้ากากอนามัยจำนวนน้อย ทั้งๆ ที่ผู้จัดประชุมแจกหน้ากากอนามัยอย่างดีให้แก่ทุกคน ทั้งนี้เพราะผู้เข้าร่วมการประชุมล้วนมีการศึกษาสูง ทราบดีว่ามีความเสี่ยงต่ำมากในที่ประชุมในกรุงเทพฯ เพราะมีผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายที่พบในประเทศไทยและแทบทั้งหมดก็อยู่ในโรงพยาบาล

มีผู้พบเห็นการประกาศที่ขัดต่อกฎอนามัยระหว่างประเทศออกมาจากมหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” ทางสุขภาพ จึงมีการสอบถามผู้บริหารที่ลงนามในประกาศ ปรากฏว่ามีการปฏิเสธว่าไม่มีประกาศทั้งๆ ที่เป็นผู้ลงนามเอง จึงเป็นไปได้ว่า ผู้บริหารท่านนั้นลงนามไปโดยมิได้อ่านประกาศให้ถี่ถ้วน หรือไม่ทราบว่าประกาศนั้นขัดต่อคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ต่อมา พร้อมกับการพิจารณาประกาศให้โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย มหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” หลายแห่งออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเทศต่างๆ หลายประเทศ และกำหนดให้ผู้ที่เดินทางไปแล้วต้อง “เก็บตัว” อยู่ที่บ้านไม่ต้องไปทำงานโดยคงจะคิดว่าเป็นมาตรการที่ “ฉลาด” และแสดง “ความรับผิดชอบ” ในการควบคุมป้องกันโรค

ความจริงมาตรการห้ามเดินทางก็ดี มาตรการให้ “เก็บตัว” ที่บ้าน 14 วันก็ดี ไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นมาตรการที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ ในสถานการณ์อย่างของประเทศไทย และน่าจะเป็นมาตรการที่ “เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”

มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดที่อาจจะเข้ามาในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการมีอำนาจประกาศให้ท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรค และยกเลิกประกาศเมื่อสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลงหรือมีเหตุอันสมควร”

ข้อเท็จจริงคือ ก่อนที่มหาวิทยาลัยบางแห่งจะออกประกาศดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าได้มีการประกาศให้ “ท้องที่หรือเมืองท่า” ใดเป็นเขตติดโรค เพราะแม้แต่ประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายก็เพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 และมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2563

การออกประกาศของมหาวิทยาลัยบางแห่งเหล่านั้น จึงเป็นการออกประกาศที่ไม่มีฐานทางกฎหมาย หรือหลักการและเหตุผลสมควรที่จะเชื่อมโยงโดยตรงกับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แต่อย่างใดเลย

ข้อสำคัญ ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเดินทางกันอย่างกว้างขวางตลอดเวลา โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศเปิดมาตลอดประวัติศาสตร์ และยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศต้องพึ่งพาการค้าและการท่องเที่ยวกับชาวต่างประเทศอย่างมาก การปิดกั้นคนไทยจำนวนหยิบมือเดียวที่เป็นบุคลากรในมหาวิทยาลัยมิให้เดินทางไปบางประเทศ จึงเกือบไม่มีผลใดๆ ต่อการป้องกันและควบคุมโรคนี้เลย ข้อสำคัญบุคลากรเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีการศึกษาสูง สามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมให้ปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน 14 วัน

สำหรับมาตรการให้ “เก็บตัว” ในบ้าน 14 วัน มีคำถามสำคัญที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคนี้

ประการแรก ในทางกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 บัญญัติไว้ในมาตรา 34 ดังนี้ “เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอำนาจที่จะดำเนินการเอง หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจรักษาหรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัยอาจดำเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดจนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าเป็นระยะติดต่อของโรค หรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย ....”

คำถามคือ ผู้มีอำนาจออกคำสั่งของมหาวิทยาลัยมิได้เป็น “เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” จะใช้อำนาจใดไปสั่งการให้บุคคล “เก็บตัว” ที่บ้าน

การสั่งการดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องมีเหตุผลสมควร และใช้อำนาจตามความเหมาะสม อย่าง “ได้สัดส่วน” (Proportional) ข้อสำคัญการเดินทางไปบางประเทศ มิได้ทำให้บุคคลนั้นเข้าข่ายเป็น “ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ” แต่อย่างใดเลย

ในทางกฎหมาย ประกาศดังกล่าวย่อมเป็นคำสั่งมิชอบ

ประการที่สอง มาตรการดังกล่าวนี้กำหนดขึ้นจากหลักการ แนวคิด ทฤษฎีใด มีการศึกษาทบทวนแล้วว่าสามารถปฏิบัติได้ มีประสิทธิผล (proved effective) และประสิทธิภาพจริงหรือเพียงแต่คิดขึ้นเร็วๆ ข้อสำคัญจะทราบได้อย่างไรว่าจะมีการ “เก็บตัว” อยู่ที่บ้านจริง

พิจารณาจากสิ่งที่มหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” ของไทยออกมาทำให้ไม่แปลกอะไรเลยที่มหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” เหล่านี้ติดอันดับ Times Higher Education World University Ranking ในกลุ่มเกิน 1,000 ทั้งสิ้น

ขนาดมหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” ของประเทศ ยังทำเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่มีเสียงบ่นจากบุคลากรในโรงพยาบาลว่า “(1) บอกให้ off trip ไปเที่ยวก็ไม่ off แถมกลับมาเริงร่า โพสต์เยาะเย้ย สะใจ สนุกดี แตกตื่นทำไม (2) กลับมาให้แยกตัว 14 วันที่บ้าน บางคนก็ยังไม่ปฏิบัติ ไปเที่ยว ไปกิน ไปห้าง ไปแหล่งชุมชน โพสต์เยาะเย้ย (3) ขอให้ใส่หน้ากากก็ไม่ใส่ (4) บอกให้ล้างมือก็ไม่ล้าง (5) บอกให้บอกประวัติจริงอย่าโกหกก็ยังปิดบัง (6) บอกว่าอย่าแชร์ข่าวหลอก ลวง ก็ยังแชร์ และสื่อ (7) บอกให้ว่าการตรวจ COVID-19 จะตรวจเฉพาะการมี อาการไข้ น้ำมูก และกลุ่มเสี่ยง คนสบายดีก็ยังจะตรวจ พอไม่ให้ตรวจก็โมโห ส่วนคนที่จำเป็นต้องตรวจก็ไม่มา ไม่แปลกใจเลย ถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้พัก ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ข้าวไม่ได้กิน เจ็บป่วย และ.....”

**********************