posttoday

“ประชาธิปไตยของไทยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่มาก”

23 มีนาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร   

********************

ข้อความดังกล่าวนี้เป็นคำกล่าวของนายไมเคิล จี. ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ อีกทั้งท่านยังได้กล่าวต่ออีกว่า “ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป” ซึ่งคำกล่าวของท่านไม่ได้หมายเพียงแต่ประเทศที่ประชาธิปไตยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่เท่านั้น แต่จริงๆแล้ว สหรัฐอเมริกาสมัยที่ประชาธิปไตยยังใหม่และเยาว์วัย “บางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และ...ก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป”

การทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้งของอเมริกาก็เป็นปัญหาที่สร้างความยุ่งเหยิงและท้าทาย ที่สังคมอเมริกันต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป การเมืองอเมริกันมีประสบการณ์การทุจริตในการเลือกตั้งไม่น้อยไปกว่าของไทยเลย เพียงแต่เขาไม่คิดว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติอย่างที่คนไทยจำนวนหนึ่งชอบกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงที่นักวิชาการอเมริกันอย่าง Michal D. Gilbert (Professor of Law, University of Virginia School of Law. เขาได้เขียนบทความเรื่อง “The Problem of Voter Fraud,”  Columbia Law Review, Vol. 115, No. 3, (April 2015), pp. 739-775)

ได้นำเสนอการทุจริตการเลือกตั้งของประเทศตัวเองอย่างซื่อตรงไม่เจืออคติทางการเมืองหรือหลงใหลเทิดทูนความยิ่งใหญ่ของการเมืองอเมริกันจนมองข้ามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน นั่นคือ ประชาธิปไตยอเมริกันได้ประสบปัญหาการทุจริตเลือกตั้งอย่างรุนแรงมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันเลยก็ว่าได้

นอกจาก Gilbert แล้ว Peter Brusoe ก็ได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวนี้ไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ ประเด็นความเข้าใจผิดของคนอเมริกันในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอๆยามเมื่อประชาชนอเมริกันในปัจจุบันได้อ่านข่าวการใช้เงินเป็นจำนวนหลายพันล้านในการเลือกตั้ง บางครั้งพวกเขาจะกล่าวด้วยความละห้อยโหยหาอดีตว่า พวกเขาอยากจะกลับไปที่วันคืนเก่าๆในสมัยของ Washington และ Lincoln ที่การเมืองยังไม่ได้ถูกครอบงำด้วย แต่นี่เป็นความเข้าใจผิดหรือขาดความรู้ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เพราะการเมืองอเมริกันในสมัยของ Washington ก็มีการทุจริตซื้อเสียงการเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม ดังที่ Gilbert ได้ให้ข้อมูลว่า George Washington ได้ใช้เหล้าซื้อเสียงผู้ลงคะแนน (Tracy Campbell, Deliver the Vote: A History of Election Fraud, an American Political Tradition- 1742-2004, pp. 5, 62)

และ Brusoe ได้ให้ข้อมูลเสริมว่าเป็นจำนวนถึง 160 แกลลอน ( Peter Brusoe, “That time George Washington bought an election with 160 gallons of booze (and other Presidents’ Day stories)” February 12, 2016,  Bloomberg Government, https://about.bgov.com/blog/that-time-george-washington-bought-an-election-with-160-gallons-of-booze-and-other-presidents-day-stories/)

ในกรณีการซื้อเสียงในการเลือกตั้งของ George Washington  Brusoe ได้บรรยายไว้ในหัวข้อ “George Washington แจกเหล้าผู้ลงคะแนน” (George Washington Treats Voters to Alcohol)  ไว้ว่า ในช่วงที่อเมริกายังเป็นอาณานิคมมีการลงคะแนนเสียงสำหรับตัวแทนของเขต (county) และถือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินขึ้นตลอดทั้งวันท่ามกลางถนนที่มีฝุ่นตลบ หลังจากที่ผู้คนเดินทางมาถึงสถานที่ลงคะแนน ก็มักจะคอแห้งกระหายน้ำและต้องการเครื่องดื่มดับกระหาย

บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มักจะใจดีจัดหาเครื่องดื่มให้ ซึ่งการกระทำแบบนี้เรียกว่าเป็น “การดูแล” ผู้ลงคะแนน และในปี 1757 เมื่อ George Washington ลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งแรกสำหรับการเป็นตัวแทนในสภานิติบัญญัติอาณานิคมของเวอร์จิเนีย (the House of Burgesses—the colonial legislature of Virginia) เขาปฏิเสธที่จะ “ดูแล” ผู้ลงคะแนน ส่งผลให้เขาแพ้การเลือกตั้งด้วยคะแนน 271 ต่อ 40 ต่อมาในปี 1758  George Washington ได้เปลี่ยนจุดยืนที่เดิมไม่ “ดูแล” ผู้ลงคะแนนโดยสั่งให้ผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงของเขา นั่นคือ Captain James Wood ให้ “ดูแล” และจากข้อมูลของ Douglas Freeman พบว่า ได้มีการจัดเตรียมเหล้าจำนวน 160 แกลลอนไว้ให้สำหรับผู้ลงคะแนน 391 คน ในจำนวนนี้มีเหล้ารัม 28 แกลลอน เหล้าพันช์รัม 50 แกลลอน และไวน์ 34 แกลลอน เบียร์ 46 แกลลอน และไซเดอร์รอยัล 2 แกลลอน อีกทั้งในหนังสือที่ Washington ได้เขียนถึงคนของเขาคนหนึ่งในวันที่ 28 กรกฎาคม 1758 ระบุว่า เขามีความกังวลว่า ยังจัดหาเหล้าไว้ไม่พอและได้กล่าวว่า “ความวิตกกังวลของข้าพเจ้าก็คือ ท่านยังออมมือในการดูแลมากไป”

จากข้อเท็จจริงข้างต้นในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน Brusoe ชี้ว่า ผู้นำทางการเมืองจำนวนมากในยุคแรกของอเมริกาต่างเข้าไปพัวพันกับแบบแผนการหาเสียงดังกล่าว อันส่งผลให้พวกเขาสามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งนักปฏิรูปในยุคนั้นได้มองแบบแผนพฤติกรรมดังกล่าวนี้ด้วยความเคลือบแคลงสงสัย อันส่งผลให้เกิดการออกกฎหมายปฏิรูปงบประมาณในการหาเสียงขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 1811 รัฐแมรี่แลนด์ ได้ออกกฎหมายห้ามผู้สมัครใช้เงินซื้อเหล้าให้ผู้ลงคะแนน

ส่วนในกรณีของ Lincoln Brusoe ได้กล่าวไว้ภายใต้หัวข้อ “อับราฮัม ลินคอล์นซื้อสื่อหนังสือพิมพ์ (Abraham Lincoln Buys a Paper) โดยเขาบรรยายว่า “ผู้คนในปัจจุบันที่ดูข่าวทางโทรทัศน์ อาจจะได้ยินการร้องเรียนจากผู้สมัครทุกคนว่า สื่อไม่เป็นธรรมต่อการรณรงค์หาเสียงของพวกเขาโดยเอียงให้แก่คู่ต่อสู้ของตน ผู้สมัครบางคนได้ไปไกลถึงขนาดที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการโต้เถียงทางโทรทัศน์เพราะกลัวผู้ดำเนินรายการ"

“ประชาธิปไตยของไทยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่มาก”

ความคิดที่ว่าสื่อต้องไม่อคติเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ในศตวรรษที่ยี่สิบ เพราะในสังคมอเมริกันยุคแรกๆ หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญสำหรับจุดยืนทางการเมืองแบบเลือกข้าง และจริงๆแล้ว หนังสือพิมพ์ของสหพันธรัฐก็ถูกพิมพ์ขึ้นเพื่อควบคุมมติมหาชน และเมื่ออุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ได้เติบโตขึ้นและเริ่มมีวุฒิภาวะมากขึ้นและเกิดกระแสคลื่นใหม่ของผู้อพยพมาอเมริกา หนังสือพิมพ์เริ่มปรากฏในหลากหลายภาษา และตามข้อมูลของ Harold Holzer กล่าวว่า ผู้อพยพชาวไอริชลงคะแนนเสียงให้พรรคเดโมแครต (the Democratic Party) ในขณะที่ผู้อพยพชาวเยอรมันลงคะแนนเสียงให้พรรครีพับลิกัน (the Republican Party) และหนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันชื่อ “Freie Presse” ได้ตกอยู่ในสถานะลำบากทางการเงิน อุปกรณ์เครื่องจักรถูกยึด Lincoln ได้เข้าไปซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวในราคา 400 ดอลล่าร์ และให้ตัวผู้พิมพ์คนเดิมของหนังสือพิมพ์ คือ Dr.Theodore Canisius ทำหนังสือพิมพ์หัวใหม่ขึ้นมาชื่อ Illinois Staats-Anzeiger   และในสัญญาระหว่าง Lincoln กับหนังสือพิมพ์นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์จะต้องออกเป็นรายสัปดาห์ และจะต้องสนับสนุนพรรครีพับลิกกัน และหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี Lincoln ได้ยุติการเปลี่ยนเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้น และจากการที่ Canisius ได้ทำหน้าที่รับใช้อย่างจงรักภักดีในการสนับสนุนการเลือกตั้งของ Lincoln เขาได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทางการทูตกงสุลพิเศษประจำกรุงเวียนนา

“ประชาธิปไตยของไทยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่มาก”

จากข้างต้น Brusoe สรุปให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า ในขณะที่ประธานาธิบดี Washington และ Lincoln เป็นมหาบุรุษที่ได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศ แต่คนอเมริกันก็ควรตระหนักรับรู้ไว้ด้วยว่า พวกเขาเป็นนักการเมืองและในฐานะที่เป็นนักเมือง พวกเขาก็เข้าไปพัวพันกับการกระทำที่เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันทั่วไปในยุคของพวกเขา—นั่นคือ การซื้อเสียงด้วยเหล้าและการเข้าไปคุมสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้ว จะพบว่า การหาเสียงของ Washington และ Lincoln ในขณะนั้น ส่งผลให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ เสรีและยุติธรรม แต่ยังไม่มีกฎหมายห้าม พวกเขาจึงทำได้ ตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดและไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก่อน" (nullum crimen, nulla poena sine praevia lege poenali) แต่กระนั้น พวกเขาก็ทำทั้งๆที่รู้ว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบจากการมีเงินทุนที่มากกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ

แต่เมื่อสังคมเขาเห็นว่า มันนำมาซึ่งการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและเป็นธรรม  จึงมีการออกกฎหมายห้ามการได้มาซึ่งคะแนนเสียงด้วยวิธีเหล่านี้  เป็นไปตามคำของท่านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเทศไทยที่ว่า

“ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป”