posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (5)

17 มีนาคม 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*****************************

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เวลาเย็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ได้แถลงข่าวว่าคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ประกาศให้โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายอันดับที่ 14 ของไทย โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ “เพื่อเป็นการป้องกัน และควบคุมไม่ให้มีการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้”

น่าเชื่อว่ามาตรการนี้ออกมาหลังจากมีข่าว “คุณป้ามหาภัย” ที่เมืองเดกู สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งแม้จะเป็นผู้สูงอายุแล้วแต่ยังแข็งแรงและ “พลังสูง” มาก จนกลายเป็น “สุดยอดของตัวแพร่เชื้อโรค” (Super-spreader) ของโรคนี้ในสาธารณรัฐเกาหลี และเมื่อถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ สาธารณรัฐเกาหลีมีผู้ป่วยโรคนี้แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก กล่าวคือ จีนมีผู้ป่วย 78,824 ราย ตาย 2,788 ราย สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้มีผู้ป่วยถึง 2,337 ราย ตาย 16 ราย ขณะที่ในวันเดียวกัน ไทยซึ่งเคยติดอันดับ 2 ของโลก ตกไปอยู่อันดับที่ 13 มีผู้ป่วย 41 ราย ไม่มีตาย

มาตรการนี้ออกมาเพื่อให้หน่วยงานรัฐมีเครื่องมือตามกฎหมาย ที่จะ “จัดการ” กับคนหัวรั้นและมากพลังอย่างคุณป้ามหาภัยรายนี้ รวมทั้ง “คุณปู่” ที่มีข่าวว่าไปเที่ยวฮอกไกโดแล้วนำโรคมาแพร่แต่ปกปิดข้อมูลการเดินทางไปยังเมืองที่มีความเสี่ยงสูงอย่างฮอกไกโด และกรณีที่จำเป็นและสมควรอื่นๆ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แถลงอย่างชัดเจนว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในระดับ 2 ไม่ใช่ระดับ 3 "การประกาศเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้สถานการณ์ระบาดเข้าสู่ระดับ 3 หรือหากไปถึงระดับนั้น ขอให้ยืดระยะเวลาออกไปนานที่สุด

คำแถลงนี้นับว่าชัดเจน และเป็นไปตามหลักวิชาการเช่นเดียวกับที่ ดร.นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค นักวิชาการที่รู้จริงและแถลงข่าวอย่างมีทั้งสติและปัญญาด้วยดีทุกครั้ง นับเป็นหนึ่งในนักวิชาการมือดีหลายๆ คนที่ทำหน้าที่ควบคุมป้องกันโรคนี้ในเวลานี้

การระบาดของโรคติดต่อโดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ซึ่งมิใช่จุดกำเนิดของการแพร่ระบาด (คือ หวู่ฮั่น ของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ระยะที่ 1 คือ ผู้ป่วยที่ “นำเข้า” (imported cases) จากประเทศต้นตอของการแพร่ระบาด ซึ่งไทยสามารถเฝ้าระวังและ “ตรวจจับ” (detect) ได้รวดเร็วมาก คือ พบเป็น “รายที่ต้องสงสัย” (suspected case) เมื่อ 8 มกราคม

หลังการประกาศขององค์การอนามัยโลกในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพียง 8 วัน สามารถตรวจติดตามจนพบเชื้อ สามารถตรวจสอบยืนยัน (confirm) เชื้อไวรัสกับทางจีนได้ในวันที่ 12 มกราคม และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 จึงเป็นการดำเนินการที่รวดเร็วมาก ถูกต้องตามหลักการควบคุมโรคนี้ คือ “รู้เร็ว” (Early Recognition) ซึ่งจะต้องตามมาด้วยการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที (Prompt Response)

การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 2 เมื่อพบคนขับแท็กซี่ติดโรคจากนักท่องเที่ยวจีน โดยมีระยะเวลาการสัมผัสโรคค่อนข้างใกล้ชิดเป็นเวลานาน คือ นั่งอยู่ในรถแท็กซี่ปรับอากาศจากดอนเมืองไปหัวหินเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง และผู้ป่วยจากจีนรายนั้นก็ไอมาก ทำให้แพร่เชื้อออกมาได้มาก การพบผู้ป่วยรายนี้นับเป็นหลักฐานว่ามี “การแพร่โรคในท้องถิ่น” (local transmission) หรือในประเทศแล้ว ประเทศไทยจึงเข้าสู่การระบาดระยะ ที่ 2 ซึ่งยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก และผู้ต้องสงสัยหรือผู้สัมผัสโรคที่ต้อง “เฝ้าระวัง” ติดตามเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่มากมัก ยังพบ “รับมือ” ได้

การควบคุมป้องกันการระบาดในช่วงนี้จึงความสำคัญมาก หลักการคือจะต้องให้การแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ช้าที่สุด และถ้าเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว ก็ให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงแคบที่สุด กระจายไปในวงกว้างช้าที่สุด และน้อยที่สุด

ประสบการณ์แพร่ระบาดของโรคนี้ที่หวู่ฮั่น มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุด และอัตราตายสูงกว่าที่อื่นๆ จนมีการแพร่ “ข่าวลือ” ว่า “ปริศนาจากหวู่ฮั่น” โดยอ้างข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกว่า “อัตราการเสียชีวิตที่หวู่ฮั่นอยู่ระหว่าง 2-4% ขณะที่พื้นที่นอกหวู่ฮั่นเพียง 0.7% เท่านั้น” ซึ่งความจริงมิใช่ “ปริศนา” อะไรเลย โรคนี้เป็น “โรคอุบัติใหม่” (emerging disease) อุบัติขึ้นและแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางและรวดเร็วที่ เมือง หวู่ฮั่น โดยเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จึงแพร่ระบาดง่ายและรวดเร็วเพราะหวู่ฮั่นเป็นเมืองใหญ่มีคนหนาแน่น เป็นเมืองศูนย์กลางการค้า การคมนาคม และอื่นๆ

แม้จีนจะเจริญมากกว่าแต่ก่อนมาก และสามารถใช้มาตรการควบคุมป้องกันโรคที่น่า “อัศจรรย์” ที่ประเทศอื่นทำตามได้ยาก โดยรัฐบาลให้ความสำคัญสูงและทุ่มเทสรรพกำลังลงไปอย่างมากมายและฉับไว ดังปรากฏว่าสามารถสร้างโรงพยาบาลพันเตียงเพื่อรับมือกับโรคนี้ได้ภายในเวลาเพียง 10 วัน และสามารถใช้มาตรการ “ปิดเมือง” ได้อย่างเข้มงวด

การที่รัฐบาลจีนทำได้เช่นนี้ จะต้องมีทั้งความเข้มแข็งทางการเมือง เศรษฐกิจ การปกครอง กฎหมาย และผู้นำประเทศจะต้องได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนในระดับสูง

แต่เพราะเป็น “โรคอุบัติใหม่” ผู้คนทั่วไปไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ ความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของโรคก็มีอยู่อย่างจำกัด และโรคมีพลวัต (dynamicity) สูง กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็วมาก ความรู้เรื่องยา และวิธีการรักษาก็ยังเพิ่งเริ่มต้น เมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมากจน “ล้นมือ” ดังปรากฏว่าแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ จนในที่สุดก็มีแพทย์และเจ้าหน้าที่หลายคนติดโรคและเสียชีวิตไปด้วย เพราะต้องเผชิญศึกสงครามอยู่ใน “แนวหน้า” กับโรคร้ายที่ยึดสมรภูมิได้อย่างกว้างขวาง แม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลซึ่งเป็นแพทย์ วัยเพียง 51 ปี ก็ต้องเสียชีวิตไปด้วย โดยมีข้อมูลว่าได้ทุ่มเทอุทิศตนทำงานไม่ได้พบหน้าครอบครัวนานกว่าเดือน จึงเป็นธรรมดาที่ “ความสูญเสีย” ย่อมสูงในขณะที่ในที่อื่นๆ “ข้าศึก” เบาบางกว่ามาก ความสูญเสียย่อมต่ำกว่า

ตัวเลข “สถิติ” เหล่านี้จึงต้องศึกษา และ “ตีความ” อย่างรอบคอบและรู้เท่าทัน

ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี่ เคยกล่าวอย่าง “เสียดเย้ย” (Satire) เรื่องสถิติว่า มีคำอยู่ 3 คำ เป็น “ไวพจน์” (Synonym) กันคือ (1) “โกหก” เป็นปุลลึงค์ หรือ เพศชาย (2) “ตอแหล” เป็น อิตถีลึงค์ หรือ เพศหญิง และ (3) สถิติ เป็นนปุงสกลึงค์ หรือ เพศรวม การดูข้อมูลและตีความทางสถิติจึงต้องระมัดระวัง

อัตราตายของโรคโควิด-19 ที่หวู่ฮั่นสูงกว่าที่อื่น มีเหตุปัจจัยชัดเจน จึงมิใช่ “ปริศนา” ว่าเชื้อโรคนี้ที่หวู่ฮั่นมีความร้ายแรงกว่าที่อื่น แม้โดยธรรมชาติของโรคจะมีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ในระยะแรกอาจมีความร้ายแรง (virulence) ระดับหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปความร้ายแรงอาจลดลงหรือเพิ่มขึ้นก็ได้ แต่ช่วงระยะเวลาการระบาดของโรคนี้ที่เริ่มต้นเมื่อมีผู้ป่วยโรคปอดบวมรายแรกเข้าโรงพยาบาลที่หวู่ฮั่น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นับถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เวลาผ่านไปไม่ถึง 3 เดือน ความรุนแรงของตัวเชื้อโรคไม่น่าจะ เปลี่ยนแปลงไปได้เร็วขนาดนั้น

การที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตรายเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมป้องกันโรคให้เข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 ช้าที่สุดและกว้างขวางน้อยที่สุดจึงถูกต้องแล้ว

และจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 จึงได้มีประกาศเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นทางการใน ราชกิจจานุเบกษา และมีผลในวันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ยังไม่ทันมีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ หลายหน่วยงาน องค์กร และบุคคลทั่วไปต่างก็ “ตีความ” และออกมาตรการออกมาอย่าง “สะเปะสะปะ” และบางแห่งออกมาในลักษณะ“ตื่นตูม”

**********************************